“วัยเด็กเป็นวัยที่สำคัญที่สุด เป็นวัยทองของชีวิตมนุษย์ การจะหล่อหลอมเขาให้เติบโตขึ้นมาเป็นยังไง ต้องหล่อตั้งแต่ตอนนั้น” จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนนโยบายอาหารโภชนาการและสุขภาพเด็กวัยเรียน กล่าวกับเราในตอนหนึ่งถึงเหตุผลที่เธอเลือกใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ ทำงานผลักดันเรื่องอาหารและโภชนาการเด็กมาต่อเนื่อง

กับอีกสาเหตุหนึ่งนั้น ก็คือการที่เธอได้ทำงานในระดับนโยบายมาตลอดชีวิตการทำงานราชการในกระทรวงสาธารณสุข การเข้ามารับดูแลโครงการที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการในเด็กวัยเรียน จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจต่อเนื่อง และที่สำคัญ ‘โครงการเด็กไทยแก้มใส’ ที่เธอร่วมก่อตั้งตั้งแต่ต้นนั้น คือการทำงานสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีสำคัญ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร สถาบันโภชนาการ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ และเนคเทค (ศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ)

“ตอนนั้นสมเด็จพระเทพฯ ท่านกำลังจะมีพระชนมายุครบหกสิบพรรษาในปี 2558 พระองค์ท่านได้ทำเรื่องอาหารและโภชนาการเด็กมาตลอด และเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ด้วย”

“เราก็คิดว่าน่าจะสานต่องานและถอดบทเรียนจากงานที่พระองค์ท่านทำ ก็เลยเกิดเป็นโครงการเด็กไทยแก้มใสขึ้นมา”

เป็นชื่อโครงการที่ฟังแล้วรู้สึกถึงความเป็นเด็กสุขภาพดี เราบอกเธอถึงแวบแรกที่ได้ยินชื่อที่สื่อถึงเป้าหมายของการทำงานได้อย่างไม่อ้อมค้อม เด็กไทยแก้มใสเป็นโครงการที่น้อมนำเอาแนวทางการดำเนินงาน การบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบวงจรของโครงการตามพระราชดำริ ไปปฏิบัติในการพัฒนาโรงเรียน เพื่อเป้าหมายของการมีภาวะโภชนาการที่ดี สุขภาพแข็งแรง ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น และคุณลักษณะที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นการพัฒนาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง

โดยดำเนินตามกรอบแนวคิดและองค์ประกอบจากบทเรียนโรงเรียนในโครงการพระราชดำริทั้ง 8 เรื่อง คือ การเกษตรในโรงเรียน สหกรณ์นักเรียน การจัดการบริหารของโรงเรียน การติดตามภาวะโภชนาการ การพัฒนาสุขนิสัยของนักเรียน การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะ การจัดบริการสุขภาพ และการจัดการเรียนรู้ด้านเกษตร โภชนาการ และสุขอนามัย โดยเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง หรือ Learning by Doing เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงและพึ่งตนเองได้

“เราเชิญโรงเรียนประชุมก่อน จากนั้นทำแบบฟอร์มให้เขาส่งใบสมัครเข้ามา ตั้งเป้าไว้ 600 โรงเรียน ซึ่งได้มาเกือบ 1,000 โรงเรียน แต่คัดให้เหลือ 544 โรงเรียนเนื่องจากไปทับซ้อนกับโรงเรียนในพระราชดำริในตชด.กับพื้นที่ห่างไกล ที่พระองค์ท่านทรงอุปถัมภ์อยู่แล้ว จึงเลือกโรงเรียนที่ยังไม่เคยทำ”

จากเฟสสร้างเนื้อสร้างตัวของโครงการในปีแรก มาสู่เฟสที่สองซึ่งเป็นระยะเวลาของการพัฒนาศักยภาพคน จำนวนโรงเรียนจาก 544 ถูกคัดเลือกให้เหลือ 122 โรงเรียน และเหลือ 120 โรงเรียนในเวลาต่อมาตามความสมัครใจของโรงเรียน

“บางโรงเรียนผอ.ย้าย หรือบางที่ทำไม่ไหวเพราะรู้สึกเหมือนเป็นภาระ แต่จริงๆ ไม่ใช่นะ เพราะเรื่องอาหารกลางวันเป็นงานประจำที่เขาต้องทำอยู่แล้ว เพราะเด็กต้องกินอาหารกลางวัน สหกรณ์ก็มีอยู่แล้ว เกษตรในโรงเรียนก็มีพื้นที่อยู่แล้ว เพียงแต่เราลงด้านคุณภาพมากขึ้น”

ทั้งเรื่องเกษตรในโรงเรียน สหกรณ์โรงเรียน และอาหารกลางวัน เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันของโครงการเด็กไทยแก้มใส

เพราะเด็กจะได้เรียนรู้เรื่องการทำเกษตร เมื่อมีผลผลิตก็จะนำออกตลาดผ่านระบบสหกรณ์ ที่จำลองสหกรณ์เกษตรของผู้ใหญ่ให้ได้เรียนรู้ เพื่อให้เด็กทำบัญชีเป็น เรียนรู้การทำงานเป็นทีม และรู้จักความซื่อสัตย์ โดยผลผลิตเกษตรที่ขายผ่านสหกรณ์ จะถูกขายต่อให้โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ที่ได้รับงบประมาณมาหัวละ 20 บาท และเพิ่มเป็น 21 บาทในปีนี้

“ทีนี้อาหารกลางวันทำยังไงเพื่อให้อาหารนั้นมีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน แต่เดิมนั้นเมนูก็แล้วแต่แม่ครัว เขาไปซื้อกับข้าวมาคิดคำนวณเอง พอมั่งไม่พอมั่งเพราะไม่มีเครื่องมืออะไรให้เขา ทางสถาบันโภชนาการแห่งประเทศไทย ก็เลยทำโปรแกรม Thai School Lunch ซึ่งพัฒนาโดยเนคเทคมาช่วย เพราะพระองค์ท่านมองเห็นแล้วว่าทำยังไงครูจะทำเมนูได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องมานั่งคิด เขาสามารถเข้าไปดึงเมนูในโปรแกรมที่มีการวิจัยมาก่อนแล้วว่าเมนูนั้นได้ผักเท่าไร มีสารอาหารทั้ง 13 รายการอยู่อย่างละเท่าไร ในห้าวันเรียนของเด็กเขาควรได้รับอะไรบ้าง จริงๆ อยากให้มีผักผลไม้ในทุกวัน แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ทุกวัน อย่างน้อยก็ให้ได้สามวัน เด็กอนุบาลกับเด็กโตควรตักอาหารเท่าไร เหล่านี้ก็ขึ้นกับบริบทของสภาพภูมิศาสตร์ของโรงเรียนและที่อยู่อาศัยของเด็กด้วย

“ครูอาหารกลางวันเองก็ต้องมีความรู้ เราเชิญครูอาหารกลางวันมาอบรมให้รู้จัก School Lunch รู้จักโภชนาการ วิธีการตักอาหาร แล้วครูก็ไปอบรมแม่ครัวอีกทีหนึ่ง และมีเรื่องทำเกษตรที่เราสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนไปซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้ออุปกรณ์การเพาะปลูก มีจัดประชุมภายในกับผู้ปกครองบ้าง”

การสร้างความตระหนักให้กับโรงเรียน ซึ่งหมายถึงทั้งผู้บริหารและครูก็เป็นเรื่องสำคัญ กระบวนการจิตปัญญาจึงถูกนำมาใช้ในการอบรมบุคลากร

“โรงเรียนต้องทำโดยไม่ใช่ถูกบังคับให้ทำ มีผู้อำนวยการโรงเรียนหนุ่มคนหนึ่ง ตอนแรกเขามีเขารู้สึกต่อต้านว่าทำไมต้องทำ ก็แค่ซื้ออาหารมาให้เด็กกิน ก็แค่ทำครัว ทำไมต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก เขามองไม่เห็นว่ามันสำคัญยังไง มันมีงานที่เขาต้องสอนนักเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการเน้นเรื่องคะแนน แต่เขาไม่เห็นว่าโภชนาการมีผลต่อเด็กการเรียน พอมาเข้ากลุ่ม ได้เห็นโรงเรียนที่ทำไปบ้างแล้วมาแชร์ผลลัพธ์กัน เขาก็ถูกกลุ่มนำไป ฉะนั้นกระบวนการกลุ่มนี่สำคัญ

“จิตวิญญาณของคนทำงานด้านนี้คือ ทำยังไงให้คนได้รับอาหารที่ดีและปลอดภัย เป้าหมายหลักคือ food security, food safety และ nutrition”

