ในที่สุดเราก็ผ่านปี 2020 ที่ยากลำบากมาได้ แม้ว่าจะไม่ค่อยน่าจดจำนักก็ตามที จะว่าไปปี 2020 ไม่ใช่แค่เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับทุกคนเท่านั้น เพราะในด้านพลังงานและความยั่งยืน ก็มีเรื่องยากลำบากอยู่ไม่แพ้กันเลย มาถึงปี 2021 นี้จะมีอะไรที่เป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้าง เราติดตามเรื่องราวดีๆ ของแวดวงพลังงานมาเล่าสู่กันฟัง

หลายๆ คนบอกว่าเราคาดเดาอะไรกันไม่ได้เพราะว่าโควิด-19 นำเอา new normal มาสู่ทุกประเทศทุกครัวเรือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในด้านพลังงานเองก็มีผลกระทบเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ ที่ทำให้มีการจำกัดการเดินทาง หลายๆ ธุรกิจมีการลดกำลังการผลิต หรือกระทั่งหยุดการผลิตชั่วคราว ทำให้ความต้องการพลังงานไฟฟ้าลดลงอย่างมาก นำไปสู่การลดลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมันทั่วโลก ซึ่งในมุมของต้นทุนการผลิตหรือบริการก็มีข้อดี แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็ได้เห็นหลายๆ ประเทศชะลอการพัฒนาและการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน เพราะมองในเรื่องความคุ้มค่าที่อาจจะดูน่าสนใจน้อยลงเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่ลดลง

วันนี้เราเลยชวนมาดูเทรนด์เกี่ยวกับพลังงานในปี 2021 ว่าเราคาดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อโควิด-19 ยังไม่หายไป แต่โลกก็ต้องปรับตัว พัฒนา และอยู่ต่อไปให้ได้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้โฟกัสการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น

ราคาของพลังงานทางเลือกจะเข้าถึงได้

การที่โจ ไบเดน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ และให้คำมั่นว่าจะกลับมาเข้าร่วมข้อตกลงปารีสในการต่อสู้เรื่องปัญหาโลกร้อน นับเป็นสัญญาณที่ดีจากการเปลี่ยนผ่านผู้นำครั้งนี้

สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศที่สร้างมลพิษสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก จะผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเป็นอย่างมากทั้งในประเทศและกับคู่ค้า

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประเทศที่ออกมาประกาศที่จะลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง หรือ ‘net zero carbon emissions’ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สวีเดน เดนมาร์ก อังกฤษ ฮังการี และนิวซีแลนด์ ด้วยนโยบายโดยรวม เชื่อว่าจะเห็นการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ออกมาเยอะขึ้น และมีราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับสเกลของบ้าน และโรงงานขนาดเล็กและกลางในปี 2021 นี้

ภาคครัวเรือนมีโอกาสเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย

หลายๆ ประเทศ เช่น เยอรมนี และกลุ่มประเทศในยุโรป ได้มีการลงทุนมากกว่า 5 หมื่นล้านยูโร ในการพัฒนาให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid) มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยระบบเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) และดาวเทียม ซึ่งการเก็บข้อมูลและสามารถทำนายข้อมูลล่วงหน้าได้เหล่านี้ ก็จะทำให้ระบบไฟฟ้าสามารถบริหารการผลิต และสำรองไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากรายงานของ  German Solar Industry Association เผยว่าในช่วงปี 2020 มีผู้ที่เป็น Prosumer ใหม่เข้ามาในระบบมากกว่า 100,000 ครัวเรือน ซึ่ง Prosumer มากจากคำว่า Producer + Consumer คือเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า คือแต่ละหลังคามีแผงโซล่าร์เป็นของตัวเอง เพื่อผลิตไฟใช้ในบ้านเป็นการลดต้นทุน และเมื่อไม่อยู่บ้านหรือผลิตได้เกินในช่วงที่ไม่ใช้ไฟ ก็สามารถขายส่งไฟไหลคืนเข้าระบบเพื่อให้ไฟนำไปใช้ที่อื่นได้

ประกอบกับการที่มี Smart Grid ที่มีข้อมูล ก็ทำให้สามารถรู้ได้ว่าเวลาควรจะผลิตเก็บไว้ ขาย หรือเปลี่ยนรูป

จากแนวโน้มนี้ก็หวังว่าเราจะได้เห็นการพัฒนาเรื่องการอนุญาตให้สามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยๆ ได้ในประเทศไทยบ้าง เพราะแนวคิดแบบนี้ไม่ใช่แค่ประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น ในหลายๆ ประเทศเช่น ศรีลังกา ปากีสถาน บังคลาเทศ และฟิลิปปินส์ก็มีการพัฒนาไปแล้ว

รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะยิ่งเติบโต

ปี 2020 เป็นปีที่ค่อนข้างเติบโตของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (EV) ทั้งค่ายจีน และญี่ปุ่นที่มีราคาที่จับต้องได้ เข้าถึงได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นในเรื่องของเทคโนโลยีนั้นเริ่มมาถึงจุดที่หลายคนหันมาสนใจแล้ว

ในปี 2021 เราจะได้เห็นว่าหลายๆ ประเทศเริ่มลงทุนในเรื่องของโครงข่ายระบบสถานีอัดประจุไฟฟ้ามากขึ้น

อย่างในประเทศไทยเองทางการไฟฟ้าก็มีแพลนที่จะสร้างให้ครอบคลุมมากขึ้นมี roadmap ที่ประกาศออกมา รวมถึงภาคเอกชน ก็จะเป็นตัวเร่งให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างสบายใจมากขึ้น ขณะเดียวกันแรงกดดันจากเรื่อง PM2.5 ที่หลายๆ ประเทศกำลังมีปัญหาอยู่ และมีการออกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของยานพาหนะ ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งช่วยให้มีการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีที่ดี และมีต้นทุนที่ดีมากขึ้นกว่าเดิม

Green Hydrogen จะเป็นพลังงานแห่งอนาคต

นอกจากแบตเตอรี่ที่มีการพัฒนากันอย่างหลากหลายเทคโนโลยีแล้วนั้น ไฮโดรเจนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเปลี่ยนรูปและกักเก็บพลังงานที่ถูกพัฒนามาพอสมควรเช่นกัน แต่ติดตรงที่ราคาในการผลิต ซึ่ง Green Hydrogen นั้นผลิตจากกระบวนการ electrolysis แยกน้ำบริสุทธิ์ให้กลายเป็นก๊าซไฮโดรเจน แล้วนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยกระบวนการผลิตพลังงานทดแทน

ซึ่งจากนโยบายลดปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศทางยุโรปนั้น ทำให้มีการผลิตพลังงานทดแทนขึ้นจำนวนมาก พลังงานทดแทนจึงมีราคาที่ถูกลง และในช่วงเวลาที่การใช้ไฟน้อย พลังงานทดแทนที่เหลือก็ถูกนำมาผลิต Green Hydrogen ทำให้เทคโนโลยีนี้มีต้นทุนที่ดีมากขึ้น

ทางยุโรปตั้งเป้าจะใช้ Green Hydrogen เป็นหนึ่งในทางแก้สำคัญเพื่อเป็นเชื้อพลิงทดแทนในอุตสาหกรรมขนส่ง ซึ่งปล่อยคาร์บอนมากถึง 1 ใน 3 จากจำนวนคาร์บอนทั้งหมดเลยทีเดียว

ที่ว่ามาก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่าจะได้เห็นพัฒนาการที่ดี ทั้งจากภาคนโยบายของประเทศ และภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงานทดแทน และความยั่งยืนในปี 2021 ซึ่งน่าจะมีการขับเคลื่อนในเรื่องอื่นๆ ออกมาอีก รวมถึงนโยบายภาพใหญ่ก็น่าจะมีการลงดีเทลในการจะทำให้เกิดได้ตามเป้าจริงๆ มากขึ้น ในส่วนของระดับคนทั่วไปอย่างเราๆ นั้น การที่นโยบายภาพใหญ่ขับเคลื่อน ก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดงานในด้านที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทนมากขึ้น อย่างในปัจจุบันเราก็จะเห็นผู้รับเหมาติดตั้งโซลาร์เซล หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้พลังงานทดแทนเริ่มบูมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสาไฟ ปั๊มน้ำ เครื่องปรับอากาศ และปีหน้าคงมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจมากกว่านี้

ถ้าใครสนใจคิดว่าก็เป็นโอกาสดีที่จะเริ่มเรียนรู้เสริมอาชีพ หรือจะหามาใช้งานกันเพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรของโลก เพื่อให้ 2021 เป็นปีที่ดีสำหรับโลกของเรา 🙂

ภาพประกอบ: missingkk