การพบกันของ ธี-ธีรพจน์ เมฆเอี่ยมนภา และ มิ้ม-อธิพาพร เหลืองอ่อน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และการที่ธีและมิ้ม ได้เข้ามารับช่วงดูแลธุรกิจบริการจัดเลี้ยงที่ชื่อ ‘เคี้ยวเขียว’ ที่ป้าหน่อย (พอทิพย์ เพชรโปรี) ได้ริเริ่มเอาไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเช่นเดียวกัน เพราะความวางใจนี้มีที่มาจากการเห็นความตั้งใจดีของสองหนุ่มสาว ที่อยากจะเห็นความยั่งยืนของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต้องมีรากฐานมั่นคงในฐานะของผู้ผลิต และมีปลายทางของวัตถุดิบอยู่ที่ห้องครัวสักแห่ง ไปจนถึงหลายๆ แห่ง เพื่อสร้างสังคมของการ ‘กินดี’ และดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีไปพร้อมๆ กัน

“เริ่มแรกนั้นป้าหน่อยวางไว้ว่า เคี้ยวเขียว…Green Catering คือการบริการจัดเลี้ยง ที่ไม่ใช่การจัดเลี้ยง แต่เป็นพื้นที่ที่คนเขาให้โอกาสเราไปพูดเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เราทำอยู่ เราจึงเป็นบริการรับจัดเลี้ยงที่คำนึงถึงสุขภาพของลูกค้า คุณภาพชีวิตของเกษตรกรอินทรีย์ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ธรรมชาติที่ย่อยสลายหรือนำกลับมาใช้ซ้ำได้”

ธีเล่าให้เราฟังในวันที่เราไปเยือนเขาที่สวนผักคนเมือง ไทรม้า สวนผักที่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญของเคี้ยวเขียว ที่พืชผักนานาชนิด ดอกไม้กินได้ ไปจนถึงไข่ไก่ จะถูกส่งเข้าครัวของเคี้ยวเขียวเพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารสำหรับงานจัดเลี้ยงต่างๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้นับวันก็ยิ่งชุกและถี่ขึ้นกว่าเดิม ด้วยความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของคนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และขยายวงไปไกลกว่าเดิมด้วย

เคี้ยวเขียวอยู่ในเครือข่ายของ Greenery. และเคยทำงานร่วมกันมา ครั้งนี้เราขอเชิญเขามาเป็นแขกเยี่ยมคอลัมน์ เพื่อพูดถึงเรื่องราวของ เคี้ยวเขียว…Green Catering ธุรกิจจัดเลี้ยงที่ไปไกลกว่าเรื่องราวของอาหารการกรีน

แปลงผักและห้องครัวของเคี้ยวเขียว

ที่สวนผักคนเมือง ไทรม้า ธีและมิ้มเพิ่งวางมือจากงานที่วันนี้ลูกค้าของทั้งคู่คือเด็กๆ และผู้ปกครองที่มาทำกิจกรรม ‘ปลูกผัก ดูไก่ กินไข่ ชมสวน’ ทุกคนในงานถือใบเล็บครุฑลังกาไว้ในมือแทนภาชนะ และคีบเอาขนมฟังทองเนื้อหนึบหนับ กับวุ้นผลไม้ประคองใส่กระทงใบไม้ เป็นอีกวันที่พวกเขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ ว่าเราสามารถประยุกต์ใช้วัสดุจากธรรมชาติได้โดยไม่ต้องสร้างขยะ และเป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารที่เคี้ยวเขียวสอดแทรกเข้าไปในการจัดเลี้ยงที่เขาทำหน้าที่ให้บริการ

“ความสนุกคือเคี้ยวเขียวไม่ใช่ธุรกิจใหญ่ มันเลยทำให้เรามีความกล้าที่จะทดลองทำบางอย่าง เช่น เรื่องบรรจุภัณฑ์ เราสนใจเรื่อง zero waste เพื่อลดการสร้างขยะ บวกกับกระแสเรื่องพลาสติกที่ผู้บริโภคกำลังสนใจ ก็เลยตอบโจทย์กันพอดี แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ทิ้งเกษตรอินทรีย์ และเลือกสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะข้าวที่เราใช้ต้องเป็นข้าวอินทรีย์ แต่ต้องยอมรับว่าบางอย่างก็มีข้อจำกัด เราจึงต้องมีความยืดหยุ่นในการจัดเลี้ยง แต่ก็พยายามนำเสนอออกไปในทิศทางที่พอจะเป็นไปได้ให้มากที่สุด”

ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกโดยเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ คือวัตถุดิบหลักในการจัดเลี้ยงทุกครั้ง เช่นเดียวกับวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีทั้งของเครือข่ายและพืชผักที่ปลูกในแปลงสวนผักคนเมือง ซึ่งผลผลิตจากสวนผักนี้ เมื่อเข้าสู่ห้องครัวและมีส่วนที่กลายเป็นขยะ ก็จะกลับเข้ามาสู่ดินเดิมเพราะธีจะนำขยะจากเศษอาหารกลับมาหมักเป็นปุ๋ยใช้ในแปลง

ถึงตอนนี้เป็นเวลาสามปีแล้ว ที่ธีกับมิ้มเข้ามาขับเคลื่อนเคี้ยวเขียวต่อจากป้าหน่อยที่ถอยตัวเองไปทำงานภาคสังคมมากขึ้น แต่แม้จะเปลี่ยนมือมาสู่คนรุ่นใหม่ ปณิธานเดิมนั้นก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

“เคี้ยวเขียวเกิดจากแนวคิดที่ต้องการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ แต่วันนี้ก็ถูกแต่งเติมด้วยผู้บริโภคด้วย แนวทางคือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ”

“แต่หลักที่เรายึดไว้ก็เป็นหลักที่ป้าหน่อยเคยตั้งเอาไว้ว่าเมื่อไรที่มีคนเรียกเราไป แสดงว่าเรามีโอกาสได้สื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม”

“เราใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ ในแง่บรรจุภัณฑ์เราลดใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง เราใส่ใจเรื่องคัดแยกเศษอาหาร ผมว่าเคี้ยวเขียวเป็นธุรกิจจัดเลี้ยงแค่ไม่กี่เจ้าในประเทศ ที่ชวนผู้บริโภคแยกอาหารเอง ซึ่งผู้จัดงานก็ต้องเข้าใจในแนวทางของเราด้วย”

แคเทอริ่งสายกรีนที่คลีนเรื่องขยะด้วย

ทุกครั้งที่ออกไปทำงานจัดเลี้ยง สเตชั่นอาหารของเคี้ยวเขียว คือการสื่อสารเรื่องอาหารปลอดภัยที่ตั้งโต๊ะรอในภาชนะใช้ซ้ำ ถาดอาหารอะลูมิเนียมคือภาชนะหลักที่เขาใช้ หากมีข้อจำกัดในการจัดงานที่ถาดอาหารไม่ตอบโจทย์ ภาชนะและบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติอย่างจานกาบหมากท่าดีหมี จานใบไม้จากแม่แจ่ม กระทงใบตองกลัดด้วยก้านมะพร้าว หรือกระจาดสาน ชะลอมสาน คือวัสดุที่ได้รับเลือกให้เข้ามาอยู่ในงานนี้

“ด้วยพื้นเดิมลูกค้าเข้าใจเรามาเกินครึ่งแล้ว พอได้มาคุยกันเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุนเรา ผมนิยามตัวเองว่าเราทำออร์แกไนซ์ให้กับออร์แกไนเซอร์อีกที เพราะลูกค้าเราก็เป็นผู้จัดงานเหมือนกัน เพียงแต่เขาจะรู้สึกอุ่นใจเมื่อเขามีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามา เมื่อเขายกหูหาเรา ไม่ต้องคุยอะไรมาก หลอดไม่มีนะ พลาสติกอย่ามานะ แต่เราเองก็ต้องพัฒนาและเรียนรู้ไปพร้อมกัน อย่างล่าสุดงานที่เราไปจัด มีเครื่องดื่มอย่างนม น้ำผลไม้ ที่ยังจำเป็นต้องมีหลอด สิ่งที่เราทำก็คือเรียกกลับคืนจากสิ่งที่เราสร้างไว้ ผู้เข้าร่วมงานกินเสร็จ ขอให้เอากลับมาที่สเตชั่น  เรานำกล่องและหลอดกลับมาจัดการเอง

“เวลาเราไปจัดงาน เราจะมี Zero Waste Station ซึ่งมีช่องสามช่องเอาไว้แยกเศษอาหาร จานกาบหมาก แล้วก็เทน้ำ มีจุดคืนภาชนะ และตรงนั้นจะมีจุดให้ความรู้เรื่องการแยกขยะต่างๆ ด้วย หรือบางงานผู้บริโภคมีทิศทางที่เขาอยากให้เป็น เราก็เป็นตัวกลางในการนำเสนอให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด บางอย่างผมก็เรียนรู้มาจาก Greenery. นะ อย่างถ้าจำเป็นต้องใช้ คุณก็ต้องบอกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำด้วยเช่นเรื่องพลาสติกถ้าเราจำเป็นต้องใช้ เราก็ต้องรู้ว่าเราจะไปไหนต่อ อย่างกล่องน้ำผลไม้เราส่งทำหลังคาเขียวได้ หลอดเราส่งไปไหนได้”

เพราะคำว่าขยะนั้นไม่ได้มีแต่ขยะพลาสติกที่เขาลดใช้ แต่รวมถึงขยะจากเศษอาหารด้วย การจัดการของเคี้ยวเขียวจึงออกแบบให้เกิดขยะน้อยที่สุดตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการให้มี ‘จานแบ่งปัน’ ที่ทุกคนร่วมกันปันและแบ่งได้

“เรามีจัดเป็นทั้งบุฟเฟ่ต์เพราะจะเหลือเศษอาหารน้อยที่สุด และมีจัดเป็นชุด จานแบ่งปันเกิดจากงานหนึ่งเราทำจัดเลี้ยงที่ออฟฟิศ จัดอาหารเป็นชุด แล้วจัดแบบนี้ผู้ชายกินหมด ผู้หญิงกินไม่หมดเพราะปริมาณจะเท่ากันกับของผู้ชาย แล้ววันนั้นพอผู้หญิงเห็นเมนูผัดไทย ก็รีบไปเอาจานเปล่ามาตักแบ่งเส้นออก เพราะเขารู้ตัวว่ากินไม่หมด ผู้ชายก็บอกมาเลย เดี๋ยวจัดการให้ จุดนั้นเลยทำให้ผมปิ๊งไอเดียทำป้ายจานแบ่งปันขึ้นมา กินไม่หมดแบ่งได้ แล้วมีวันหนึ่งไปจัดงานที่จุฬาฯ เราก็เลยนำเรื่องนี้มาเล่า”

“เรารู้สึกภูมิใจเล็กๆ นะ กับการได้จัดมื้ออาหารแล้วมีการชวนคิดในมุมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม”

“จานแบ่งปันนี่ พอแบ่งแล้ว พันธมิตรที่สำคัญของเราก็คือ แม่บ้าน รปภ. คือพอเราจัดแบบนี้ไปส่วนใหญ่ก็จะกินไม่หมด เพราะเราจะต้องทำเผื่ออยู่แล้ว เขาก็จะแบ่งเอาไว้  ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของกลุ่มคน กับการประชาสัมพันธ์ของเราหน้างานด้วย ว่าเราจะจูงใจพวกเขาได้ขนาดไหน การมีจานแบ่งปันมันทำให้อาหารที่เหลือไม่กลายเป็นเศษอาหาร เราจะพยายามพูดกับเขาว่าถ้าพิจารณาก่อนทาน เศษอาหารก็จะกลายเป็นแค่อาหารส่วนเกินที่สามารถนำไปทานต่อได้ แต่หลังจากทานแล้ว มีเศษที่เหลือในจาน เราก็จะเอาถังไปเก็บ เอากลับมาที่ร้านเรา เรามีขี้วัว ปุ๋ยคอก ก็นำมาผสมหมักต่อ แล้วเอามาใช้ในแปลงที่สวนผักคนเมือง ต้องบอกว่าสวนผักคนเมืองเป็นเหมือนแบ็กอัพของเคี้ยวเขียว เพราะทั้งดอกไม้ ผักบางส่วน การจัดการเศษอาหาร เราใช้ที่นี่เป็นสถานที่ในการจัดการ”