“การพัฒนาศักยภาพคน คือต้องสร้างจิตสำนึกของผู้ทำงานให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญ เข้าใจและตระหนักรู้ด้วยตัวเองโดยใช้กระบวนการกลุ่มและอบรมด้วยจิตปัญญา ถัดจากนั้นเราอบรมวิธีการเขียน ตั้งแต่เขียน proposal การรายงานกิจกรรม การติดตามผล และรายละเอียดเชิงลึก เช่น กระบวนการทำการเกษตร เชิญปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาช่วยให้ความรู้ เชิญสหกรณ์มาแนะนำ และจัดอบรมอาหารกลางวัน”

“ใน Thai School Lunch ได้เพิ่มโปรแกรม School Recipe โดยครูสามารถสร้างเมนูเองได้ โดยวัตถุดิบเหล่านั้นจะมีการศึกษามาแล้วว่าให้สารอาหารอะไรจำนวนเท่าไร ทำแล้วจะมีอาจารย์ด้านโภชนาการตรวจ แล้วโยนเข้าโปรแกรม Thai School Lunch เพื่อให้คนอื่นเข้ามาหยิบไปใช้ได้ ก็ทำให้ได้เมนูอาหารเยอะขึ้น

“พี่เลี้ยงของโรงเรียนคือศูนย์อนามัยที่เขาจะมีความรู้ว่าผักเหล่านี้มีวิตามินอะไรบ้าง ถ้าหยิบมาใช้ในเมนู 200 กรัมจะได้อะไรเท่าไร และเราก็เชิญระดับเทศบาลนครกับเทศบาลเมืองมาอบรมด้วย เพื่อเขาจะได้ไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนที่สังกัดเทศบาล รวมทั้งกทม.ด้วย และโรงเรียนต่างๆ สามารถประเมินตนเองได้โดยใช้โปรแกรมในเว็บไซต์เด็กไทยแก้มใสเลย โดยการป้อนข้อมูลเหล่านี้แล้วโปรแกรมจะสังเคราะห์ออกมาเป็นรายงาน”

ซึ่งข้อมูลของทุกโรงเรียนที่เก็บรวบรวมไว้ในระบบเดียวกัน ทำให้ง่ายต่อการดึงออกมาใช้ในการพัฒนาการทำงาน และการสืบข้อมูลย้อนกลับ รวมถึงการเก็บสถานการณ์ภาวะโภชนาการของเด็กๆ ในโรงเรียน ที่ตอนนี้ติดตามเป็นรายห้อง แต่ต่อไปจะมีการติดตามเป็นรายบุคคล และข้อมูลเหล่านี้เองที่ทำให้เราได้เห็นปัญหาทางโภชนาการของเด็กไทยได้ชัดเจนขึ้น

Active Learning ปฏิบัติการเพื่อสร้าง ‘เด็กไทยแก้มใส’

ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น เด็กไทยในวัยเรียนจำนวนมากยังได้รับอาหารกลางวันไม่เพียงพอ ทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ และความปลอดภัยของอาหาร จากการศึกษาพบว่ามีปัญหาทั้งการขาดสารอาหารและการบริโภคเกินพอดี ทำให้น้ำหนักและส่วนสูงของเด็กไม่เป็นไปตามเกณฑ์ มีปัญหาทุพโภชนาการ อ้วน ผอม และเตี้ย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเจริญเติบโต และการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ แม้จะมีหลายหน่วยงานได้ออกมาร่วมกันแก้ไข แต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมเด็กวัยเรียนทั้งประเทศได้

ด้วยปัญหานี้ ทำให้โรงเรียนในต่างประเทศหลายแห่งให้ความสำคัญต่อการจัดระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน เพื่อพัฒนาภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยของเด็กนักเรียน ซึ่งรัฐบาลในประเทศเหล่านั้นเห็นความสำคัญกระทั่งออกเป็นนโยบายของประเทศ มีมาตรการทางกฎหมาย และกำหนดระเบียบข้อบังคับที่ชัดเจนในการควบคุมมาตรฐาน คุณค่าทางโภชนาการ และชนิดอาหารในโรงเรียน เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ และบางมลรัฐของสหรัฐอเมริกา

ซึ่งในประเทศไทยเองนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) น้อมนำรูปแบบการพัฒนาอาหาร โภชนาการ และสุขอนามัยในโรงเรียน ตามพระราชดำริของของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละโรงเรียน ซึ่งทาง มอส. ก็ได้ร่วมกับ สสส. และสพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ก็ได้จัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สุขภาวะ ผ่านการปฏิบัติแบบ Active Learning ในเรื่องเด็กไทยแก้มใส เพื่อเป็นคู่มือการเรียนการสอนของครู ตามการจัดการบริหารจัดการ ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้’

