ใกล้สิ้นปีแล้ว แน่นอนว่าหลายคนคงมีแพลนไปเที่ยววันหยุดยาว หรือหาที่ไปฉลองวันขึ้นปีใหม่กัน ซึ่งทุกๆ ปีการจัดงานฉลองปีใหม่จะขาดการแสดงพลุอลังการหลังการนับถอยหลังเคาต์ดาวน์ไปไม่ได้เลย ถือเป็นช่วงเวลาสุดพิเศษที่ทุกคนเฝ้ารอดูพลุยิงขึ้นเปรี้ยงปร้างสวยงามบนท้องฟ้ารับวันขึ้นปีใหม่

ที่มาของการจุดพลุเฉลิมฉลองนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่วันงานอิสรภาพ (Independence Day) ในปี 1777 ที่สหรัฐอเมริกา ได้มีการแสดงพลุแบบยิ่งใหญ่ตระการตา และตั้งแต่นั้นก็ดูเหมือนเป็นธรรมเนียมที่ขาดไม่ได้ไปซะแล้วในงานเฟสติวัลและงานฉลองใหญ่ๆ ประจำปีต่างๆ ยิ่งช่วงสิ้นปีในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ทุกๆ ประเทศก็จะมีถ่ายทอดสดการแสดงพลุที่ตระการตาหลังเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคม บางเมืองท่องเที่ยวสำคัญก็จะถือเป็นอีเวนต์ที่ใหญ่มากของเมือง มีผู้คนเดินทางมาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อมารอชมเจ้าพลุสิ้นปีนี้

แต่ถึงเราๆ จะรู้กันดีว่ายิ่งจุดพลุมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่างานเฟสติวัลที่สวยงาม ทำให้ผู้คนมีความสุข และทำรายได้ให้แก่เมือง แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม และห้างสรรพสินค้ามหาศาล แล้วอย่างนี้จะยกเลิกไปง่ายๆ ได้อย่างไร

แต่จะดีกว่ามั้ยถ้าหากเราสามารถลดผลกระทบของมันลงได้ไม่มากก็น้อย

มาดูกันก่อนว่าทำไมพลุถึงเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (และอันตรายต่อตัวเราด้วย)

1. พลุนั้นประกอบไปด้วยแรงที่ใช้ยิงออกไป ซึ่งมีส่วนประกอบ 3 อย่าง คือ ตัวออกซิไดเซอร์ (โพแทสเซียม) เชื้อเพลิง (คาร์บอน) และสารเร่ง (กำมะถัน) สารออกซิไดเซอร์เปอร์คลอเรตเพื่อช่วยในการเผาไหม้ รวมทั้งสารยึดเกาะเพื่อให้สีและสารเคมีเคลื่อนที่ได้ ซึ่งในทุกๆ 270 กรัมของผงกำมะถันที่ใช้ จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 132 กรัมปล่อยออกมา ส่วนสารอื่นๆ ที่เหลือจะเปลี่ยนเป็นพวกโพแทสเซียมซัลไฟด์และไนโตรเจน

2. เมื่อจุดไฟ พลุก็จะแตกออก แต่ในความสวยงามมากนั้นก็ปล่อยควันออกมาจำนวนมากเช่นกัน สารเปอร์คลอเรตที่ไม่ได้ใช้และสารที่เหลือหลังจากปฏิกิริยาของโลหะก็คือสิ่งปนเปื้อน

เมื่อสารเคมีถูกปล่อยออกจากพลุ นอกจากทำให้เกิดประกายไฟสวยงามแล้ว ยังปล่อยก๊าซโอโซนชนิดไม่ดี ซึ่งเป็นโอโซนที่มาจากการเผาไหม้ ควันไฟ ท่อไอเสีย ออกมาด้วย

3. พลุจึงก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศขึ้นในระยะเวลาอันสั้น แต่ทิ้งอนุภาคโลหะ สารพิษ สารเคมีอันตราย และควันในอากาศเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังจากนั้น

4. เสียง ควัน กลิ่น รวมทั้งแสงไฟจากพลุที่จุด รบกวนและทำอันตรายต่อสัตว์ที่อยู่อาศัยบริเวณโดยรอบ นึกถึงเวลาที่เรามีงานรื่นเริงใกล้ๆ เขตอุทยาน หรือการจุดพลุริมชายหาด สะเก็ดไฟจากพลุยังมีโอกาสตกลงโดนสัตว์ด้วย

5. สารประกอบที่ใช้ในการสร้างสีสันและเอฟเฟ็กต์ของพลุ อาจมีโลหะหนักหรือสารพิษอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนลงสู่น้ำและดินเพิ่มขึ้นจากที่มีการปนเปื้อนจากอุตสาหกรรมหลักๆ อยู่แล้ว

6. เมื่อพลุระเบิดในอากาศ พลาสติก กระดาษแข็ง และส่วนประกอบอื่นๆ จะถูกปล่อยออกและตกพื้นกลับลงมา ซึ่งเศษเล็กๆ จากพลุจำนวนมากเหล่านี้แทบจะไม่สามารถย่อยสลายได้ กลายเป็นเศษขยะในน้ำและบนพื้นดิน และอาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์น้ำ สัตว์บกในเวลาต่อมา

แล้วพลุแบบ Eco-Friendly หรือพลุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี่มันมีจริงๆ เหรอ?

คำตอบจริงๆ เลยก็คือ ‘ไม่มี’ เพราะการยิงสิ่งของขึ้นไปบนอากาศเพื่อให้ระเบิดออกมานั้น ยังไงๆ ก็ไม่สามารถดีต่อสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ ด้วยวิธีการทำงานของพลุก็คือการเผาไหม้สารต่างๆ อย่างที่บอกไป เพื่อทำให้มีสีสันออกมา แต่ทีนี้ก็ยังมีวิธีที่สามารถ ‘ลด’ ผลกระทบเหล่านั้นได้บ้าง เพื่อที่เราจะได้ฉลองกันอย่างมีความรับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น

 

ใช้แรงดันลม ลดการเผาไหม้

บริษัทดิสนีย์ ซึ่งเป็นลูกค้าในการซื้อพลุเจ้าใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ได้ขยับเข้ามาเป็นเจ้าใหญ่ในการเปลี่ยนมาใช้พลุแบบรักษ์โลก ซึ่งหนึ่งในวิธีการทำให้พลุเป็นมิตรมากขึ้นก็คือ เปลี่ยนจากการยิงพลุขึ้นฟ้าโดยใช้แรงปืนเป็นใช้แรงดันลม (air compressor launch) ซึ่งจะใช้การเผาไหม้น้อยลงและยังใช้วัสดุอื่นๆ น้อยลงด้วย ทางดิสนีย์ได้ประสานงานกับ Los Alamos National Laboratory เพื่อผลิตพลุที่ใช้สารพิษน้อยลง จึงทำให้เกิดบริษัท DMD ขึ้น เพื่อวิจัยและผลิตพลุที่ปล่อยควันน้อยและไม่มีสารเปอร์คลอเรต สามารถปล่อยขึ้นได้แม้กระทั่งอยู่ภายในอาคาร

นักลงทุนรายใหญ่อีกรายที่คิดค้นเทคโนโลยีสะอาดใหม่ๆ ให้กับพลุก็คือกองทัพสหรัฐฯ เนื่องจากพวกเขากำลังมองหาเทคโนโลยีอาวุธยุทโธปกรณ์แบบรักษ์โลก!

ประมาณว่าถ้าในอนาคตจะต้องมีสงคราม อย่างน้อยเทคโนโลยีที่ใช้ก็ยังเป็นแนวกรีน ทำลายล้างคู่ต่อสู้ แต่ก็ยังรักษ์โลกนะ ซึ่งก็ดีที่เทคโนโลยีที่ว่านี้ยังไม่ต้องไปใช้ในสงคราม และได้นำมาประยุกต์ใช้กับการยิงพลุให้ประชาชนได้ชื่นชมแทน

เลือกใช้สีที่ไม่เป็นอันตราย และเปลี่ยนมาใช้แสงเลเซอร์

การใช้วัสดุของพลุที่รีไซเคิลได้ ควบคู่ไปกับการวางแผนการจุดแสดงพลุอย่างรอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่าพลุทั้งหมดที่จุดไปแล้วนั้นจะสามารถตามเก็บได้ง่าย เศษพลาสติกขนาดเล็กหรือไมโครพลาสติกจากพลุที่ตกลงสู่น้ำและดินจะเป็นอันตรายต่อสัตว์มากหากกินเข้าไป ไปจนถึงการเลือกสีของพลุที่มีสารพิษน้อยในการใช้แสดง ยกตัวอย่างเช่น สีเขียวของพลุนั้นผลิตมาจากสารแบเรียมซึ่งเป็นหนึ่งในสารที่มีพิษมากที่สุด ดังนั้นเราสามารถหลีกเลี่ยงโดยใช้สีอื่นๆ แทน อย่างสีแดง สีน้ำเงิน หรือสีขาว ซึ่งเป็นสีตั้งต้นที่มีสารเคมีอันตรายน้อยกว่า

หรือหากเราพร้อมที่จะจัดงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราสามารถยื่นคำร้องไปถึงผู้จัดงานหลัก เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม เมือง หรือชุมชน เพื่อสนับสนุนการแสดงแสงเลเซอร์แทนการจุดพลุ มีประชาชนและองค์กรหลายที่ทั่วโลกที่เห็นดีด้วยในเรื่องนี้ และเน้นไปที่การแสดงแสง สี เสียงดนตรี มากกว่าแสง สี เสียงจากพลุ อย่างที่กรุงลอนดอน ปี 2011 ก็ได้ประสบความสำเร็จมาแล้วกับการออกแบบโชว์โดยใช้แสงเลเซอร์กับจังหวะดนตรี

การแสดงแสง สี เสียง โดยปราศจากพลุ ที่ออกแบบมาอย่างดี ก็ให้ความรู้สึกตื่นเต้น ตระการตา ไม่แพ้พลุเลย แถมไม่มีมลพิษของเสียงกับกลิ่นด้วย

ที่เขตไคอามา (Kiama) เมืองซิดนีย์ ซึ่งมีอาณาบริเวณอยู่ใกล้ภูเขา ชุมชนได้วางแผนกับเมืองให้ใช้การแสดงแสงเลเซอร์ประกอบดนตรีเท่านั้น และเปลี่ยนเวลาแสดงเป็นสามทุ่มถึงสามทุ่มครึ่งแทนที่จะรอถึงเที่ยงคืน เพื่อลดการเบียดเบียนสัตว์ป่า หรือที่สิงคโปร์ได้มีการใช้โดรนบินฉายแสงเลเซอร์บนฟ้าเพื่อลดปริมาณการยิงพลุของจริงลง และในงานเคาต์ดาวน์เข้าปี 2020 ที่ผ่านมาของเซี่ยงไฮ้  ก็ได้ใช้โดรนบินแสดงแสงเลเซอร์โชว์ริมแม่น้ำเท่านั้นโดยไม่มีการจุดพลุ และเทคนิคการออกแบบของเทคโนโลยีสมัยก็ทำให้ได้โชว์ที่ออกมาดูสวยงามน่าประทับใจยิ่งกว่าการยิงพลุเสียอีก

หนึ่งงานใหญ่ย่อมดีกว่าหลายงานย่อย

แต่ก็เข้าใจได้ว่าวันสิ้นปีมีครั้งเดียวต่อปี บางทีเราก็อยากจะชมการแสดงพลุจริงๆ ในกรณีนี้ก็มีอีกหนึ่งทางคือการจัดกิจกรรมในชุมชน มีงานเดียวสำหรับคนทั้งเมืองจะดีกว่างานเล็กๆ หลายๆ งานกระจายไปทั่วเมือง เพราะสามารถดูแลจัดการได้ง่ายกว่า หากแต่ละบ้านจัดงานปาร์ตี้ ร้านอาหารต่างๆ ก็จัดงานและมียิงดอกไม้ไฟเล็กๆ เพิ่มความรื่นเริง ก็จะเป็นการสร้างขยะที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น

การไม่ปล่อยโคมลอยก็เป็นวิธีหนึ่งที่ดีมากในการลดผลกระทบ เพราะบางส่วนของโคมลอยใช้เวลานานกว่าหนึ่งปีในการย่อยสลายทางชีวภาพอย่างสมบูรณ์ ให้เราเลือกใช้โคมไฟแบบให้แสงคงที่ในการจุดกลางแจ้ง หรือจริงๆ แค่จุดเทียนก็เพียงพอ ก็จะช่วยลดภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าหากสัตว์เผลอกินโครงไม้หรือลวดเข้าไป หรือกรอบของโคมตกลงมาครอบใส่ตัวสัตว์

หากเราได้มีส่วนร่วมในการวางแผนฉลองวันปีใหม่กับชุมชนที่เราอยู่ ผลักดันให้เมืองลดการใช้พลุ เลือกใช้สิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น งานเฉลิมฉลองของเราจะเป็นงานคุณภาพ ที่ให้ทั้งความบันเทิงความปลอดภัยกับผู้คนและธรรมชาติได้อีกด้วย

ที่มาข้อมูล
www.countryliving.com
www.rustandfray.com
www.sciencefocus.com
www.techau.com.au

เครดิตภาพ: Shutter Stock, ภูษณิศา กมลนรเทพ