How to Avoid a Climate Disaster : The solutions we have and the breakthroughs we need. คือชื่อหนังสือเล่มล่าสุดที่ บิล เกตส์ ลงมือเขียนเอง และเพิ่งออกวางจำหน่ายเมื่อไม่นานมานี้ แน่นอนว่าเสียงฮือฮาและกระแสตอบรับที่ล้นหลาม (ณ วันที่เขียนบทความนี้ หนังสือได้ขึ้นไปถึงอันดับ 5 ในชาร์ตของแอมะซอนด้วย) ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมายเหมือนทุกครั้งที่บิล เกตส์ ‘ส่งเสียง’ ย่อมต้องมีคนจำนวนมาก ‘ขานรับ’ และถ้าเริ่มนับจาก The Road Ahead (1995) Business@ the Speed of Thought (1999) หนังสือเล่มนี้ก็ถือว่าทิ้งช่วงห่างจากหนังสือเล่มก่อนหน้านี้ของเขานานถึง 22 ปีเลยทีเดียว

ที่สำคัญ นี่คือครั้งแรกที่เขาเขียนเรื่องราวที่อยู่นอกวงการเทคโนโลยีที่เขาเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิม

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากช่วงชีวิตในระยะหลังๆ ที่เขาวางมือจากการบริหารงานที่ไมโครซอฟต์และทุ่มเทให้กับมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) ก็ไม่น่าแปลกใจที่จะมีหนังสือเล่มนี้ เพราะแม้งานหลักของมูลนิธิ จะมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับผู้คนทั่วโลกในเรื่องของสุขภาพ ความยากจน การศึกษา และยกระดับชีวิตด้วยเทคโนโลยี แต่เมื่อต้องเดินทางไปทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ อย่างกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชียใต้ เขาก็เลยต้องเรียนรู้เรื่องราวที่ไม่คิดว่าจะได้รู้ แต่เป็นเรื่องสำคัญระดับโลกอย่างเรื่อง climate change

บิลพูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนในบทแรกของหนังสือว่าเขาเองก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าเขาจะต้องมาพูดเรื่องนี้ต่อสาธารณะชน เพราะใครๆ ก็รู้ว่าเขาอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีมาตลอดชีวิต แต่การต้องมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมหรือการมาสนใจเรื่อง climate change นั้นเป็นการเรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ ความยากจนด้านพลังงาน หรือ energy poverty

“ตอนที่ผมบินผ่านเมืองใหญ่ๆ และมองผ่านหน้าต่างเครื่องบินออกไป ผมจะคิดว่า ทำไมข้างนอกมันมืดจัง? แสงไฟที่ผมต้องมองเห็นแน่ๆ ถ้าเป็นนิวยอร์ก ปารีส หรือในปักกิ่งมันหายไปไหนหมด?”

สิ่งที่เขากับภรรยาค้นพบในตอนนั้น ก็คือมีคนนับพันล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงพลังงานพื้นฐานอย่างไฟฟ้าได้

หลายคนคงสะท้อนใจไม่แพ้กัน เพราะก่อนหน้านี้ ในบ้านเราก็มีการถกเถียงกันอย่างอื้ออึง เรื่องที่เน็ตไอดอลท่านหนึ่งเดินทางไปติดแผงโซลาเซลล์บนดอยและล่าสุดก็ในย่านที่เราเรียกว่าชุมชนแออัด ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กันเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงพลังงานไฟฟฟ้าหรือแสงสว่าง

กลับมาที่บิล เขาบอกว่าแม้ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าเดิมบ้างแล้ว แต่ตัวเลขคร่าวๆ ในปัจจุบันนี้ ก็บอกอย่างชัดเจนว่าอย่างน้อย 860 ล้านคนในโลก ก็ยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้

ในหนังสือบอกว่า เรื่องนี้ทำให้เขาย้อนกลับไปคิดถึงคติประจำมูลนิธิบิลและเมลินดา ที่ว่า “Everyone deserves the chance to live a healthy and productive life” แต่ผู้คนจะสุขภาพแข็งแรงได้อย่างไร ถ้าหากว่าแม้แต่ที่คลีนิคท้องถิ่นยังไม่สามารถเก็บวัคซีนไว้ในที่เย็นได้ เพราะตู้เย็นไม่สามารถใช้งานได้ (เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าจะใช้) ผู้คนจะมีชีวิตที่ productive ได้ยังไง ถ้าไม่มีไฟไว้สำหรับอ่านหนังสือ

แล้วการเข้าถึงไฟฟ้า ไปเกี่ยวอะไรกับ climate change?

พูดง่ายๆ ในที่นี้ก็คือว่า เราจำเป็นต้องใช้พลังงานหมุนเวียนกันให้มากกว่านี้ ไม่ใช่มัวแต่ใช้พลังงานฟอสซิล เพราะนั่นคือตัวการในการสร้างคาร์บอน และในเมื่อยังมีคนไม่สามารถเข้าถึงพลังงานหรือมีความยากจนทางพลังงานมากมายเกือบพันล้านคนแบบนี้แล้ว จึงยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะไม่สร้างคาร์บอนเพิ่มอีก

โดยเฉพาะเมื่อดูจากปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น อย่างการที่ประเทศร่ำรวยถลุงพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ฯลฯ กันอย่างเปลืองเปล่า การปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศก็จะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ และเมื่อโลกร้อน เมื่อสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คนที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงและรุนแรงก็คือคนที่ขาดแคลนอยู่แล้ว หรือคนในประเทศยากจน ซึ่งส่วนใหญ่ทำการเกษตรนั่นเอง พูดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ ถ้าฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฝนแล้ง น้ำท่วม หรือแม้แต่เจอคลื่นความร้อน คนที่จะตายก่อนก็คือคนทำการเกษตร บิล เกตส์ ก็เลยเน้นเรื่องการลงทุนในพลังงานแบบ carbon free เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งช่วยให้คนจำนวนมากเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้ด้วย

นอกจากนั้น ในเล่มนี้ บิล เกตส์ ก็ยังขยับไปเล่นในประเด็นที่กว้างขึ้นด้วยนั่นคือการพูดถึง อุตสาหกรรมการผลิตคอนกรีตและปูนซีเมนต์ โดยมีการนำเสนอแนวคิดให้บริษัทเหล่านี้ใช้กระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนในระดับต่ำ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายทั้งรัฐบาล พฤติกรรมขององค์กรและตัวผู้บริโภคเอง

อีกหนึ่งหลักการสำคัญที่เขานำเสนอและพูดถึงบ่อยๆ ก็คือ green premium หรืออัตราการคำนวณส่วนต่างของต้นทุนจากการใช้พลังงานแบบเดิมคือพลังงานฟอสซิล เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานหมุนเวียน เช่น วันนี้เครื่องบินทั่วโลกใช้น้ำมันจากพลังงานฟอสซิล เพราะราคาถูกกว่าการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพมากถึง 140 เปอร์เซ็นต์ ถ้าสายการบินเลือกใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในตอนนี้ ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนและผลักภาระให้ผู้โดยสารไปอีก แต่ถ้าวันหนึ่งเรามีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ทำให้เชื้อเพลิงชีวภาพถูกลง ก็มีความหวังว่าเราจะแก้ปัญหาการปล่อยคาร์บอนในระยะยาวได้

กรีนพรีเมี่ยม จึงเป็นเกณฑ์วัดคร่าวๆ ได้ในระดับหนึ่งว่า ถ้าเราสามารถลดส่วนต่างได้มากเท่าไหร่ อุตสาหกรรมนั้นก็จะได้ประโยชน์ทั้งด้านราคาและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

สรุปสั้นๆ หลักใหญ่ใจความและเป้าหมายของเขาก็คือ การนำเสนอแนวทางมากมายในการแก้ปัญหา climate change โดยมีเป้าหมายให้ประเทศร่ำรวยทั้งหลายสามารถลดคาร์บอนจาก 51 พันล้านตันในปัจจุบัน ให้เหลือ 0 (51 billion to zero) ภายใน 30 ปีข้างหน้าให้ได้ ซึ่งเขาเชื่อว่าพวกเรายังมีเวลาและโอกาส มันไม่ง่าย แต่มันก็ไม่ยากเกินไป ว่าอย่างนั้นเถอะ

แต่อย่างไรก็ตาม เราจะไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือไปมากกว่านี้ เพราะเกรงจะเป็นการรีวิวมากกว่ารีพอร์ตนั่นเอง

หลังจากหนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่าย ก็มีกระแสตอบรับทั้งดีและไม่ดีตามปกติ (ที่บอกว่าไม่ดี ส่วนใหญ่ก็คือไม่ค่อยเชื่อในสิ่งที่เขานำเสนอ) แต่ในฐานะคนอ่าน เรามองว่า หนังสือของบิลเล่มนี้ มีข้อมูลที่หนักแน่นไม่น้อย ไม่รวมว่าเขาเองก็ลงพื้นที่เจอกับปัญหาด้วยตัวเอง เรียกว่าเป็นสารคดีเชิงวิชาการขนาดย่อมๆ ก็น่าจะได้ และเอาเข้าจริง บิล เกตส์ ก็รู้ตัวว่า ในฐานะนักธุรกิจที่ติดอันดับคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่างเขาแล้ว การออกมานำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ climate change อาจจะสร้างความเคลือบแคลงใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว (เพราะใครๆ ก็รู้ว่าเขาก็ยังใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวอีกต่างหาก)

อย่างตอนที่เขาไปให้สัมภาษณ์กับสื่ออย่าง GeekWired เขาก็พูดเรื่องนี้ขึ้นมาเช่นกัน “ผมรู้ดีว่าผมไม่ใช่คนส่งสารที่สมบูรณ์แบบนักในเรื่องเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จริงๆ โลกเราก็ไม่ได้ขาดแคลนพวกคนมีเงินที่มาพร้อมกับความคิดยิ่งใหญ่ว่าคนอื่นควรจะทำอะไรบ้าง รวมทั้งคนที่เชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถแก้ปัญหาได้” เขายอมรับว่าเงินที่มูลนิธิและกลุ่ม Philanthropist ลงทุนไปกับการแก้ปัญหาต่างๆ นั้น เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น รัฐบาลและนโยบายของรัฐต่างหากที่มีหน้าที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

หลังจากหนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่าย บิลก็เปิดโอกาสให้หลายๆ สื่อได้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดของเขาหลายต่อหลายครั้ง หนึ่งในนั้นก็คือการไปให้สัมภาษณ์กับ อาดี้ อิกนาเชียส (Adi Ignatius) บรรณาธิการบริหารของ Harvard Business Review ในบทความชื่อ “It Will Need to Be the Most Amazing Thing Humankind Has Ever Done” โดยหนึ่งในคำถามสำคัญที่เราอยากนำมาพูดถึงในที่นี้แบบสั้นๆ ก็คือ คำถามที่บรรณาธิการถามว่า แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหรือ ถ้าเราไปไม่ถึงจุดที่เรียกว่าคาร์บอนเป็นศูนย์? คำตอบของบิล คือ

“อุณหูภูมิก็จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ระบบนิเวศตามธรรมชาติอย่างปะการังและมหาสมุทรอาร์กติกก็จะหายไป ถ้าคุณมีฟาร์มในแคนาดา คุณจะมีผลผลิตมากขึ้นเพราะอากาศจะอุ่นขึ้น แต่ถ้าคุณมีฟาร์มอยู่ในเท็กซัสหรือในเม็กซิโก หลายๆ อย่างก็จะเลวร้ายไปอีก พืชผลอย่างข้าวโพดก็จะไม่สามารถปลูกที่นั่นได้อีกแล้ว ส่วนเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร หรือบางพื้นที่ในแอฟริกา ก็จะเกิดหายนะเลยละครับ เพราะพวกเขาจะไม่มีอาหารเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตอีกแล้ว”

แม้เรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากเพียงพอเท่าที่เราตั้งความหวังไว้ แต่การออกมาส่งเสียงของคนที่เป็นผู้นำทางความคิด และเป็นคนที่ทรงอิทธิพลในลำดับต้นๆ ของโลก ก็เป็นเรื่องที่พอจะหวังได้บ้างว่าน่าจะแรงขับเคลื่อนกันต่อไป และหลายฝ่ายคงไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกแล้ว ที่สำคัญ เราเองก็สนุกกับการอ่านไอเดียของผู้ชายคนนี้ในเรื่องอื่นๆ บ้างที่นอกเหนือจากธุรกิจและเทคโนโลยี

ที่มาข้อมูล
www.hbr.org
www.geekwired.com
www.gatesnotes.com
www.theguardian.com

เครดิตภาพ: www.gatesnotes.com, 123rf