พอเดือนกุมภาพันธ์มาถึง ที่อีสานบ้านฉันจะมีงานบุญประจำปีเรียกว่า ‘บุญข้าวจี่’ เป็นขนบประเพณี ‘ฮีตสิบสอง คองสิบสี่’ ที่ปฏิบัติกันมาช้านาน ปีก่อนฉันปลูกข้าวเหนียวปลอดภัยไว้กินเอง จึงมีข้าวเหนียวใหม่สัมผัสเหนียวนุ่มนิ่ม กลิ่นหอมเก็บขึ้นยุ้งฉาง ก็เลยอยากชวนคุณมาล้อมวงฟังนิทานข้าว ก่อนเข้าครัวฝึกมือปรุงข้าวจี่ประยุกต์ ที่ผสมทั้งเนื้อฟักทอง และมันม่วง เตรียมนำไปถวายพระ หรือจะกินเป็นของว่างอร่อยๆ ก็ดีต่อสุขภาพไม่น้อย

นิทานสงครามพญาคันคาก กับพญาแถน และเมล็ดข้าวของชาวอีสาน

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์จุติมากำเนิดในครรภ์ของพระมเหสี ของกษัตริย์เมืองอินทปัตถ์ แห่งชมพูทวีป ทว่าถือกำเนิดออกมาในรูปลักษณ์ของคันคาก (แปลว่า คางคก) ด้วยเป็นผู้มีบุญญาธิการสูง เมื่อเติบใหญ่ก็ปกครองบ้านเมืองได้อย่างผาสุก เป็นที่นับถือของเท้าพระยาต่างๆ รวมถึงเหล่าสัตว์น้อยใหญ่  ความป๊อบปูลาร์ของพญาคันคากนี้ทำให้พญาแถนผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ไม่พอใจเพราะเกรงจะสูญเสียอำนาจ จึงออกอุบายสั่งให้พญานาคเลิกเล่นน้ำ เพื่อให้เมืองมนุษย์แห้งแล้ง

เมื่อพญาคันคากสืบรู้ว่าพญาแถนคือผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง จึงเกณฑ์ไพร่พล ทั้ง พญานาค พญาครุฑ ปลวก และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ช่วยกันสร้างภูเขาเพื่อขึ้นไปรบกับพญาแถนจนชนะ จากนั้นก็เกิดการร่างสนธิสัญญาระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ว่า ถ้าถึงเดือนหก (พฤษภาคม) ซึ่งเป็นฤดูเพาะปลูก พญาแถนต้องปล่อยฝนลงจากฟ้า โดยทางโลกมนุษย์จะให้สัญญาณด้วยการให้พญานาคขี่บั้งไฟขึ้นมาบอก (เกิดประเพณีบุญบั้งไฟ) เป็นอันว่าพญาแถนตอบรับคำร้องขอ และจัดเลี้ยงเหล่าพญาคันคากและสมุนบนสวรรค์ โดยสั่งเหล่าไพร่พลลูกเมียแต่งข้าวปลาอาหารมาเลี้ยง

พญาคันคากผู้ไม่เคยรู้จักข้าว จึงถามว่าคือสิ่งใด พญาแถนจึงบอกว่า ข้าวคืออาหารที่ปลูกไว้กินบนสวรรค์ มีหลายสายพันธุ์ พญาคันคากจึงขอพันธุ์ข้าวที่เมล็ดเท่ามะพร้าว ต้นเท่าลำตาล เพื่อลงไปปลูกที่เมืองมนุษย์ อีกทั้งข้าวนี้เมื่อสุกแก่เต็มที่ ก็จะร่วงหล่นและลอยเข้ายุ้งฉางที่มนุษย์ทำเตรียมไว้เอง โดยที่มนุษย์ไม่ต้องทำอะไร ซึ่งพญาแถนก็ตอบตกลง

หลังจากนั้นข้าวก็ถูกนำมาปลูกบนโลกมนุษย์ และเป็นไปตามที่ร้องขอทุกอย่าง จวบจนพญาคันคากตาย มนุษย์ก็เริ่มขี้เกียจ ไม่ทำยุ้งฉางข้าวรอ พอเมล็ดข้าวสุกร่วงจากต้นแล้วไม่มียุ้งฉางให้อยู่ ก็บินไปอาศัยอยู่ตามบ้านคน มนุษย์รำคาญก็เอามีดเอาขวานสับตีเมล็ดข้าวจนกลายเป็นข้าวเมล็ดเล็กๆ อย่างปัจจุบัน  นิทานความเชื่อเรื่องกำเนิดข้าวของชาวอีสานก็จบลง

บุญเดือนสาม บุญข้าวจี่  เป็นอย่างไร

งานบุญเดือนสาม หรือบุญข้าวจี่ จะกำหนดเอาวันข้างแรม ประมาณแรม 13 ค่ำ – แรม 14 ค่ำ หลังจากทำบุญวันมาฆบูชาแล้ว ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้ามืด นำข้าวเหนียวใหม่หอมๆ ที่หม่าไว้ (แช่น้ำข้ามคืนไว้) มานึ่งจนสุกนิ่ม ก่อนเทใส่กระด้ง หรือโบ่มไม้ ที่ทาน้ำบางๆ กันข้าวติด แล้วใช้ไม้พายจุ่มน้ำส่ายข้าวเหนียวไปมาให้คลายไอน้ำ (ภาคกลางเรียกหักคอข้าวเหนียว) อธิบายง่ายๆ คือ การพลิกข้าวไปมาเพื่อไล่ไอน้ำออกจากข้าวป้องกันข้าวแฉะนั่นเอง

จากนั้นก็แบ่งข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นเป็นก้อนกลมเสียบไม้ หรือปั้นเป็นทรงกลมแบน แล้วนำมาโรยเกลือก่อนนำไปจี่ไฟให้ผิวข้าวด้านนอกเริ่มแห้งกรอบนิดๆ จึงนำกลับลงมาชุบไข่ แล้วนำกลับไปจี่อีกครั้ง พลิกไปมาให้ข้าวสุกอีกครั้ง ถ้าอยากให้ได้ข้าวจี่เหลืองๆ ต้องชุบไข่สองหน ส่วนข้าวจี่ที่เสียบไม้ เวลาจะถวายพระก็จะดึงไม้ออก แล้วนำน้ำตาลอ้อยบรรจุใส่ลงในรูช่องว่าง เรียกว่าข้าวจี่น้ำอ้อย ซึ่งเณรน้อยในอีสานสมัยก่อนต่างรอคอย ถ้าไม่มีใครนำไปถวาย ก็ถึงกับร้องไห้เลยทีเดียว

การทำบุญข้าวจี่ ยังถือเป็นการสู่ขวัญข้าวที่เพิ่งเก็บขึ้นยุ้งฉาง

และเชื่อมโยงกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับนางปุณณะทาสี ในสมัยพุทธกาล ผู้ทำขนมแป้งจี่ถวายพระพุทธเจ้าและพระอานนท์ แล้วมีโอกาสได้ฟังธรรมจนบรรลุโสดาบันนั่นเอง

มาทำข้าวจี่มันม่วง ข้าวจี่ฟักทองกันเถิด

เมื่อสองปีก่อน ช่วงบุญข้าวจี่เช่นนี้ พ่อฉันไปทำบุญที่วัดแถวบ้าน แล้วได้ข้าวจี่เหลือจากพระฉันกลับมาฝาก บอกว่ามีคนทำมาถวายอร่อยดี เป็นข้าวจี่ฟักทอง ฉันจึงลองหยิบมาดูและพบว่า ข้าวจี่มีเนื้อนิ่ม กลิ่นหอม สีเหลืองอร่ามสวยกว่าข้าวจี่ชุบไข่ธรรมดา และพอกัดชิม ก็ยิ่งชอบใจ เพราะเป็นข้าวจี่แบบสมัยใหม่ที่นำข้าวเหนียวมามูนกับกะทิและเนื้อฟักทองสุกบด

ปีนี้ฉันมีข้าวเหนียวใหม่นิ่มๆ ที่ปลูกเอง เกี่ยวเอง สีเอง ปลอดภัยจากสารพิษเก็บขึ้นยุ้งฉางไว้เรียบร้อย ส่วนตลาดแถวบ้านก็มีทั้งฟักทองและหัวมันเทศหลากสีสันที่เกษตรกรนำมาขาย เครื่องของครบเช่นนี้ จึงอยากชวนคุณมาทำข้าวจี่สีสวยๆ ทั้งจากฟักทองนึ่ง และมันม่วงนึ่งสุกกัน

ปรับรูปแบบมาเสียบไม้ไอติม แลดูน่ารักน่าหยิบ ลดสัดส่วนของน้ำตาลลง ให้หวานแต่น้อยจากน้ำตาลมะพร้าว

และเวลาจี่ก็จี่ในกระทะเทฟล่อน หรือกระทะเคลือบเซรามิกชนิดที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เรียกได้ว่า อยู่คอนโดก็ทำข้าวจี่สุขภาพดีกินได้ ว่าแล้วไปดูส่วนผสมและวิธีทำกันเลยดีกว่า

ข้าวจี่มันม่วง

ส่วนผสม

ข้าวเหนียวใหม่ปลอดภัยนึ่งสุกร้อนๆ 375 กรัม

เนื้อมันเทศสีม่วงนึ่งปอกเปลือก หั่นเต๋าใหญ่ 1 ½  ถ้วยตวง

หัวกะทิจากมะพร้าวขูดขาวคั้นไม่ใส่น้ำ  ¾ ถ้วยตวง

น้ำตาลมะพร้าวแม่กลอง (ถ้าไม่ชอบหวานไม่ใส่ก็ได้) 3 ช้อนโต๊ะ

เกลือบ่อกฐิน 2 ช้อนชา

ไข่ไก่อินทรีย์ ตีด้วยส้อมให้ไข่ขาวและไข่แดงเข้ากันดี 1 ฟอง

วิธีทำ

1. มูนข้าว โดยปั่นมันม่วงนึ่ง หัวกะทิ น้ำตาลมะพร้าวแม่กลอง เกลือบ่อกฐิน รวมกันจนละเอียด แล้วเทใส่ลงภาชนะ

จากนั้นใส่ข้าวเหนียวใหม่นึ่งร้อนๆ ลงไป คนให้เข้ากัน แล้วยกหม้อขึ้นตั้งไฟกวนจนข้าวที่เหลวข้นเหนียวขึ้น หรือจะนำส่วนผสมไปใส่หวดนึ่งข้าวเหนียวแล้วนึ่งอีกรอบราว 10 นาทีก็ได้ จากนั้นเทข้าวใส่ถาดเกลี่ยพักให้คลายร้อน

2. นำข้าวเหนียวมูนมาปั้นหุ้มไม้ไอติม รูปทรงตามชอบ แต่ต้องกดให้แบนเพื่อสะดวกต่อการนำไปจี่ในกระทะ

3. นำข้าวที่เสียบไม้ปั้นไว้ ชุบไข่แล้วใส่ลงจี่ในกระทะ ใช้ไฟกลาง พลิกกลับไปมาให้ไข่สุกรอบด้าน หากชอบไข่เคลือบข้าวหนาๆ สามารถชุบไข่ได้สองถึงสามรอบ ตามชอบ แล้วนำกลับไปจี่จนสุก รับประทานขณะอุ่นๆ จะฟินมาก

Tips

• ในสัดส่วนเดียวกัน เปลี่ยนจากมันเทศสีม่วงเป็นฟักทองก็จะได้ข้าวจี่ฟักทอง

• หากเริ่มต้นจากข้าวเหนียวดิบ ให้นำข้าวเหนียวดิบซาวล้างให้สะอาด (อย่าซาวเกิน 2 รอบ ข้าวจะแข็ง) แล้วใส่น้ำแช่ไว้ 1 คืน จึงนำไปนึ่งในหวดจนสุก และนำมาใช้ได้ โดยข้าวเหนียวดิบ 500 กรัม เมื่อนึ่งสุกแล้ว จะได้ข้าวเหนียวสุก หนัก 750 กรัม

ภาพถ่าย: สิทธิโชค ศรีโช