แม้ชีวิตของทุกคนจะเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน แต่คงมีไม่กี่คนที่ตั้งใจอย่างจริงจังที่จะประหยัดพลังงาน และมีเป้าหมายว่า สักครั้งหนึ่งในชีวิต ขอเป็นผู้พิชิต zero carbon หรือลดอัตราการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์

เรื่องเหล่านี้ ฟังดูเหมือนพูดง่ายและทำยาก แต่จากการทดลองทำและเรียนรู้มาหลายสิบปีของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หรือ อาจารย์ต้น อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า การประหยัดพลังงานไม่ใช่เรื่องยาก และการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถหรือเป็นเรื่องพิเศษสำหรับใครๆ แต่มันเป็นเรื่องที่คุณหรือใครๆ ก็ทำได้ หากเราเริ่มต้นทุกอย่างจากฐานของความสนุก

เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นที่ บ้านต้นคิด ทิพย์ธรรม (แค่ชื่อบ้านก็สนุกแล้ว ทราบความหมายมาว่า คือบ้านที่อาจารย์ต้นคิด แล้วคุณทิพย์ ผู้เป็นภรรยา เป็นฝ่ายลงมือทำ แต่ตั้งให้พ้องกับคำว่า ธรรม นั่นเอง) บ้านที่หลายคนยกให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการประหยัดพลังงาน ที่อาจารย์เดชรัต ย้ำกับเราเสมอว่า เขาไม่ได้เริ่มจากคนที่รู้ทุกเรื่อง แต่เกิดจากความสนุกที่จะเรียนรู้และทดลองทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ขณะเดียวกัน ก็ต้องจำกัดความเสี่ยงไม่ให้มากจนเกินรับได้

ในวิชาเศรษฐศาสตร์มีคำพูดหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ ค่าเสียโอกาส ซึ่งเป็นคำที่อดนึกถึงไม่ได้เมื่อมานั่งคุยกับอาจารย์ในวันนี้ เพราะหลายๆ เรื่อง ถ้าเราไม่เริ่มต้นทดลองทำตั้งแต่วันนี้ เราน่าจะต้องจ่ายค่าเสียโอกาสแพงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของพลังงาน สิ่งแวดล้อม และอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและอนาคตของเรา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่คุณกำลังจะได้อ่านจากปากคำของเขา ไม่ใช่เรื่องวิชาการหนักอึ้ง แต่เป็นอีกมุมมองหนึ่งของนักวิชาการที่สนุกกับการทดลองใหม่ๆ และไม่คิดว่าจะมีอะไรยากเกินความสามารถ

ว่าไปแล้ว มันก็เหมือนเรื่องที่อาจารย์เปรียบเทียบให้เราฟังนั่นแหละว่า ถ้ามีอุโมงค์กับสะพานลอย เราจะเลือกข้ามถนนแบบไหน เลือกเดินสบายก่อน แล้วไปลำบากตอนขาขึ้นทีหลัง หรือจะเลือกอดทนกับการเดินขึ้นก่อน แล้วค่อยเดินลงแบบสบายๆ ไม่ว่าจะเลือกทางไหน สุดท้าย เราก็ต้องถามตัวเองอยู่ดีว่า เราสนุกกับเส้นทางที่เราเลือกมั้ย และคุ้มหรือไม่ที่จะไปต่อ

ความคุ้มอยู่ที่วิธีคิด

ถ้าใครติดตาม Greenery Talk ปี 4 เมื่อไม่นานมานี้ น่าจะได้ฟังอาจารย์เดชรัต พูดถึงบ้านประหยัดพลังงาน ที่มีการติดตั้ง โซลาร์เซลล์ ซึ่งทำให้ประหยัดเงินอย่างเห็นได้ชัดเพราะ ทุกวันนี้อาจารย์เสียค่าไฟราวๆ 200 กว่าบาทต่อเดือน แทนที่จะเสียเงินกว่า 2000 พันบาทอย่างที่เคย เราหยิบประเด็นนี้มาพูดเป็นเรื่องแรก เพราะสนใจในเรื่องของความคุ้ม และเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะคิดถึงประเด็นนี้เป็นเรื่องแรกๆ เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเรารู้สึกว่า เราต้องลงทุนก่อน เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทีหลัง

“เรื่องโซลาร์เซลล์ที่คนมาปรึกษาผมเยอะ ผมก็นึกถึงคำพูดที่มีคนบอกว่า ถ้าเราเห็นบันไดสะพานลอยกับอุโมงค์ใต้ดินอยู่ใกล้กัน เราจะข้ามถนนด้วยวิธีไหน? ส่วนใหญ่คนทั่วไปมักจะเลือกลงอุโมงค์ก่อน เพราะมันเดินลงก่อน แต่จริงๆ เดี๋ยวตอนจะออกเราก็ต้องเดินขึ้นนะ แต่ที่เราไม่เลือกสะพานลอย เพราะเราต้องเดินขึ้นก่อน เรื่องโซลาร์เซลล์ก็เหมือนกัน การลงทุนติดตั้งโดยใช้เงินสองแสนโดยประมาณ มันก็เป็นอุปสรรคหนึ่ง เพราะต้องเอาเงินสองแสนมาวางก่อน คำถามคือ แล้วทำไมทุกวันนี้ เราซื้อรถง่ายกว่าโซลาร์เซลล์ล่ะ หลายคนอาจจะตอบว่า ก็มันจำเป็นกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็มองว่าโซลาร์เซลล์มันก็ให้ผลตอบแทนกับผมเหมือนกัน และมันดีกับชีวิตด้วย เพราะถ้าผมไม่ซื้อรถ ผมก็เรียกแท็กซี่ได้ มันไม่ได้แตกต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ รถมันผ่อนได้ไง มันเหมือนเราลงอุโมงค์ได้ก่อนแล้วค่อยขึ้นบันได เพราะเรามีเงื่อนไขครบ เราก็ได้รถมาขับเลย ซึ่งจริงๆ เงินกว่าจะผ่อนหมด มันมากกว่าสองแสนอีกนะ (หัวเราะ) แต่เรายอมจ่ายได้เพราะมันมีระบบผ่อน มันเป็นทางเดินลงให้เราก่อน”

“แต่โซลาร์เซลล์มันไม่มีระบบแบบนี้ ทั้งที่ราคามันอาจจะแพง แต่มันคุ้มในระยะยาว”

“แต่กับรถ เราซื้อโดยอาจจะไม่ได้คำนวณละเอียดนักว่า มันคุ้มหรือไม่คุ้ม เพียงแต่ระบบการผ่อนมันอำนวยความสะดวกให้เราเดินลงอุโมงค์ก่อนได้ หรือเราจะคิดอีกมุมก็ได้ ว่าเราซื้อรถ มันมีความเสี่ยงเยอะนะ ถ้าไม่นับอุบัติเหตุ เราก็เสี่ยงแล้วว่า เราผ่อนระยะยาวไหวมั้ย ถ้าตกงานจะทำยังไง ในขณะที่โซลาร์เซลล์เราจ่ายไปแล้ว ถึงตกงาน เราก็ยังประหยัด เพราะระบบมันก็ทำงานของมันไป ประเด็นของการจะติดโซลาร์เซลล์ดีหรือไม่ มันจึงอยู่ที่วิธีคิด หรือตัวช่วยที่จะมาช่วยให้คนมองมุมนี้ ตอนนี้มันเลยกลายเป็นว่า คนที่ติดโซลาร์เซลล์ดูพิเศษจังเลยเนอะ ทั้งๆ ที่มันพิเศษยังไงล่ะ ถ้าวันหนึ่งผมใช้เงินผ่อนด้วย ก็ยิ่งไม่มีอะไรพิเศษเลย แต่ที่มันดูพิเศษ เพราะมันต้องหาเงินมาก่อนสองแสน เหมือนต้องเดินขึ้นสะพานลอยก่อน แต่ในอนาคต เรื่องนี้ไม่ควรจะเป็นเรื่องพิเศษ มันควรเป็นเรื่องทั่วไปด้วยซ้ำ”

ความคุ้มไม่มีสูตรตายตัว

แม้จะร่ำเรียนมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ และต้องคิดคำนวณส่วนได้ส่วนเสียอยู่เสมอ แต่สำหรับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม อาจารย์บอกว่า บางครั้งมันก็ไม่มีสูตรตายตัว ว่าทำแบบไหนแล้วจะคุ้ม เพราะความคุ้มมันวัดออกมาเป็นตัวเงินยาก แต่ถ้าจำเป็นต้องคิดคำนวณ วิธีคิดง่ายๆ ต่อไปนี้ก็พอจะช่วยได้

“จริงๆ ประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มันจะมีให้มองอยู่สามลักษณะ ที่จะเกี่ยวข้องกับความคุ้มไม่คุ้ม เช่น ประเด็นแรก คุ้มทันที ไม่ต้องรอผลนาน ถ้ามันช่วยให้เราประหยัดได้เลย มันก็คุ้ม เช่น สมมติเราเห็นเสื้อตัวหนึ่งราคา 300 เราคิดว่าเราจะใส่มันกี่วัน ถ้าใส่ 10 ครั้ง ก็ 30 บาท ตกลงมันคุ้มกับคุณมั้ยล่ะ? ปกติมันไม่มีคนมานั่งนับอะไรแบบนี้หรอก แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้เราตัดสินใจได้ เหมือนเวลาที่ผมตัดสินใจหลายๆ ครั้งผมก็ตัดสินใจจากมุมนั้น เช่น จะซื้อรองเท้าวิ่งสักคู่ โดยที่ผมไม่ใช่นักวิ่งอาชีพ ผมแค่วิ่งแล้วมีความสุข ผมควรจะซื้อคู่ละสักเท่าไหร่ดี ถ้าผมคำนวณการวิ่งสบายๆ ของตัวเองเป็นวันละ 10 บาท สมมติวิ่งปีละ 300 กว่าวัน ผมก็ควรซื้อที่ราคาสามพันกว่าบาทก็พอมั้ง เพราะแพงกว่านั้นมันอาจจะเกินความจำเป็น เกินคุณค่าที่ตัวเราต้องใช้ หรือจะซื้อคอมพิวเตอร์ ซึ่งสำหรับอาชีพผม มันคือปัจจัยการผลิต ดังนั้นเราก็ต้องคิดแล้วว่า ถ้าซื้อมาเราจะหาเงินได้จากมันเท่าไหร่ แต่รองเท้าวิ่ง มันไม่ใช่ปัจจัยการผลิต มันแค่เป็นสิ่งจำเป็น เราไม่ได้วิ่งแล้วเราได้เงิน แต่เราวิ่งเพราะเรามีความสุข เราก็ต้องตีค่าออกมาว่า ความสุขของเรามันสักประมาณเท่าไหร่ดี บางคนบอกว่า ตีค่าวันละ 50 บาท วิ่งไป 300 วัน แบบนี้คุณซื้อราคาเป็นหมื่นก็ได้”

“ในเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เหมือนกัน เช่น ถ้าคิดเรื่องขยะ เราทิ้งขยะไปเลย เราก็ไม่ได้เสียอะไร แต่ถ้าเราแยกขยะ แล้วขาย เราก็ได้เงินนะ เรื่องนี้เราสามารถคำนวณได้เลยว่าเราจะทำหรือไม่ทำ ถามว่าทำไมบ้านผมแยกขยะ ทำไมซื้อเครื่องทำปุ๋ย เพราะผมคำนวณแล้วว่าได้เห็นๆ เพราะทำปุ๋ยมันก็ใช้เวลาไม่กี่วัน ได้ปุ๋ยมาใส่ต้นไม้เลย เรื่องแบบนี้เราก็สามารถคำนวณได้ทันทีทันใด”

“ความคุ้มบางเรื่องมันไม่ต้องรอนานกว่าจะเห็นผล ขยะนี่ผมแยกแล้วเดือนหนึ่งขายได้ 600 บาท เป็นคุณจะเอามั้ย”

“มันก็แล้วแต่ว่าเราจะเทียบกับอะไรดี ถ้าเทียบกับกาแฟ เราก็กินได้ 4-5 แก้ว ถ้ากินแบบถูกหน่อยก็ 10 กว่าแก้ว ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากการคัดแยกขยะขาย เป็นคุณจะเอามั้ยล่ะ จริงมั้ย? ส่วนความคุ้มแบบที่สองคือ ต้องรอนานขึ้น แต่รู้ว่ามันจะคุ้มแน่นอน เหมือนกรณี โซลาร์เซลล์ เรารู้ทันทีว่าเดือนหนึ่งประหยัดได้เกือบสองพัน ปีหนึ่งประหยัดได้สองหมื่นห้า แต่ลงทุนไปสองแสนค่าติดตั้งและแผง ดังนั้นแปลว่าใช้ไม่เกิน 10 ปี เราก็คืนทุนละ เพราะตัวโซลาร์เซลล์มันใช้ได้ 20 กว่าปี”