ครัว บ้าน และสังคม เริ่มต้นที่อาหาร

ต่อให้เคี้ยวเขียวชูประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ แต่การที่จะทำให้ตัวเองยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืนเพื่อสื่อสารสิ่งที่อยากส่งต่อออกไปได้ ธุรกิจก็ต้องอยู่ได้ด้วย และกว่าสิบปีของเคี้ยวเขียวที่ธีและมิ้มเข้ามาเป็นกัปตันขับเคลื่อนในสามปีหลังนี้ ก็พิสูจน์ตัวเองได้ด้วยงานจัดเลี้ยงที่ได้รับการติดต่อเข้ามาไม่ขาด ไม่ว่าจะทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ที่ต้องบอกว่าการใช้บริการจัดเลี้ยงที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น นับเป็นสัญญาณที่ดีว่าสังคมได้ตระหนักในเรื่องเดียวกัน

“เมื่อลูกค้าติดต่อเข้ามา สิ่งสำคัญสุดคือเราต้องพยายามเก็บรายละเอียดให้ได้มากที่สุด งานนี้เด็กหรือผู้ใหญ่ เช้าหรือเย็น ธีมงานคืออะไร จากนั้นก็มาครีเอตให้ลูกค้าผ่านรูปแบบต่างๆ ลูกค้าที่มาแล้วเกิดสนใจชะลอมสาน จานกาบหมาก เครือข่ายผักอินทรีย์ เราก็จะให้คอนแท็กต์ติดต่อเลย คือเคี้ยวเขียวไม่ได้มองแค่ว่าตัวเองเป็นธุรกิจ แต่เราสนุกกับการที่เราจะได้แบ่งปันเรื่องราวต่างๆ มีคนอยากซื้อของ บ้านอยู่แถวไหนครับ ถ้าบ้านอยู่พระราม 9 เราก็จะแนะนำไปฐานธรรมของธรรมธุรกิจ”

“เหมือนกับที่ผมบอกเสมอว่าผมปลูกผักไม่เก่ง แต่ผมรู้ว่าใครปลูกเก่ง เราอาจไม่ใช่คนจัดการเศษขยะที่เก่ง แต่เราพอที่จะแนะนำเรื่องราวที่เรารู้ได้ นั่นคือสิ่งที่เคี้ยวเขียวพยายามทำ”

หลังจากคิดธีมงานเสร็จ ก็ลงมาที่รายละเอียดเรื่องครัว เคี้ยวเขียวไม่ได้ทำครัวเอง แต่มีครัวซึ่งเป็นพันธมิตรกัน โดยมีกฎที่ยืดหยุ่นไม่ได้คือ ไม่ใส่ผงชูรส ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่ใส่น้ำมันหอย

“เคี้ยวเขียวก็พยายามร่วมมือกับเครือข่าย นอกจากข้าวอินทรีย์ก็จะมีร้านปลาออร์แกนิก ที่ทำเรื่องของประมง เราก็พยายามคุยกับเขาว่ามีเมนูไหนบ้างที่เราพอจะมาร่วมกันได้”

ส่วนเรื่องเมนูนั้น มิ้มช่วยเสริมว่า “เราจะมีเซ็ตเมนูหลัก ซึ่งก็แล้วแต่งาน เช่น ลูกค้าจัดบุฟเฟ่ต์ เราก็จะมีรายการอาหารบุฟเฟ่ต์ให้เขาเลือก แต่ถ้าลูกค้าห่อใบตอง เราก็จะมีอีกเซ็ตเมนูหนึ่ง เหมือนเปิดแคตาล็อก แล้วเลือกเซ็ตว่าจะเลือกอาหารอะไรได้บ้าง เลือกขนมได้กี่อย่าง เพื่อไม่ให้เกินการจัดการที่จะยากเกินไป จากนั้นเราก็จะมาดูว่าอาหารที่ลูกค้าเลือกในฤดูกาลนั้นเราใช้อะไรได้ เช่น ถ้าเลือกแกงเขียวหวาน แต่ฤดูนี้เป็นฤดูฝน มีหน่อไม้เยอะ เราก็จะใส่หน่อไม้ โดยใช้หน่อไม้จากเครือข่าย ช่วงนี้มีดอกไม้เยอะ เราก็มีเมนูที่ใช้ดอกไม้”