“Active Learning ที่นำไปใช้ในโรงเรียน เกิดจากการเรียนรู้ของการทำงานในสองเฟสแรก โดยมีทีมของจังหวัดตากเป็นคนเสนอแนวคิด และมีนักวิชาการการศึกษาช่วยปรับ ซึ่งจะมี 4 กิจกรรมการเรียนการสอน คือ กินตามวัยแก้มใสสุขภาพดี หนูน้อยแก้มใสฉลาดเลือกฉลาดกิน หนูน้อยนักปรุง…ผักแปลงร่าง และเด็กไทยแก้มใส ปลูกพืชกินได้เป็นไม้ประดับ”

เมื่อคลี่ทั้ง 4 กิจกรรมออกมาดู จึงได้เห็นว่า ‘กินตามวัยแก้มใสสุขภาพดี’ คือการให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาวะโภชนาการตนเอง และการจัดการบริโภคอาหารที่มีสารอาหารเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถใช้วิชาคณิตศาสตร์มาคำนวณพลังงานและสารอาหารในแต่ละมื้อเปรียบเทียบตามเกณฑ์อายุได้ ‘หนูน้อยแก้มใสฉลาดเลือกฉลาดกิน’ เด็กๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการอ่านฉลากอาหารและการรู้จักเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่เลือกอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวที่จะทำให้เกิดโรคอ้วน

‘หนูน้อยนักปรุง…ผักแปลงร่าง’ จะทำให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะการประกอบอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพด้วยตัวเอง โดยเป็นอาหารรายการผักเพื่อส่งเสริมให้เด็กกินผักมากขึ้น และเด็กจะได้ทราบถึงแหล่งวัตถุดิบและวิธีการประกอบอาหารจากพืชผักที่ปลอดภัยจากสารเคมี รวมถึงรู้จักคุณค่าของอาหารรายการผักที่มีความหลากหลาย ส่วน ‘เด็กไทยแก้มใส ปลูกพืชกินได้เป็นไม้ประดับ’ คือการฝึกทักษะเกี่ยวกับการทำเกษตรในโรงเรียนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง การเลือกปลูกพืชที่เหมาะสมกับฤดูกาลหรือพื้นที่ โดยจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้น่าเรียน และปลูกไม้ประดับที่สามารถนำไปเป็นอาหารได้

“เราใช้วิธีลดการเรียนแต่ละคาบลง แล้วเอาเวลาที่เหลือในวันนั้นมาเพิ่มวิชาทักษะลงไปเป็นวิชาเรียนชั่วโมงสุดท้าย โดยโรงเรียนสามารถดีไซน์ได้เองว่าจะเอาอะไรมาใส่ในวิชานี้ ตัวชี้วัดคือการส่งเสริมให้เด็กกินผักและออกกำลังกายไม่ให้เกิดเนือยนิ่ง กินถูกหลักโภชนาการ ซึ่งจะต้องมีผักและมีสารอาหารอื่นๆ ด้วย”

ในจำนวนกว่า 100 โรงเรียนนั้น โรงเรียนบ้านป่าไม้สหกรณ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีนักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงม.สาม เป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดการอาหารกลางวัน เด็กไทยแก้มใส ที่จัดการด้วย ‘3×3 วิถีพอเพียงโมเดล’ โดยเริ่มจากการสร้างความมั่นคงทางด้านทักษะชีวิต เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านทักษะอาชีพและรายได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ที่สามารถเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ และปลอดภัยจากสารพิษ และเมื่อเกิดความมั่นคงทางด้านอาหารและสุขภาพ ก็จะส่งผลต่อความมั่นคงด้านทักษะชีวิต เป็นวงจรของความมั่นคง จะปลูกทุกอย่างที่กินได้ในพื้นที่ 3×3 วา ไม่น้อยกว่า 9 ชนิด ชนิดละ 3 ต้น เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และส่งเสริมให้ชุมชนใกล้เคียงโรงเรียนได้ทำด้วย

“โรงเรียนนี้มีพื้นที่ร้อยกว่าไร่ เขาปลูกอะไรได้เยอะมาก เรียกว่าเลี้ยงเด็กได้ 60-70 เปอร์เซ็นต์ แทบไม่ต้องซื้อวัตถุดิบจากข้างนอกเลย”

หรืออีกหนึ่งโรงเรียนอย่างโรงเรียนบ้านไหล่หินราษฎร์บำรุง จังหวัดลำปาง ที่คิดโครงการ ‘หนึ่งเมนู หนึ่งวงล้อ’ โดยให้เด็กแต่ละห้องคิดเมนูที่อยากทำ และให้เด็กปลูกวัตถุดิบที่จะใช้ประกอบอาหารทั้งหมดลงในหนึ่งล้อรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีการเพาะเห็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะกลายเป็นทักษะติดตัวเมื่อพวกเขาโตขึ้น

“ปัญหาที่เจอคือเด็กไม่ได้รักการทำเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ถามว่าเด็กทำได้ไหม เขาทำได้ แต่ด้วยความที่เขาเห็นพ่อแม่ทำเกษตรมา ก็มองว่าลำบาก หรือพ่อแม่บางคนก็มองว่า ฉันส่งลูกไปเรียนเพื่อให้เป็นเจ้าคนนายคน ไม่ได้ให้ไปเรียนเกษตร ถ้าให้เรียนทำการเกษตร ที่บ้านฉันทำเกษตรอยู่แล้ว จะต้องไปเรียนทำไม สิ่งที่เราต้องแก้ความเข้าใจของเขาคือ ทำให้เด็กรู้ว่าที่มาของอาหารที่เขากินมันมายังไง มันปลอดภัยยังไง และผักเหล่านี้มันไปเสริมกับโครงการอาหารกลางวันที่มีงบประมาณอยู่น้อย”

จากที่ทำงานมา ทีมงานได้พบว่าการให้เด็กได้รู้จักการปลูกผักตั้งแต่เด็ก จะทำให้เด็กเกิดการเติบโต เข้าใจธรรมชาติ และกิจกรรมนี้จะเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ในโรงเรียนชนบท และเด็กได้อีคิวเยอะ ส่วนโรงเรียนในเมืองพ่อแม่จะเน้นไอคิวมากกว่า

“อย่างที่โรงเรียนบ้านโคกจำเริญ จังหวัดสุรินทร์ มีนักเรียนคนหนึ่งที่มีปัญหาเรียนรู้ช้า เพื่อนๆ ได้ขยับไปชั้นอื่นแล้วแต่เด็กคนนี้ยังอยู่ชั้นเดิม ในทางกลับกันเขาเก่งมากในแง่ทักษะชีวิต เพราะเขาได้มีหน้าที่รับผิดชอบเลี้ยงไก่ เขาจะมาโรงเรียนแต่เช้าเพื่อให้น้ำเป็ดไก่ และรู้หน้าที่มากว่าในหนึ่งวันเขาต้องทำอะไรบ้าง จนได้เป็นวิทยากรช่วยครูเรื่องทำเกษตร ดังนั้นแม้เขาจะไม่ค่อยได้เรื่องวิชาการ แต่เขามีทักษะชีวิตที่จะทำให้เขาเอาตัวรอดได้เมื่อเขาโตขึ้นด้วยวิชาเหล่านี้ โดยเฉพาะวิชาเกษตรเป็นตัวช่วยเด็กสมาธิสั้นหรือเด็กพิเศษได้อย่างดีมากๆ ซึ่งพิสูจน์มาแล้วโดยโรงเรียนที่เอาผลการเรียนของเด็ก ที่จากเดิมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่ดี แต่พอเข้าโครงการเด็กไทยแก้มใส มาทำกิจกรรมต่างๆ พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเขาดีขึ้น คือดีขึ้นในแง่วิชาการ และสุขภาพดีด้วย เพราะเด็กไม่เครียด สมองปลอดโปร่ง มีอาหารการกินถูกหลักโภชนาการ เพราะอาหารสำคัญต่อการพัฒนาสมอง แต่เราไม่ได้ดูกันแค่ว่าอาหารมีโภชนาการครบมั้ย เราดูไปถึงห้องครัว เครื่องปรุง สุขลักษณะของแม่ครัว รวมทั้งสุขลักษณะของตัวเด็กด้วย”

