อโรม่ากาแฟหอมๆ ช่างยวนใจมีเสน่ห์ชวนหลงใหลยิ่งนัก เมล็ดกาแฟต่างแหล่งยังมีเอกลักษณ์ของกลิ่นรสที่ต่างกันออกไป เราจึงขอพาคุณโลดแล่นไปกับเรื่องราวใต้กลิ่นหอมของเมล็ดกาแฟพิเศษชั้นเลิศจากทั่วโลกกัน ผ่านคำบอกเล่าของคิวเกรดเดอร์คนแรกๆ ของประเทศ พร้อมฟังเรื่องราวการปลูกกาแฟในเชิงอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวที่น่าสนใจของกาแฟโรบัสต้าพิเศษจากจังหวัดกาญจนบุรี ว่าแล้วอย่ารอช้ารีบไปชงกาแฟมาจิบและดื่มด่ำเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ใต้อโรม่าหอมๆ ของกาแฟกันเลย

คุยเฟื่องเรื่องเมล็ดกาแฟ กับคุณวรงค์ แห่ง Nana Coffee Roaster

เมื่อตั้งใจอยากเขียนเรื่องกาแฟเล่าสู่คุณผู้อ่าน ฉันเองรู้ตัวดีว่าไม่มีความรู้ดีพอ แต่โชคดีที่ฉันได้รับความกรุณาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟท่านหนึ่ง นั่นก็คือ คุณกุ้ง-วรงค์ ชลานุชพงศ์ คิวเกรดเดอร์คนแรกๆ ของประเทศไทย เจ้าของร้านกาแฟสุดพรีเมี่ยมในนาม NANA Coffee Roaster ผู้ที่จะนำความรู้เรื่องเอกลักษณ์ของเมล็ดกาแฟที่เด่นดังระดับโลกมาเล่าสู่คุณผู้อ่านในครานี้

แต่ก่อนจะไปถึงประเด็นที่เท้าความไว้นั้น จำเป็นต้องเข้าใจถึงเนื้อหาบางประเด็นที่เชื่อมโยงกันก่อน อาทิ เรื่องพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของระดับความสูงของพื้นที่กับคุณภาพของกาแฟ วิธีการแปรรูปเมล็ดกาแฟซึ่งมีผลต่อกลิ่นรสของกาแฟ ซึ่งฉันขอถอดองค์ความรู้ที่คุณกุ้งมอบให้มาเล่าสู่คุณฟังดังนี้

ระดับความสูงสำคัญอย่างไรกับคุณภาพเมล็ดกาแฟ

คุณกุ้งกล่าวกับเราว่า กาแฟอราบิก้าที่ปลูกในพื้นที่ต่ำ ผลเบอร์รี่ของกาแฟจะสุกก่อนกาแฟที่ปลูกบนพื้นที่สูง

ทั้งนี้เพราะอากาศและอุณหภูมิ เป็นปัจจัยที่ทำให้การสุกของเมล็ดกาแฟแตกต่างกัน

กาแฟที่ปลูกบนที่สูงกว่า เบอร์รี่กาแฟจะใช้เวลานานกว่าเมล็ดกาแฟจะสุก ทำให้กาแฟสามารถดูดซึมสารอาหารในดินมาไว้ในเมล็ดได้เต็มที่ เมล็ดกาแฟจึงสมบูรณ์ ส่งผลให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพดีตามไปด้วย

3 Process แปรรูปเมล็ดกาแฟ และรสชาติที่แตกต่างกัน

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้รสชาติของกาแฟมีคุณภาพ ก็คือขั้นตอนการผลิตและจัดการเมล็ดกาแฟ หรือการแปรรูปเมล็ดกาแฟ ซึ่งก็จะส่งผลต่อกลิ่นรสกาแฟที่ต่างกัน คุณกุ้งอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับการแปรรูปเมล็ดกาแฟ (process) ให้มือใหม่อย่างเราฟังแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

Wash Process หรือบางคนเรียก Wet Process คือกระบวนการที่ใช้น้ำมาจัดการเมล็ดกาแฟในทุกขั้นตอน เพื่อขจัดผิวเนื้อผลกาแฟออก เหลือเพียงเมล็ดกาแฟ ก่อนนำไปตากให้แห้งและเข้าสู่กระบวนการสีและคั่ว เมล็ดกาแฟอราบิก้าที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวนี้ จะให้รสชาติกาแฟที่สว่างสดใส ชัดเจนตามเอกลักษณ์ในตัวของกาแฟชนิดนั้นๆ

Dry Process หรืออีกชื่อคือ Natural Process วิธีนี้คือการนำเชอร์รี่กาแฟที่เก็บมาตากแห้งทั้งผลจนความชื้นน้อยกว่า 12% จึงนำไปสีและผ่านกระบวนการคั่วต่อไป ด้วยวิธีนี้จะทำให้เมล็ดกาแฟให้รสชาติที่เป็นผลไม้มากขึ้น มีรสหวานมากขึ้น มีรสชาติคล้ายน้ำผึ้ง แต่บางทีก็เสี่ยงต่อการมีกลิ่นหมักมากเกินไป

Honey Process  คุณกุ้งอธิบายง่ายๆ ให้เราฟังว่า กระบวนการนี้เป็นการผสมผสานกรรมวิธีจัดการเมล็ดระหว่าง Wash Process และ Dry Process เมล็ดกาแฟจะถูกขจัดเปลือกออกบางส่วน มีเนื้อของเบอร์รี่กาแฟติดอยู่บ้างเล็กน้อย พอผ่านขั้นตอนการหมักก็จะมีกลิ่นที่ไม่รุนแรงมากเท่ากับแบบ Dry Process ซึ่งรสชาติเมล็ดกาแฟที่จัดการด้วยวิธีนี้ ก็จะให้กลิ่นรสผสมผสานระหว่างสองวิธีแรก

อย่างไรก็ตาม คุณกุ้งกล่าวกับเราว่า นี่เป็นเพียงการอธิบายขั้นตอนการจัดการเมล็ดกาแฟโดยคร่าวๆ ที่นิยมในปัจจุบันเท่านั้น ในอนาคตอาจมีวิธีแปรรูปเมล็ดกาแฟแบบใหม่ๆ ก็ได้ เพราะโลกของกาแฟนั้นเปลี่ยนแปลงไปเสมอ

รู้จักเอกลักษณ์กาแฟอราบิก้าดังจากสามทวีป

ทั่วโลกมีเมล็ดกาแฟอราบิก้าดีๆ อยู่เต็มไปหมด แต่คุณกุ้งเล่าให้เราฟังว่า เวลาสอบเพื่อผ่านขั้นตอนการเป็นนักชิมกาแฟ เขาจะคัดเลือกเมล็ดกาแฟอราบิก้าจากสามทวีปหลักๆ มาให้ผู้เข้าสอบทดลองชิม โดยจะบอกเพียงชื่อทวีป แต่ไม่บอกที่มา แล้วให้นักชิมทดลองชิมและเขียนบรรยาย หรือให้คะแนนกาแฟแต่ละตัวเพื่อวัดผล  ซึ่งกาแฟในสามทวีปที่ว่าก็คือ กาแฟจากทวีปแอฟริกา กาแฟจากทวีปอเมริกา และกาแฟจากทวีปเอเชีย ซึ่งมีเอกลักษณ์ต่างกันไปดังนี้

ทวีปแอฟริกา

เอธิโอเปีย มีความสำคัญเชื่อมโยงไปถึงจุดกำเนิดของการบริโภคเมล็ดกาแฟ ตามตำนานที่กล่าวถึงเด็กชายเลี้ยงแพะชื่อคาลดี้ ที่พบว่าแพะของเขาเมื่อไปกินผลไม้ชนิดหนึ่งเข้าแล้วเกิดอาการกระโดดโลดเต้น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มนุษย์รู้จักกาแฟครั้งแรก เมล็ดกาแฟจากเอธิโอเปียมีเป็นร้อยๆ สายพันธุ์ หากให้กล่าวถึงโทนของรสชาติโดยรวม คุณกุ้งกล่าวว่า กาแฟจากแถบประเทศนี้จะมีกลิ่นของดอกไม้ ผลไม้ เช่น พีช สโตนฟรุต (ผลไม้ที่มีเมล็ดแข็งด้านใน เช่น พีช พลัม เนคทารีน เป็นต้น) เบอร์กามอต หรือกลิ่นของสมุนไพร มีความเป็นกรดในรสชาติกาแฟอราบิก้าที่ดี ทั้งนี้ขึ้นกับแหล่งปลูก ซึ่งแหล่งปลูกที่ดีก็อย่างเช่น เยกาเชฟ และ ซิดาโม

เคนย่า เป็นเมล็ดกาแฟที่มีกลิ่นแบล็กเคอเรนต์ มีกลิ่นในทางมะเขือเทศ พีช ออกโทนผลไม้ มีความเป็นกรดที่ดี ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับกาแฟเอธิโอเปีย ส่วนใหญ่กาแฟในเคนย่าจะเกิดจากการตัดต่อสายพันธุ์ในแล็บ ทำให้ชื่อสายพันธุ์กาแฟจากเคนย่า จะมีชื่อแปลกไป เช่น SL28 ซึ่งมาจาก Smith Lab เป็นต้น

ทวีปอเมริกา

บราซิล เป็นประเทศที่ส่งออกกาแฟเชิงพานิชย์ เป็นอันดับ 1 ของโลก มีสายพันธุ์กาแฟมากมาย เชื่อกันว่าเป็นแหล่งกาแฟดีมากมาย ซึ่งเป็นกาแฟที่ปลูกในพื้นที่สูงประมาณ 900- 1,000 เมตร (อยู่ในระดับการปลูกในพื้นที่ต่ำกว่ากาแฟจากทวีปแอฟริกา) อโรม่าของกาแฟบราซิลจะออกไปทางถั่ว หรือช็อกโกแลต ซึ่งคุณกุ้งเล่าว่า

ในการแข่งขันเวิลด์บรูว์เวอร์เคยมีผู้ใช้กาแฟบราซิลประกวดชนะ ซึ่งเมล็ดกาแฟดังกล่าวมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละหนึ่งแสนบาทเลยทีเดียว

ปานามา เมล็ดกาแฟของปานามามีหลากหลายสายพันธุ์ มีรสชาติที่ซับซ้อน สายพันธุ์ที่มีชื่อมากๆ อย่างเช่น สายพันธุ์เกอิชา (Geisha) ของสวนกาแฟเอสเมอรัลดา (จริงๆ เมล็ดกาแฟนี้เป็นสายพันธุ์จากเอธิโอเปีย แต่ถูกนำมาปลูกที่ปานามา) ซึ่งเป็นสวนกาแฟที่ให้สายพันธุ์กาแฟที่โด่งดังไปทั่วโลก และชนะการประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศมาอย่างยาวนาน เมล็ดกาแฟอราบิก้าของปานามามีกลิ่นรสซับซ้อน เช่น มีอโรม่าของพีช เบอร์กามอต เอชิไกด์ ลูกผักชี เลม่อน ส้ม หลากหลาย

เอเชีย

อินโดนีเซีย ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ปลูกกาแฟมายาวนาน ติด top 5 ของโลก โดยผู้ที่นำเมล็ดกาแฟเข้ามาปลูกในอินโดนีเซียยุคเริ่มแรกคือชาวดัชต์