“หรืออย่างเรื่องข้าวเหนียวมะม่วง ที่เราเลือกให้มีแค่ช่วงต้นปี ทั้งที่มันก็มีมะม่วงนอกฤดูกาล แต่เราก็สื่อสารตรงๆ ว่า เราอยากสนับสนุนให้กินอาหารตามฤดูกาล ลูกค้าก็ยินดีนะ เราก็แนะนำว่าควรเป็นอะไร มันมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้กับการทำธุรกิจอยู่ตลอด ตอนแรกๆ เราทำแล้วอาหารเหลือ คนทำก็รู้สึกเฟล เราเลยคิดหาทางกันว่าทำยังไงให้อาหารมันพอดี แต่พอเราทำธุรกิจมาเรื่อย ก็ได้รู้ว่า ในความพอดีสำหรับคนจัดงานคือมันต้องเหลือนะ มันพอดีไม่ได้ เพราะถ้าพอดีแสดงว่ามันเสี่ยงที่จะขาด เราถึงได้สร้างเครื่องมือต่างๆ ขึ้นมา” ธีเล่าต่อ

“เราก็ต้องคุยกับลูกค้าเยอะหน่อย เช่นบางทีวัตถุดิบหาไม่ได้เลย ก็จะต้องขอปรับเมนู ซึ่งเขาอาจไม่ค่อยปลื้ม หรือพอทานของเราแล้วอาจต้องทำความเข้าใจกับรสชาติที่รสเราอาจจะเบา เพราะเราไม่ใส่ผงชูรสหรือผงปรุงต่างๆ แล้วเขาอาจจะติดกับรสชาติที่คุ้นเคยมา แต่มิ้มก็จะทำการบ้านกับครัว เพราะบางทีพอเป็นข้าวกล้องเกษตรอินทรีย์ก็อาจจะหุงยากหน่อย เจอปัญหาหลายอย่างบ้าง เช่นมอดหรือเก็บรักษายาก ซึ่งเราก็เปลี่ยนข้าวมาหลายเครือข่ายเหมือนกัน หรืออย่างการที่จะมาใช้ผักไม่สวย แล้วคนครัวก็จะชินกับการเลือกส่วนที่ไม่สวยทิ้ง เราก็ต้องทำความเข้าใจกับความไม่สวย ให้คนทำครัวเข้าใจด้วยเหมือนกัน”

แม้จะมีกฎเหล็กที่ไม่ยืดหยุ่นต่อผงปรุงรส แต่ในทางกลับกันเคี้ยวเขียวก็มีเสน่ห์ในความยืดหยุ่นที่เขามี พันธมิตรทางห้องครัวของเขาจึงกว้างกว่าเดิม ร้านไหนที่มีเมนูเด็ดอย่างข้าวเกรียบปากหม้อหรือขนมจีบ เขาก็ชวนมาร่วมงานด้วยกันโดยควบคุมเรื่องวัตถุดิบให้ปลอดภัยตามมาตรฐานของเคี้ยวเขียว

“มิ้มเน้นคุณภาพ เราดูเรื่องครัวเอง เราจะเห็นว่าครัวของเราเขาทำอะไร เช่น เขาใช้กระเทียมกลีบเล็กเพราะถ้าเป็นกลับใหญ่ๆ จะไม่หอม ก็จะมีคุณลุงนั่งปอกกระเทียมกลีบเล็กๆ จะใช้กะปิเราก็เอามาย่างกับเตาถ่าน หรือเห็ดต้มยังไงไม่ให้เสีย เขาก็เอาไปผึ่งให้แห้งก่อน จะทำข้าวผัดก็ต้องหุงข้าวก่อนแล้วน็อกน้ำเย็น คลุกด้วยเกลือก่อนนิดหนึ่งค่อยมาผัด เป็นเทคนิคโบราณมาก”

ธีบอกว่าครัวหลักของเคี้ยวเขียว ยังคงเป็นครัว Health Me ของป้าหน่อย และครัว 3 อ. ที่ผูกปิ่นโตกันมา แต่การได้กระจายครัวพันธมิตรออกไป ก็เท่ากับว่าได้สร้างครัวสีเขียวเพิ่มขึ้น

“ความตั้งใจของเราคืออยากสร้างครัวแบบนี้ไว้เยอะๆ ผมว่าสังคมก็คือบ้าน แล้วถ้าบ้านมีครัวดีๆ ก็คือสังคมที่ดี “

“พูดง่ายๆ ว่าเราอยากกินผักไม่มีสารพิษ เราก็ทำให้ผักไม่มีสารพิษมีคนปลูกเยอะๆ วันหนึ่งก็จะกลายเป็นอะไรที่เราไม่ต้องมานั่งคัด เพราะทุกคนก็ทำเหมือนกันเป็นมาตรฐาน นี่คือเป้าหมายของเรา แล้วไม่ใช่เขาต้องมาทำตามแนวคิดเรา เขาทำเองได้เลย แล้วเอามาขายให้เรา แต่เราต้องสกรีนสิ่งที่ดีที่สุดเช่นเดียวกัน ทุกอย่างมีดีเทลของมัน เราไม่ได้เก่ง ทุกอย่างคือประสบการณ์ อะไรที่เราพลาด เราเก็บเป็นบทเรียนของเรา

“เคี้ยวเขียวเป็นธุรกิจจัดเลี้ยงเพื่อคุณ เพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยธรรมชาติที่ถูกปลูกฝังจากป้าหน่อยด้วย เลยทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจเป็นอันดับแรก แต่อันดับแรกของเราคือคุณค่าที่เราจะมอบให้สังคมได้ ส่วนกำไรจะทำให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืน บางงานเราแทบจะไม่ได้กำไร แต่ก็ยังเลือกที่จะทำก็มี มันไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่างานนี้เราจะได้เท่าไร แล้วเราถึงจะทำ แต่ถ้ารู้สึกว่าเราทำได้ไหม ถ้าทำได้แล้วได้ประโยชน์ทำไปเลย”

“มิ้มคุยกับพี่ธีเสมอว่า เวลาล้ม เราไม่ได้ล้มแค่เรา เรามีเครือข่าย มีพี่ป้าน้าอา ที่ทำขนมให้เรา ทิศทางในอนาคตของเคี้ยวเขียว เราก็อยากให้มันเติบโต อยากที่จะดูแลผู้คนให้ได้เยอะๆ อยากส่งต่อความคิดดีๆ และคิดว่าถ้าธุรกิจเรามันมั่นคงขยายได้ เราคงได้ช่วยเหลือ ดูแลเครือข่าย ทั้งฝั่งครัว ฝั่งวัตถุดิบ ทำให้มีคนปลูกแบบอินทรีย์ แล้วถ้าปลูกกันมากขึ้นราคาต้องลดลงแน่ เราก็จะมีโอกาสได้กินของดีๆ มากขึ้น มิ้นคิดว่าในร่มไม้ที่เรามีอยู่”

“สมมติเคี้ยวเขียวเป็นต้นไม้ ก็น่าจะเป็นต้นไม้ที่เป็นที่พักพิงของผู้คน ที่อยากจะลองปรับวิถี มาทำเรื่องแบบนี้ ก็เข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน”

ส่วนธีเองมองเป้าหมายในเชิงธุรกิจในอนาคตเอาไว้ว่า “อย่างแรกคือการพัฒนาตัวเอง และอยากได้ตัวเลขที่ชัดขึ้น แต่เราไม่ได้มองตัวเลขที่เป็นยอดขาย เราอยากได้ตัวเลขที่บอกว่าเราช่วยลดเศษอาหารได้เท่าไร แล้วตีเลขออกมาเป็นมูลค่าว่าเท่าไร เราลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้เท่าไร เพื่อที่จะส่งต่อแนวคิดของ Green Catering ให้เกิดเป็นรูปธรรม”

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร