สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงนี้ ถือว่าเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสสำหรับทุกฝ่ายจริงๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน จนเกือบแตะหลักพัน (ณ วันที่เขียนบทความนี้อยู่) ทำให้หลายคนเลือกที่จะอยู่บ้าน และเดินทางให้น้อยที่สุด เพราะถ้าดูจากแผนที่การระบาดในประเทศไทยตอนนี้ เรียกว่ามีเหลือไม่กี่จังหวัดเท่านั้นที่ยังอยู่รอดปลอดภัย ไร้ผู้ติดเชื้อ

คำว่า stay safe stay home จึงเป็นสิ่งที่เราต้องเลือกอีกครั้ง (แบบตั้งสติให้มั่น) ไม่ต่างจากการระบาดในระลอกก่อนหน้านี้

เมื่อเลือกที่จะอยู่บ้าน แน่นอนว่าอาหารการกินต้องจัดเต็ม เพราะอาหารน่าจะเป็นความสุขเดียวที่หาได้ใกล้ตัว คำพูดที่ว่าเครียดแล้วต้องกิน หรือ stress eating นี่ต้องบอกว่าไม่ใช่พูดกันเล่นๆ เพราะความเครียดส่งผลต่อการกินมากกว่าที่เราคิด (ดังที่จะได้อ่านในบทความนี้) เครียดแล้วกินยังไม่พอ กินแล้วกลายเป็นต้องมาเครียดกับสิ่งที่ตามมาด้วยนี่สิ ถือเป็นวงจรอันน่าปวดหัวในช่วงโควิดโดยแท้

เราไปอ่านเจอบทความหนึ่งใน The Conversation สื่อที่เป็นแหล่งข้อมูลเชิงความรู้และงานวิจัยทางวิชาการที่เชื่อถือได้  เปิดเผยข้อมูลว่า

61 เปอร์เซ็นต์ ของคนวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงแบบไม่พึงประสงค์ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด

บทความนี้เขียนโดยนักประสาทวิทยาด้านโภชนาการ ที่ทำการศึกษาลงลึกในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง อาหารการกิน วิถีชีวิต ความเครียด กับปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวล ความหดหู่ เป็นต้น ซึ่งคำตอบที่พบก็คือ ความเครียดนี่แหละ ที่มีผลกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว โดยสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา (the American Psychological Association) พบว่า ประมาณ 84 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรวัยผู้ใหญ่ในอเมริกา ต้องเคยเจอกับอารมณ์เครียดอันยาวนานอย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

แล้วจากนั้น เจ้าความเครียดในสถานการณ์บีบคั้น (เช่น ช่วงเกิดโรคระบาด หรือการขาดแคลนอาหาร) ก็ไปกระตุ้นสัญชาตญาณแบบจะสู้หรือจะหนี ซึ่งเป็นกลไกการป้องกันตัวของคนเราที่ติดตัวมานั่นเอง โดยความเครียดจะไปส่งผลทำให้สารสื่อประสาททั้งหลายลดระดับลง หลักๆ ก็ได้แก่ เซโรโทนิน ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความอยากอาหาร และระบบการย่อยอาหารทั้งหมด ซึ่งพอเซโรโทนินต่ำลง ก็จะไปเพิ่มความวิตกกังวล และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนิสัยการกิน

ตัวต่อมาคือ โดพามีน สารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดความสุข มีผลต่อการสร้างแรงกระตุ้นเพื่อเป้าหมาย ถ้าโดพามีนต่ำ จะทำให้เราไม่ค่อยมีกะจิตกะใจในการออกกำลังกายหรือรักษาสุขภาพ ก็คือเริ่มปล่อยเนื้อปล่อยตัว ต่อกันด้วยเมลาโทนิน ที่จะเริ่มลดลง ทำให้เกิดอาการนอนไม่ค่อยหลับตามมา และเท่าที่เราสังเกตจากตัวเอง ก็จะเกิดอาการตื่นกลางดึกแล้วก็หิวมาก จนกระทั่งต้องไปหาอะไรใส่ท้อง และโดยไม่ต้องเดาต่อก็น่าจะรู้ว่า น้ำหนักย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ฮอร์โมนต่อมาที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเวลาเกิดความเครียดก็คือ เอพิเนฟรีน และนอร์เอพิเนฟรีน ซึ่งจะทำให้อารมณ์แปรปรวน เหวี่ยงไปมา หมดความกระตือรือร้นและส่งผลต่อวงจรการใช้ชีวิตของเรา เช่น นาฬิกาชีวิตที่จะทำงานตั้งแต่เราตื่นจนถึงเวลานอน ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยที่ช่วงที่มีการระบาดของโควิด ทำไมหลายๆ คนถึงรู้สึกว่าชีวิตรวนๆ นั่นเป็นเพราะเราเครียด จนกระทั่งนิสัยการกินเปลี่ยน บวกกับไม่ออกกำลัง กินอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นต้น

สรุปว่า การเลือกกินอาหารที่รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดีต่อสุขภาพ (แต่ห้ามใจไม่ได้จริงๆ) ก็เป็นผลมาจากเจ้าพวกฮอร์โมนทั้งหลายมันลดระดับกันพรวดพราดนั่นเอง โดยอาหารที่เราพุ่งไปคว้ามากินก่อนเป็นอันดับแรกก็คือ พวกของหวานทั้งหลายที่เติมน้ำตาลเข้ากระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว เช่น ช็อกโกแลต เค้ก ไอศกรีม แม้จะแคลอรีพุ่ง ความหวานเพียบ นอกจากนั้น มันยังไปช่วยกระตุ้นเซโรโทนินให้ดีดขึ้นมาได้ ในจังหวะที่อารมณ์เรากำลังดิ่ง วิตกกังวล เครียด

เมื่อกินของหวานเข้าไปแล้ว เราจะรู้สึกสดชื่น แต่เพราะน้ำตาลในของหวานเหล่านี้เป็นน้ำตาลที่ดูดซึมไว แบบมาเร็วเคลมเร็ว เราจึงรู้สึกดีอยู่ได้แป๊บเดียว

แต่ถามว่ามันผิดมั้ยที่กินแบบนี้ คำตอบคือ ก็ไม่เชิง เพราะมันเป็นปฏิกิริยาทางธรรมชาติที่เราตอบสนองต่อความเครียด (อาหารพวกนี้เลยถือเป็นคอมฟอร์ตฟู้ด-หรืออาหารที่กินแล้วอารมณ์ดีนั่นเอง) ยิ่งมาประกอบกับความเอื่อยเฉื่อยไม่อยากออกกำลังเข้าไปด้วยแล้ว น้ำหนักก็เลยขึ้นแบบต้านทานไม่อยู่

ส่วนในกรณีน้ำหนักลง ผู้เขียนบทความนี้ก็อธิบายต่อด้วยว่า เนื่องมาจากสมองของเราส่งสัญญาณไปที่ทางเดินอาหารผ่านใยประสาท vagus nerve ซึ่งเป็นใยประสาทที่เชื่อมต่อกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ตั้งแต่ปอด ไปจนถึงกระเพาะ ลำไส้ โน่น ดังนั้นเมื่อเราเครียด ร่างกายจะส่งสัญญาณผ่านเจ้า vagus nerve และทำให้ระบบการย่อยของเราค่อยๆ ทำงานช้าลง ในที่สุดเราก็จะรู้สึกอิ่ม ไม่ค่อยอยากกินอะไร และแน่นอนว่า หลายคนประสบชะตากรรมเดียวกันนี้ เพราะในช่วงเกิดโรคระบาด ทุกคนต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ต้องทำงานแบบ work from home บางคนต้องประชุมทั้งวัน บางคนก็ต้องเรียนตั้งแต่เช้าถึงเย็น ทำให้เกิดความเครียดสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว ยิ่งออกไปข้างนอกไม่ได้ก็ต้องสั่งอาหารมากินกันแบบจัดเต็ม ซึ่งก็คืออาหารที่ตอบสนองสัญชาตญาณการเอาตัวรอดจากความเครียด เช่น ของหวาน อย่างที่บอกไปนั่นเอง

ทั้งหมดนี้ คือคำอธิบายว่า ความเครียดส่งผลกับน้ำหนักตัวของพวกเรายังไงบ้าง แต่ขณะเดียวกัน ก็มีข้อมูลจาก Harvard Health Publishing แหล่งข้อมูลด้านสุขภาพที่อยู่ภายใต้สังกัดของ Harvard Medical School หรือคณะแพทยศาสตร์ ที่นำเสนอประเด็นว่า

อาการเครียดแล้วกินจนกระทั่งน้ำหนักพุ่งนี่ มักจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

เพราะเวลาเครียด ผู้หญิงจะหันหาอาหารก่อน ในขณะที่ผู้ชายจะเลือกสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้ามากกว่า นอกจากนั้น ยังมีผลการวิจัยจากฟินแลนด์อีกชิ้นที่มาสนับสนุนประเด็นนี้ โดยบอกว่า จากการสำรวจคนกว่า 5,000 คน ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน พบว่ามันเกี่ยวข้องกับอาการเครียดแล้วกิน ซึ่งมีในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายด้วย

ว่าแล้ว เขาก็เลยนำเสนอแนวคิดว่า เราสามารถบรรเทาเบาบางความเครียดทั้งหลายได้ โดยไม่ต้องกินมากเกินไป ด้วยวิธีการดังนี้

1. นั่งสมาธิ เพราะมีผลที่เห็นได้ชัดเจนว่าการนั่งสมาธิ ทำให้ลดความเครียด ลดความดันโลหิตสูงและลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้ ที่สำคัญ เมื่อนั่งสมาธิแก่กล้าแล้ว เราจะมีสติในการเลือกอาหารกินด้วย

2. เน้นการออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้สบายใจ ไม่เครียด เขาแนะนำไทชิ กับโยคะ เพราะเป็นการออกกำลังที่มีส่วนผสมของการทำสมาธิร่วมด้วย

3. การมีกลุ่มคนคอยให้กำลังใจและสนับสนุน (social support) เรื่องนี้เขายกตัวอย่างเลยว่า ในกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเครียด เช่น แผนกห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล เป็นกลุ่มที่ ถ้ามีคนคอยให้คำปรึกษาหารือ สนับสนุน พวกเขาก็จะมีสุขภาพจิตที่ดี ขณะเดียวกัน คนที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เครียดและกดดัน ก็จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ หรือการสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อนฝูงอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อสุขภาพจิตที่ดีต่อไป

ข้อมูลเหล่านี้ ตีพิมพ์ออกมาให้อ่านกันในช่วงเดือนที่ผ่านมา เพราะชาวอเมริกันน่าจะเผชิญกับอาการ เครียดแล้วกิน กินแล้วก็มาเครียด หนักหนาเอาการอยู่ และที่เราเลือกมานำเสนอในเวลานี้เพราะถ้าใช้ชีวิตไม่ระวัง เราก็อาจตกอยู่ในภาวะเดียวกัน วนไปวนมาไม่รู้จบแบบเขาก็ได้

ทำความเข้าใจความเครียด เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มาไว้ใกล้มือเสมอ และอย่าลืมออกกำลังกายด้วย เพื่อให้เราผ่านช่วงเวลาวิกฤตไปด้วยสุขภาพกายและใจที่แข็งแกร่งกว่าที่เคย

ที่มาข้อมูล
www.theconversation.com
www.health.harvard.edu

เครดิตภาพ: 123rf