‘แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา’ คือสโลแกนที่ติดปากเราในเวลาเพียงไม่นาน หลังจากโครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ เปิดจุดรับขยะพลาสติก เพื่อส่งต่อเข้ากระบวนการรีไซเคิล

หากเราจะนับเอาวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดจุดรับบนเส้นทางสุขุมวิท เป็นวันถือกำเนิดของโครงการก็คงจะไม่ผิดนัก แต่ถ้าจะถามถึงวันที่โครงการนี้ริเริ่มขึ้นเป็นไอเดีย และตั้งต้นมองหาผู้ร่วมขบวนการ ก็ต้องวางจุดสตาร์ตกันที่เดือนเมษายน เดือนที่ข่าวการแพร่ระบาดของ โควิด-19 สร้างความวิตกกังวลกันอย่างทั่วถึง

สำหรับคนที่ตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติกอยู่แล้ว และพยายามหาทางลดการใช้หรือจัดการขยะพลาสติกอยู่แต่เดิม โควิด-19 ไม่ได้สร้างแต่ความกังวลที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้ออยู่อย่างเดียว เพราะการเฝ้ามองขยะพลาสติกกองพะเนินที่มากับการสั่งอาหารหรือสั่งสินค้าผ่านบริการเดลิเวอรี่ แทนการหิ้วถุงผ้าคล้องตะกร้าไปตลาดนั้น ก็สะเทือนใจอยู่ไม่น้อยเมื่อเห็นตัวเลขที่ภาครัฐนำเสนอผ่านสื่อว่า

โควิด-19 ส่งผลทำให้จำนวนขยะพลาสติกในกรุงเทพมหานคร เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3,440 ตัน/วัน ในเดือนเมษายน เทียบกับเดือนนี้เมื่อปีที่แล้ว พบว่ามีจำนวนส่วนต่างที่สูงขึ้น 1,320 ตัน/วัน (จากเดิม 2,120 ตัน/วัน) คำนวณดูแล้วสูงขึ้นถึง 62 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

และการมาถึงของโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ก็ทำให้เราหายใจได้โล่งขึ้น เพราะในขณะที่โครงการรับขยะรีไซเคิลบางแห่งต้องขอระงับการรับขยะไปเพราะหวั่นต่อการแพร่เชื้อ กลับมีฮีโร่ถือธงมาปักตรงหน้า แล้วบอกว่า เชิญเอาขยะพลาสติกมาทิ้งที่เราสิ!

สองเดือนที่ผ่านมาของโครงการนี้ให้ผลลัพธ์อย่างไร และแผนที่อยู่ในใจของ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ ยังมีอะไรอยู่อีกบ้างนั้น คุณน้ำหวาน-พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ผู้อยู่เบื้องหลังการเกิดขึ้นของโครงการนี้ เล่าให้เราฟังในช่วงสายของวันหนึ่ง ซึ่งสายพานลำเลียงยังคงทำภารกิจพาพลาสติกกลับไปสู่วงจรของการเกิดใหม่

เชื่อในพลังแห่งการเชื่อมประสาน

โครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ เกิดขึ้นโดยเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของสิบองค์กรใหญ่ในตลาดทุนไทย เพื่อที่จะขับเคลื่อนเรื่อง ESG (Environment Social Governors-สังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล) ไปกับการดำเนินธุรกิจของ 700 บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ก็ตอบโจทย์ของการขับเคลื่อนในเรื่องสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีหลายภาคีให้การสนับสนุนทั้งในการช่วยประชาสัมพันธ์รณรงค์และเปิดพื้นที่เป็นจุดรับ

“ส่งพลาสติกกลับบ้านเป็นการสร้าง ecosystem เล็กๆ โดยเชื่อมจากผู้บริโภค แล้วไล่ไปตามระบบด้วยการขนส่งเพื่อนำเข้าไปสู่องค์กรจัดการขยะ แล้วทำการรีไซเคิลเพื่อให้พลาสติกได้ย้อนกลับมาที่ผู้บริโภคใหม่” พิมพรรณเล่าให้เห็นวงจรการส่งพลาสติกกลับบ้านให้เห็นภาพอย่างง่าย ก่อนจะเล่าเหตุผลที่ทำให้ตัวเองสนใจเรื่องนี้ และถือเอาโอกาสระหว่างวิกฤต ผุดโครงการนี้ขึ้นมา

“เราเรียนปริญญาโทมาทางด้าน Environmental Policy แล้วที่ผ่านมาก็ทำงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมาตลอด ซึ่งเป็นการทำงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พัฒนาคน ก็ได้เห็นเลยว่าไม่ว่ามูลนิธิจะทำงานลึก ทำงานหนักแค่ไหน ถ้าเทียบกับเอกชนบริษัทใหญ่ๆ ที่คุมตลาด คุมพนักงานเป็นหมื่นๆ ลองเขาได้ขยับอะไรนิดหนึ่งในทางที่ดี มันจะเกิด impact สูงมาก และถ้าเขาได้มาร่วมกับผู้บริโภค ร่วมกับภาคประชาชน และได้ร่วมกับภาครัฐ ก็น่าจะยิ่งเกิด impact ได้สูงขึ้น”

แม้จะทำงานร่วมกับเอกชนระดับใหญ่ที่มีชื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่การทำงานของเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการส่งพลาสติกกลับบ้านนั้น ก็ยึดหลักตามศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พิมพรรณใช้เป็นแก่นในการทำงานตั้งแต่คราวอยู่มูลนิธิฯ มาเป็นแกน

“เราเอาความรู้จากตรงนั้นเข้ามาเชื่อม เพราะเป้าหมายของ TRBN กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงคือเป้าหมายเดียวกัน และการที่ภาคธุรกิจร่วมกันตั้ง TRBN ขึ้นก็เพราะอยากจะให้บริษัทหนึ่งที่นอกจากจะสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและผู้ถือหุ้น มีกิจการที่ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีกำไรอยู่แล้ว มาสร้างคุณค่าให้กับสังคมด้วย

“ปัญหาขยะพลาสติก เราแก้แบบปูพรมไม่ได้หรอก เราต้องเริ่มแก้จากจุดเล็กก่อน เพราะในทุกการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบแน่นอน และต้องทดลองและพิสูจน์ให้เห็นว่ามันเป็นไปได้จริง ให้เราเข้าใจถึงปัญหาก่อนที่เราจะขยายผล”

เริ่มด้วยโมเดลที่ต้องง่าย ให้คนรู้สึกอยากทำ และเป็นประโยชน์

เป็นเวลาสองเดือนนับตั้งแต่วางจุดรับขยะพลาสติกในวันแรกที่มีจุดวาง 9 จุด ปัจจุบันขยายเป็น 19 จุด และยังมีคนให้ความสนใจเสนอตัวเป็นจุดรับเข้ามาเรื่อยๆ คือภาพสะท้อนให้เราได้เห็นว่า หลายคนหลายฝ่ายให้ความสนใจกับเรื่องนี้อยู่แล้ว เมื่อมีใครสักคนตั้งต้นเป็นหัวขบวน ก็เกิดแรงสนับสนุนตามมา

“คิดว่าทุกคนที่เข้ามาเพราะเขาเห็นปัญหาแล้วอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ทุกคนก็มาทดลองกัน เอาผลสองเดือนมาดูก่อน แล้วค่อยมาดูว่าจะพัฒนาต่อยอดไปได้ยังไงหรือปรับอะไรได้บ้าง”

พิมพรรณเล่าให้ฟังว่าในตอนเริ่มต้นนั้นมีปัญหาเล็กๆ ให้ได้แก้ อย่างเช่นเรื่องถังรับที่หน้าตาไม่ค่อยแตกต่างจากถังขยะทั่วไปจึงมีการทิ้งผิด บางจุดรับจึงแก้ปัญหาเองด้วยการออกแบบถังรับใหม่ แต่สิ่งที่เรียกกำลังใจได้ดีที่สุด เห็นจะเป็นเสียงสะท้อนจากคนที่อยู่ไกลจากจุดรับ แต่ก็อยากจะส่งเป็นพัสดุผ่านทางขนส่งมาให้ด้วย

“โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน เรามีแค่จุดรับพลาสติก และระบบขนส่งของบริษัทที่ทำเรื่องรีไซเคิลมารับไป หวานมองว่าปัจจัยความสำเร็จอย่างหนึ่งคือ การตั้งต้นที่คนรู้สึกว่ามันง่าย ทำให้คนอยากจะทำ และมันเป็นประโยชน์ การที่จะให้คนแยกประเภทพลาสติกซึ่งมีอยู่เยอะมากมันยากไป ก็เลยรับแค่พลาสติกยืด (ถุงหรือฟิล์มพลาสติกที่ยืดได้) กับพลาสติกแข็ง (กล่องใส่อาหาร ขวด แก้วน้ำ) แล้วเรามาจัดการเอง ขอแค่สะอาด และแห้ง เท่านั้นเลย บริษัทที่รับขยะไปเขาก็จะมีการวัดคุณภาพของพลาสติกและปริมาณด้วย เขาบอกว่าสองสัปดาห์แรกความสะอาดอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ พอสัปดาห์ที่สามความสะอาดอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราภูมิใจมากว่าเป็นแนวโน้มที่ดี”

ปลายทางของพลาสติกที่ถูกส่งกลับบ้าน คือองค์กรที่รับจัดการขยะพลาสติกเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล อย่างโครงการวนของทีพีบีไอ แก้วกรุงไทย จีซี และไอวีแอล (Indorama Ventures) ถึงแม้จำนวนขยะพลาสติก 1 ตันในช่วงเกือบสองเดือนแรก จะไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับขยะพลาสติกที่อยู่ในวงจร แต่การเก็บข้อมูลระหว่างทำงานก็นำมาสู่การขยายผล เพื่อหวังต่อยอดไปสู่การจัดการขยะพลาสติกที่ครอบคลุมขึ้น และคิดเผื่อไปถึงคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในวงจรธุรกิจขยะรีไซเคิลด้วย

แผนในอนาคตกับความหวังที่จะนำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืน

“อย่างที่บอกคือเจตนาแรกอยากให้เป็นเรื่องของการทดลอง และมีการศึกษาชิ้นหนึ่งออกมาเพื่อศึกษาขยายผล สิ่งที่เราเห็นในวันนี้คือขยะพลาสติกยังไม่มีทางออกที่ดี ส่วนมากจะถูกรวมเป็นเศษแล้วนำไปเผาหรือฝังกลบ ถ้าคนมองว่าการเผาเป็นเชื้อเพลิงก็โอเค แต่หวานมองว่าก่อนจะไปถึงจุดนั้น อะไรที่ยังจัดการได้ เราดึงออกมาก่อน เราคิดว่ามันน่าจะสร้างมูลค่าได้

“โครงการเราจะรวบรวมประเภทขยะ ว่าในหนึ่งตันที่เราได้รับมามันมี PP, PS หรือ PET อยู่สักเท่าไร เพื่อที่จะบอกกับใครต่อใครว่า พลาสติกที่กรอบๆ รีไซเคิลไม่ได้ มีเยอะมากเลยนะ ฉะนั้นเราไม่ควรใช้มันตั้งแต่ต้นหรือเปล่า หรือ PP มีเยอะมากเลยนะ เป็นไปได้มั้ยที่จะเรียกคืนและให้ราคากับมัน”

พิมพรรณเล่าว่า สิ่งที่ทำให้เห็นอีกอย่างหนึ่งจากการทำโครงการนี้คือ ผู้บริโภคสนใจอยากรู้ว่าขยะที่เขาแยกมาแล้วนั้นจะเดินทางไปยังไงต่อ ซึ่งความสงสัยลังเลที่ฝั่งผู้บริโภคมีอยู่นั้น ก็ไม่ต่างจากฝั่งธุรกิจที่ก็มีความลังเลอยู่ว่า หากจะเปิดโรงงานเพื่อรอรีไซเคิลแล้ว คนไม่ส่งขยะหรือแยกที่ต้นทาง หรือซาเล้งเกิดไม่รับซื้อขึ้นมา โรงงานจะไปต่อได้อย่างไร

“คิดว่าสิ่งที่เราทำอาจจะช่วยให้เห็นภาพว่า พลาสติกบางประเภทไม่มีทางไปนะ แล้วถ้าไม่มีทางไป แปลว่ารัฐบาลอาจจะต้องไม่ให้เขาผลิตตั้งแต่ต้น หรือไม่ควรให้เขาอิมพอร์ตเข้ามาตั้งแต่ต้น หรือภาคธุรกิจเองก็จะได้เห็นว่าของที่เรามีคืออะไร และจะไปทำอะไรต่อได้บ้าง”

นอกจากขยะพลาสติกที่ยังไม่มีทางไป และพิมพรรณวาดแผนที่จะหาทางออกเพื่อรองรับขยะพลาสติกเหล่านี้ในอนาคต เธอยังมองถึงแนวทางการจัดการขยะที่จะสามารถสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม  (Inclusive Growth) ให้กับคนตัวเล็กๆ ในวงจรธุรกิจรีไซเคิลอย่างกลุ่มซาเล้ง ให้โตไปด้วยกันได้

“พอได้ทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ ทำให้เข้าใจเลยว่า พอโรงงานเขาเปิดเครื่องแล้ว เขาก็ต้องการ ‘ของ’ คือขยะเข้ามาไง แต่เขาก็ไม่รู้จะไปบอกผู้บริโภคว่าต้องแยกต้นทางยังไง การรับจากซาเล้งก็ยังเอาแน่ไม่ได้ เขาก็เลยต้องอิมพอร์ตเข้ามา อันที่จริงโรงงานเขายอมรับนะคะว่าปริมาณขยะบ้านเรามีพอ แต่มันไม่มีการแยกต้นทาง เราก็หวังว่าเราอาจจะช่วยตรงนั้นได้ เพราะพอมาฟังฝั่งผู้บริโภค เขาก็ยินดีมากที่จะคัดแยกให้

“ส่วนกลุ่มซาเล้ง ถ้าเรามองเขาเป็นมดงานที่จะช่วยดูดซับทรัพยากรเข้าระบบ เราก็ควรจะยกระดับเขาให้ดีขึ้นด้วย เพราะซาเล้งในภาพใหญ่ระดับประเทศเขาไม่ได้อยู่บนระบบนะ ไม่ว่าภาษี สวัสดิการ หรืออะไรก็แล้วแต่ เราเลยคิดว่าจะทำยังไงกับกระบวนการนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนะคะ เป็นแค่เป้าหมาย เราก็เข้าไปช่วยเชื่อมให้ก่อน ว่าจริงๆ แล้วระหว่างบริษัทรีไซเคิลกับฝั่งผู้บริโภคหรือซาเล้ง มันมีทางที่ทำให้วิน-วินได้

การพัฒนาอย่างยั่งยืนเราทำคนเดียวไม่ได้หรอก มันต้องรวมพลังกันทำ”

โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถจัดการขยะต้นทางได้ ด้วยวิธีการล้างให้สะอาด แล้วทำให้แห้ง ก่อนนำไปหย่อนยังจุดรับ ที่มั่นใจได้ว่าขยะพลาสติกที่เราลงมือคัดแยก จะไปถึงกระบวนการรีไซเคิลที่ปลายทางอย่างแน่นอน

*ดูรายละเอียดและที่ตั้งของจุดรับขยะ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ ได้ที่ facebook.com/sendplastichome

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, โครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’