การตื่นรู้มักเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งไหนสั่นสะเทือนกว่าการมาถึงของภาวะโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญ โดยเฉพาะเมื่อมันเกิดขึ้นบนบริบทของโลกสมัยใหม่ ที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำงานเต็มกำลังมาร่วมร้อยปี วันเวลาที่มนุษยชาติยึดโยงอยู่กับระบบอุตสาหกรรมและการพัฒนาเชิงวัตถุอย่างไม่เหลียวหลัง กระทั่งธรรมชาติส่งสัญญาณให้เราหันมาพิจารณาตัวเองกันอย่างกะทันหัน

และเช่นเดียวกันที่แวดวงการเกษตรและอาหารก็ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากวิกฤตครั้งนี้ไม่น้อยกว่าวงการอื่น ยิ่งกว่านั้นยังทำให้เกิดบทสนทนาว่าด้วยการผลิตการบริโภคและแนวทางการดำเนินชีวิต ที่อาจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากนี้

คำถามคือมันจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน และเราเหล่ามนุษยชาติต้องรับมืออย่างไร กับวิถีใหม่ที่กำลังเดินทางมาถึง

หนึ่งในคอนเซ็ปต์การผลิตและบริโภค ที่ถูกหยิบมาเป็นหัวข้อสนทนาบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันคือการทำการเกษตรแบบไม่ทำอะไรเลย’ (Do-nothing farming) ซึ่งเดิมเป็นแนวทางที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในแวดวงเกษตรอินทรีย์ระดับสากลอยู่แล้ว ทว่าการกลับมาในบริบทใหม่ยิ่งส่งให้แนวคิดดังกล่าวมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อระบบผลิตอาหารเชิงอุตสาหกรรมถูกทำให้หยุดชะงัก และภาวะขาดแคลนอาหารกลายเป็นเรื่องน่าวิตกของคนส่วนใหญ่ การกักตุนอาหารราวกับภาวะสงคราม และราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นจากการพยายามปกป้องตลาดภายในของประเทศผู้ผลิตอาหาร ก็ช่างเป็นเรื่องชวนหวั่นใจ

Do-nothing farming การทำเกษตรเพื่อฟื้นสัมพันธ์ของคนกับดิน

ก่อนอื่นเราอาจต้องทำความเข้าใจแนวคิดนี้อีกครั้งการทำเกษตรแบบไม่ทำอะไรเลยหรือ Do-nothing farming นั้นเกิดขึ้นจากปราชญ์ด้านการเกษตรชาวญี่ปุ่นนาม มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เกษตรกรและผู้เขียนหนังสือปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว’ (The One-Straw Revolution) ผู้ตั้งคำถามกับระบบอาหารอุตสาหกรรมว่าช่วยลดความหิวโหยอย่างยั่งยืนจริงหรือไม่ และความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรธรรมชาติและผู้บริโภคที่ห่างเหินนั้นจะส่งผลอย่างไรกับโลกในอนาคต ซึ่งอนาคตที่ฟูกูโอกะประเมินไว้นั้นก็อาจมีหน้าตาคล้ายกับสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นได้

คำถามเหล่านั้นกลายเป็นแนวทางการทำเกษตรที่เน้นความเรียบง่ายและเข้าใจธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรผืนดินและผู้บริโภค ให้กลับมาเหนียวแน่นอย่างที่เคยเป็นเมื่อครั้งระบบอุตสาหกรรมยังไม่ครอบงำการผลิต ผ่านการทำความเข้าใจธรรมชาติอย่างถี่ถ้วน และปรับวิถีการผลิตให้สอดคล้องกับมันเท่านั้นเอง

โดยฟูกูโอกะตีกรอบการทำเกษตรแบบ do-nothing กว้างๆ ออกเป็น 4 หลักปฏิบัติ คือ 1) ไม่ไถพรวน  ยุ่มย่ามกับหน้าดินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 2) ไม่มองว่าแมลงหรือวัชพืชคือศัตรู 3) ไม่ใช้สารเคมี 4) ปล่อยให้ธรรมชาติเติบโตและจัดการตัวเอง

กรอบดังกล่าวชวนให้ตั้งคำถามว่าแล้วหน้าที่ของเกษตรกรอยู่ตรงไหน? คำตอบนั้นเรียบง่าย

บทบาทสำคัญของเกษตรคือการคอยเฝ้าดูและให้ความช่วยเหลือ โดยไม่เข้าแทรกแซงธรรมชาติอย่างไม่จำเป็น

ความช่วยเหลือดูแลดังกล่าว ตั้งอยู่บนมุมมองที่ว่าธรรมชาติเป็นองค์รวมของสรรพสิ่งที่ไม่แยกขาดจากกัน ทุกองค์ประกอบในวงจรจึงส่งผลซึ่งกันและกัน และเกษตรกรก็มีหน้าที่ดูแลให้วงจรนั้นดำเนินไปได้อยางต่อเนื่อง

พูดให้เห็นภาพขึ้นอีก การผลิตที่มองการผลิตเป็นองค์รวม เช่น การทำความเข้าใจว่าการไถพรวนดิน มีข้อดีคือสะดวกต่อการเพาะปลูก แต่ข้อเสียก็คือทำให้เกิดวัชพืชในแปลงอย่างมาก เท่ากับว่าเกษตรกรต้องเสียเวลาในการกำจัดวัชพืช และอาจมีต้นทุนในการซื้อสารเคมีกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนแฝง อาทิ การชะล้างหน้าดิน สารเคมีปนเปื้อนในน้ำและอากาศ เวลาที่เสียไปกับการไถพรวนและกำจัดวัชพืช ฯลฯ

เมื่อหักลบกับปริมาณผลผลิตแล้วอาจไม่คุ้มทุน แต่เมื่อทำความเข้าใจว่าแท้จริงวัชพืชมีสาเหตุหลักจากการไถพรวน จนทำให้เมล็ดวัชพืชที่ฝังอยู่ใต้ดินลึกขึ้นมาอยู่บนหน้าดิน และเติบโตจนรบกวนแปลงปลูก วิธีการกำจัดวัชพืชอย่างเข้าใจธรรมชาติคือ การปล่อยหน้าดินตามธรรมชาติ แต่ใช้ฟางคลุมดินทันทีหลังเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น รวมถึงปลูกพืชคลุมดินอย่างพืชตระกูลถั่วไปพร้อมกับปลูกพืชอื่น วิธีเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยลดวัชพืชทั้งสิ้น

ไม่ทำอะไรเลย ไม่ได้หมายถึงปล่อยปละละเลย

นอกจากการผลิต อีกหนึ่งหลักการของการทำเกษตรแบบ Do-nothing คือ การทำความรู้จักแหล่งอาหารรอบตัว โดยฟูกูโอกะได้ให้รายละเอียดในเรื่องนี้ว่า วัตถุดิบที่เติบโตตามธรรมชาตินั้น นอกจากไม่มีต้นทุนการผลิตแล้ว ส่วนใหญ่ยังปราศจากสารเคมีและมีโภชนาการสูงกว่าวัตถุดิบในท้องตลาดด้วย การไม่ได้เร่งผลิต สารอาหารต่างๆ จึงสะสมอยู่ในพืชพรรณอย่างเต็มที่ การสอดส่องรอบๆ ตัวเพื่อทำความรู้จักพืชอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในชั่วโมงที่การผลิตอาหารอาจชะงักงันได้ทุกเมื่อ

อนึ่งการทำความรู้จักพืชอาหารรอบตัวนั้น สอดคล้องกับเทรนด์เก็บกิน’ (Food foraging) ที่เติบโตเป็นกระแสทางฝั่งตะวันตกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และกำลังกลายเป็นวิถีที่วงการให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เสียด้วย (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิถีการเก็บกิน)

การทำเกษตรแบบไม่ทำอะไรเลย จึงไม่ใช่การปล่อยปละละเลย แต่คือการทำความเข้าใจและดูแลแปลงปลูกเท่าที่จำเป็น และปล่อยให้งานการส่วนใหญ่เป็นของธรรมชาติ

ซึ่งสอดคล้องกับวิถีใหม่ที่คนในวงการอาหารประเมินกันว่าแต่ละประเทศต้องหันมาผลิตอาหารด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น เพราะการนำเข้าส่งออกอาหารอาจเกิดปัญหาในภาวะวิกฤต ยิ่งเมื่อปัญหาเศรษฐกิจกินวงกว้าง การผลิตในประเทศจึงสำคัญ โดยเฉพาะการผลิตแปลงเล็กที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่าการผลิตอุตสาหกรรม ย่อมกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

และการปรับมุมมองว่า การผลิตอาหารนั้นแท้จริงไม่ได้เรียกร้องเวลาหรือกำลังมากมายอย่างที่หลายคนคิด ทว่าใช้ความเข้าใจในธรรมชาติเป็นพื้นฐานก็เพียงพอ

ภาพถ่าย: อรุณวตรี รัตนธารี