โดยปกติแล้ว เราไม่น่าจะได้เจอะเจอกับวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล กันง่ายๆ (ไม่นับเหตุบังเอิญที่เราเจอเขาขี่สกูตเตอร์อยู่กลางเมืองแล้วทักทายกัน) เหตุผลหนึ่งเพราะเขาต้องเดินทางไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ตามประสานักทำสารคดีแห่งเถื่อนแชนเนล รายการที่มักจะพาคุณไปสำรวจโลกในดินแดนที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะย่างเท้าเข้าไปนัก

แต่เพราะการเดินทางไปต่างประเทศ ต้องถูกระงับยับยั้งจากสถานการณ์โควิด-19 วรรณสิงห์จึงปักหลักอยู่ในเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาหยุดยั้งการสำรวจโลกใบนี้ เพราะไม่ว่าจะเดินทางไกล หรือ ใกล้ สิ่งที่ต้องอยู่คู่เราเสมอก็คือสิ่งแวดล้อม และใช่…นั่นคือแง่มุมที่เขากำลังขยันขุดคุ้ยประเด็น เพื่อขยี้ และไปไกลที่สุดก็คือ ขยับขับเคลื่อนโลก ให้ไปในทิศทางที่ควรจะเป็น

หลังจากนี้ไป เราคงได้ยินวรรณสิงห์พูดในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขามองบทบาทของตัวเองว่าเป็นทั้งแอคทิวิสต์ หรือนักกิจกรรมรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม คนทำสื่อสารคดี และที่สำคัญคือการเป็นนักส่งสารที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าร้อนใจ เช่น ประเด็นเรื่องโลกร้อนหรือ Climate Change เรื่องการจัดการขยะ ประเด็นเรื่องการลดปริมาณพลาสติก ที่เขาต้องทำทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับของการเป็นสื่อ เพื่อที่จะได้พูดเรื่องนี้ในเต็มปากเต็มคำเมื่อต้องเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง แม้มันจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักในแต่ละวัน

ยกตัวอย่างเช่น การตั้งใจสั่งอเมริกาโน่เย็นไม่เอาหลอด แต่ได้ทั้งหลอดและแก้วพลาสติกมาเต็มโต๊ะให้พวกเรามองหน้ากันตาปริบๆ แบบวันนี้เป็นต้น

ทุกการเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มจากการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และตระหนักว่าโลกนี้มีปัญหามากกว่าที่เราคิด เมื่อรับรู้ข้อมูลที่ถูก การแก้ปัญหาได้ถูกจุดก็จะเกิดขึ้นตามมา

ในฐานะนักส่งสาร เขาจึงเน้นย้ำในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

“ลดขยะ ลดพลาสติก คือการลดโลกเลอะ แต่ถ้าจะลดโลกร้อน เราต้องลดการปล่อยคาร์บอน ลดการใช้พลังงาน” และ “ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้พาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาตามกองขยะด้วยซ้ำ จะได้เรียนรู้เรื่องการจัดการขยะ รู้ว่าอะไรที่นำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง”

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณจะได้อ่านในบทสัมภาษณ์ที่เรานั่งคุยกับเขาเกือบชั่วโมง โดยมีสภาพแวดล้อมรอบข้างเป็นสวน ต้นไม้ใหญ่ ร้านที่ใช้แก้วพลาสติก ทั้งที่ควรจะใช้แก้วใสธรรมดา และรถขยะที่เดินทางมารับขยะและแยกขยะอยู่ตรงหน้าเรา

ถ้าเชื่อว่าโลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ ก็คงมีเหตุผลอะไรสักอย่างที่กำหนดให้เราทั้งคู่มานั่งกินอเมริกาโน่เย็น เคล้าการพูดคุยกันท่ามกลางสภาพแวดล้อมดังกล่าว

จากที่คุณทำสารคดีเกาะเกี่ยวเรื่องสังคม การเมือง การเดินทาง หรือวัฒนธรรมต่างๆ มาโดยตลอด คุณมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังตอนไหน ที่คิดว่าอยากจะสื่อสารเรื่องนี้ไปเลยอย่างชัดเจน

ก็น่าจะมาจากรู้สึกเต็มกับเรื่องของมนุษย์ก่อน คือเราทำมาหมดแล้วตลอด 10 ปี ที่เกี่ยวกับสังคมมนุษย์ ตั้งแต่ศาสนา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ สงคราม ความขัดแย้ง กระทั่งเรื่องราวใต้ดินทั้งหลาย ก็ทำมาเยอะแล้ว คือตอนนั้นเราอยากทำเพราะอยากเข้าใจมิติความเป็นมนุษย์ จนถึงจุดหนึ่งเราคิดว่าเราได้วัตถุดิบมาพอละ เหลือแค่การนั่งสังเคราะห์อยู่เงียบๆ คนเดียวมากกว่า ตอนนั้นมันก็ไม่เกี่ยวกับการทำสื่อแล้ว แต่เกี่ยวกับการเติบโตทางความคิดของเรามากกว่า มันเลยไม่มีแรงกระตุ้นให้เราอยากไปทำอะไรเพิ่มเติมในแง่ของสังคมมนุษย์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิด หรือประเด็นใหม่ๆ ทางสังคม ก่อนหน้านั้นเราไปช่วยระดมทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัย พูดเรื่องความขัดแย้งทางสังคมจากมิติของประเทศอื่นเพื่อหยุดความขัดแย้งในประเทศเราก็ดี ถึงจุดหนึ่ง เรารู้สึกว่ามันทำอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่

ในความหมายว่า?

ปัญหามันก็ยังคงอยู่ตรงนั้น อย่างเรื่องสงคราม ก็ชัดมากๆ ว่าเราก็ทำได้แค่ส่งน้ำ ส่งข้าว ส่งเสื้อผ้าไปให้เขาใช้ แต่ต้นตอของสงครามและความขัดแย้งมันก็ไม่ได้หายไป คนก็ยังตายทุกวัน เด็กก็ยังโดนระเบิดทุกวัน บวกกับการทำประเด็นเหล่านี้ มันทำให้เราเห็นความทุกข์ของมนุษย์มากเสียจนบางทีเราก็จิตตกเหมือนกัน ปีที่แล้วเราก็เลยตั้งใจพักประมาณ 7-8 เดือน ช่วงนั้นก็เปิดตัวเองแล้วดูว่าเข็มทิศเราจะเบนไปทางไหนบ้าง คิดหลายทางมาก ไม่ว่าจะประเด็นทางศิลปะ หรือการเมือง เพราะเราเห็นมันมีความเคลื่อนไหวอะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ก็คิดว่า เอ๊ะ ถ้าจะออกเดินทางใหม่ เราจะทำอะไรต่อ เพราะประเด็นที่เราเคยอยากรู้ก็ได้รับคำตอบในใจไปหมดแล้ว แล้วไปเจอทางตันที่เราไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก แต่ที่มาจบตรงเรื่องสิ่งแวดล้อม

คือช่วงนั้นเกิดกระแส climate strike ทั่วโลกพอดี ทำให้เราสนใจมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ ระหว่างที่เราทำงานหรือถ่ายทำเรื่องราวของมนุษย์ เราก็ได้เห็นความล่มสลายของสิ่งแวดล้อมเยอะมาก ทั้งที่อาร์กติก หรือ ป่าแอมะซอน ผมเลยเริ่มศึกษาเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ พบว่ามันสนุกมาก ไม่เคยคิดเลยว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมจะน่าสนใจขนาดนี้ เราได้เห็นว่าสเกลของปัญหาสิ่งแวดล้อมมันใหญ่ขนาดไหน ระบบนิเวศของโลกทั้งใบมันเชื่อมโยงกันยังไง มีตัวแปรอะไรบ้าง มันน่าตื่นเต้นในเชิงวิชาการและเปิดโอกาสให้เราได้เห็นหรือไปถ่ายทำสารคดีในมุมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเช่น ไปถ่ายภาพใต้น้ำ ไปแอนตาร์กติกา ทำให้เราอยากไปต่อในฐานะนักทำสารคดี โดยเน้นด้านสิ่งแวดล้อม แล้วก็ climate change เพราะเรื่องอื่นๆ มีคนทำไว้ดีอยู่แล้ว ผมอยากทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่เชื่อมโยงไปถึงระดับโลกมากกว่า เลยตั้งใจไว้ก่อนโควิดว่า เราจะเดินทางไปถ่ายทำปัญหาเรื่อง climate change ทั่วโลก แล้วก็ทำไปได้บางประเทศ และพอเดินทางไม่ได้ก็เลยเบนเข็มมาทำที่เมืองไทย เช่น เรื่องขยะ เรื่องไฟป่า พอยุ่งกับสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยมากๆ มันก็จะลิงก์กับการเมืองในประเทศไทยอีก มันหนีไม่พ้น เพราะสิ่งแวดล้อมต้องจัดการโดยมนุษย์ และใครได้จัดการสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า การเมืองเป็นอย่างไร ซึ่งก็ทำให้เราต้องแตะบ้าง แต่ก็ต้องโยงไปมิติสิ่งแวดล้อมด้วย

 

พอมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณมีคนที่อยากไปคุยกับเขาเป็นพิเศษมั้ย แบบเป็นไอดอลที่อยากคุยด้วย และเพราะอะไร

ผมไม่ได้ตั้งเป้าเป็นคนใดคนหนึ่งนะ เราตั้งเป้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเป็นประเด็นที่เราสนใจมากกว่า เช่น ขยะ รวมทั้งพื้นที่ทางธรรมชาติที่เราต้องไป cover ให้ได้ เพื่อโยงกับประเด็นเรื่อง climate change เช่น ปะการังฟอกขาว เรื่องพายุ หรือน้ำแข็งละลาย แม้แต่เรื่องไมโครพลาสติก ที่ตอนนี้พัดไปถึงขั้วโลกใต้ ผ่านการทิ้งขยะลงทะเลของพวกเรา เรื่องการจัดการขยะไม่ดี ที่ไปเพิ่มคาร์บอนในชั้นบรรยากาศต่างๆ เหล่านี้ ถ้าจะมีแค่คนคนเดียวที่อยากเจอในชีวิตนี้ ผมอยากเจอเซอร์เดวิด แอตเทนเบอเรอะห์ เพราะเขาก็อายุ 93 แล้ว ผมดูสารคดีเรื่องล่าสุดของเขาคือ A Life on Our Planet แล้วก็ไม่น่าเชื่อว่าคนอายุ 93 จะสามารถพูดด้วยความชัดเจนและไม่มีความหลงลืมอะไรทั้งสิ้นได้แบบนั้น แถมยังพูดได้กินใจมากด้วย สำหรับนักสิ่งแวดล้อม และนักทำสารคดีหลายๆ คน นี่คงเป็นไอดอลที่สุดของทุกคนแล้ว เพราะนอกจากแกจะมีความรู้เยอะแล้ว ยังเป็นคนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างชัดเจน ตั้งแต่ยุคที่คนยังไม่รู้เลยว่า climate change คืออะไร จนกระทั่งถึงยุคที่ทุกคนรู้แล้ว แต่บางคนก็ยังไม่ทำอะไรเลย

แปลกนะ ที่การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ของเราสามารถสร้างผลกระทบใหญ่ๆ ให้กับสิ่งแวดล้อมได้ เช่นเรื่องไมโครพลาสติกที่คุณบอก แต่พอเราพูดถึงแง่มุมดีๆ ที่อยากทำและอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงบ้าง…

(พูดต่อ) อืมม์ impact กลับเล็กน้อยมากครับ จริงๆ ผมว่าผลกระทบที่เราทำในฐานะปัจเจกบุคคลในแต่ละวัน ถ้านับเป็นคนๆ ไป มันก็ไม่ได้เยอะนะครับ แต่พอรวมกันทั้งสังคมมันเลยเป็นผลกระทบที่ยิ่งใหญ่มหาศาล ผมพยายามลดขยะพลาสติกทุกวัน ขณะที่ทางร้านก็เสิร์ฟทุกวัน ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ใส่แก้ว (เหลือบมองแก้วพลาสติกที่ทางร้านเสิร์ฟให้ระหว่างสัมภาษณ์แล้วหัวเราะ) แต่ถ้าย้อนกลับมาที่ตัวเอง ผมก็รู้ตัวว่า ผมลดขยะได้ปีนึงเยอะมากถ้าเทียบจากเดิมที่เคยใช้ แต่ต่อให้เราลดขยะแทบตาย อย่างมากพอเอามาใส่กระสอบก็ได้ประมาณสองกระสอบ แต่ถ้าล้านคนทำ มันก็ได้สองล้านกระสอบแล้ว ดังนั้นการสร้าง impact มันอาจไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแนวคิดทางสังคม สมมติถ้าผมทำในฐานะตัวผมเอง ผมก็ได้ impact ประมาณหนี่ง แต่ถ้าผมทำในฐานะสื่อ แล้วกระจายให้คนอีกจำนวนมากทำตามได้ มันก็จะได้อีกระดับหนึ่ง

แต่ว่านั่นก็ยังไม่พออยู่ดี เพราะว่าการรณรงค์ การสร้างจิตสำนึก มันเป็นการยกภาระให้ผู้บริโภคอย่างเดียว แปลว่าผู้บริโภคต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนครับ น้ำหนักส่วนหนึ่งมันก็อยู่ที่การบริโภคของพวกเราในฐานะมนุษย์ เช่น กินเนื้อน้อยลง รีไซเคิลขยะให้ถูกต้อง ใช้พลาสติกให้น้อยลง แต่ว่าเราไม่สามารถละเลยการเปลี่ยนแปลงอีกสองภาคส่วนที่สำคัญและสร้างผลกระทบที่สูงกว่ามากๆ ได้ นั่นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ และการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐให้ได้ เพราะจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าพวกเรามานั่งลดขยะอะไรพวกนี้แล้วรัฐไม่ออกกฏหมายให้เข้มงวดกว่านี้ในเรื่องการจัดการขยะ มันก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งผมก็ยังมีคำถามอยู่ทุกวันนี้ว่า ไหนบอกว่าแบนถุงพลาสติกแล้วไง ทำไมทุกวันนี้ไม่เห็นมีใครโดนทำโทษในการแจกถุงพลาสติกตามร้านต่างๆ ดังนั้นถ้ากฎหมายไม่เข้มงวด

เราจะไปหวังให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมหรือจิตสำนึกอย่างเดียว ผมว่าอย่างมากเราก็ทำได้ 10-20% ที่เหลือต้องมีคนมาบังคับ

แต่แน่นอนมันก็เป็นเรื่องไก่กับไข่ บางทีถ้าคนจำนวนหนึ่งของสังคมไม่เปลี่ยนแปลง รัฐก็ไม่ได้ยิน รัฐก็ไม่มีแรงจูงใจในการสร้างกฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมา แต่นั่นเราพูดถึงระบบประชาธิปไตยที่คนจำนวนหนึ่งออกมาร้องเรียนแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่นี่เราอยู่ในระบบที่แม้คนจำนวนมากร้องเรียนก็ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่าระบบการเมืองมันก็เชื่อมมาเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ดี เพราะการจัดการเรื่องพวกนี้ ต้องอาศัยการจัดการเปลี่ยนแปลงกลไกทางการเมืองค่อนข้างเยอะ แล้วเรื่องนี้เราก็ไม่ค่อยได้นำไปพูดในสภา แม้ในยุคที่มีการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นอย่างในยุคนี้ ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ยังมาเป็นรองเรื่องอื่นๆ อยู่ดี เพราะเราไม่เห็นความเชื่อมโยงที่สิ่งแวดล้อมลิงก์กลับมาหาชีวิตเรา

จริงๆ เรื่องสิ่งแวดล้อม ผมมองว่ามันมีคุณค่าในตัวของมันเองอยู่แล้ว ที่ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ เพราะสิ่งแวดล้อมมันอยู่ของมันได้ และมันมีคุณค่าด้วยตัวมันเองอยู่ เช่น ปะการังที่สวยงาม มีคุณค่าในตัวมันเองไม่ว่ามันจะมีประโยชน์กับมนุษย์หรือไม่ก็ตาม แต่สังคมมักจะไม่ขยับ ถ้าเราไม่สามารถลิงก์กลับมาได้ว่า มันเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ยังไง ซึ่งจริงๆ แล้วมันเกี่ยวในทุกมิตินะ ทรัพยากรทุกอย่างมันมีผลในการค้ำชูสังคมมนุษย์ให้สามารถอยู่ได้ทั้งสิ้น ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าดูดีๆ มันแทบจะแยกกันไม่ออก ไฟไหม้ป่าเมื่อไหร่ สิทธิในการหายใจเอาอากาศสะอาดเข้าไปก็หายไปด้วย ปะการังฟอกขาวเกิดเมื่อไหร่ การกินอาหารทะเลในราคาถูกก็หายไป สิทธิในการทำมาหากินของชาวประมงก็หายไป ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราต้องสื่อสารให้คนเข้าใจให้ได้ว่า เรื่องพวกนี้มีผลกระทบสูงยังไง และผลกระทบที่สูงที่สุดก็คือภาวะโลกร้อน หรือเรื่อง climate change ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของทุกคนไปโดยสิ้นเชิงไม่ว่าคุณจะเป็นมนุษย์ หรือ สปีชีส์อุรังอุตังก็ตามแต่ นี่คือด้านที่รัฐต้องให้ความสำคัญด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ด้านธุรกิจก็สามารถสร้าง impact ได้สูงมาก เช่น ตอนนี้หลายคนไม่รู้ว่า การเลี้ยงวัว เลี้ยงหมู สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงมาก ดังนั้นหลายคนไม่รู้ว่าการกินชาบูคือการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่สูงมาก เขาจะเข้าใจว่าการไม่ขับรถสิ จะลดการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ ซึ่งมันก็ใช่ แต่มันไม่ใช่เรื่องเดียว หรือหลายคนเข้าใจว่า ลดพลาสติก เท่ากับลดโลกร้อน ซึ่งมันคนละเรื่องกัน ลดพลาสติกคือลดขยะ

ลดโลกร้อนคือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่มันจะอยู่ในการใช้พลังงานต่างๆ หรือการใช้ยานพาหนะ

ทีนี้ภาคธุรกิจสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของตัวเอง จากจุดที่ไม่เคยคิดเรื่องราคาทางคาร์บอนที่ส่งออกไปสู่สิ่งแวดล้อม ไปสู่จุดที่เปลี่ยนนวัตกรรมและแนวทางเศรษฐกิจทุกอย่าง โดยรวมความคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเข้าไปในนั้นด้วย แต่ก่อน เราพูดเรื่อง CSR การตอบแทนสังคมด้วยการปลูกป่า แต่ตอนนี้มันไม่พอแล้ว และเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ เพราะหลายคนก็ชี้ได้ว่ามันมีผลลบทางระบบนิเวศมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ CSR ต้องเลิกคิดแยกส่วนระหว่างธุรกิจหลัก กับสิ่งแวดล้อม ไปสู่การหลอมรวมธุรกิจหลักกับสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน ทำยังไงให้นอกจากผลกำไรแล้ว สวัสดิการของพนักงานแล้ว การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อยู่ในวิสัยทัศน์หลักของธุรกิจให้ได้  เพราะถ้าสังคมมีความรู้มากขึ้น ผู้บริโภคมีสิทธิในการเลือกทางอื่นที่ดีกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจเปลี่ยน เดี๋ยวทุกฝ่ายก็เปลี่ยนตาม

แต่ตอนนี้สังคมไม่เปลี่ยน ธุรกิจก็ไม่มีแรงจูงใจให้เปลี่ยน ดังนั้นสามประสาน คือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคผู้บริโภคมันต้องไปด้วยกัน และต้องเริ่มสื่อสารอย่างชัดเจนเพื่อให้สังคมเข้าใจให้ได้ว่าอะไรคืออะไร เพราะตอนนี้เราทรีตสิ่งแวดล้อมเป็นแค่เรื่องจิตสำนึก เช่น มาเป็นคนดี รักโลกกันเถอะ ซึ่งมันไม่พอแล้วใน timeframe ของปัญหาที่เราเจออยู่ทุกวันนี้

อยากให้เล่าตอนที่ไปทวีปแอนตาร์กติกาว่าภาพที่คุณเห็นมันทำให้รู้สึกยังไง

คือสภาพแวดล้อมที่นั่นเปลี่ยนแบบปีต่อปี ผมไม่ได้อยู่ที่นั่นเป็นปีๆ แต่ผมก็รับรู้ข้อมูลจากเพื่อนที่อยู่ตรงนั้นว่า ในวันเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว น้ำแข็งจับขนาดนี้ อุณหภูมิขนาดนี้ ปีนี้อุณหภูมิบวกเพิ่มเท่าไหร่ มันทำให้เรารู้สึกว่า คนที่เขาได้รับผลกระทบจริงๆ เช่น น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย หรือ sea ice ที่เป็นทะเลที่เป็นน้ำแข็งในช่วงหน้าหนาว และบทบาทของมันมีหลายอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือการเป็นพื้นที่ให้หมีขาวไปล่าแมวน้ำได้ พอ sea ice ละลายปุ๊บ หมีขาวก็ไปล่าแมวน้ำไม่ได้ หมีขาวก็หิวโซ หาอาหาร แล้วก็เข้ามาในเมืองที่คนอยู่ สุดท้ายคนโดนทำร้าย แล้วหมีขาวก็โดนยิงตาย มันเห็นภาพเลยว่าภาวะโลกร้อนมันส่งผลกับเรายังไงบ้าง

รวมถึงแถวป่าแอมะซอนที่มีข่าวไฟป่าเกิดขึ้นติดกันมาสองปีแล้ว ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ป่าแอมะซอนจะไฟไหม้ แต่ตอนที่ผมไปที่นั่นตอน 9 ปีที่แล้ว ตอนนั้นอากาศมันชื้นจนแทบหายใจไม่ออก เหมือนหายใจเอาน้ำเข้าไปในปอด เพราะธรรมชาติของป่าดิบชื้นที่นั่นมันไม่ควรจะมีไฟไหม้ มันไม่ควรมีอยู่แล้ว เพราะมันไม่เหมือนป่าออสเตรเลียที่แห้งและไฟไหม้เป็นปกติ และการที่ไฟป่าเกิดขึ้นที่แอมะซอนมาสองปีซ้อน จริงๆ มันเป็นเรื่องที่ผิดปกติแล้วนะ

มันเป็นเรื่องที่เราควรตื่นตระหนกกว่านี้เยอะเพราะมันเป็นการเตือนว่า โลกกำลังมีวิกฤตอย่างหนักแล้ว

ซึ่งไฟไหม้ที่ป่าแอมะซอน ส่วนใหญ่เป็นไฟที่คนจุดด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขไม่ได้ เพราะมันเกิดจากนโยบายทางการเปิดป่าของประธานาธิบดีคนใหม่ของบราซิล ที่อนุญาตให้คนเข้าไปใช้พื้นที่ป่าทำมาหากินได้ แล้วตัดงบของคนอนุรักษ์ป่าไปด้วย สิ่งนี้บริหารจัดการโดยคนประเทศเดียว แต่มันส่งผลกับคนทั้งโลก เพราะว่าป่าไม้อย่างแอมะซอน ที่เป็นป่าดงดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ป่าไม้คือคาร์บอนซิงก์ คือที่กักเก็บคาร์บอนไว้ในดิน ในส่วนที่ไม่ได้อยู่ในชั้นบรรยากาศ ต้นไม้ดูดคาร์บอนไดออกไซด์ไปก็อยู่ในลำต้นตลอด แล้วมันก็ส่งลงไปในดินด้วย ทุกครั้งที่ต้นไม้โดนเผา เขาก็จะปล่อยคาร์บอนที่เก็บไว้ทั้งชีวิตออกมากลับสู่ชั้นบรรยากาศ แล้วจะไม่ดูดกลับเข้าไปอีก เพราะเขาตายแล้ว ดังนั้นระบบที่โลกมีไว้เพื่อจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ มันกำลังพังไปเรื่อยๆ

คือนอกจากเราจะปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นทุกปีแล้ว เรายังไปทำลายพื้นที่ที่เขาจะช่วยหมุนเวียนคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย และทั้งหมดทั้งปวงผลมันก็จะกลับมาหาคนในรูปแบบที่โคตรวินาศสันตะโร แล้วก็ไม่มีใครกังวลเรื่องนี้เลยไง ไม่มีใครพูดเรื่องนี้ในการเมือง ไม่มีใครพูดเรื่องนี้ในสื่อ แม้ในยุคที่เราตื่นรู้ทางการเมืองเราก็ไม่พูดเรื่องนี้กัน เพราะไม่มีใครรู้ว่า เรื่องโลกร้อนมันหนักขนาดไหน เนื่องจากผลของมันไม่ได้เกิดทันที มันสะสมเป็นหลายสิบปีกว่าจะเกิด

มันดูเหมือนไกลตัว แต่เราก็กำลังเดินไปสู่จุดนั้นกัน

ใช่ แล้วต้องยอมรับว่าเราสื่อสารกันผิดมาตลอด เรามัวไปพูดว่า ลดโลกร้อน รักโลก ที่ผมบอกว่าผิด เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องรักโลกหรือไม่รักโลก เพราะโลกจะอยู่ต่อ หรือต่อให้โลกร้อน โลกก็จะอยู่ต่อไป เรานั่นแหละจะตายก่อน เพราะฉะนั้นเรื่องโลกร้อนมันจึงเกี่ยวกับมนุษย์โดยตรง และสปีชีส์อื่นๆ นอกจากเรา แต่โลกในฐานะดาวเคราะห์ ยังอยู่ได้สบาย เพราะอย่าลืมว่ามันเกิด climate change มาเป็นรอบๆ โดยตลอดหลายพันล้านปีที่ผ่านมา แล้วทุกครั้งที่เกิด climate change มันก็จะมีการสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชต่างๆ แล้วก็มีพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น

เราทำเหมือนโลกจะไปแล้ว แต่จริงๆ น่ะเราต่างหากที่จะไป

ถ้าเทียบตามเข็มนาฬิกา 12 ชั่วโมงนี่ มนุษย์เราก็โผล่มาแค่ไม่กี่วินาทีเองนะ แล้วถ้ามองประเด็น climate change ในสายตาโลก ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย เหมือนโลกเขาเป็นหวัดทีนึง แล้วจามออกมา เพื่อให้เชื้อโรคหายไป ซึ่งเชื้อโรคก็คือเรานั่นเอง เหมือนร่างกายมีเชื้อโรคเยอะ ก็เลยตัวร้อนเป็นไข้ พอเชื้อโรคหาย ก็หายตัวร้อน ซึ่งถ้ามองแบบนี้ เราก็คือเชื้อโรคที่อยู่ในร่างกายของโลกนะ เพราะฉะนั้นในมุมมองของดาวเคราะห์ดวงนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเลยถ้าเราจะหายไป แต่ผมในฐานะมนุษย์ ผมก็ต้องมองว่ามันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรานะ แล้วก็ต้องพยายามพูดเรื่องนี้ให้เต็มที่ แต่ท้ายที่สุด ถ้าเราแก้ไขอะไรไม่ได้ และนี่คือธรรมชาติของการเติบโตทางอารยธรรมที่ถึงขีดสุด และย่อมล่มสลายไปในที่สุด ก็ถือว่าเป็นวงจรของมันไป แต่การที่ต้องออกมาพูดเรื่องนี้ ก็เป็นธรรมชาติของวงจรนี้เหมือนกัน และมันก็มีคนจำนวนมากที่ออกมาตีฆ้องร้องป่าวเรื่องนี้กัน แต่ท้ายที่สุด ถ้าเราแก้ไม่ได้จริงๆ ก็เตรียมพบกับการสูญพันธุ์ทั้งสปีชีส์

แต่มีมุมมองหนึ่ง ซึ่งอาจจะอ้างอิงจากงานวิชาการ หรือหนังสือที่บอกว่า จริงๆ แล้วโลกเรามันไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดนะ เช่น บางคนอ้างหนังสือเรื่อง factfulness

เล่มนี้ผมก็อ่าน เขาก็มองโลกผ่านสังคมมนุษย์ ซึ่งเขาบอกว่า โลกมันมีหลายเรื่องที่พัฒนาไปแล้วจริงๆ เช่น การศึกษาดีขึ้น อายุขัยของคนยืนยาวขึ้น การเข้าถึงการแพทย์ง่ายขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่ได้ปฏิเสธคือเรื่อง climate change เขาก็ยอมรับเช่นกันว่า ตัวเลขเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมันน่ากลัวจริงๆ สิ่งที่เขาแย้งคือ คนเรามักจะมีอคติว่าสิ่งต่างๆ มันแย่ลง แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น สิ่งที่เขาเห็นพ้องต้องกันคือ ปัญหาเรื่องโลกร้อนนี่แหละที่มันไม่ดีขึ้น มันมีปัญหาอยู่ เพราะคนที่อิงข้อมูล ยังไงก็ไม่สามารถปฏิเสธเรื่องนี้ได้ ผมว่าจริงๆ การถกเถียงเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมในบ้านเรามันยังไม่ไปไหน เพราะเราไม่ได้มีข้อมูลมากพอที่จะมีความเห็นถกเถียงกันได้ ซึ่งจะเถียงกันว่าใครควรรับผิดชอบ เอกชน หรือ รัฐบาล ที่ควรจะทำให้มี carbon neutral ให้เร็วที่สุด มันก็เถียงได้ ดีด้วย แต่ปัญหาคือเราพูดเรื่องนี้กันน้อย ทั้งที่ถ้าสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่ได้ ก็ไม่มีใครอยู่ได้นะครับ นี่หมายถึงทุกคนที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษยชาตินะ

ผมจึงไม่ได้พูดเกินจริงนะว่า นี่เป็นประเด็นใหญ่สุดตั้งแต่เรามีอารยธรรมของมนุษยชาติมาเลย เพราะอย่าลืมว่าเราสร้างทุกอย่างในโลกด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น

ถ้าหากเราไม่มีจะใช้ แล้วมันย้อนกลับมาเป็นศัตรูกับเรา หรือธรรมชาติไม่ปรานีเราตลอดเวลา ความสามารถในการเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์เรามีขีดจำกัดนะครับ ต่อให้เราสร้าง gadget ไฮโซอะไรขึ้นมาได้ แต่ถ้าน้ำทะเลสูงขึ้น 7 เมตร กรุงเทพฯ ก็จมน้ำอยู่ดี บางคนบอกจะสร้างกำแพงมากันเมือง เออ ก็ลองดู มันก็ดูน่าสนใจดี แต่สุดท้าย ต่อให้เป็นแอคทิวิสต์ด้าน climate change ผมก็ไม่คิดว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงธรรมชาติได้ แต่ว่าสิ่งที่มนุษย์อาจจะทำได้คือ เมื่อปัญหามันเกิดแล้ว เราคิดวิธีมาอยู่กับปัญหาได้ ปรับตัวได้ เพราะเราเก่งเรื่องนี้ แต่การปรับตัวให้เข้ากับปัญหาได้ ก็จะเกิดการเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาลเลย เพราะคนที่เข้าถึงทางออกของปัญหาได้ ก็จะเป็นคนมีฐานะเท่านั้น คนที่เป็นคนยากคนจน คนชายขอบ ก็ล้มตายกันไป หรืออยู่อย่างยากแค้นมากๆ ในภาวะที่ climate change มาเต็มๆ แล้ว

แอคทิวิสต์ก็ทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วคนทั่วไปควรมีหน้าที่ยังไงกับสิ่งแวดล้อม

คนทั่วไปก็ควรเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตัวเอง ถ้าเราเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตได้จำนวนมากพอ ความต้องการในตลาดหรือดีมานด์ก็จะเปลี่ยน เมื่อความต้องการเปลี่ยน ธุรกิจก็จะเปลี่ยนตาม แต่อย่างไรก็ตาม ความต้องการของตลาดจะไม่เปลี่ยนเลย ถ้าไม่เกิดการสื่อสารในสังคมให้เข้าใจตรงกันว่า อะไรบ้างที่เป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อม และสื่อสารได้ว่า สิ่งแวดล้อมมันเกี่ยวข้องกับชีวิตคุณโดยตรงได้ยังไงบ้าง มันไม่มีการแยกออกจากกันหรอกว่า รักโลก หรือเศรษฐกิจดี มันคือเรื่องเดียวกัน นี่คือภาคธุรกิจนะ

แต่บุคคลทั่วไป เมื่อเราเปลี่ยนวิถีตัวเอง เปลี่ยนความต้องการของตลาดได้ อันดับต่อไปก็คือการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางกฏหมายเชิงโครงสร้าง ซึ่งปัจจุบันก็ทำได้เยอะนะครับ มีพื้นที่ และคนมั่นใจว่าเสียงของพวกเขามีคนรับฟัง ไม่ว่าใครจะหูทวนลมยังไง แต่มันมีพื้นที่ให้คนรวมตัวกันพูดแล้วมีเสียงสะท้อนกันไปมา แต่ท้ายที่สุด เราก็ควรทำให้เสียงพวกนี้ดังในสภาด้วย เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเรื่องยากต่อไปอีก เอาจริงๆ ในระดับส่วนตัว ผมก็มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้มันคลีนมากขึ้น เพราะผมรณรงค์เรื่องนี้ เราจะได้พูดเรื่องพวกนี้ได้อย่างเต็มปาก แต่ไม่ได้คิดแค่เรื่องการลดขยะ หรือลดพลาสติกเท่านั้น มันก็มีหลายเรื่องเช่นลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือใช้สกูตเตอร์แทนการขับรถ นี่คือเท่าที่ทำได้นะ แล้วอีกเรื่องก็คือเรื่องการกิน ลดการกินเนื้อวัว เนื้อหมู เพราะมันสร้างคาร์บอนเยอะมาก เนื่องจากใช้พื้นที่ในการเลี้ยงเยอะ รวมทั้งอาหารที่พวกนี้กินด้วย คือกว่าจะมาเป็นอาหารเรา มันต้องใช้ทรัพยากรไปเยอะมาก ยิ่งกลายเป็นของเหลือก็ยิ่งสูญเสียมากไปอีก เราทำสิ่งเหล่านี้เพราะเราต้องการรณรงค์ให้คนฟังได้ว่า ฉันทำมาแล้วนะ สิ่งที่อยากทำขั้นต่อไป คือเปลี่ยนบ้านตัวเองให้ใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น

เรื่องขยะเป็นยังไงบ้าง อย่างที่ทราบว่าคุณไปคลุกคลีอยู่ในตอนนี้ คุณเห็นอะไรบ้าง และอยากพูดหรือส่งเสียงในเรื่องไหน

จริงๆ ก็มีคนทำงานอย่างหนักอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน แต่มันยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้เยอะมาก อย่างแรกคือ ผมพูดเรื่องแยกขยะเมื่อไหร่ คนก็จะพูดว่า แยกทำไม เดี๋ยวมันก็ไปรวมกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ยิ่งตรวจสอบไปมากเท่าไหร่ ก็พบว่ามันมีทั้งจริงและไม่จริง ข้อแรก ประเทศไทยไม่มีระบบการแยกขยะโดยทางภาครัฐ แต่อาศัยตลาดในการสร้างแรงจูงใจให้เก็บขยะที่แยกแล้วไปขาย เช่น ซาเล้ง คนเก็บขยะ แต่ไม่ได้เกิดจากระบบการจัดเก็บของภาครัฐที่จะมาแบ่งเป็นวันๆ เช่น วันนี้ทิ้งได้เฉพาะพลาสติกนะ รวมทั้งไม่มีการให้ความรู้ประชาชนด้วยว่า พลาสติกมีกี่เกรด กระดาษเอาไปทำอะไรได้บ้าง ผมเองยังต้องศึกษาหาความรู้เรื่องพวกนี้เยอะมาก

แล้วไหนจะไม่มีการจัดเก็บขยะที่แยกขยะจากบ้าน ไม่มีกฎหมายตรงนั้นอีก มันจึงเกิดขยะที่ตกหล่น ไม่ได้รับการแยกสูงมาก แม้จะเอาไปทำพลังงานอื่นๆ ได้ภายหลัง แต่มันก็ไม่เหมือนการแยกมาตั้งแต่แรก ตอนนี้ขยะจำนวนมากเลยกองทับถมกันเป็นภูเขา แล้วในฝั่งผู้บริโภคเอง ยิ่งช่วงโควิด คนอยู่บ้าน ขยะพลาสติกก็มากขึ้นเรื่อยๆ อีก เรายังมีสำนึกต่ำมากจริงๆ เพราะเราไม่เคยแคร์ว่าขยะจะไปไหนต่อ แล้วเรื่องนี้มันลิงก์ไปที่ระบบการศึกษาด้วยนะ ผมอยากเชียร์มากๆ ให้โรงเรียนพาเด็กๆ ไปกองขยะกัน จะได้รู้ว่าขยะไปไหนบ้าง แล้วอะไรมันนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง แล้วไหนจะการเทขยะรวมกัน ทำให้ขยะที่ควรจะรีไซเคิลได้มันเลอะ มันก็สร้างผลกระทบเยอะมาก ทำให้สุดท้ายเราเอาไปใช้ไม่ได้ จริงๆ การแยกขยะมันช่วยได้จริงๆ นะ แต่แค่นั้นหลายคนก็ยังไม่ทำกัน นี่แค่ด้านผู้ผลิตนะ ด้านอุตสาหกรรมเราก็เห็นช่องว่างอีกว่า ตอนนี้มีขยะรีไซเคิลที่เอาไปใช้รีไซเคิลได้อย่างสม่ำเสมอคือ ขวด PET กระดาษ ขวดแก้ว และอะลูมิเนียม หรือโลหะ โดยเฉพาะแก้วและอะลูมิเนียมนี่สามารถรีไซเคิลได้ไม่รู้จบ เวลาซื้อน้ำผมก็จะเลือกเฉพาะวัตถุดิบพวกนี้

ดูเหมือนมีปัญหาเยอะอยู่จริงๆ นั่นแหละ แต่ ณ วันนี้ถ้าจะพูดถึงมุมมองในแง่ดีบ้าง คุณคิดว่าคืออะไร

มันมีที่ว่างให้เกิดการพัฒนาเยอะ แล้วมันก็น่าตื่นเต้นถ้ามันเป็นไปได้ เพียงแต่เราต้องกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่ หรือเจ้าของธุรกิจใหม่ๆ เห็นความเป็นไปได้ของเรื่องการพัฒนาพวกนี้ ผมว่ามันจะเกิด ecosystem ที่สนุกขึ้น เช่น เทคโนโลยีการเปลี่ยนถุงพลาสติกกลับไปเป็นน้ำมันได้ เพราะว่าพลาสติกทุกชนิดทำมาจากพลังงานฟอสซิล เขาเลยกำลังคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นน้ำมันอีกครั้ง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ผมว่ามันว้าวมากนะอันนี้ เราควรให้ความรู้หรือมีหลักสูตรเรื่องพวกนี้ เพราะคนจะได้เข้าใจตั้งแต่แรก เนื่องจากขยะมันเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเยอะมาก

เราควรแยกการศึกษาเรื่องขยะออกจากเรื่องโลกร้อนด้วย เพราะโลกเลอะกับโลกร้อนมันคนละเรื่องกัน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทั้งคู่

แต่คุณเอามาปนกันหมด เช่น ใช้ถุงผ้าลดโลกร้อน นี่คือประโยคที่ได้ยินบ่อยมาก แล้วมันทำให้ประเด็นมันมั่วไปหมด ทำให้การสื่อสารให้เข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้มันเป็นเรื่องยากมาก เช่นเวลาผมบอกไม่เอาแก้วพลาสติก หลายคนก็จะบอกว่า ลดโลกร้อนใช่มั้ย มันเป็นความเข้าใจที่อยู่ในสังคมจริงๆ คือมันก็ไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะ แต่มันทำให้เขาเข้าใจว่าเขาลดโลกร้อนด้วยการไม่ใช้พลาสติกไปแล้ว ซึ่งมันไม่เกี่ยว

ถ้าไม่อยากให้เกิดวลี ลดขยะ ลดโลกร้อน ลดพลาสติก ลดโลกร้อน คุณอยากให้มันเกิดวลีอะไรนับจากนี้

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม กับเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องเดียวกัน หรือลดคาร์บอน ลดโลกร้อน อันนี้ถึงจะตรงประเด็นหน่อย หรือลดพลาสติก ลดโลกเลอะ อะไรแบบนี้ เราไม่ได้ต่อต้านการลดพลาสติกนะ แต่แค่ตอบให้มันถูกโจทย์หน่อยแค่นั้นเอง แล้วก็เรื่องจิตสำนึก ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น แต่ไม่เพียงพอ คุณไม่สามารถแก้ปัญหาที่ผมพูดมาทั้งหมด ด้วยการปลูกต้นไม้ทดแทน หรือลดขยะได้ แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง ระบบทุนนิยม ระบบระเบียบโลกอีกมากมาย ผมก็ยังคิดนะว่า ถ้าไม่ถึงจุดที่จำเป็นต้องเปลี่ยน หรือถึงจุดที่ทุกอย่างพังแล้วจริงๆ มนุษย์จะยอมเปลี่ยนมั้ย

ภาพถ่าย: เอกพล ภารุณ