ดอกไม้อยู่ในจานอาหารไทยมาแต่อ้อนแต่ออก เช่นเดียวกับในวัฒนธรรมอื่นทั่วโลกทั้งในจีน ตะวันออกกลาง อินเดีย หรือในยุควิกตอเรียที่ทำให้ดอกไม้กินได้ได้รับความนิยมแพร่หลายขึ้น จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ดอกไม้กลายเป็นเครื่องเติมสีสันในอาหารจานหรูแบบ fine dining

แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างยิ่งคือ ใช่ว่าดอกไม้ทุกดอกจะกินได้ เพื่อความปลอดภัยควรตรวจสอบก่อนนำไปทำอาหารทุกครั้ง และเพื่อความมั่นใจเราอาจใช้ดอกไม้ที่คุ้นเคยอย่างอัญชัน กุหลาบมอญ มะลิ เฟื่องฟ้า ดอกโสน ดอกขจรมาทำอาหาร นอกจากนั้นข้อควรระวังคือ

ควรใช้ดอกไม้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าปลอดยาฆ่าแมลง หรือเป็นดอกไม้ที่เก็บจากในสวนของเราเอง

ครั้งนี้เราเลยลองท้าทายตัวเองเมื่ออยู่ต่างแดนว่า แล้วเราจะใช้ดอกไม้อะไรในสวีเดนมาทำอาหารได้บ้าง

เมื่อลองค้นข้อมูลก็พบว่า ดอกไม้หลายชนิดที่ขึ้นในป่าหน้าร้อนช่วงนี้ของสวีเดน สามารถเอามาทำอาหารได้ไม่แพ้ดอกไม้ไทย เช่น ดอกโคลเวอร์ ซอร์เรล ฮอลลี่ฮ็อก ไลแล็ก แพนซี่ และกุหลาบ แต่ที่หาง่ายที่สุดชนิดที่ขึ้นเต็มป่าคือดอกเดซี่ รวมถึงดอกแดนดิไลออนที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน ทั้งคู่มีรสหวานอ่อนๆ คล้ายน้ำผึ้ง วิธีเก็บคือควรเลือกดอกเล็กๆ ที่ยังโตติดพื้น เพราะมีรสขมน้อยกว่า ส่วนใหญ่แล้วคนที่นี่จะกินสดกับสลัด แซนด์วิช หรือไม่ก็นำไปผสมกับชาและซุป นอกจากนี้ตามหลักของ Homeopathy (การแพทย์ทางเลือกเก่าแก่ของชาวยุโรป) เชื่อว่าเดซี่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับสมุนไพร ช่วยลดอาการไอและบำรุงเลือดได้ แต่วันนี้เราจะลองเอาไปอบ เพิ่มเติมสีสันและความกระจุ๋มกระจิ๋มให้กับเวลากาแฟยามบ่ายแทน

แต่ถึงเราจะใช้ดอกไม้ที่หาได้ที่นี่ ดอกไม้กินได้ของไทยก็ใช้แทนได้เหมือนกัน แถมยังจะให้สีสันสดใสมากกว่าด้วย

เคล็ดลับของการเตรียมดอกไม้กินได้ก็คือ ควรเก็บดอกไม้ภายในวันที่จะใช้ และควรเก็บในตอนเช้าตรู่ เพราะดอกไม้ยังไม่ถูกรบกวนจากแสงอาทิตย์ แต่หากยังไม่ใช้ทันที ให้นำไปใส่กล่องพลาสติกแล้วเก็บในตู้เย็นโดยไม่ต้องล้าง ทั้งนี้ไม่ควรเก็บนานเกิน 3 วัน เมื่อพร้อมจะใช้ให้นำไปล้างโดยการหย่อนลงในภาชนะใบเล็กทีละน้อย สะเด็ดน้ำ แล้วผึ่งให้แห้งสนิท

ส่วนผสมสำหรับการทำคุกกี้ดอกไม้ (สูตรนี้ทำคุกกี้ได้ 24-30 ชิ้น)

1. แป้งอเนกประสงค์ 2 ถ้วย

2. เกลือ 1 ช้อนชา

3. เนย 225 กรัม

4. น้ำตาลไม่ฟอกขาว ¼ ถ้วย

5. ไข่ 1 ฟอง

6. ดอกไม้กินได้ ปริมาณตามชอบ

วิธีทำ

1. เล็มก้านดอกไม้ออก ล้างทำความสะอาด แล้วผึ่งให้แห้ง

2. เลือกหนังสือเล่มที่หนาที่สุดในบ้านมาใช้ เปิดไปกลางเล่ม แล้ววางกระดาษรองอบลงไป นำดอกไม้ที่แห้งสนิทแล้วไปวางบนกระดาษรองอบ ปิดทับหน้าดอกไม้ด้วยกระดาษรองอบอีกชั้น จากนั้นจึงปิดหนังสืออย่างเบามือ เพื่อให้ดอกไม้เคลื่อนที่น้อยที่สุด หาหนังสือหนาๆ เล่มอื่นหรือวัสดุอะไรก็ได้ที่มีน้ำหนักเยอะมาวางทับหนังสือเล่มที่สอดดอกไม้ไว้พักไว้ข้ามคืน

3. เริ่มทำคุกกี้ด้วยการใช้ตะกร้อมือผสมแป้งและเกลือเข้าด้วยกัน พักไว้

4. ใช้เครื่องผสมแบบตั้งโต๊ะตีผสมเนยและน้ำตาลเข้าด้วยกันด้วยความเร็วปานกลาง จนส่วนผสมขึ้นฟู

5. เติมไข่ลงไป แล้วตีผสมด้วยความเร็มปานกลางให้เข้ากันดี

6. เทส่วนผสมแป้งตามลงไป ใช้ความเร็วต่ำ ตีผสมทุกอย่างให้เข้ากันดี

7. นำโดห์ออกมาเครื่องผสม คลึงให้เป็นแผ่นแบนประมาณ ½ นิ้ว ห่อด้วยพลาสติกถนอมอาหารหรือ beeswax wrap แล้วแช่เย็นไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อให้โดห์แข็งตัว

8. หลังจาก 1 ชั่วโมงผ่านไป อุ่นเตาอบไว้ที่ 160 องศาเซลเซียส

9. นำโดห์ออกจากตู้เย็น วางบนกระดาษรองอบ แล้วคลึงให้บางลงจนได้ความหนาประมาณ ¼ นิ้ว

10. ค่อยๆ แกะดอกไม้ที่เตรียมไว้เมื่อคืนก่อนออกจากหนังสือ พยายามแกะอย่างเบามือที่สุด เพราะดอกไม้แห้งจะบอบบางขึ้น จากนั้นนำดอกไม้ไปโรยบนโดห์ที่คลึงไว้ จัดระยะห่างของดอกไม้ตามชอบ จากนั้นปิดทับด้วยกระดาษรองอบ แล้วใช้ไม้นวดแป้งคลึงเบาๆ พอให้ตัวดอกไม้กดลงไปในเนื้อโดห์ แล้วดึงกระดาษรองอบที่ปิดหน้าดอกไม้ไว้ออก

11. ใช้ที่ตัดคุกกี้หรือปากแก้วกดโดห์เป็นวงกลมตามจำนวนคุกกี้ที่ต้องการ

12. ตัดโดห์ส่วนเกินออก แล้วยกแผ่นรองอบที่มีคุกกี้วางอยู่ไปวางบนถาดอบ ใช้เวลาอบประมาณ 12-14 นาที คุกกี้ชนิดนี้เป็นแบบชอร์ตเบรด (shortbread) เมื่อสุกจะไม่เป็นสีเหลืองทอง แต่จะพองตัวขึ้น และสีออกอมเหลืองขึ้นเล็กน้อย จากนั้นเมื่อครบเวลาอบให้นำออกมาพักให้เย็น 2 นาที แล้วย้ายไปพักบนตะแกรง เพื่อให้ได้รสชาติที่ยังคงสดใหม่ ควรรับประทานคุกกี้ให้หมดภายใน 3 วัน

แต่โดยมากแล้ว ลองได้เอาขึ้นโต๊ะจิบชาหรือกาแฟยามบ่าย ไม่นานก็หมด 🙂

ภาพถ่าย: ณวรา หิรัญกาญจน์