ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ปริมาณการใช้วัสดุและบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งยิ่งทวีคูณ ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องเร่งหาทางออกก่อนที่วิกฤตนี้จะสายเกินแก้ จากผลการเก็บสถิติของ Thailand Environmental Institute พบว่าเฉพาะในกรุงเทพฯ นั้นมีปริมาณขยะสูงขึ้นถึง 62 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1,320 ตันต่อวัน

การแยกขยะเป็นทางแก้ปัญหาหนึ่ง ที่จะช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลและเพิ่มมูลค่าของขยะได้ โดยระบบการแยกขยะของแต่ละประเทศ จะมีประสิทธิภาพ หรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนต่างกันอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการบริการจัดการของรัฐ และเทคโนโลยีในการกำจัดขยะที่มีในประเทศ ทำให้แต่ละประเทศมีวิธีการแยกขยะที่ต่างกัน

เราขอชวนไปดูวิธีการแยกขยะของต่างประเทศ ว่าเขาทำอย่างไรให้ขยะของเขายังมีประโยชน์ต่อไปได้


แยกแบบญี่ปุ่น – เผาได้ เผาไม่ได้

หากพูดถึงเรื่องความละเอียดและเข้มข้นในการแยกขยะ เราเชื่อว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง ทั้งกฎที่ละเอียด และการปฏิบัติที่เคร่งครัดของชาวญี่ปุ่น แบบที่ใครทิ้งผิดที่ผิดวันอาจมีเพื่อนบ้านเดินเอาขยะมาคืนให้ถึงหน้าห้อง หากใครได้ไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น จะต้องได้รับคู่มือการแยกขยะกว่า 27 หน้า แบ่งขยะกว่า 10 ถัง และลงรายละเอียดกว่า 518 ไอเทม

การจัดการขยะที่ญี่ปุ่น จะรับผิดชอบโดยเทศบาล ดังนั้นรายละเอียดของแต่ละเมือง แต่ละย่าน แต่ละเขต จะแตกต่างกันไปตามระบบการจัดการที่พื้นที่นั้นรับผิดชอบ โดยแบ่งถังประเภทขยะที่ต้องแยกทิ้ง และการนำออกไปทิ้งยังจุดรับขยะที่แยกเป็นวันอย่างชัดเจน  นอกจากนั้นยังมีกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการใส่รายละเอียดลงในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแยกวัสดุและทิ้งได้แบบถูกทาง รวมทั้งวัสดุบางชนิด เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก ผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบและมีบริการรับคืนเพื่อนำไปรีไซเคิลด้วย

โดยแยกออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ ขยะเผาได้ ขยะที่ไม่สามารถเผาได้ ขยะรีไซเคิลได้ ประเภทที่ 1 ได้แก่ ขวดพลาสติก กระป๋อง ขวดแก้ว และขยะรีไซเคิล ประเภท 2 ได้แก่กระดาษ หนังสือ เสื้อผ้า

ความน่าสนใจคือหลักการแยกขยะของประเทศนี้ คือ ขยะเผาได้ และเผาไม่ได้ เพราะการเผาเป็นวิธีหลักในการกำจัดขยะของประเทศนี้

ขยะเผาได้ หมายถึง ขยะเศษกระดาษ ขยะสด เศษอาหาร เศษพลาสติกชิ้นเล็ก บรรจุภัณฑ์อาหาร ที่ต้องมีการล้างให้สะอาดก่อนทิ้ง ส่วนที่เผาไม่ได้ คือ วัสดุที่ติดไฟได้ง่าย เช่น กระป๋องสเปรย์ แก้ว หลอดไฟ เซรามิก แบตเตอรี่ เครื่องมือเครื่องใช้ที่มีวงจรไฟฟ้า (หากเป็นเศษแก้วที่แตก หรือของมีคม ต้องห่อด้วยกระดาษก่อนทิ้ง)

การเผาขยะนั้นไม่ใช่การเผากลางแจ้งแบบที่เห็นกันบ่อยๆ ในบ้านเรา แดนอาทิตย์อุทัยมีเทคโนโลยีการเผาที่เรียกว่า fluidized bed หรือเตาปฏิกรณ์เคมีจากการไหลหมุนเวียนของเม็ดของแข็งภายในเบด ที่สามารถเผาวัสดุที่ย่อยยากได้ เทคโนโลยีนี้มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการเผาขยะแบบอุตสาหกรรม (Incineration) ใช้พื้นที่น้อยกว่า และผลิตก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์น้อยกว่า และยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบ waste to energy (สร้างพลังงานจากความร้อนในการเผาขยะ) ได้ด้วย

วิธีนี้ทำให้ญี่ปุ่นสามารถนำพลังงานมาผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศได้ ช่วยลดต้นทุนผลิตไฟฟ้าไปได้มหาศาล

แยกแบบเยอรมนี – ถังขยะ 7 สี

ประเทศในฝันที่ใครหลายคนอยากไปอยู่ ที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็นมือหนึ่งด้านการแยกขยะ และอัตราการรีไซเคิลสูงถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งชาวเยอรมันเขาแยกละเอียดกันถึงระดับสีของขวดแก้ว ชนิดของพลาสติก และแยกขยะออกเป็น 7 สี ตั้งไว้ในอพาร์ตเมนต์ และพื้นที่สาธารณะ คือ

สีน้ำเงิน สำหรับกระดาษสะอาด เช่น กระดาษลัง กระดาษเอสี หนังสือ นิตยสารต่างๆ ไม่นับรวมบรรจุภัณฑ์อาหารแบบกระดาษ และกล่องพิซซ่า กล่องอาหารที่เปื้อนคราบน้ำมัน

สีเขียว หรือสีขาว สำหรับแก้ว ยกเว้น อุปกรณ์ตกแต่งต้นคริสต์มาสและหลอดไฟ โดยถังประเภทนี้อาจแบ่งละเอียดลงไปถึงสีของขวดด้วย ขึ้นอยู่กับเมืองที่อยุ่

สีน้ำตาล สำหรับขยะที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ยกเว้นมูลสัตว์เลี้ยง ไม้ เสื้อผ้า

สีเทา หรือสีดำ สำหรับขยะทั่วไป หรือขยะอื่นๆ ที่ยังไม่เข้าพวก มากกว่านั้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ หลอดไฟ สีทาบ้าน เคมีภัณฑ์ต่างๆ ไม่สามารถทิ้งได้ในถังที่เตรียมไว้ แต่จะให้แยกแล้วนำไปทิ้งที่ร้านที่เราซื้อมา เพื่อให้ร้านเอาไปรีไซเคิลโดยเฉพาะ

สีเหลือง หรือสีส้ม สำหรับขยะรีไซเคิล เช่น พลาสติก เหล็ก อะลูมิเนียม กระป๋องน้ำ กล่องน้ำดื่ม กล่องนม

ในเยอรมนียังมีสิ่งที่เรียกว่า Pfand หรือระบบมัดจำขวด ที่คิดรวมอยู่ในราคาน้ำดื่ม

และผู้บริโภคจะได้เงินคืนเมื่อนำขวดไปคืนที่จุดรับ และมีกฎหมายบังคับให้ร้านค้าขนาดกลางขึ้นไปต้องมีที่รับคืนขวดด้วย

แยกแบบเนเธอร์เเลนด์

ดินแดนกังหันได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในยุโรป การจัดการขยะของประเทศนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะจัดเก็บเฉพาะขยะทั่วไปและขยะรีไซเคิล และมีกฎการแยกย่อยไปตามแต่ละเทศบาลที่รับผิดชอบ รวมทั้งมีกฎหมายให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบค่ารีไซเคิลของผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองผลิตด้วย มีระบบมัดจำขวด เรียกว่า Statiegeld ที่ผู้ซื้อสามารถนำไปรับเงินคืนที่ตู้คืนขวดในร้านค้า

หลักการแยกขยะของที่นี่เป็นขยะทั่วไป และขยะรีไซเคิล แบ่งย่อย เป็น 3 คือ
ถังที่ 1 Green Waste สำหรับขยะอินทรีย์ ขยะอาหาร ผัก ผลไม้ เปลือกไข่ กากกาแฟ ต้นไม้ ใบไม้แห้ง ห้ามทิ้ง มูลสัตว์ ผ้าอ้อม ทราย ฝุ่นผงหรือขี้เถ้า

ถังที่ 2 สำหรับแก้ว เนเธอร์แลนด์เป็นเมืองที่มีเทคโนโลยีการรีไซเคิลแก้วที่ดีอันดับต้นของโลก ขวดแก้วส่วนใหญ่ของที่นี่จะเข้าระบบมัดจำ Statiegeld ให้สามารถนำไปคืนที่ร้านค้าได้ ส่วนถังนี้จะมีไว้รองรับโหลแยม ขวดแก้วสำหรับอาหารชนิดอื่นๆ หรือขวดอะคริลิกขนาดใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในระบบมัดจำ ในบางเมืองอาจมีถังแยกละเอียดถึงระดับสีของแก้วด้วย (ที่สำคัญต้องล้างให้สะอาดก่อนทิ้ง)

ถังที่ 3 สำหรับกระดาษ ถังนี้สำหรับกระดาษทุกชนิด โดยก่อนทิ้งต้องแยกห่อพลาสติกหรือสก๊อตเทปออกก่อนด้วย

นอกจากสามถังหลักนี้แล้ว ก็ยังมีขยะประเภทอื่นๆ ที่ต้องแยกทิ้งให้ถูกระเบียบ คือ
แบตเตอรี่ นับเป็นขยะอันตราย มักจะมีถังขยะสำหรับแบตเตอรี่ตั้งไว้ที่โรงเรียนและซูเปอร์มาร์เก็ตให้นำไปทิ้ง

โทนเนอร์ สีทาบ้าน น้ำมัน ยาทาเล็บ น้ำยาทำความสะอาด เครื่องสำอาง ของเหล่านี้นับเป็นขยะอันตราย ที่ต้องแยกทิ้งให้ถูกต้อง เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ โดยนำไปทิ้งที่ถังขยะอันตรายได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต หรือที่ทำการเทศบาล หากไม่สะดวกเอาไปทิ้ง เขาก็มีบริการมารับขยะเหล่านี้ถึงหน้าบ้าน โดยชาวเมืองสามารถดูปฏิทินการรับขยะของเทศบาลได้

ยา ทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ สามารถนำไปทิ้งที่ร้านขายยาใกล้บ้าน

อุปกรณ์ ICT ทั้งคอมพิวเตอร์ ปรินเตอร์ สแกนเนอร์ ชาวดัตช์สามารถติดต่อไปที่ IT Recycling ให้มารับเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

*ทั้งนี้ระบบการแยกอาจแตกต่างกันไปตามเมืองและระบบจัดการในพื้นที่

ที่เนเธอร์แลนด์ยังมีการเก็บ Recycling Tax จากผู้บริโภคทุกครั้งที่ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นใหม่ ไม่ว่าจะเอาของชิ้นเก่าไปรีไซเคิลหรือไม่ก็ตาม

เพราะหลักคิดเบื้องหลังการเก็บภาษีนี้คือ ทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกนำใช้นั้น ของเก่าที่ถูกแทนที่นี้มีค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลเครื่องเก่าอย่างถูกวิธีเสมอ

แยกแบบเกาหลีใต้ – less food waste in your area!

นอกจาก K-drama และ K-pop ที่ดังไปทั่วโลก วัฒนธรรม K- waste sorting ก็เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเกาหลีใต้ ที่สามารถเรียกความเชื่อมั่นและเปลี่ยนใจพลเมืองให้มาเป็นนักแยกมือต้นของเอเชียได้ในเวลาไม่ถึงสิบปี

ที่เกาหลีมีระบบการคัดแยกที่เข้มงวด หากใครเพิ่งย้ายขยะมาแล้วไม่แยก อาจโดนปรับสูงถึงหนึ่งล้านวอน (ประมาณ 28,000 บาท) แถมรัฐบาลยังให้เงินรางวัลแก่คนที่แจ้งเบาะเเสผู้ทิ้งผิดด้วย

ความพัฒนานี้เริ่มต้นจากรัฐบาลเกาหลีใต้เล็งเห็นถึงปัญหา ว่าปริมาณขยะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และรัฐต้องใช้เงินจำนวนมากในการจัดการ

ทำให้เกาหลีใต้เริ่มตั้งระบบการแยกและจำกัดขยะในประเทศอย่างเข้มข้นและจริงจัง ตั้งแต่ปี 1995 โดยที่นี่แยกขยะเป็น 4 ประเภท คือ ขยะเศษอาหาร หรืออะไรก็ตามที่สัตว์สามารถกินได้ ขยะรีไซเคิล ขยะขนาดใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และขยะทั่วไป หรือของที่ไม่เข้าข่ายสามถังที่ว่ามา

ที่นี่ดูเหมือนจะมีแค่ 4 ถัง ไม่ต่างกับบ้านเรา แต่ที่เกาหลีใต้ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดในการรีไซเคิลและกำจัดเศษอาหารอย่างมาก โดยเขานิยามว่าขยะเศษอาหารคือสิ่งที่สัตว์กินได้เท่านั้น ดังนั้นเปลือกไข่ เปลือกหอย กระดูก ห้ามทิ้งรวมกับขยะประเภทนี้เด็กขาด และที่นี่ไม่เก็บค่าเก็บขยะ แต่ใช้วิธีซื้อถุงขยะแทนค่าบริการ โดยในแต่ละย่านจะต้องซื้อถุงขยะที่ใช้เฉพาะในย่านนั้น ซึ่งหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต วิธีนี้เป็นการทำให้ประชาชนพยายามลดปริมาณขยะลง เพราะยิ่งมีขยะน้อยก็เสียเงินน้อยลง

ความโดดเด่นของที่นี่คือเทคโนโลยีถังขยะอาหาร ถังขยะเศษอาหารแบบอัตโนมัติที่ใช้คลื่นวิทยุ RFID (Radio-Frequency Identification) โดยประชาชนจะต้องเอาบัตรประชาชนมาแตะที่ถังขยะเพื่อเปิดฝา ก่อนจะทิ้งขยะในถังขยะสาธารณะ จากนั้นถังขยะจะคำนวนปริมาณน้ำหนัก และส่งใบเสร็จค่ากำจัดขยะที่ทิ้งไปมาให้ที่บ้านเลย นวัตกรรมการกำจัดขยะเหล่านี้ยังเป็นธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลในประเทศอีกด้วย

แยกแบบไทย

ในประเทศไทย สูตรแยกที่กทม.และเทศบาลจังหวัดสามารถนำไปจัดการต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดคือ แยก 3 ถัง เป็นถังขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย

1. ถังขยะทั่วไป หรือ ถังสีน้ำเงิน สำหรับขยะเปียก หมายรวมถึงทุกอย่างที่รีไซเคิลไม่ได้ ในเขตกทม.สามารถติดสัญลักษณ์สีน้ำเงิน เพื่อให้ทีมเก็บขยะทราบ

2. ถังขยะรีไซเคิล หรือขยะแห้ง คือทุกอย่างที่คิดว่ารีไซเคิลได้ เช่น พลาสติก กระดาษ อะลูมิเนียม ทำสัญลักษณ์สีเหลือง

3. ถังขยะอันตราย คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ยาฆ่าแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ รวมถึงยาและเครื่องสำอางหมดอายุ ในเขตกทม.สามารถติดสัญลักษณ์สีส้มที่ถุงขยะ หรือสามารถทิ้งได้ในขยะถังสีแดง ตามสถานที่ราชการ และโรงพยาบาล

ช่วงนี้มีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่าลืมแยกหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว มัดใส่ถุงใสหรือถุงสีแดง เพื่อให้คนเก็บขยะเห็นได้ง่าย ช่วยลดความเสี่ยงให้กับพนักงานเก็บขยะที่กำลังทำงานหนักในช่วงที่ทุกคนอยู่บ้านด้วยนะคะ แยกขยะอื่นๆ อย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยเพื่อเราและคนรอบตัว อ่านได้ในบทความ อยู่บ้าน แยกขยะติดเชื้อ เพื่อคนรอบตัวเรา

ชวนแยกทิ้งอย่างมีเยื่อใย นึกถึงใจคนที่มาเก็บขยะ

• ทิ้งให้เป็นที่ ถ้าตรงนั้นไม่มีถังโปรดอย่าทิ้ง กองขยะไม่เท่ากับถังขยะ

• ทิ้งขยะใส่ถุงใบใหญ่ ทิ้งขยะให้ลงถัง

• ถ้ามีขยะอย่าเก็บไว้นานจนเน่า เอามาทิ้งได้เลย พี่พนักงานเก็บขยะมาเก็บทุกวัน

• หลีกเลี่ยงการมัดแยกเป็นถุงขยะย่อยเล็กๆ เพราะเป็นการเพิ่มขยะในขยะ และแยกต่อได้ยาก

• หลีกเลี่ยงการทิ้งขวดแก้วในถุงดำหรือถุงสีทึบ

• ห่อหุ้มของมีคมให้มิดชิด รวมทั้งไม้เสียบลูกชิ้น หักให้เป็นท่อนสั้นลง หรือทำสัญลักษณ์แยกออกมาให้ชัดเจนว่าของมีคม อันตราย

• เลือกใช้ถุงขยะสีใส ให้มองเห็นว่าข้างในมีอะไร ลดเวลาและความเสี่ยงในการเปิดถุง

• เลือกใช้ถุงที่มีความหนา ให้เหมาะกับปริมาณและน้ำหนักของขยะ ถุงบางใส่ของหนักแค่ยกก็ขาดแล้ว

• เทน้ำออกจากแก้ว ขวด กระป๋อง ก่อนทิ้ง ช่วยลดน้ำหนักขยะ ลดความเน่าเหม็นได้มากเลย

• กระดาษลังมัดแยกออกมาเอาไปขายต่อได้

• แยกหน้ากากอนามัย ใส่ในถุงใสให้เห็นชัด หรือทิ้งรวมกับทิชชู่ในห้องน้ำ ผ้าอนามัย

• แยกทิชชู่ในห้องน้ำ ห่อผ้าอนามัย ใส่ในถุงใส เพื่อให้เห็นชัดจะได้ไม่ต้องเปิด

• ขยะเศษอาหาร แยกไม้จิ้มฟัน ไม้เสียบลูกชิ้น ทิชชู่ ถุงพลาสติกออกก่อน

วิธีการแยกขยะที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศนั้น เกิดจากระบบการจัดการที่ใช้วิธีต่างกัน บางประเทศแยกเพื่อรีไซเคิล บางประเทศแยกเพื่อเผา บางประเทศส่งเสริมการรีไซเคิลด้วยการออกกฎหมายควบคุมการผลิต และเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ผลิต บางประเทศเก็บภาษีเมื่อซื้อ หรือระบบมัดจำเพื่อเรียกความร่วมมือจากฝั่งผู้บริโภค ความสำเร็จในการจัดการขยะนั้นเกิดจากการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย การวางแผนและวางรากฐานการทำงานของทั้งเทคโนโลยี นโยบายสาธารณะ กฎหมาย และประชาชน แต่ไม่ว่าจะที่ไหน สิ่งที่มีเหมือนกัน คือหัวใจแห่งการลดขยะ ที่เริ่มได้ที่ตัวเรา ตั้งใจ แยก ลด เลิก เพื่อให้ขยะเหลือน้อยที่สุดกันนะ

ที่มาข้อมูล:
www.waste4change.com
www.tofugu.com
www.nytimes.com
www.japankakkoii.com
www.dede.go.th
www.xpat.nl
www.greenery.org
www.climateaction.org

เครดิตภาพ: 123rf