“คุ้มแบบที่สาม คุ้มเหมือนกัน แต่มีความไม่แน่นอนเข้ามาเป็นตัวแปร เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อการลงทุน สมมติไร่หนึ่งเราปลูกไป 70 ต้น ต้นหนึ่งขายได้ต่ำสุดก็ประมาณหนึ่งหมื่นบาท แปลว่า เราก็ต้องเลือกไม้ที่มันสามารถขายได้ราคานี้จริงๆ เมื่อเราขายทั้งหมดก็เป็นเงินเกือบเจ็ดแสน มันก็คุ้มในระยะยาว แต่มันมีความเสี่ยงเยอะหน่อย เช่น ต้นไม้อาจจะตายก่อน หรือเจอไฟป่า แต่ถ้าคิดแล้วว่า ความคุ้มค่ามันเยอะกว่ามาก เราก็พร้อมจะเสี่ยง เพราะสุดท้ายแล้ว มูลค่าที่ดินมันก็ไม่ได้ตกลงไป ปลูกต้นไม้ มันก็มีแต่ได้กับได้ ซึ่งที่ผมต้องไล่ให้ดูแบบนี้ เพราะมันก็จะมีคนเลือกทำในแต่ละแบบที่แตกต่างกัน เช่น บางคนเลือกเปลี่ยนหลอดไฟประหยัดพลังงาน เพราะมันลงทุนน้อย คุ้มแล้ว เห็นผลเลย แต่บางคนอาจจะเลือกติดโซลาร์เซลล์เพราะคิดว่ารอไม่เกินสิบปี พอไหว แต่ให้ไปปลูกต้นไม้ คงไม่ไหว เพราะไม่ใช่แค่ความเสี่ยงอย่างเดียว แต่ต้องรอเป็น 20 ปี เป็นต้น”

ถ้าจะให้ดี ลงมือทำทั้งที ควรเริ่มต้นที่ความสนุก

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า บ้านของอาจารย์ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ เกี่ยวกับเรื่องการประหยัดพลังงาน และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่ออาจารย์บอกว่า ทุกวันนี้ที่บ้านใช้โซลาร์เซลล์ และออกแบบให้บ้านมีทิศทางลม และร่มเงาที่ดี ใช้โฟมเป็นฉนวนกันความร้อน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ ทำให้ทุกวันนี้ ถ้าคำนวณออกมาคร่าวๆ ครอบครัวของอาจารย์ สามารถลดการใช้คาร์บอนได้เกือบ 8 ตันต่อปีเข้าไปแล้ว แน่นอนว่า หลายคนคงคิดว่า ตัวเองไม่น่าจะทำได้ เพราะไม่ได้มีความรู้เหมือนอาจารย์ การทุ่มเททำบ้านประหยัดพลังงานแบบนี้ ต่อให้รู้ว่าประหยัดแน่ ๆ แต่ก็ยังดูห่างไกลจากความเป็นไปได้มากเหลือเกิน

“จริงๆ แล้วแนวคิดในการทำบ้านประหยัดพลังงาน ไม่ใช่เริ่มต้นจากการที่ผมรู้ทุกอย่าง หรือร่ำเรียนมา แต่คีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุด คือความสนุก ผมเข้าใจนะว่า การจะปรับเปลี่ยนอะไรก็ตาม บางกรณีมันจะมีความกลัว กลัวว่าถ้าทำไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าให้แนะนำ ผมว่าเราอาจจะต้องลดความกลัวลงไปบ้าง แล้วมานั่งคิดดูว่า แบบนี้น่าจะสนุกดีนะ แล้วลองทำดูมั้ย ยกตัวอย่าง ตอนที่ผมใช้โฟมทำเป็นผนังบ้าน ตอนนั้นบ้านเกือบทั่วประเทศแทบจะไม่มีใครมีประสบการณ์ใช้โฟมทำผนังมาก่อน แต่เราก็ต้องลองดู ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ วางแผน คิดว่าถ้าผิดพลาดขึ้นมา เราจะมีวิธีแก้ยังไง พอมาถึงวันนี้ มันก็ช่วยในแง่การลดความร้อน ประหยัดพลังงานได้จริงๆ ผมเป็นคนสนุกกับการทดลอง ถึงได้บอกว่า มันเป็นคีย์เวิร์ดสำหรับผม”

“ถ้าเราเริ่มต้นจากความสนุก ความรู้มันจะหลั่งไหลเข้ามาเอง ถ้าเราไม่เริ่มต้นจากความสนุก มันจะไม่ค่อยโอเค”

“เหมือนเราได้ยินเรื่องอะไรมาสักเรื่อง เราก็จะเริ่มตั้งคำถามว่า ตกลงเราจะเชื่อเลยดีมั้ย หรือจะไม่เชื่อ แล้วบางครั้งเราก็จะคิดว่า ถ้าเชื่อแล้วมันจะเสี่ยงมั้ย นี่ไม่ใช่ว่าจะไม่เชื่อนะ แค่คิดว่ามันจะเสี่ยงมั้ยก่อนเลย สุดท้ายพอกลัวความเสี่ยงมากๆ ก็เลยสรุปว่าไม่เชื่อละกัน (หัวเราะ) แต่จะด้วยความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้วยหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ แต่มันทำให้ผมคุ้นเคยกับความเสี่ยงและจำกัดความเสี่ยง คือทำให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่รับได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันต้องเกิดจากความสนุก แล้วมันจะเกิดการเรียนรู้ตามมา เช่น คนมาเห็นบ้านผม แล้วอาจจะปิ๊งไอเดียบางอย่างแล้วไปทำเองก็ได้ แล้วทีนี้ ด้วยความที่บ้านผมเป็นบ้านที่สร้างเอง มันเลยทำให้เราเรียนรู้ไปด้วยว่า ควรจะทำอะไรบ้าง ต้องรู้อะไรบ้าง แต่ถ้าเราไปเริ่มจากการซื้อบ้านสำเร็จรูป มันก็อาจจะตัดทางเลือกในการเรียนรู้ไปเลย เราก็จะไม่ได้มีความรู้เรื่องการสร้างบ้านมากนัก เช่นเดียวกัน ตอนที่ผมทำสวน ตอนแรกก็ไม่ได้รู้หรอกว่ามันทำยังไง เพียงแต่มันสนุก ก็ค่อยๆ ปลูกต้นนั้นต้นนี้ ค่อยๆ เรียนรู้ไป”

“จริงๆ อยากเริ่มทำอะไร ต้องเริ่มจากความสนุกก่อนเลยครับ แต่เราต้องหาความสนุกของเราให้เจอให้ได้นะ อย่างบ้านผม สนุกเพราะชอบเห็นตัวเลขสถิติบางอย่าง เลยทำให้ผมสนุกกับการทำนั่นทำนี่ เช่น เราปลูกต้นไม้ไปกี่สายพันธุ์แล้ว นี่เราก็จดๆ ไว้นะ เช่น พื้นที่ไร่เดียว ปลูกได้กว่า 80 กว่าชนิดแล้ว ผมสนุกกับการเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ แต่หลายคนอาจจะมองว่า เก็บข้อมูลทำไมเนี่ย บ้าหรือเปล่า (หัวเราะ) อ้าว ก็คนเรามันไม่เหมือนกัน ผมยังคำนวณด้วยซ้ำว่า ถ้าเราปลูกต้นไม้ขนาดนี้ จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้กี่ตัน นี่ทุกวันนี้ ลูกก็ยังถามนะว่า ทำไมต้องจดตัวเลขทุกครั้งที่เติมน้ำมันว่าเติมเท่าไหร่ ผมก็จดเพื่อมาคำนวณคาร์บอนนี่แหละ แต่แล้วยังไงต่อ ขายคาร์บอนเครดิตเหรอ ก็ไม่ได้ขายอีก แต่มันทำแล้วสนุกไง หรือเราอาจจะคิดต่อว่า เออ ถ้าเราขับรถแบบนี้ ประหยัดได้กี่กิโลเมตรต่อลิตร ประสิทธิภาพรถเราเป็นยังไง แต่ถ้าคุณไม่ได้สนุกกับตัวเลขแบบนี้ ก็อาจจะต้องไปดูว่าสนุกกับอะไร”

เราเกิดมาอยู่ในโลกแบบไหน เราก็ควรเหลือให้คนรุ่นต่อไปไว้เท่านั้น

เป้าหมายของการลดคาร์บอนให้เหลือศูนย์ เป็นเรื่องที่หลายคนคงไม่เข้าใจว่า ทำไปแล้วได้อะไร โดยเฉพาะถ้าทำในระดับบุคคลหรือในระดับครอบครัวแค่ไม่กี่ชีวิต แม้ว่านี่จะเป็นเป้าหมายที่อาจารย์ตั้งไว้ว่าชีวิตหนึ่งต้องไปให้ถึงสักครั้งก็เถอะ แน่นอน เราถามคำถามนี้ เพราะเราก็สงสัยเช่นกัน

“จริงๆ ก็ไม่มีอะไร (หัวเราะ) ผมก็สนุกของผม แต่เรื่องนี้มันอาจจะมีวิธีคิดเชิงอุดมคติมาผสมด้วย คือ ด้วยความพร้อมของครอบครัวเรา ก็ไม่ควรจะปล่อยคาร์บอนไปจนถึงชั้นลูกหลาน เพราะถ้าเราทำได้มันก็น่าสนใจมาก สำหรับผมเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่สุดในบรรดา moral ทั้งหมด ถามว่าทำไม ผมก็ตอบยาก แต่เราเคยนึกย้อนภาพไปตอนเด็กๆ มั้ย เราเคยคิดมั้ยว่า สิ่งที่มันหายไปจากสมัยที่เราเคยเห็น คือใครทำ คำตอบก็คือพวกเรานั่นแหละ คือถ้ามองจากวัยของผม มันก็ฝีมือพวกผมนั่นแหละที่ทำไว้ ผมเลยคิดว่า สิ่งที่เราทำกันอยู่ตอนนี้ เราไม่เคยถามคนรุ่นหลังๆ สักคำเลยนะว่า เขาโอเคมั้ยที่เราทำแบบนี้ เขาอาจจะโอเคหรือไม่โอเคก็ได้ แต่เรามันแย่ตรงที่ไม่เคยถามเขาสักคำเลย แล้วหลายครั้งพวกเราก็ดีใจกันด้วยซ้ำว่าประเทศเราพัฒนามาจนถึงจุดนี้ได้แล้วนะ”

“คุณถามคนรุ่นต่อไปหรือยังว่าเขาโอเคมั้ยกับการที่ชายหาดมันหายไป ป่าไม้หายไป พวกเขาอาจจะไม่โอเคกับสิ่งเหล่านี้ก็ได้นะ”

“ดังนั้นอะไรที่มันเป็น net balance ในเชิงเจเนอเรชั่น มันก็คือความฝันของผม หมายความว่า ตอนเราเกิดมามีอะไรเหลืออยู่ในโลกเท่าไหร่ ตอนเราจากไป คนรุ่นหลังก็ควรจะได้เท่าเดิม นอกจากนั้น ผมถือว่าผมเกิดมาในครอบครัวที่โชคดีกว่าคนอื่น ผมก็ควรจะต้องแชร์ให้คนอื่นได้มากที่สุดเท่าที่ผมจะแชร์ได้ เพราะการเกิดมาในครอบครัวที่ดี เราจะบอกยังไงว่า ทำข้อสอบแบบไหนถึงเกิดมาในครอบครัวแบบนี้ได้ คือพ่อแม่ก็เปิดกว้างให้ผมได้คิด ครอบครัวก็ไม่ได้ลำบาก พ่อผมทำงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แต่ช่วงหนึ่งในชีวิตผมก็เคยไปคัดค้านการสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า แต่พ่อผมก็โอเค เพราะถือว่าทุกคนก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเอง นี่คือความโชคดีที่ผมบอก เพราะเขาเปิดกว้าง ดังนั้นเมื่อเราได้อะไรดีๆ มาในชีวิต เราก็ควรจะแชร์ไม่ใช่หรือ สรุปคือ ผมเชื่อว่า เราเกิดมาได้เท่าไหร่ ก็ควรคืนให้โลกไปเท่ากัน สอง คือเมื่อเราเกิดมาในโชคดีแบบนี้ เราก็ควรแชร์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราได้โชคดีมา ตรงนี้อาจจะเป็นความฝันเชิง moral เดียวของผม”

หาความสุขของตัวเองให้เจอ

แม้จะมีประสบการณ์ที่คลุกคลีกับเรื่องการประหยัดพลังงานมานานหลายสิบปี และมีผลพิสูจน์ที่จับต้องได้ว่า อาจารย์มีวิถีชีวิตที่มีคุณภาพมากกว่าใครหลายๆ คนในประเทศนี้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่อาจารย์จะดึงดันให้ทุกคนหันมาใช้วิถีชีวิตแบบเดียวกัน เพราะความสุขของใครก็ของมัน อยู่ที่ใครจะสังเกตเห็น และเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร หรือทำมากน้อยแค่ไหน

“ผมถือว่าถ้าทำอะไรที่เหนื่อยมาก เสี่ยงมาก สุดท้ายเราจะมีความสุขตอนไหน ยกตัวอย่าง คนรอบตัวผมอาจจะชอบเที่ยว แต่ผมเป็นประเภทที่ชอบอยู่บ้าน เพราะมีความสุขแล้ว ผมไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องไปจ่ายค่าที่พักแพงๆ เพื่อจะได้มีชีวิตที่มีความสุขสักครั้ง คือผมเป็นคนที่เที่ยวน้อยมากๆ เลย ส่วนใหญ่จะไปเที่ยวเพราะมีเหตุผลว่าต้องไปสัมพันธ์กับใคร เช่น ต้องไปเจอใครที่อยากเจอ ไปคุยกับเกษตรกร แต่ถ้าต้องไปเที่ยวล้วนๆ เลยผมไม่ค่อยไป ผมอยู่ที่บ้าน อยู่ในสวน ผมก็มีความสุขแล้ว คือเมื่อไหร่ที่ได้ไปอยู่ในสวนป่าที่เราปลูกเอง เราจะรู้เลยว่ามันใช่ มันเย็นสบาย ดังนั้นความสุขมันอยู่ที่ว่าเราหามันเจอมั้ย

“อย่างผมก็ไม่ใช่ว่าเจอเลย มันต้องเริ่มจากลองทำก่อน ป่าที่มียี่สิบกว่าไร่วันนี้ มันก็เริ่มต้นจากสามไร่นั่นแหละ พอเราปลูกสามไร่ได้ มันก็โอเค แล้วเราก็ค่อยๆ ไปต่อ เมื่อก่อนตอนอยู่บ้านเก่า วันหยุดก็ต้องหาที่เที่ยว แล้วก็ไม่พ้นไปห้าง แต่พอย้ายมาอยู่บ้านใหม่ที่เราปลูกเอง เรามีที่ เราหากิจกรรมทำได้เลย เล่นทราย ปลูกต้นไม้ เพาะเห็ด มันก็มีความสุขไปอีกแบบ

“เราวัดความสุขได้จากการที่ลูกยังยิ้ม ตื่นเช้ามาอยากชวนทำนู่นทำนี่กัน มันก็เป็นความสุขที่ทำให้เราประหยัดไปได้ในตัว ไม่ต้องออกไปไหนก็ได้”

“ชีวิตมันอยู่ที่ว่าเราจะสังเกตหรือเปล่าว่าความสุขของเราคืออะไร ก็เหมือนหนังสือที่นิ้วกลมเขียน เรื่องความสุขโดยสังเกตนั่นแหละ สำหรับผม ถ้าจะให้สรุปออกมาก็คือ ความสุขคือการได้อยู่ในที่ เย็น สบาย ได้ใช้ความคิด ผมชอบที่จะอยู่ในพื้นที่แบบนั้น ความคิดที่ว่านี้อาจจะไม่ได้เป็นผลผลิตยิ่งใหญ่ เป็นผลงานทางวิชาการอะไรนะ ไม่จำเป็น คิดอะไรก็ได้ คิดเรื่อยเปื่อย แค่มันรู้สึกเย็นสบาย ได้ใช้ความคิด ได้คุยกับคน หรือแค่ได้แลกเปลี่ยนความคิดในโซเชียลมีเดียก็ชอบมาก เป็นเรื่องสนุกของผมเลย”

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร