หากนับถอยหลังไปกว่าสิบปีก่อนหรือมากกว่านั้น เมื่อเอ่ยชื่อ ‘สวนสามพราน’ เรามักนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ให้ความเพลิดเพลินและบันเทิงเรียนรู้คู่จังหวัดนครปฐม ที่เน้นการแสดงวัฒนธรรมประเพณีวิถีไทย ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนที่ร่มรื่น

ใครที่ยังคงติดอยู่กับภาพจำเดิม หากได้กลับไปเยือนสวนสามพรานในยามนี้ ย่อมเกิดภาพจำใหม่เข้ามาแทนอย่างปฏิเสธไม่ได้ แน่นอนว่าต้นไม้ใหญ่ในสวนสามพรานยังคงยืนตัวอยู่ร่มรื่นเช่นเดิม เรือนไทยหลังเดิมที่เราเคยได้นั่งทำกิจกรรมกันอยู่ใต้ถุนก็ยังคงอยู่ เพียงแต่กิจกรรมใต้เรือนโบราณหลังนั้นเปลี่ยนไป เป็นการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยทายาทรุ่นสามที่ต่อยอดความเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ทางวัฒนธรรมไทย ไปสู่การเรียนรู้ในวิถีแห่งความยั่งยืนที่เคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเกษตรอินทรีย์ กับ ‘สามพรานโมเดล’ ที่มี อรุษ นวราช เป็นผู้บุกเบิกเริ่มต้นในการทำงานร่วมกับเกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่าย และการเข้ามาขยับขยายชุมชนอินทรีย์ให้ขอบเขตกว้างขวางขึ้น โดยอนัฆ นวราช ผู้เป็นน้องชาย กับการก่อตั้งแบรนด์ ‘Patom Organic Living’ เพื่อสนับสนุนวัตถุดิบของเกษตรกรในกลุ่มสามพรานโมเดล มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ในตอนเริ่มต้น

ความตั้งใจที่เปรียบได้กับการรดน้ำพรวนดิน ค่อยๆ ปลูกรากของความเป็นชุมชนอินทรีย์ที่แข็งแรงแน่นหนาขึ้น จากที่ต้องการให้ผู้มาเยือนสวนสามพรานได้บริโภควัตถุดิบดีๆ ขยับมาสู่เกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่ายมีพื้นที่กระจายสินค้าในตลาดสุขใจ ซึ่งตั้งอยู่ภายในรั้วของสวนสามพราน กระทั่งเกิดเป็น Patom Village แหล่งเรียนรู้วิถีอินทรีย์ ที่พาให้เรารู้จักและเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้อย่างเห็นภาพชัดแจ้ง ตั้งแต่การปลูก การดูแล ไปจนถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อร่างกายและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

ภายในคาเฟ่กรุกระจกใสรอบด้านของ Patom Organic Café ในสวนสามพราน เมื่อหันไปมองด้านหนึ่ง เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์การแสดงวัฒนธรรมประเพณีไทยที่เคยเคลื่อนไหวอยู่บนเวที ยังจัดแสดงบนหุ่นนิ่งในเรือนหลังเก่าให้เราได้รำลึกถึงความหลัง อีกด้านหนึ่งคือความเขียวขจีของปฐม วิลเลจ หมู่บ้านที่ให้เราเข้าไปเรียนรู้วิถีอินทรีย์อย่างไม่มีอะไรปิดกั้น อนัฆ นวราช หนึ่งในผู้บริหารรุ่นสาม นั่งอยู่ตรงหน้าเรา พร้อมบทสนทนาถึงธุรกิจเกื้อกูลสังคม ที่เขานำเอาเรื่องสุขภาพมาเป็นตัวตั้ง และขยายไปสู่สุขภาพของสังคมที่ดีขึ้นในแนวทางที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งการเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่เปรียบเสมือนดีเอ็นเอของผู้บริหารซึ่งส่งทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

เรื่องราวอันเป็น ‘ปฐม’

“ชื่อ ‘ปฐม’ มันสื่อถึงเราว่าเราอยู่นครปฐม แต่จริงๆ แล้วในความตั้งใจของเรา คำว่า ‘ปฐม’ แปลว่า จุดเริ่มต้น หมายถึงว่าเราเริ่มทุกอย่างจากดิน ดินคือจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างเลย” อนัฆเล่าถึงที่มาของการตั้งชื่อแบรนด์ ‘ปฐม ออร์แกนิก ลิฟวิ่ง’ (ที่เราขอเรียกสั้นๆ ต่อจากนี้ว่า ‘ปฐม’) ซึ่งเขาเริ่มต้นขึ้นหลังจากพี่ชายของเขา (อรุษ นวราช) หันมาขับเคลื่อนสังคมเกษตรอินทรีย์ ในชื่อ ‘สามพรานโมเดล’ เมื่อราวสิบปีก่อน

“การเริ่มต้นของปฐม มีที่มาจากที่พี่ชายของผมเขาทำสามพรานโมเดล เขาอยากให้เอาของดีเข้าสวนสามพราน อยากให้มีวัตถุดิบดีๆ ให้ลูกค้าเราได้ทาน ไม่ว่าจะลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยว มาประชุมสัมมนา หรือใครก็ตามที่มาสวนสามพราน ปฐม เกิดขึ้นได้ก็เมื่อเราเริ่มมีวัตถุดิบที่เยอะขึ้น เราก็เห็นโอกาสในการแปรรูปวัตถุดิบมาเป็นสินค้าอินทรีย์ ซึ่งตอนแรกเราทำพวกแชมพู สบู่ ขึ้นห้องพักของโรงแรมอย่างเดียว ต่อมาก็มีของกินของใช้เพิ่มเข้ามา เพราะจริงๆ ปฐมก็เป็น organic lifestyle product มีทั้งของกินของใช้สำหรับตัวเองและของใช้ภายในบ้าน ที่มีวางที่นี่และในร้านที่กรุงเทพฯ”

ร้านที่กรุงเทพฯ ที่อนัฆหมายถึง คือร้าน ‘ปฐม’ คาเฟ่ออร์แกนิกในย่านทองหล่อ ที่เปิดตัวมาก่อนหน้า ซึ่งก็มีความละม้ายคล้ายกันอยู่กับร้านที่สวนสามพรานแห่งนี้

“เป้าหมายคือปฐมเป็นธุรกิจแน่ๆ แต่เป็นธุรกิจที่เกื้อกูลสังคม ทำไปด้วยกันเพื่อให้วิน-วิน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”

“การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จะทำให้เกษตรกรต้นน้ำขายของได้เยอะขึ้น เราซึ่งเป็นกลางน้ำมีวัตถุดิบที่รู้ที่มาที่ไป ผู้บริโภคคือปลายน้ำที่ได้ซื้อของที่มีความไว้ใจได้มากขึ้น ธุรกิจที่เกื้อกูลสังคมจึงไม่ใช่ธุรกิจที่เราโตอยู่คนเดียว แล้วเกษตรกรไม่ได้อะไร ผู้บริโภคไม่ได้บริโภคอะไรที่ดีขึ้น เป็นธุรกิจที่ได้ช่วยยกระดับสังคม หากมองให้เป็นห่วงโซ่ก็จะเป็นภาพประมาณนี้

“อีกอย่างคือผมจะชอบมองเรื่องสุขภาพ ยิ่งพอมีลูกก็ยิ่งห่วงในเรื่องสุขภาพ เพราะว่าถ้าพูดเรื่องเงิน ถ้าต้องการมีเงินหมุนเวียนเยอะ ปฐมคงไม่ใช่ธุรกิจที่ถูกต้องที่จะทำ เพราะมันไม่ใช่ธุรกิจที่จะมาสร้างรายได้ได้ขนาดนั้น แต่ผมมองว่าสุขภาพมันซื้อไม่ได้ และถ้าเราทำธุรกิจที่ดีกับสุขภาพ เรามักจะใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพด้วย เพราะเราจะมีโอกาสได้ใช้ของที่ดีสำหรับตัวเราเองและครอบครัวเราด้วย”

นอกจากคำอธิบายเรื่องราวและเส้นทางที่มาที่ไป ก่อนจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงอยู่บนขวดผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้บริโภคสามารถสืบสาวได้เองผ่าน QR Code นั้น อนัฆเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ปฐมแต่ละชิ้น เกิดขึ้นภายใต้โจทย์หลักสามข้อ ที่ไม่ว่าจะคิดค้นหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใดๆ ขึ้นมาก็ตาม สิ่งนี้จะเป็นคีย์สำคัญ “หนึ่ง เรื่องวัตถุดิบจะต้องเป็นออร์แกนิกหรืออินทรีย์ สอง วัตถุดิบนั้นต้องมาจากเกษตรกรหรือใครก็ตามที่เรารู้จัก และสามคือมีเรื่องความยั่งยืน (sustainability) อยู่ในนั้นด้วย เช่น ทำโปรดักต์นี้แล้วมันจะเกิดขยะมากแค่ไหน หรือจะเกิดสิ่งไม่ดีกับสิ่งแวดล้อมไหม และถ้าทำเสร็จแล้วมันสามารถไปทำอะไรต่อได้ มองให้เป็นลูปมากขึ้น ส่วนความเป็นไทยก็สำคัญ เพราะสวนสามพรานเราเน้นความเป็นไทยมาตลอด

“จริงๆ เกษตรอินทรีย์ก็คือความเป็นไทยดั้งเดิมนะ สมัยก่อนเกษตรกรก็ไม่มีใครใช้ยาหรือสารเคมี เกษตรอินทรีย์มันคือการย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมกัน”

“ถ้ามองความเป็นไทย มันเป็นไทยแบบวิถีไทย อย่างแบรนด์ปฐมเอง เราใช้ภูมิปัญญาไทย ใช้วัตถุดิบไทยๆ จากคนไทยด้วยกัน แล้วเอามาแปรรูปให้เป็นสินค้า ซึ่งการแปรรูปก็จะเน้นภูมิปัญญาไทยเป็นหลัก สมุนไพรอะไรที่ดีกับเรา อะไรที่กินแล้วดี เราก็พยายามเอาองค์ความรู้พวกนี้มาใส่ด้วย และแน่นอนว่าต้องได้มาตรฐาน GMP ได้ อย. ด้วย

“วิถีไทยเป็นอะไรที่อยู่ในตัวเราอยู่แล้ว การที่ได้ไปเรียนอยู่ต่างประเทศ ห่างบ้านนานไปเป็นสิบปี มันยิ่งทำให้เราชอบความเป็นไทยด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเป็นเพราะเราโตมาในสวนสามพรานด้วย ถึงจะมีความเปลี่ยนแปลง แต่ยังไงความเป็นไทยสมัยคุณตาคุณยาย หรือรุ่นคุณแม่ของผมทำเอาไว้ มันก็ฝังอยู่ในดีเอ็นเอของสวนสามพรานอยู่แล้ว ดังนั้นอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับที่นี่ มันจึงหนีความเป็นไทยไปไม่ได้”

ดีเอ็นเอที่ส่งต่อแนวคิดเรื่องการเรียนรู้

ฐานการเรียนรู้ในปฐม วิลเลจ ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ จะยิ่งคึกคักในวันหยุดที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนที่นี่ แต่แม้ในวันธรรมดาที่นักท่องเที่ยวจะบางตา พนักงานของปฐม วิลเลจ ซึ่งประจำการอยู่ในฐานต่างๆ ก็ยังคงทำหน้าที่ตามปกติ เพราะงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นั้นเป็นชีวิตจริงที่ไม่ต้องแสดง เมื่อสนใจใคร่ถามก็ได้ความรู้ติดตัวกลับไป

“เรื่องให้ความรู้นี่ทำกันมาตั้งแต่สมัยคุณยาย มีคำหนึ่งที่เขาเรียกเราว่า เราเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้”

“ครั้งหนึ่งที่นี่เคยให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ตอนนี้กลายเป็นการเข้ามาเรียนรู้ชีวิตที่สมดุลมากขึ้น”

“เพราะพอเรามาทำเรื่องนี้ในยุคของเรา เราก็เลยเปลี่ยนธุรกิจมาเป็นด้านนี้มากขึ้น สิ่งที่เขาจะได้มาเรียนรู้ จึงเป็นเรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องความยั่งยืน เรื่องการจัดการขยะ เรื่องอะไรพวกนี้

“สิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไปคือ เราไม่ได้มีแต่เรื่องผลิตภัณฑ์อย่างเดียวนะ เราให้ประสบการณ์ด้วย คุณไปฟาร์ม คุณก็ได้ทดลอง ดูวงจรการปลูก อยากดูการผลิตก็เข้ามาในหมู่บ้าน หมู่บ้านจึงเป็นเหมือนโรงงานของเราที่ทุกคนช่วยกันผลิตตลอดเวลา แต่เวลามีคนเข้าเรียนรู้ พวกเราก็จะเปลี่ยนมาเป็นคนสอน สอนแปรรูป สอนทำ workshop

“คนที่เข้ามาในหมู่บ้านเขาจะเดินตามเส้นทางวัตถุดิบซึ่งมีสามเส้นทาง คือเส้นทางข้าว สมุนไพร และกล้วย สมมติว่าเดินตามเส้นทางข้าว ไปดูการปลูกข้าว สีข้าว ฝัดข้าว เอาข้าวมาทำสครับ เอาแป้งข้าวมาทำขนมครก หรือขนมกล้วย และก็ปั้นดิน หัตถกรรม ก็จะได้เห็นว่าหนึ่งวัตถุดิบที่เป็นอินทรีย์ทำอะไรได้บ้าง ถ้าอยากเรียนรู้มากกว่านี้ คุณจะไปหาเกษตรกรเพื่อไปเรียนรู้ได้มากขึ้นก็ได้เหมือนกัน เรามองว่าปฐมวิลเลจเป็นเหมือนที่ที่ให้คนมาเรียนรู้โดยไม่มีลิมิต แล้วถ้าวันหนึ่งคุณอยากจะผันตัวไปเป็นเกษตรกร แล้วส่งของมาให้เราใช้ก็ได้เหมือนกัน

“สิ่งที่ผมทำกับพี่ชายคือ เราอยากจะทำให้ครบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้นน้ำคือฟาร์มของเกษตรกร ที่สามพรานโมเดลทำอยู่ ปฐม วิลเลจเป็นกลางน้ำคือฐานผลิต แล้วคาเฟ่เป็นปลายน้ำ เป็นจุดที่คนมาซื้อได้ผลิตภัณฑ์ได้ทั้งของกินของใช้

“ฐานผลิตของเราไม่ได้ใช้แต่สมุนไพรในหมู่บ้าน เราซื้อจากเกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่ายสามพรานโมเดลด้วย เราต้องการอะไรเราก็ไปบอกเขา ไปดูแปลงของเขา คล้ายๆ ไปเก็บข้อมูลของเขา เพื่อมาเสริมผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่งผมได้ไปด้วยบ้างแล้วแต่โปรเจ็กต์ อย่างตอนนี้จะใช้พริกจากราชบุรีเยอะหน่อย ก็ต้องไปดูแปลง ไปคุยกับเกษตรกร ผมมองว่าถ้าเรารับวัตถุดิบของเขามาขายเฉยๆ มูลค่ามันไม่เกิด เขาจะมีรายได้นิดเดียว แต่การที่เราแปรรูป ขยายตลาดไปกรุงเทพฯ ก็ทำให้เขาขายของให้เยอะขึ้นด้วย

“เวลาที่ไปเจอเกษตรกร คำถามของเขาคือ เขาจะขายได้ไหม อย่างในช่วงแรกๆ ที่พี่ชายผมเจอก็คือ ของอินทรีย์มี demand หรือเปล่า ขายได้หรือเปล่า และจากการที่เปิดตลาดสุขใจ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามี demand นะ คนต้องการของอินทรีย์ แต่ว่าคนอาจจะเข้าไม่ถึง เขาไม่รู้ว่าจะซื้อที่ไหน กับราคาอาจจะแพง เพราะพอของไปถึงกรุงเทพฯ ราคาก็จะสูงขึ้น

“เราต้องการให้รู้ว่าของอินทรีย์ไม่ใช่ของที่ต้องแพง และเราก็มีเกษตรกรที่ปลูกอยู่ตรงนี้”

“เราไม่ใช่ contract farming ที่เขาปลูกเท่าไรแล้วเรารับซื้อหมด แต่ปฐมจะตกลงเลยว่าเรารับกล้วยเท่านี้นะ รับมะนาวเท่านี้นะ ส่งเกินเราก็ไม่รับนะ เพราะเราก็ต้องมี demand ของเรา ถ้าเขาปลูกแล้วประเมินผิด ของออกมาเยอะเกินไป เขาก็ต้องวางแผนให้ดีขึ้นกว่านี้ เวลาเราต้องการอะไร เราจะวางแผนกับทางสามพรานโมเดล เพื่อให้เขาไปทำงานกับเกษตรกรว่าเขาต้องปลูกเท่าไร ต้องแพลนด้วยกัน ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่รู้ว่าจะปลูกอะไร”

จับมือกับเพื่อนต่างองค์กร เพื่อขยายสังคมอินทรีย์

‘เดินด้วยกันไปได้ไกล’ ยังคงเป็นสำนวนที่ใช้ได้และเป็นจริงอยู่เสมอ และการที่ปฐมจับมือกันกับเพื่อนต่างองค์กร ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือเรื่องความยั่งยืน (sustainability) ก็ทำให้สีเขียวของสังคมอินทรีย์ ขยายขอบเขตออกไปจากเดิมได้มากขึ้น

“การมีเป้าหมายเดียวกัน ทำให้เราทำงานด้วยกันได้ เพราะเขาก็มองเห็นว่าเราทำเรื่องนี้มานานแล้ว อย่างสามพรานโมเดลก็สิบปี การได้ไปต่อยอดกับองค์กรอื่น ก็เท่ากับเราได้ขยายเรื่องสังคมอินทรีย์ออกไปด้วย เพราะเป้าหมายหลักไม่ว่าจะของสวนสามพรานหรือสามพรานโมเดล ก็คือการสร้างสังคมอินทรีย์ หรือ Organic Society

“sustainability มีความสำคัญมากในปัจจุบัน ผมคิดว่าทุกองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือจะใหญ่ก็ต้องทำเรื่อง sustainability หมดนะครับ บางคนเริ่มทำเพราะว่าเป็นเทรนด์ แต่พอทำไปแล้วก็ได้รู้ว่ามันคือความจำเป็น บางองค์กรอาจจะทำเพื่อ marketing บางองค์กรอาจจะทำเพื่อต้องการช่วยชุมชนที่เขามีโรงงานอยู่ที่นั่น บางองค์กรก็อาจจะทำเพื่อช่วยพนักงาน หรือช่วยสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา มันมีหลายจุดประสงค์ที่หลายองค์กรหรือหลายคนเริ่มสนใจในเรื่อง sustainability อย่างเราเองในตอนแรกเราก็มองในเรื่องธุรกิจว่า ว่าเป็นจุดขายให้คนเข้ามา แต่ในเวลาเดียวกันคนที่มาเขาก็ได้ประโยชน์ไปด้วย เราเองก็ได้ทำโปรดักต์ที่ดีขึ้นด้วย ทำให้ได้เชื่อมต่อกับเกษตรกร เชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านเราด้วย จากที่เมื่อก่อนเราไม่รู้จักเพื่อนบ้านเราเลย ตอนนี้เรารู้จักกันรอบบ้านเราเลย ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สุดท้ายมันเป็นผลดีที่ได้ทำ”

และด้วยแนวทางของการทำธุรกิจยั่งยืน ทำให้ปฐมเติบโตไปกว่าการทำแบรนด์ของตัวเอง เพราะได้รับโอกาสในการเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกับองค์กรใหญ่ อาทิ จีซี แสนสิริ เอสซีจี ที่มองเป้าหมายของความยั่งยืนเช่นเดียวกัน

“เรามีโอกาสได้ทำกับจีซีเป็นที่แรกเลย เพราะเขามีวิสาหกิจชุมชนที่ทำเรื่องผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว เขาก็ให้เราไปช่วย คือเอาทีมสามพรานโมเดลเข้าไปพัฒนาเกษตรกรให้ครบวงจรอย่างที่เราทำ ปฐมไปช่วยเรื่องทำผลิตภัณฑ์ เมื่อขายได้ก็นำรายได้สิบเปอร์เซ็นต์มอบกลับไปที่ต้นน้ำ ส่วนแสนสิริเราก็มีทำผลิตภัณฑ์ด้วยกันเพื่อนำไปใช้ในเครือของเขา และเราก็ช่วยให้คำแนะนำเรื่องฟาร์มที่ Sansiri Backyard อ่อนนุช ทำเครื่องปรุงออร์แกนิกกับชีวจิต หรือของเอสซีจีก็จะเอาผลิตภัณฑ์เราเข้าไปอยู่ใน experience center ของเขาในปีหน้า เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้ของดีๆ เราได้ทำงานกับมั่นคงเคหะการ ซึ่งทำโครงการชื่อรักษ (รัก-ษะ) ที่บางกะเจ้า โดยเราเข้าไปช่วยเขาทำฟาร์ม และทำผลิตภัณฑ์สปาให้เขา ก็ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่คุยกัน ซึ่งมันเป็นการสร้างโอกาสให้ชุมชนอินทรีย์กว้างขึ้น

“การที่ได้รับความร่วมมือกับองค์กรอื่น ได้เข้าถึงพนักงานของเขา ได้เข้าถึงชุมชนของเขา เรามองว่าเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งการทำเดี่ยวๆ จะโตได้ยาก ต้องอาศัยการพึ่งพากัน และมันทำให้เกิดการต่อยอด อย่างเราเองก็มีแพลนว่าจะผลิตขวดผลิตภัณฑ์กับโรงงานที่ใช้พลาสติกกับจีซี เพื่อที่ขวดที่ใช้เสร็จแล้วจะได้ถูกไป upcycle ทำเสื้อได้ต่อ

“ในการทำแต่ละโปรเจ็กต์เราไม่เคยคาดหวังว่าจะต้องโตขนาดไหน แต่คาดหวังว่าจะต้องเป็นผลระยะยาว ผมมองว่าถ้าองค์กรไหนเข้ามาเพื่อที่จะทำโปรเจ็กต์เดียวแล้วจบ เราคงไม่ได้ทำด้วยกัน เพราะทำทีเดียวจบมันก็เหมือนทำเพื่อมาร์เก็ตติ้ง หรือทำเพื่อซีเอสอาร์ภาพลักษณ์เฉยๆ เราอยากให้สิ่งที่เราทำมันไปถึงชุมชนจริงๆ ซึ่งต้องทำระยะยาว ถ้าทำสั้นๆ มันไปไม่ถึงชุมชนหรอก จะไปถึงแค่บริษัท”

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร