ดูท่าว่าตลอดช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาร่างกายเรารับศึกหนักมาตลอด โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญในระบบทางเดินหายใจเช่นปอด ไหนจะฝุ่นพิษหนาที่ลอยฟุ้งอยู่รอบๆ ตัวยามหน้าแล้งเวียนมาถึง ไหนจะศัตรูตัวฉกาจของปอดที่มนุษย์ต้องคอยหลบหลีก ป้องกัน และต่อสู้กันมายาวนานอย่างโควิด-19

ผลยืนยันทางการแพทย์บอกว่าอาการทั้งหลายที่พบเมื่อติดเชื้อไวรัสจากโควิด-19 มีความเชื่อมโยงกับระบบทางเดินหายใจทั้งสิ้น สังเกตได้ว่าผู้ที่ติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิต ล้วนมีปัจจัยสำคัญคือเป็นมีโรคประจำตัว และหนึ่งในนั้นก็รวมถึงโรคเกี่ยวกับปอดด้วย

“ส่วนมากที่เสียชีวิต จะเกิดจากการที่เขามีอาการปอดอักเสบ” แพทย์หญิงเปี่ยมลาภ แสงสายันห์ หัวหน้ากลุ่มอายุรกรรมปอด สถาบันโรคทรวงอกได้กล่าวเอาไว้ เธออธิบายกระบวนการในปอดเมื่อเกิดอาการอักเสบว่า โดยปกติแล้วเวลาเราหายใจ ลมจะผ่านปอดเข้าไปในระบบเส้นเลือด และเกิดการแลกเปลี่ยนอากาศกันระหว่างถุงลมกับเส้นเลือด เพื่อนำออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายต่อไป

เมื่อเกิดอาการอักเสบจากโควิด-19 เชื้อไวรัสนี้จะเสมือนเป็นประตูคั่นกลางระหว่างเส้นเลือดกับปอด ซึ่งทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนไปดื้อๆ จนไปขัดระบบการทำงานของปอดและกระทบต่อร่างกาย

นี่คือระบบการไหลเวียนของออกซิเจนภายในปอด ที่สัมพันธ์กับระบบในร่างกาย อธิบายชัดถึงตัวขัดขวางวงจรนี้อย่างโควิด-19 ตัวร้ายที่ป่วนให้ระบบในร่างกายรวนไปหมด แต่ก่อนที่จะตัวร้ายนี้จะเข้ามาทำร้าย เราสามารถเสริมสร้างเกราะป้องกันให้ปอดแข็งแรง และต้านทานไวรัสที่จะเข้ามาทำร้ายปอดได้ยากขึ้น จากการ ‘กิน’ อาหารที่ดีมีคุณสมบัติครบถ้วนตามลิสต์ด้านล่างนี้

1. น้ำ ช่วยรักษาปอดให้ชุ่มชื้น ไม่แห้ง ไม่เช่นนั้นจะเกิดการระคายเคืองในปอดได้ ควรดื่มอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว

2. น้ำมันจากปลา กรดไขมัน EPA และ DHA จากโอเมก้า 3 ช่วยต้านหรือลดการอักเสบในร่างกายเช่นปอดได้ ซึ่งปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวันสำหรับคนสุขภาพปกติคือ 500 มิลลิกรัม

3. แอปเปิ้ล ผู้บริโภควิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน ผลไม้รสเปรี้ยว และน้ำผลไม้เป็นประจำ จะมีสุขภาพปอดที่ดีและแข็งแรงสมบูรณ์ จากงานวิจัยของโรงเรียนการแพทย์เซนต์จอร์จ มหาวิทยาลัยลอนดอน โดยศึกษาลักษณะอาหารที่กินเทียบกับสุขภาพของปอดจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,500 คน

4. แอปริคอต ผลไม้สีส้มคล้ายพีชที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ส่งผลโดยตรงต่อการบำรุงระบบทางเดินหายใจ และช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะปอดติดเชื้อได้

5. บร็อคโคลี ผักตระกูลเดียวกันกับบร็อคโคลีมีสารซัลโฟราเพน (Sulforaphane) ที่สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังได้

6. เนื้อสัตว์ปีก วิตามินเอสูง ช่วยบำรุงปอด สรรพคุณคล้ายกับผักผลไม้ แต่ร่างกายสามารถดูดซับวิตามินเอจากเนื้อสัตว์ได้ดีกว่า

7. วอลนัต ช่วยลดอาการหอบหืด และอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปอดได้ เมื่อกินเป็นประจำวันละ 4-5 ลูก

8. เบอร์รี่ ผลไม้ตระกูลนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ที่ช่วยเสริมสร้างให้ปอดแข็งแรง เช่น โกจิเบอร์รี (เก๋ากี้) แครนเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่

กินดีไม่พอ ขอถนอมปอดอีกแรงด้วยสารพัดวิธี

นอกจากจะกินให้ดีแล้ว เราก็ยังสามารถถนอมปอดให้แข็งแรงได้อีกหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งไม่ยากเลยเพราะสามารถทำได้ด้วยตัวเองทั้งสิ้น

1. นอนห่มผ้า ปิดขึ้นมาถึงหน้าอกเพื่อรักษาความอบอุ่นให้แก่ปอดในยามค่ำคืน

2. งดสูบบุหรี่ ใครๆ ก็รู้ว่าโทษของบุหรี่ร้ายแรงต่อปอดเพียงใด เพื่อลดความเสี่ยงในการที่ปอดถูกทำลายก็ควรงด

3. ออกกำลังกาย ลองเลือกบริหารที่เหมาะกับการสร้างความแข็งแรงให้ปอด เช่น คาร์ดิโอด้วยการวิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ หรือลองทำตามท่าที่โรงพยาบาลศิริราชแนะนำในช่วงเว้นระยะห่างดูก็ได้ ด้วยการ

• เดินย่ำเท้าอยู่กับที่ ประมาณ 1 นาที

• เดินยกขาสูงอยู่กับที่ ให้ครบ 20 ครั้ง

• วิ่งเหยาะหรือวิ่งช้า ๆ อยู่กับที่ ประมาณ 1 นาที

• นั่งแกว่งแขน ยกแขนขึ้น-ลง นั่งบนเก้าอี้กางขาเล็กน้อย ยกแขนทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะพร้อมหายใจเข้าลึก ๆ แล้วค้างไว้ประมาณ 2 วินาที จากนั้นลดแขนทั้งสองลงพร้อมหายใจออก ทำประมาณ 15-20 ครั้ง

• นั่งเอนตัวลงด้านข้างลำตัว นั่งบนเก้าอี้กางขาเล็กน้อย มือซ้ายเหยียดแขนไปแตะซี่โครงด้านข้างขวาไว้ มือขวายกขึ้นเหนือศีรษะ และเอียงตัวไปข้างซ้ายพร้อมกับหายใจเข้า-ออกลึกๆ ค้างไว้ 2 ครั้ง แล้วเอนตัวกลับเข้าท่าตรง จากนั้นสลับข้าง (ทำซ้ำท่าเดิมให้ครบ 5 รอบ)

• นั่งตัวตรงหมุนบิดลำตัวตัวซ้าย-ขวา นั่งตัวตรงบนเก้าอี้ กางขาเล็กน้อย เอามือซ้ายและมือขวาวางไว้เอวด้านซ้าย หมุนตัวไปทางซ้ายพร้อมหายใจเข้า-ออกลึกๆ ค้างไว้ 2 ครั้ง จากนั้นหมุนลำตัวกลับเข้าสู่ท่าตรง แล้วสลับข้าง (ทำซ้ำท่าเดิมให้ครบ 5 รอบ)

มาลองเช็กปอดด้วยตัวเองกันเถอะ

นอกจากจะเลี่ยงสาเหตุการติดเชื้อของปอด บำรุงปอดกันด้วยอาหาร และป้องกันจากการออกกำลังกายกันแล้ว ก็ยังมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาช่วยให้เราตรวจสุขภาพปอดเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง Lung Care คือแอปพลิเคชันจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้เราสามารถเช็กความเสี่ยงของปอดเราได้ง่ายๆ เพียงแค่เป่าลมออกจากปากใส่ไมโครโฟนของสมาร์ตโฟนเป็นประจำทุกวัน ซึ่งวิธีนี้ใช้หลักการเดียวกันกับครื่องตรวจสมรรถภาพปอด (Peak Flow Meter) ที่ใช้ในโรงพยาบาล โดยจะมีผลการทดสอบออกมา

หมายเหตุ : แอปพลิเคชันนี้สามารถตรวจสอบได้เบื้องต้นเท่านั้นว่าปอดถูกทำลายหรือไม่ และกินพื้นที่ปอดไปมากเท่าไร แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าปอดของเราติดเชื้อโควิด-19 หรือยัง ต้องพบแพทย์ต่อไป

แน่นอนว่าทุกคนต่างระแวดระวังกันและกัน โดยเฉพาะกลุ่มสุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุที่อวัยวะภายในเริ่มเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา

คนที่เคยเป็นโรคเกี่ยวกับปอดที่ระบบภายในร่างกายจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และคนที่มีน้ำหนักมากที่จะเสี่ยงกับการหายใจยากลำบากมากกว่าเดิม

โดยผู้ที่ปอดทำงานน้อยลงกว่าปกติ 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถูกทำลายเพิ่มอีก 10-20 เปอร์เซ็นต์ การใช้ชีวิตประจำวันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แม้ว่าผู้ที่มีอาการหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตจะมีเปอร์เซ็นต์ต่ำมาก (ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์) แต่เราก็ไม่ควรละเลยการดูแลสุขภาพปอด ที่นอกจากจะต้องป้องกันไม่ให้ติดเชื้อตามมาตรการแล้ว เราก็สามารถเลือกกิน เลือกออกกำลัง เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับปอด เพราะหากติดเชื้อแล้ว อย่างน้อยก็ยังมีเกราะป้องกันให้ไวรัสบุกรุกเข้ามาทำลายปอดได้ยากขึ้นนั่นเอง

ที่มาข้อมูล
www.chula.ac.th
www.si.mahidol.ac.th
www.thaihealth.co.th/อาหารบำรุงปอด
www.thaihealth.co.th/4โรคร้ายทำลายปอด
www.thaihealth.co.th/Covid-19ไวรัสเจาะปอด
www.thaihealth.or.th/ปอดเสี่ยงเลี่ยงโควิด
www.thaihealth.or.th/บร็อคโคลี่ป้องกันปอด

ภาพประกอบ: missingkk