ความน่าสนใจของกาแฟอินโดนีเซียก็คือ กระบวนการผลิตซึ่งไม่เหมือนที่อื่นๆ เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีฝนตกชุก ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง จึงมีกระบวนการจัดการเมล็ดกาแฟตามรูปแบบของภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นวิธีแบบ wet colling นั่นคือ นำเมล็ดกาแฟติดกะลา (กาแฟเปลือก) ที่ยังไม่แห้งดีนักไปสีกะลาออก (กาแฟที่สีกะลาออกแล้ว เรียกกาแฟสาร) ซึ่งโดยทั่วไปกาแฟเปลือกก่อนนำไปสีเป็นกาแฟสารต้องมีความชื้นสัมพัทธ์ที่ 12% แต่อินโดนีเซียจะนำกาแฟเปลือกที่ยังไม่แห้งดีนักคือมีความชื้นสัมพัทธ์ที่ 25-30% ไปสี แล้วนำกาแฟสารที่ได้ไปวางตากในสภาพที่ไม่มีเปลือกหุ้ม ทำให้เมล็ดกาแฟซึมซับเอาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เข้าไป กาแฟอราบิก้าของอินโดนีเซียจึงมีกลิ่นแนว earthy tone มีกลิ่นใบยาสูบ เครื่องเทศ ซึ่งมีเสน่ห์มากทีเดียว

เมล็ดกาแฟที่โดดเด่นของอินโดนีเซียในมุมมองส่วนตัวของคุณกุ้ง คือเมล็ดกาแฟสายพันธุ์กาโย (Gayo) ซึ่งมีกลิ่นเครื่องเทศสมุนไพร และถ้าควบคุมการคั่วได้ดี จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกไม้ด้วย กาแฟอีกชนิดของประเทศนี้ที่ขึ้นชื่อคือ สุมาตราลินตอง (Sumatra Lintong) เป็นกาแฟที่มีรสหวาน และมีสมดุลที่ดี

ไทย ประเทศไทยเป็นประเทศที่คุณกุ้งบอกว่ากล่าวถึงเอกลักษณ์ที่ชัดเจนอย่างประเทศอื่นได้ยาก แต่ขอแนะนำแหล่งเมล็ดกาแฟอราบิก้าชั้นเลิศเอาไว้ 3 แหล่งคือ

กาแฟหมู่บ้านมณีพฤกษ์ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน กาแฟจากแหล่งนี้ เกิดขึ้นจากเกษตรกรที่มีหัวก้าวหน้า ที่นำเอากาแฟสายพันธุ์ต่างๆ มาทดลองปลูก เขาคนนั้นคือคุณเคเลบ จอร์แดน ชาวอเมริกันที่มาใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดน่านกับภรรยาชาวไทย คุณเคเลบได้เขียนจดหมายไปยังสวนกาแฟเอสเมอรัลดา ที่ประเทศปานามา และขอเมล็ดกาแฟสายพันธุ์เกอิชา ซึ่งเป็นกาแฟสายพันธุ์ดังระดับโลกมาปลูกในจังหวัดน่าน  และทางร้านกาแฟของคุณกุ้งเคยได้ใช้เมล็ดกาแฟดังกล่าวไปแข่งชิงแชมป์กาแฟไซฟ่อนระดับโลก และได้รางวัลชนะเลิศมาครอง ฟังเท่านี้ก็การันตีถึงคุณภาพของกาแฟจากแหล่งนี้ได้แล้ว

Nine One Coffee ที่คุณกุ้งอยากแนะนำเมล็ดกาแฟจากสวนแห่งนี้ เพราะทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูกและการผลิต ทางสวนจะใช้วิธีทางธรรมชาติที่เป็นออร์แกนิกทั้งหมด แม้แต่การกะเทาะสีเปลือกของเมล็ดกาแฟยังใช้พลังจากน้ำมาเป็นตัวขับเคลื่อนฟันเฟืองของเครื่องสี ซึ่งสาเหตุทั้งสิ้นทั้งปวงก็เพราะคุณวัลลภ ปัสนานนท์ เจ้าของสวนมีอุดมการณ์ที่ต้องการดำรงชีวิตแบบเคารพธรรมชาติ

เมล็ดกาแฟที่สวนแห่งนี้ปลูกคือ สายพันธุ์ทิปปิก้า และจาวา ซึ่งเป็นสายพันธุ์กาแฟยุคแรกๆ ที่มีชาวต่างชาตินำมาทูลเกล้าให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ชาวเขานำไปปลูกสร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น

ด้วยความเอาใจใส่ในการผลิตทุกขั้นตอนตามที่กล่าวมา เมล็ดกาแฟจึงมีรสชาติดี มีกลิ่นรสของดอกไม้ ผลไม้ สโตนฟรุต และมีความข้น (Body) ของกาแฟเมื่อชงเสร็จแล้วสมดุลดีเยี่ยม

The First Valley กาแฟไร่คุณเอกสุวรรณโน ไร่กาแฟชื่อดังจากบ้านแม่ตอนหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคุณกุ้งเล่าให้เราฟังว่า ในปีที่ผ่านมา เมล็ดกาแฟจากไร่แห่งนี้เป็นที่สนใจในวงการนักจิบกาแฟอย่างมาก เพราะให้อโรม่าที่มีกลิ่นของลิ้นจี่ กุหลาบ สละ มะม่วงสุก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลกใหม่และดึงความสนใจได้ไน้อย

จึงเกิดเป็นประเด็นสงสัยที่อาจนึกไปว่าได้มีการเติมเคมีแต่งกลิ่นลงไปหรือเปล่า แต่ความจริงแล้วเกิดจากเจ้าของไร่นั้นใส่ใจกับทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมดินปลูกกาแฟในระดับพิเศษ ทำการวิจัย ทดลอง ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วน ศึกษาลงไปในระดับลึกถึงเรื่องของชนิดจุลินทรีย์ในดิน ที่เลือกนำมาใช้ในการพัฒนาดิน เพื่อเกิดการปรับปรุงพื้นที่ปลูกให้มีสภาพที่เอื้อต่อการปลูกเมล็ดกาแฟที่สามารถให้เชอร์รี่กาแฟที่ดีที่สุด เมื่อนำเมล็ดกาแฟที่ได้มาผ่านกระบวนการจัดการเมล็ดแบบควบคุมการหมัก (controlled fermentation) และทำการคั่วแล้ว จึงให้อโรม่าสุดวิเศษเช่นที่กล่าวมา ซึ่งเมล็ดกาแฟจากตัวพิเศษที่กล่าวมานี้ ทางไร่ตั้งชื่อซีรีส์ว่า Moon Stone

Trend กาแฟ 2021

ไหนๆ ได้คุยกับผู้ที่มีบทบาทกับวงการกาแฟไทยอย่างคุณกุ้งแล้ว เราจึงไม่พลาดถามถึงเทรนด์ของกาแฟในปี 2021 นี้ ว่าทิศทางเป็นอย่างไร คุณกุ้งตอบกับเราเป็นการปิดท้ายบทสนทนาเรื่องเมล็ดกาแฟกับเราว่า

“เทรนด์กาแฟจะแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่เป็น Flavor Coffee และเทรนด์ฝั่งที่เป็นกาแฟที่คงรสชาติเอกลักษณ์เดิมๆ ตามแบบนักอนุรักษ์นิยม ซึ่งส่วนตัวผมมองว่า เทรนด์ดังกล่าวนี้จะเกิดการถกเถียงกันไปในอีกระยะ แต่ไม่รู้ว่าระยะที่ว่านั้นจะยาวนานแค่ไหน”

 ‘ไล่โว่’ กาแฟโรบัสต้าพิเศษ กับการอนุรักษ์ผืนป่ามรดกโลก

ฉันมีเพื่อนสมัยเรียนมัธยม ขื่อมนตรี กุญชรมณี ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นผู้ประสานงานป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ราวๆ สองปีก่อน ฉันเห็นฟีดเฟซบุ๊คของเขาระบุว่าได้ไปช่วยชาวบ้านในเขตจังหวัดกาญจนบุรีพัฒนาเรื่องการปลูกและการผลิตเมล็ดกาแฟโรบัสต้าให้เป็นกาแฟพิเศษ ตอนนั้นก็อ่านแบบผ่านตาไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก แต่พอเขียนบทความนี้ทำให้ฉันได้ยกหูโทรศัพท์คุยกับมนตรีถึงงานที่เขาทำ จึงได้ทราบเรื่องราวเชิงอนุรักษ์ที่อาศัย soft power อย่างน่าสนใจจากมนตรีว่า

“กาแฟไล่โว่ เป็นกาแฟโรบัสต้าพิเศษ จากหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ จังหวัดกาญจนบุรี ปลูกโดยชาวกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่ในเขตผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร เดิมทีชาวบ้านปลูกกาแฟกันอยู่แล้ว ตามหัวไร่ปลายนา หรือปลูกแซมป่า โดยไม่ได้ดูแลมากนัก ทำให้กาแฟมีคุณภาพไม่ดี การเก็บก็ใช้วิธีเก็บรูดใส่ปี๊บให้พ่อค้าที่มาซื้อ ซึ่งก็มักจะขายได้ราคาถูก แล้วตัวเองก็เอาเงินที่ได้ไปซื้อกาแฟ 3 in one มาชงกิน

“การเข้าไปสนับสนุนให้เขารู้จักกรรมวิธีผลิตกาแฟ ตั้งแต่วิธีเก็บเมล็ด การคัดแยกเมล็ด และกระบวนการจัดการเมล็ดแบบประณีตจนไปถึงขั้นตอนการคั่ว เบื้องต้นเราหวังแค่ให้พวกเขาลดรายจ่าย คือเลิกซื้อกาแฟซองมาชงกิน แล้วหันมากินกาแฟที่ตัวเองปลูกและคั่วเอง แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือการสะท้อนให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของเมล็ดกาแฟที่ตนเองมี ส่งเสริมให้เมล็ดกาแฟที่พวกเขามีนั้นสามารถสร้างรายได้

“เมื่อชาวบ้านมีรายได้ ก็จะไม่เกิดการเข้าไปหาประโยชน์จากผืนป่าในทางที่ไม่ถูกต้อง”

มนตรียังกล่าวอีกว่า องค์ความรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับกาแฟที่นำมาพัฒนาการผลิตกาแฟให้กับชาวบ้าน ต้องยกความดีความชอบให้กับคุณณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา ผู้ผลิตกาแฟอราบิก้าชื่อดังอย่าง ‘ทีลอซู’ ซึ่งเป็นกาแฟรุ่นพี่ที่มีหมุดหมายสำคัญมุ่งเน้นการพัฒนากาแฟในพื้นที่ตนเอง ให้ก้าวสู่การเป็นกาแฟที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่กลอง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

ล่าสุด เมล็ดกาแฟโรบัสต้าไล่โว่ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟตำบลไล่โว่ จากสวนของคุณวันชัย สุดกองหล้า หมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง ได้นำส่งเข้าประกวดสุดยอดกาแฟไทยปี 2564 (Thai Coffee Excellence 2021) โดยกรมวิชาการเกษตร แม้จะไม่ติดอันดับ 1 ใน 3 แต่การได้ลำดับที่ 4 ด้วยคะแนน 83.17 (อันดับ 3 ได้คะแนน 83.75) ก็นับว่าเป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพ ที่สำคัญ นี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่กาแฟอราบิก้าเท่านั้นที่สามารถขึ้นแท่นกาแฟพิเศษ แต่กาแฟโรบัสต้าก็เป็นกาแฟพิเศษได้เช่นกัน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เมล็ดกาแฟไล่โว่ของปีนี้ถูกจับจองหมดแล้ว หากต้องการลองลิ้มอาจต้องจองปีนี้เพื่อรับของปีหน้ากันแล้ว

สนใจสั่งจองเมล็ดกาแฟไล่โว่ได้ที่ Facebook : กาแฟไล่โว่ laiwo coffee โทรศัพท์ 085 710 5350  หรือ Facebook : จอมป่า กาแฟรักษาป่า โทรศัพท์ 088 498 2722

ขอบคุณ: 
คุณวรงค์ ชลานุชพงศ์ เจ้าของร้าน NANA Coffee Roaster
คุณมนตรี กุญชรมณี ผู้ประสานงานป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ภาพประกอบ: Paperis