อาหาร คือหนึ่งในความจำเป็นหลักที่ขาดไม่ได้ของมนุษย์ อาหารเป็นได้ตั้งแต่บางสิ่งที่ทำให้ร่างกายมีพลัง เป็นยารักษาโรคทางกาย และทำให้หัวใจอุ่น อาหารยังรวมไปถึงคุณค่าของความทรงจำ ความสัมพันธ์ รวมไปถึงความรื่นรมย์อีกด้านหนึ่งให้กับชีวิต

แต่สำหรับบางคน อาหารบางชนิดกลับเป็น ‘ของต้องห้าม’ ที่ร่างกายปฏิเสธ เหตุเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ผิดเพี้ยนต่ออาหาร กลายเป็นคนขี้แพ้อาหาร บางคนมีโอกาสที่จะชนะ และก็มีอีกหลายคนที่แพ้ไปตลอดชีวิต แต่หากไม่ยอมแพ้ โอกาสที่จะกลับมากินได้อย่างรื่นรมย์ก็สูง หรือปลายทางอาจกลายเป็นคนขี้แพ้ที่มีสุขภาพจิตดีที่สุดก็ได้

รู้หรือไม่ว่ามีคนแพ้อาหารน้อยกว่าที่คิด

จากข้อมูลของ Kari Nadeau ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุว่า การแพ้อาหารของผู้คนทั่วโลก อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘โรคระบาด’ อย่างหนึ่ง เพราะตั้งแต่ปี 1960 มีคนแพ้อาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ จนถึงปี 2018 กลับเพิ่มขึ้นเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ ที่น่าแปลกใจก็คือว่า แบบสอบถามของผู้คนส่วนใหญ่กลับพบว่า 3 ใน 4 คน คิดว่าตัวเองมีอาการแพ้อาหาร แต่ไม่เคยไปตรวจอย่างจริงจัง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงและใช้เวลาในการตรวจวินิจฉัยค่อนข้างนาน

ในขณะเดียวกัน จากแบบสอบถามเรื่องการแพ้อาหารในเด็ก ผู้ปกครองจำนวน 1 ใน 3 ตอบว่า ลูกมีอาการแพ้อาหาร ในจำนวนนี้ ประมาณ 5 ใน 10 คนจะตอบว่า ลูกเคยแพ้อาหาร หรือมีปฏิกิริยาที่เกิดจากอาหาร และหากทำการตรวจอย่างจริงจังด้วยวิธีที่เรียกว่า Food Challenge Test ก็จะพบว่า มีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แพ้อาหารจริง

แสดงว่าการแพ้อาหารเพิ่มขึ้นจริง แต่กลับมีเปอร์เซ็นต์น้อยที่จะแพ้อาหารจริง โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

เรื่องนี้มีเหตุผล

หมอวิน-ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์และเจ้าของเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ ได้อธิบายไว้ว่า การแพ้อาหารเกิดจากปฏิกิริยาที่ผิดปกติของร่างกายต่ออาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง และมีอาหารกว่า 170–180 ชนิดที่ทำให้แพ้ และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการแพ้อาหารทั้งโลก มีอยู่ 8 กลุ่มหลัก หรือที่เราเรียกว่า Top 8 ประกอบไปด้วย นมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ปลา และอาหารทะเล

ตัวหลักที่ชาวเอเชียแพ้กันหนักๆ ก็คือ นมวัว ไข่ และถั่วเหลือง ในขณะเดียวกัน การแพ้อาหารก็มักจะเกิดในเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่

หมอวินชี้แจงว่า เป็นเพราะ อาการแพ้ในเด็กเล็ก 50-80 เปอร์เซ็นต์ จะค่อยๆ ดีขึ้น และกลายเป็น ‘ไม่แพ้’ ได้หลังจากอายุ 18-24 เดือน หรือหลัง 2 ขวบ เท่ากับว่าเกินครึ่งของเด็กที่แพ้สามอย่างนี้อาการจะดีขึ้นได้ สุดท้ายก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่แพ้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เรียนรู้ และค่อยๆ ปรับตัวต่ออาหาร ไปพร้อมๆ กับร่างกายที่เติบโตขึ้นของเด็กๆ ส่งผลให้ปฏิกิริยาต่ออาหารเหล่านี้ลดลงตามไปด้วย ยกเว้นเด็กที่แพ้อาหารทะเล ถั่วเปลือกแข็ง และถั่วลิสง ส่วนใหญ่ก็แพ้ไปตลอดชีวิต แต่ก็มีคนที่รักษาแล้วดีขึ้นประมาณ 5- 10 %

ส่วนสาเหตุที่แท้จริงของการแพ้อาหารนั้น หมอวินได้อธิบายว่า ยังไม่แน่ชัด มีเพียงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กมีโอกาสแพ้อาหารมากขึ้นสองสามอย่างคือ คนในครอบครัวมีประวัติเคยแพ้อาหาร ตอนท้องกินอาหารไม่หลากหลาย หรือกินอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป ลูกก็เสี่ยงแพ้อาหารชนิดนั้นมากขึ้น

ที่น่าสนใจก็คือ การเริ่มอาหารคำแรกในมื้อแรกของลูก ก็ส่งผลต่อการแพ้อาหารด้วย

“ย้อนไปประมาณ 15-16 ปีที่แล้ว สมัยที่หมอยังเป็นนักศึกษาแพทย์ มีข้อมูลว่า ควรให้เด็กเริ่มอาหารหลายๆ อย่างหลัง 1 ขวบ ไม่ว่าจะเป็นไข่ขาว ปลาทะเล ถั่วต่างๆ กระทั่ง 10 ปีหลังที่ผ่านมา มีข้อมูลมากมายระบุว่า การเริ่มอาหารกลุ่มเสี่ยงให้ลูกช้า ลูกก็จะยิ่งเสี่ยงแพ้มากขึ้น หมอยกตัวอย่างจากการศึกษาเรื่องการแพ้ถั่วลิสงของ Leap study (Learning Early about Peanut Allergy) ทำให้เห็นว่า เด็กเล็กที่กินถั่วลิสงตั้งแต่ยังเล็ก จะมีอาการแพ้ในช่วงอายุประมาณ 5 ขวบขึ้นไป ซึ่งน้อยกว่าเด็กที่หลีกเลี่ยงการกินประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ นั่นแปลว่า ยิ่งเริ่มเร็ว โอกาสที่ลูกจะไม่แพ้อาหารก็สูงขึ้นตามไปด้วย” หมอวินยืนยัน

โลกของเด็กขี้แพ้ จากแม่ผู้ไม่ยอมแพ้

ข้อเท็จจริงจากหมอวิน ลงล็อกพอดีกับประสบการณ์และเรื่องเล่าเมื่อ 9 ปีที่แล้วของ ตั้ม-ศิระษา จังธรานนท์ เจ้าของเพจอาหารสำหรับเด็กแพ้ follykitchen รวมทั้งร้านขายขนมสำหรับเด็กแพ้ kitchenplayer และเป็นคุณแม่ของน้องยินดีวัย 9 ปี ที่ทุกวันนี้อาการแพ้อาหารของลูกเธอดีขึ้น จนกินสิ่งนั้นได้แล้ว

แม่ตั้มเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนท้องว่า “เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ยังคงมีความเชื่อว่า คนท้องให้บำรุงด้วยนมวัว แต่เราก็ไม่เคยรู้ว่า นี่คือความเสี่ยงที่ทำให้น้องยินดีแพ้นมวัวตามมา แต่ด้วยความไม่รู้อีก เราก็สังเกตว่า ตั้งแต่คลอด ลูกจะมีผดขึ้นที่แก้มและตามตัวเยอะมาก สามเดือนแรกผ่านไปก็ไม่หายและก็มีมากขึ้น แต่ระหว่างนี้ลูกก็กินนมแม่ตลอด จนเข้าเดือนที่ 5 จึงไปหาหมอ ได้ผลสรุปว่า แพ้นมวัว ตอนนั้นหมอสั่งงดนมแม่ ให้กินนมสำหรับเด็กแพ้ ผ่านไป 2-3 เดือนอาการของลูกก็ดีขึ้น เราก็ใจชื้น”

เรื่องแพ้อาหารกับนมแม่ ตรงกับที่หมอวินอธิบายไว้ข้างต้น และมีเหตุผลมาขยายเรื่องการงดนมแม่ ในกรณีของเด็กที่กินนมแม่แต่กลับแพ้นมวัว โดยส่วนใหญ่แรกเริ่ม หมอจะให้แม่งดนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนมวัวทุกชนิด แล้วให้ลูกกินนมแม่ต่อ แต่ทางปฏิบัติแล้วทำได้ค่อนข้างยาก ยิ่งลูกแพ้อาหารกลุ่มอื่นด้วย แม่ยิ่งต้องงดอาหารแทบจะทุกชนิด โดยเฉพาะแป้งสาลี ดังนั้นเพื่อรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจของแม่ ร่วมกับการรักษาอาหารแพ้ของลูก การงดนมแม่จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำนั่นเอง

ความใจชื้นนิดหน่อยของแม่ตั้ม ส่งผลต่อการเลือกอาหารให้ลูก แม่ตั้มบอกว่า เธอเลือกที่จะไม่ลองกลุ่มเสี่ยงใดๆ ให้ลูกเลย จนเมื่อลูกอายุได้ 9 เดือน กับเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยน เธอและลูกไปนั่งกินอาหารนอกบ้าน เธอสั่งสปาเกตตี้ให้ลูก และกินเข้าไปเพียง 1 ช้อนชา ผ่านไปไม่นานนัก ลูกก็ตาบวม อาเจียน ปากเริ่มม่วง คอพับคออ่อน

ผ่านไป 5 นาที ถึงโรงพยาบาล หมอให้ออกซิเจนและเจาะเลือดเพื่อไปตรวจหาสาเหตุ จนพบว่า ลูกแพ้อาหารแทบทุกชนิด ยกเว้นอาหารทะเล และเป็นการแพ้แบบเฉียบพลัน เป็นหนึ่งในสามของลักษณะการแพ้อาหาร

ในส่วนนี้หมอวินได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การแพ้อาหารมีทั้งแค่สัมผัสก็แพ้ ได้กลิ่นก็แพ้ และกินเข้าไปก็แพ้ ซึ่งแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่คือ ‘แพ้แบบเฉียบพลัน’ อาการจะเกิดขึ้นภายใน 30- 60 นาที ไม่เกิน 4 ชั่วโมง ‘แพ้แบบเรื้อรัง’ อาการจะเกิดหลังจากกินไปแล้ว 4-6 ชั่วโมงขึ้นไป บางคนนานเป็นวัน เป็นสัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กจะแพ้ลักษณะนี้กันค่อนข้างมาก เพราะสัมพันธ์ไปกับผื่นแพ้ผิวหนัง อีกอย่างที่พบได้น้อยคือ ‘แพ้แบบรุนแรง’ ที่เกิดอาการหลายๆ อย่างพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นผดผื่น หอบ หายใจไม่ออก ความดันตก ระบบการหายใจล้มเหลว ส่วนใหญ่จะมาจากการแพ้อาหารทะเลและถั่วเปลือกแข็ง ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และต้องพกยาเป็นประจำ

แต่ทุกอย่างย่อมมีทางแก้ไข อันดับแรกแม่ตั้มเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเอง จากคิดว่าโชคไม่ดี ให้คิดเสียว่านี่คือบททดสอบความเป็นแม่ หลังจากนั้นเธอจึงเข้าครัวทำอาหารและขนมให้ลูกกินเองทุกมื้อ พร้อมๆ กับการเข้ารับรักษา ด้วยวิธีที่เรียกว่า ‘หนามยอกเอาหนามบ่ง’ ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า Oral Food Challenge

Oral Food Challenge เป็นการทดสอบภูมิแพ้อาหาร และรักษาโดยวิธีการกินอาหารที่แพ้นั้น ด้วยการคำนวณปริมาณอาหารที่ร่างกายจะไม่มีปฏิกิริยา และกินในปริมาณที่อยู่ในความดูแลของหมออย่างใกล้ชิด

“ทุกวันนี้ลูกรักษามาจนถึงขั้นที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการกินเท่าไหร่นัก จากที่แพ้ไข่ ตอนนี้กินไข่ดาว กินไข่ที่ต้มสุกนาน 10 นาทีได้แล้ว หากเผลอกินแล้วอาการกำเริบ ก็ต้องกลับไปเริ่มใหม่ โดยงดเข้มก่อนสามเดือน ซึ่งลูกเองก็รู้เงื่อนไขข้อนี้ดี”

รับมือได้ แก้ไขทัน สำหรับคนไม่ยอมแพ้

เพื่อคลายความกังวลใจให้กับคุณแม่ที่ยังคงรู้สึกหวั่นใจ กลัวว่าลูกจะแพ้อาหารขั้นรุนแรง หมอวินยืนยันว่า การแพ้อาหารเป็นสิ่งที่คุณแม่ยังเบาใจได้ ตั้งรับมือได้ตั้งแต่ลูกเริ่มอาหารมื้อแรก โดยมีคำแนะนำที่อ้างอิงมาจากสมาคมโรคภูมิแพ้ภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก เรื่องการเริ่มอาหารครั้งแรกให้ลูกว่า สำหรับเด็กแข็งแรง เริ่มอาหารคำแรกมื้อแรกตามวัยอายุ 6 เดือน ‘ไม่ต้องเทสต์อาหารทีละชนิด’ สามารถให้กินได้ทั้งหมด ตั้งแต่ข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ไข่ จะเริ่มแบบ BLW (Baby Led Weaning) การให้ลูกหยิบอาหารเป็นชิ้นกินเอง หรือแบบบดอาหารก็ตามเห็นควรของพ่อแม่ ค่อยๆ ให้สลับหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ

ส่วนเด็กกลุ่มเสี่ยง หรือเด็กที่ครอบครัวมีประวัติเคยแพ้อาหารนั้น ‘ไม่ให้เริ่มอาหารกลุ่มเสี่ยงทุกชนิดช้า’ คิดว่าแพ้อะไรให้เริ่มสิ่งนั้นก่อน แล้วรอดูอาการ 3-5 วันหลังจากเริ่มอาหารชนิดไปแล้ว หากไม่มีอาการก็กินต่อได้เลย ส่วนอาหารอื่นๆ ก็เริ่มไปพร้อมๆ กันได้เลย และเด็กกลุ่มเสี่ยงสูง หรือเด็กที่ผื่นแพ้ผิวหนังชนิดรุนแรง ใช้ยารักษาไม่หาย มีผื่นแดงเฉพาะที่ เป็นๆ หายๆ และลอก หมอวินแนะนำว่า สิ่งแรกคือ ให้รักษาโรคผิวหนังก่อน ดูแลผิวของลูกให้ดี โบกโลชั่นให้เยอะๆ ร่วมกับการเริ่มอาหารตามวัย และควรเริ่มทีละอย่าง โดยอยู่ภายใต้การดูแลของหมออย่างใกล้ชิด

“การแพ้อาหารรักษาได้ โดยเฉพาะการแพ้ไข่ นมวัว แป้งสาลี แต่ก็มีโอกาสที่จะกลับมาแพ้อีกครั้งได้เช่นกัน ในขณะเดียวกัน อาหารบางชนิดก็ต้องงดไปตลอดชีวิต” หมอวินยืนยัน

และยืนยันจากแม่ตั้มอีกเสียงว่า การแพ้อาหารของลูกควบคุมได้ และสามารถกินอาหารที่เคยแพ้แล้วไม่แพ้อีกได้ แต่ในปริมาณจำกัดตามคำแนะนำของแพทย์ บางอย่างไม่กินก็ได้ ในโลกนี้มีของอร่อย (ที่ไม่แพ้) ให้กินอีกมากมาย

“เมื่อแม่ไม่ยอมแพ้ ลูกเองก็จะไม่ยอมแพ้ และการแพ้ก็มีส่วนดี เพราะลูกจะเป็นคนกินง่าย กินผักได้ทุกอย่าง ไม่ติดขนมถุง และเป็นเด็กแพ้ที่สุขภาพจิตดี เพราะเราไม่กังวลไปกับอาการของลูก ไม่กดดันลูกโดยเฉพาะเรื่องกิน ค่อยๆ บอกเหตุผลด้วยน้ำเสียงที่ดีๆ เห็นว่าเขายังเล็ก แต่เชื่อเถอะว่า เมื่อแม่ใจเย็น พูดด้วยน้ำเสียงที่ดี มีบรรยากาศการกินที่เต็มไปด้วยความสุขและสนุก เด็กๆ ก็จะมีความสุขได้ภายใต้เงื่อนไขที่เกิดขึ้น”

‘เค้กกล้วยหอม’ อาหารสามัญประจำคนขี้แพ้

เมนูที่ทำง่ายที่สุด อร่อยที่สุดและมีประโยชน์ ไม่ใช่แค่สำหรับเด็กแพ้ แต่สำหรับทุกคน

ส่วนผสม

แป้ง Gluten free 200 กรัม
เกลือ 1/4 ช้อนชา
ผงฟู 1 ช้อนชา
เบกกิ้งโซดา 1/2 ช้อนชา
น้ำตาลทรายแดง 120 กรัม (เพิ่มหรือลดได้ตามชอบ)
น้ำมันรำข้าว 150 กรัม
นมที่ไม่แพ้ 100 กรัม
กล้วยหอมสุกลูกใหญ่ 2 ลูก หรือ 250-280 กรัม

ขั้นตอนการทำ

เริ่มจากวอร์มเตาอบไฟบน-ไฟล่าง 180 องศาเซลเซียส ร่อนแป้ง เกลือ ผงฟู เบกกิ้งโซดาในชามผสม แล้วพักไว้ บดกล้วยให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันรำข้าว นม และน้ำตาลทรายแดง ตีให้น้ำตาลละลาย จากนั้นแบ่งใส่แป้งลงในของเหลวเป็น 3 ครั้ง ตีให้เข้ากัน ตักใส่พิมพ์สำหรับอบ และนำเข้าอบประมาณ 25 นาที หรือจนกว่าขนมจะสุก

นอกจากเค้กกล้วยหอม แม่ตั้มยังมีเมนูสำหรับเด็กที่แพ้อาหารอื่นๆ ที่แบ่งปันอย่างไม่หวงสูตรเลย ลองทำตามได้ที่ www.facebook.com/follykitchen

ที่มาข้อมูล
www.bbc.com
www.nejm.org

เครดิตภาพ: Shutter Stock