สำหรับใครหลายๆ คน การเริ่มต้นวันที่ 1 เดือนกันยายนของทุกปี อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นของเดือนใหม่ที่เวียนเข้ามา แต่วันที่ 1 กันยายน 2533 กลับเป็นวันแห่งความสูญเสียครั้งใหญ่ของคนทำงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ

หลังเสียงปืนดังก้องขึ้นในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ชีวิตของสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในเวลานั้น…ก็ปลิดปลิวไป

วันที่ 1 กันยายน จึงเป็นวันสืบ นาคะเสถียร เพื่อให้หลายคนระลึกถึงเขาและสิ่งที่เขาทุ่มเทหัวใจ อุทิศชีวิตให้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่เริ่มต้นขึ้นจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน และปี 2563 ถือเป็นการครบรอบ 30 ปี ที่ผู้ชายคนหนึ่งเคยส่งเสียงปืนเพรียกจากพงไพร เพื่อให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับชีวิตสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ

30 ปีมีอะไรต่อมิอะไรเกิดขึ้นมากมายเหลือเกิน แต่ก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่งตามธีมของการจัดงานระลึกถึงสืบ นาคะเสถียร มีคนรุ่นใหม่ หน้าใหม่ ให้ความสำคัญและสนใจเรื่องการอนุรักษ์ รวมทั้งการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ความสูญเสียในครั้งหนึ่ง ไม่สูญเปล่าในวันนี้

Greenery. จึงชวน โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ หนึ่งในคนรุ่นใหม่ ที่พกหัวใจนักอนุรักษ์มาเต็มอัตรา มาพูดคุยถึงเรื่องราวที่เขาทำอยู่ เพราะนอกเหนือจากงานเป็นนักแสดงแล้ว หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเขาทำงานเป็นหนึ่งในคณะกรรมการและรองเลขาธิการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเป็นคนที่พร้อมจะออกมาสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับงานอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่งต่อไป

ป่าคือชีวิต และผู้ชายที่ชื่อ สืบ นาคะเสถียร

เมื่อเจอหน้าค่าตาโน้ต วัชรบูล ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สิ่งแรกที่เราเอ่ยปากคุยเล่นกับเขาก็คือเรื่องการเข้าป่า เพราะอย่างที่ทราบและติดตามจากช่องทางโซเชียลมีเดียของเขา จะพบว่านอกจากภาพโลเกชั่นตามกองถ่ายในฐานะนักแสดงแล้ว ภาพป่าและธรรมชาติ ก็เป็นอีกโลเกชั่นหลักของเขาที่ไม่เคยห่างหายไปจากชีวิต จวบจนกระทั่งสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับทุกคนโดยทั่วหน้ากัน และโดยเฉพาะช่วงที่มีการล็อกดาวน์

“ไม่ได้เข้าป่าแล้วรู้สึกเคว้งคว้าง  รู้สึกตัวเองไม่เชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตหรือธรรมชาติ จำได้ตอนเดือนเมษาที่ฝนตกครั้งแรก ผมนี่ดีใจที่ได้กลิ่นฝนเลย” คงพบเจอได้ไม่บ่อยนัก ที่จะมีใครสักคนพูดถึงป่าด้วยถ้อยคำที่แสดงออกถึงความผูกพันและรักการใช้ชีวิตในป่าได้เพียงนั้น

“จริงๆ เรื่องการเข้าป่า มันเหมือนอยู่ในดีเอ็นเอของผมอยู่แล้วโดยไม่มีเหตุผล และไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณพ่อคุณแม่ด้วย คุณพ่อก็เป็นอาจารย์ด้านศิลปะ คุณแม่ก็รับราชการ ทั้งสองท่านก็ไม่ได้มีงานอดิเรกเป็นการเดินป่า เที่ยวป่า แต่ผมเองที่ชอบตั้งแต่เด็ก” ความชอบนั้น เกิดจากการได้รับการสนับสนุนและได้อิสระในการค้นหาสิ่งที่ชอบด้วยตัวเอง ทั้งการอ่านหนังสือสารคดี หรือนวนิยายผจญภัยต่างๆ

“ผมทันยุคคุณสืบ นาคะเสถียร เพราะช่วงที่แกยังไม่เสียชีวิต จะมีข่าวใหญ่เรื่องการอพยพสัตว์ป่า เรื่องเขื่อนเชี่ยวหลาน เราก็เห็นภาพแกตามหนังสือสารคดี หรือเห็นจากข่าว เราก็ประทับใจ ตอนนั้นเราอายุ 8-9 ขวบเอง ยังจำได้ภาพที่คุณสืบใส่ชุดซาฟารี นั่งอยู่บนเรือหางยาว มีหมาไทยดมกลิ่นหาสัตว์ที่ติดตามยอดไม้ หรือสัตว์ต่างๆ ที่ติดช่วงน้ำท่วม เราเห็นภาพแกปั๊มหัวใจกวาง ภาพแกจับงูจงอาง เราก็รู้สึกว่าผู้ชายคนนี้เท่จัง แล้วพอเราอ่านหนังสือออก เราก็อ่านได้หมด รู้ว่าเหตุการณ์แบบนั้นมันเกิดได้ยังไง เพราะอะไร มันส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่ายังไง เพราะส่วนหนึ่ง บ้านเราเมื่อก่อนมันคือยุคแห่งการพัฒนา ต้องมีน้ำ ไฟ ให้ครบ ต้องสร้างแปลงปลูกขนาดใหญ่ สมัยนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ มันเลยไม่ได้อยู่ในกระแส แล้วพอคุณสืบมาทำ คุณสืบก็พูดเต็มปากเลยว่า ถ้าสร้างเขื่อน แล้วจะมาให้กรมป่าไม้มาอพยพสัตว์ป่า มันเฟล มันทำไม่ได้หรอก สัตว์ป่าตายมากมายมหาศาล มันเป็นความล้มเหลวของระบบตรวจสอบสิ่งแวดล้อมสมัยนั้น อะไรต่างๆ

“แล้วพอคุณสืบตาย เรื่องราวมันก็มีให้อ่านเยอะขึ้น เพราะมันยากมากสำหรับการต่อสู้ของเขาและข้าราชการในยุคนั้น เพราะมันไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่มีทางบอกอะไรใครได้เลย ถ้าไม่มีการลั่นกระสุนใส่สมองตัวเอง แล้วงานที่คุณสืบทำอยู่ คิดดูว่ามันต้องใช้จิตใจขนาดไหน ห้วยขาแข้งสมัยก่อนมันไกลลิบเลยนะ สมัยนี้เหรอขับรถไป 4 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว แต่สมัยก่อนไม่ใช่แค่นี้แน่นอน ถนนก็เล็กกว่านี้ ถนนยังไม่ได้ลาดยางแบบวันนี้ ไหนจะชีวิตความเป็นอยู่ เงินเดือนไม่พอกินพอใช้อยู่แล้ว หมดถึงขั้นที่ต้องยืมเงินทางบ้านมาจ่ายค่าแรงให้ลูกน้อง”

“ผมว่าสิ่งที่เขาทำมันคือตัวอย่างของความกล้าหาญ เขาเห็นความน่าสมเพชเวทนาของสัตว์ป่าที่ไม่มีปากไม่มีเสียง ถูกเอารัดเอาเปรียบ พอเขามาอยู่ห้วยขาแข้งเขาเลยตั้งปณิธานทำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ดีให้ได้ แล้วในที่สุดก็ขอทำเรื่องให้ห้วยขาแข้งเป็น world heritage หรือมรดกโลกจนได้ เราก็อินกับเรื่องนั้นมาเต็มๆ”

วันที่เราเดินหามุมถ่ายรูปกันนั้น โน้ตหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูปเสื้อยืดที่วางขายอยู่บนชั้นวางของ บนเสื้อนั้นเขียนว่า ‘ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า เพราะพวกเขาพูดเองไม่ได้’

โน้ตบอกเราหลังจากถ่ายรูปนั้นว่า “นี่ละครับ คำพูดคลาสสิกของคุณสืบ นาคะเสถียร” ที่ว่าคลาสสิก เพราะเป็นที่รู้กันว่า สืบ นาคะเสถียร จะเริ่มต้นประโยคนี้ทุกครั้งที่มีการขึ้นเวทีเสวนา

30 ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

30 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำหน้าที่สืบสานปณิธานของคุณสืบเอาไว้ได้อย่างไม่ตกหล่น และมีงานมากมายหลายอย่างที่ทำได้ลุล่วงไปด้วยดี

“อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ที่ตอนนี้เป็นประธานมูลนิธิ เคยบอกว่ามูลนิธิสืบทำอะไรสำเร็จมาเยอะมากในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เช่น จัดการพื้นที่ป่าตะวันตกได้ดีขึ้น จนได้เป็นมรดกโลก เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามีสวัสดิการดีขึ้น มีกองทุนจ่ายเงินช่วยเหลือเวลาเจ้าหน้าที่เสียชีวิต หรือ ประสบอุบัติเหตุ มีทุนการศึกษาให้ลูก นอกจากนั้นงาน smart patrol ก็พัฒนาขึ้นเยอะ มีการตรวจเช็กการเดินตามจุดต่างๆ เช่น พบเจอภัยคุกคามอะไรบ้าง เจอนายพรานมั้ย เจอซากสัตว์มั้ย แล้วข้อมูลพวกนี้นักวิจัยเขาก็เอาไปสานต่อได้ พื้นที่รอบป่าก็มีชุมชนคนอาศัยอยู่ มูลนิธิสืบก็เป็นตัวกลางในการประสานเชื่อมโยง ทำความเข้าใจ เป็นตัวกลางสื่อสารให้เขากับภาครัฐเข้าใจกัน นี่คือภาพรวมของป่าตะวันตก เราทำงานได้ประสบความสำเร็จละ แต่เรามีความฝันอีกอย่างคือ ให้ป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ เป็นมรดกโลกเลยทั้งหมด ให้มันครบ เพราะยังไงป่ามันก็ผืนเดียวกัน ที่เชื่อมกันหมด ป่าผืนใดผืนหนึ่งถูกทำลาย มันก็จะทำให้มีผลโยงใยไปที่ป่าอื่นๆ ทั้งระบบนิเวศของมัน เพื่อต่อไปจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ตามชื่อชั้นของมรดกโลก”

“เอาจริงๆ ฟังก์ชั่นของป่าตะวันตก คุณประโยชน์ของมันคือ ช่วยสภาพแวดล้อมแทบจะของทั้งประเทศเลย และมันจะเริ่มไม่ไหวแล้ว”

“ต่อให้เราดูแลป่าตะวันตกดีแค่ไหน แต่ถ้าป่าประเทศเพื่อนบ้านถูกตัด เปลี่ยนเป็นพืชเชิงเดี่ยว มีการเผาไร่ เผาป่า เอาพื้นที่ทำการเกษตร  แล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมวันนี้มันก็ไม่ใช่แค่ป่า ไหนจะปัญหาเรื่องขยะพลาสติกเต็มอ่าวไทย ลอยอยู่ในทะเลอันดามัน คือต่อให้ดูป่าตะวันตกดียังไง แต่พื้นที่รอบๆ มันยังมีปัญหาอยู่ มันก็ส่งผลต่อเนื่องกัน แล้วเราจะไม่สนใจก็ไม่ได้แล้ว เราเลยอยากจะเริ่มช่วยสื่อสารกับสังคมในเรื่องพวกนี้ เพราะข้อดีของมูลนิธิคือเป็นองค์กรเก่าแก่ที่คนไทยก็รู้จักเป็นอย่างดี และได้รับการยอมรับมาพอสมควร ตอนนี้เราเลยพูดเรื่องพลาสติก เรื่องโลกร้อน เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่มันลดน้อยถอยลงไป เราต้องดูปัญหารอบๆ ด้วย และเราก็พร้อมจะเป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เพราะเพื่อนๆ นักอนุรักษ์มากมายก็มีความรู้มากกว่าเรา เขาก็ช่วยกันเผยแพร่ สื่อสารเรื่องเหล่านี้ออกไป”

ส่งเสียงไม่เท่าปรับตัวและลงมือทำ เพราะเราปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

แน่นอนว่าทุกวันนี้ การส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือกระตุ้นจิตสำนึกของคนให้หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำได้ง่ายกว่าเดิมผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่โน้ตย้ำว่า การส่งเสียงหรือสื่อสาร ก็ยังไม่เท่าการปรับตัวและลงมือทำในสิ่งที่พวกเราสามารถทำได้

“การรณรงค์ต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดียในยุคนี้ มันทำได้ง่ายกว่าแต่ก่อน คุณไม่พอใจ คุณจะประท้วงอะไรทั้งเรื่องทางสังคมและสิ่งแวดล้อม คุณก็สามารถแสดงออกทางความคิดของคุณได้ แต่ผมมองว่ามันไม่ใช่แค่แสดงความคิดแล้วจบ แต่คุณจะต้องเปลี่ยนตัวเองในบางอย่างด้วย เพื่อให้ถึงเป้าประสงค์ของคุณ ทุกวันนี้ ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมมันเข้าถึงง่าย คนถามผมบ่อยๆ ว่าถ้าจะรักษาป่า รักษาสิ่งแวดล้อมควรทำยังไง ผมคงบอกไม่ได้หรอก เพราะทุกคนมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน บางคนมีลูก มีครอบครัว เขาก็ไม่สามารถทำอะไรอย่างที่ผมทำได้

“แต่ถ้าเกิดคุณรู้ถึงปัญหาว่ามันเกิดอะไรขึ้น ยิ่งถ้าคุณมีลูก คุณอยากให้ลูกคุณโตขึ้นเหลือทรัพยากรอะไรยังไง อยากให้สัตว์ป่าเหลือแต่ในสวนสัตว์หรือเปล่า”

“เราก็มีหน้าที่ปรับตัวของเราไป บางทีแค่การแยกขยะ แค่การเอาถุงผ้าไปจ่ายตลาด เอาแก้วกาแฟไปเอง เอาขวดน้ำที่ใช้ซ้ำได้ไปเอง ก็ดีแล้วนะ เราไม่เคยมาตึงกับเรื่องไลฟ์สไตล์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราไม่อยากสร้างศัตรู ไม่อยากบอกว่าทำแบบนี้ผิด ไม่ควรทำ คือทุกคนมีเหตุผล ณ ตอนนั้นของเขา เราก็แค่อยากจะบอกว่าลองทำแบบนี้ดูมั้ย ครั้งนี้ไม่เป็นไร ครั้งหน้าลองใหม่ เราต้องการแนวร่วม ไม่ได้ต้องการคนที่มาคัดค้าน”

หรือเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นเช่น จะสร้างเขื่อน หรือว่ามีเสือดำโดนยิงตัวหนึ่ง หรือจับซากสัตว์ป่าได้เยอะๆ คนก็หันมาตื่นตัว เริ่มตั้งคำถาม ทำไมรัฐบาลไม่ดูแลจัดการเรื่องนี้ให้ดี ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ยังไง เราไม่ควรทำแบบนี้ฯ แต่ว่าหลังจากนั้นแล้ว มันไม่ใช่แค่ว่าเราสนับสนุนองค์กรอนุรักษ์ หรือกระตุ้นเตือนผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่ให้ทำงานอย่างเข้มแข็ง แต่ว่าตัวเราก็ต้องทำด้วย เพราะว่ามันไม่เกิดประโยชน์อะไรถ้าเราจะโวยวายอยู่ในเฟซบุ๊กแค่อาทิตย์สองอาทิตย์ แต่ชีวิตที่เหลือของเรามันต้องปรับตัวไปด้วย”

“วันก่อนผมไปดูงานการสร้างจุดสกัดที่บ้านแม่กลองน้อย แม่กลองคือชื่อลำห้วย และลำห้วยแม่กลองจะไล่จากอุ้งผางและลัดเลาะไปตามป่า เช่น ป่าตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้งผาง แล้วก็รวมกับลำห้วยหลายๆ สาย แล้วมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแควใหญ่ แควน้อย ทำให้ผมคิดว่า จริงๆ แล้ว เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า คนที่อยู่ในเมือง เราก็รับน้ำที่ออกมาจากในป่าจริงๆ

“เราต้องเข้าใจว่าต้นกำเนิดพวกนี้มาจากไหน น้ำ อากาศบริสุทธิ์ หรือว่าแร่ธาตุต่างๆ ในน้ำในดินก็มาจากป่า มันไม่ใช่แค่เปิดก๊อกแล้วไม่เห็นที่มาของน้ำ แล้วจริงๆ คนในเมืองก็ยิ่งต้องใส่ใจ เพราะว่าน้ำอยู่ในป่า เวลาที่เขาแจกจ่ายไปตามระบบชลประทาน เขาจะแบ่งปริมาณสัดส่วนเยอะมาก เพื่อมาทำน้ำประปาให้คนที่อยู่ในเมือง เพราะหน้าแล้งมากๆ ถ้าไม่มีน้ำส่งมา แล้วน้ำทะเลหนุน น้ำประปาก็เค็มอีก จริงๆ น้ำนี่คือทรัพยากรทีาชาวไร่ชาวนาเขาจำเป็นต้องใช้มากกว่าเราอีก และปฎิเสธไม่ได้หรอกว่าเราใช้มากกว่าเขา ทำลายมากกว่าเขา เรานี่เปิดไฟ เปิดแอร์ ขับรถ ใช้ถุงพลาสติก มันเป็นสเกลที่นั่งนึกดูแล้วเราทำไว้เยอะ ทำไว้มากกว่าที่เราคิด เราทุกคนปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้”

ตราบใดที่ยังหายใจ เรายังต้องการอากาศดี

โน้ตย้ำว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เขาให้ความสนใจอีกเรื่องไม่แพ้เรื่องป่าเขาลำเนาไพรก็คือ เรื่องของอากาศ เพราะอากาศดี เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร

“ตราบใดที่ยังหายใจ ทุกคนต้องการมีอากาศบริสุทธิ์เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะยากดีมีจน แต่ทุกวันนี้ หน้าแล้ง ก็เริ่มเผาป่า พออากาศร้อน อากาศปิด ไม่มีลม PM 2.5 ก็มา ควันไฟจากภาคเหนือ หรือที่อื่นๆ ก็มาอยู่ในที่ที่เราอยู่ ที่สำคัญ ถ้าเป็นคนมีเงิน เขาก็ไม่เดือดร้อน เขาก็อยู่แอร์กัน บ้านมีเครื่องฟอกอากาศ มีรถส่วนตัวในการเดินทาง แต่ถามว่าเด็กที่ต้องนั่งรถเมล์ คนแก่ไม่มีรถส่วนตัว บ้านไม่มีแอร์ เขาต้องเสียสิทธิพื้นฐานที่สุดของเขาคือ อากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ ซึ่งมันแทบไม่มีเลย แล้วจะบอกว่าคนเราไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้แล้ว

“ในยุคผม ผมพูดได้นะว่า วันนั้นภาพมันยังไม่ชัด ปัญหาสิ่งแวดล้อมมันยังไม่เห็นความเชื่อมโยง เกิดปัญหาล่าสัตว์ สัตว์ป่าเสี่ยงสูญพันธ์ุ แต่มันก็พูดไม่ได้ว่าคนในเมืองเกี่ยวอะไร”

“แต่ทุกวันนี้มันชัดเจนว่า ถ้าไม่ดูแลพื้นที่สีเขียวดีๆ ไม่บริหารจัดการระบบคมนาคมดีๆ ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แปลว่าคนที่เดือดร้อนมันคือทุกคนจริงๆ”

“และคนที่เดือดร้อนก่อนก็คือชาวบ้าน คนรายได้น้อย เสียเปรียบทางสังคม คนมีเงินนี่นะ พออากาศไม่ดี ก็อยู่บ้านตากอากาศ เขาหนีไปได้ เลือกได้ว่าจะอยู่กับอากาศยังไง แต่คนไม่รวยล่ะ บ้านก็มีอยู่บ้านเดียว ถึงได้บอกว่า เรื่องสิ่งแวดล้อม เราจะปฏิเสธปัญหาไม่ได้แล้ว”

วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า โน้ตมักจะเลือกป่าเป็นอีกหนึ่งโลเกชั่นหลัก เพื่อเติมพลังที่เหือดหายจากการทำงานหนัก นอกจากนั้น ทุกวันนี้หลายคนก็เริ่มสนใจเข้าป่า เพื่ออาบความชุ่มชื่นจากป่า ไม่ว่าจะตามประสามนุษย์ผู้เชื่อมโยงกับป่าตามหลักวิวัฒนาการ หรือไปอาบป่า เพราะมีผลวิจัยแล้วว่าดีกับวิถีมนุษย์เราตามกระแสการอาบป่าที่แพร่หลายไปทั่วโลก แต่กระนั้นก็ตาม การเข้าป่าไม่ใช่แค่การไปเที่ยว แต่มันคือการเข้าไปสร้างผลกระทบโดยตรงกับป่าที่เป็นบ้านของสัตว์ป่ามากมาย ดังนั้นสิ่งที่เราควรพกเข้าป่าไปด้วย นอกจากสัมภาระแล้ว ยังต้องมีสำนึก ความรับผิดชอบ ที่สำคัญ…ถุงเก็บขยะด้วย

“เป็นคนเมือง ถ้าอยากจะเข้าใจป่า ผมว่าแค่มองตามหลักวิทยาศาสตร์ของมันได้เลย ไม่ต้องซับซ้อน เวลาเราไปเที่ยวก็อย่าไปตัวเปล่า หรือเอากล้องไปถ่ายรูปอย่างเดียว ต้องมีความรับผิดชอบ มีความรู้เกี่ยวกับป่าด้วย คุณไปเขาใหญ่ ก็รู้อยู่ว่าปัญหาของเขาใหญ่คืออะไร มันคือเรื่องขยะ เรื่องสัตว์ที่โดนรถชนตาย แต่ถ้าคุณเข้าใจระบบนิเวศ คุณจะเข้าใจเลยว่า สาเหตุมันคืออะไร มันคือนักท่องเที่ยวเรานี่แหละ ที่ไปแทรกแซงชีวิตของพวกลิง กวาง เอาอาหารไปล่อมัน ไปให้มันตามริมถนน แล้วมันก็ออกมากิน พอออกมาก็โดนรถชนตาย

“ถ้าเรารู้หน้าที่ของลิง ว่ามันทำหน้าที่ปลิดลูกไม้ตกลงมาให้เก้ง กวาง หมูป่าได้กิน แล้วไปขับถ่ายไว้ที่อื่น เพื่อไปปลูกต้นไม้ขึ้นมาอีก ดังนั้นคุณก็จะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมไม่ควรเอาอาหารไปให้สัตว์ป่า แล้วสัตว์พวกนี้จะได้ไม่โดนรถชน ปัญหาเหล่านี้ก็จะน้อยลง”

“หรือว่าเรื่องขยะก็ตาม ถ้าเรารู้ว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม่ใช่พนักงานเก็บขยะ แล้วก็ไม่ใช่ทาส ไม่ใช่ลูกจ้าง เวลาเราไปเที่ยวป่า เจ้าหน้าที่เขาไม่ใช่พนักงานโรงแรมมาต้อนรับเรานะ หน้าที่หลักของพิทักษ์ป่า คือดูแลรักษาป่า พิทักษ์ป่า การบริการนักท่องเที่ยว เป็นงานที่เขามาช่วยทำ มาต้อนรับ แต่อย่าไปทำให้เขาเหนื่อย เราไปเที่ยวก็เก็บขยะกลับมาก็ได้ เอาถุงขึ้นไปสักใบ เก็บขยะกลับมา แล้วก็เอามาทิ้งที่บ้าน มันไม่ใช่เรื่องลำบากอะไรเลย ผมทำมาแล้ว ไปเดินป่าก็ทำแบบนี้ การเที่ยวอย่างรับผิดชอบมันไม่ใช่เรื่องยากถ้าเราเข้าใจ เราต้องเที่ยวแบบแบ่งให้คนอื่นเที่ยวด้วย ไม่ใช่ไปเที่ยวแล้วเจอกรุ๊ปก่อนหน้าคุณทิ้งขยะไว้ คุณจะรู้สึกยังไงล่ะ

“ประเด็นสำคัญคือคุณต้องเข้าใจระบบนิเวศก่อนที่จะไปเที่ยวป่า หรือแม้แต่เรื่องเอาสัตว์เลี้ยงไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าจะหมาหรือแมว มันก็มีหลักการและเหตุผลของมันอยู่ นั่นคือหมาแมวพวกนี้อาจจะนำโรคไปแพร่ให้สัตว์ป่าที่ไม่มีภูมิต้านทาน ถ้ามันเป็นโรคขึ้นมา มันก็ตายยกฝูงเลย หรือแมวที่เขาไม่อยากให้ไปอยู่ในป่านี่เพราะว่าแมวคือผู้ล่า แมวคือเสือตัวเล็กแค่นั้นเอง มันกินกบ กินคางคก ซึ่งกบ คางคกพวกนั้นมันอาจจะเป็นสายพันธุ์เฉพาะ หายากก็ได้ คือถ้าคุณรู้หลักการและเหตุผลคุณจะไม่ต้องมานั่งเถียงในโซเชียลเลย เพราะแปลว่าคุณรู้จักแมว รู้จักสัตว์ป่าอย่างที่มันเป็น ความหลากหลายทางชีวภาพมันมีความละเอียดซับซ้อนมากกว่าที่เราคิดเยอะ เราอาจจะค่อยๆ คิด ใช้ชีวิตให้ช้าลง ค่อยๆ สังเกตไป เราถึงจะรู้ว่าป่าที่เราเห็นว่าไม่มีอะไรน่ะ มันมีชีวิตอยู่ ทุกวันนี้มันไม่ยากที่จะเข้าใจ เพราะข้อมูลมีมากพอแล้ว เข้ามาอ่านในเพจมูลนิธิสืบก็ได้ ข้อมูลเยอะมาก คุณจะเข้าใจระบบต่างๆ คุณจะเข้าใจว่าทำไมเราต้องอนุรักษ์ป่ากันแบบนั้น”

“เชื่อไหมว่า ผมเคยตื่นเต้นมากที่ถ่ายภาพเสือโคร่งได้  คือตอนที่เจอเสือก็ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก เพราะเราไม่ได้คิดว่าจะเจอ แล้วตรงนั้นมันเป็นลำห้วยขาแข้ง แล้วมีหน่วยพิทักษ์ป่าอยู่ ตอนนั้นเราก็จะกลับกรุงเทพแล้ว กินข้าวเช้ากันเรียบร้อย ยกของขึ้นรถแต่ตั้งขาตั้งกล้องทิ้งไว้ คิดว่าเดี๋ยวถ่ายวิว ลำห้วย ถ่ายกวางซะหน่อย ปรากฏว่ากวางเดินข้ามลำห้วยมาปุ๊บ มันตกใจ ก็ร้องและวิ่งหนีไป แล้วพี่ๆ เขาก็บอกว่ามันคือเสือโคร่งสองตัว วิ่งเล่นกันในลำห้วย ผมก็รีบกดชัตเตอร์เลย พอได้ภาพแล้วดีใจมาก เหมือนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เพราะมันไม่คิดว่าจะเจอ โอกาสที่จะเจอเสือโคร่งมันน้อยมาก

“แต่ภาพนั้นมันสื่อสารให้เห็นเลยว่า ป่าคือบ้านของสัตว์ป่า และเสือโคร่งก็ได้อยู่บ้านของมันจริงๆ เพราะเสือก็เลือกที่อยู่อาศัยนะ ถ้ามันอยู่ได้ ก็แปลว่าเป็นป่าที่ได้รับการปกป้องเป็นอย่างดี ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ มีอาหารการกินของมันอุดมสมบูรณ์ ใกล้ลำห้วย เวลามันกินสัตว์มันก็กินซากจนหมด ใช้ซากสัตว์เป็นอาหารได้อย่างคุ้มค่า แต่คนนี่เบียดเบียนสัตว์ยิ่งกว่ามันอีก คนล่าเสือกันที ก็เข้าไปยิงเก้ง แล้วก็เอายาฆ่าหญ้าโปะ เสือมากินก็ชักดิ้นชักงอ แล้วก็ถลกหนังมันไป ทีนี้มันตายไป แล้วถ้ามันมีลูกเล็กอยู่ มันก็ลำบากทั้งครอบครัว”

จบประโยคนี้ เรานึกถึงภาพที่โน้ต หยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูปข้อความบนเสื้อยืดเก็บไว้ในโทรศัพท์

‘ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า เพราะพวกเขาพูดเองไม่ได้’

ดูเหมือนว่า หัวใจและการกระทำของคนในมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำตามคำพูดนี้อย่างซื่อสัตย์และไม่มีแม้แต่ขณะเดียวที่จะลังเล หากว่ามีโอกาสได้พูดและได้ ‘สืบ’ สานปณิธานของผู้ที่ส่งเสียงเพรียกจากพงไพร…ด้วยไกปืน

ภาพถ่าย: เอกพล ภารุณ