ก้าวต่อไปของอาหารและโภชนาการเด็ก

“จากที่เราทำโครงการเด็กไทยแก้มใสมา แล้วเห็นแล้วว่าอะไรคือจุดเด่น อะไรคือจุดแข็ง จุดอ่อน อะไรคือโอกาส ดังนั้นเราก็ใช้ SWOT analysis เป็นตัวตั้งต้นในการทำงาน ตอนนี้เราวางเป้าไว้เลยว่าสิบปีข้างหน้าเด็กไทยทุกคนต้องได้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี ลดภาวะทุพโภชนาการและการเจ็บป่วย อันเนื่องมาจากอาหารและโภชนาการบกพร่อง ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“ซึ่งสิ่งนี้มันต้องมีมาตรฐาน ตอนนี้ทุกโรงเรียนและทุกหน่วยงานราชการเห็นชอบ แต่อย่าลืมว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เขาก็มีเกณฑ์ที่ต่างกัน สพฐ.มีเกณฑ์นักเรียนไทยสุขภาพดี เกณฑ์โรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวัน กรมอนามัยมีเกณฑ์โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนต้นแบบโภชนาการ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีเกณฑ์สุขบัญญัติ โรงเรียนสุขบัญญัติ และมีเกณฑ์ของท้องถิ่นอีก ของเราก็มีเกณฑ์เด็กไทยแก้มใส มีการประเมินคุนภาพ มีตัวชี้วัด เราจึงประชุมหารือกัน แล้วขอตั้งเป็นอนุกรรมการที่อยู่ภายใต้อาหารแห่งชาติ มีพ.ร.บ.คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๑ รองรับ ซึ่งเราเป็นคนร่างเอง ในอนุกรรมการชุดนี้จะรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาระบบอาหารในโรงเรียน แล้วยังมีผลการศึกษาของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เสนอรายงานขึ้นมาฉบับหนึ่ง โดยที่ได้ข้อมูลจากที่ท่านลงไปศึกษาในพื้นที่กับข้อมูลที่เราให้ไป ออกเป็นมติครม.เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ว่าแต่ละหน่วยงานจะต้องมาร่วมมือกันทำอะไรบ้าง

“และจะมีทีมเลขานุการจากสี่หน่วย คือ สสส. สพฐ. กรมอนามัย สำนักโภชนาการ และจาก อย. จากสี่หน่วยนี้จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสามคณะ ซึ่งเราเป็นประธานและเป็นคณะทำงานพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานระบบการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา ที่จะต้องเชื่อมโยงวัตถุดิบจากเกษตรกรชุมชน เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ปลอดภัย การขนส่งสั้น เพื่อผักจะได้ยังสด คุณภาพดี และปลอดภัยเพราะรู้จักแหล่งผลิต ผู้ผลิตก็รู้ว่าจะขายให้ใครกิน

“เราต้องการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ขุมชน ให้คนที่ตกงานกลับบ้าน หรือเด็กรุ่นใหม่ที่กลับบ้านไปทำเกษตรที่ปลอดภัยกัน”

“ในคณะชุดที่หนึ่งนี้จะมีเกณฑ์มาตรฐานอยู่ห้าหมวด หมวดที่หนึ่งคือเรื่องนโยบาย ผู้บริหารโรงเรียนต้องกำหนดนโยบายโดยดูบริบทโรงเรียนด้วยว่ามีลักษณะอย่างไร นับถือศาสนาอะไร วัฒนธรรมการกินเป็นอย่างไร เพื่อให้นโยบายสอดคล้องกับเรื่องการจัดการอาหารและโภชนาการ และแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการของเด็ก เชื่อมโยงชุมชน และต้องมีแผนปฏิบัติงานให้เห็น

“สองคือเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย ที่เริ่มตั้งแต่ตัววัตถุดิบ น้ำที่ใช้ น้ำดื่มของเด็ก นมซึ่งเป็นอาหารว่าง ถัดมาคือเรื่องสถานที่ แม่ครัว ภาชนะ ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับความสะอาดที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และไวรัส และจากสารเคมีอันตราย หมวดที่สามจะเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารที่เด็กจะได้รับ ที่ไม่ใช่แค่อาหารหลักห้าหมู่เท่านั้น แต่ในห้าหมู่นั้นจะมีรายละเอียด เช่น เด็กต้องได้กินงา หรือถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งมีโบรอนที่ช่วยเรื่องสมองและความจำบ้าง ได้กินปลาเล็กปลาน้อยที่มีแคลเซียม ได้กินปลาที่มีกรดอะมิโน เพราะจำเป็นต่อการเติบโตของอวัยวะภายในและพัฒนาการทางสมอง ไม่ใช่กินแต่เนื้อสัตว์อย่างเดียว

“หมวดที่สี่คือเรื่องการจัดปัจจัยแวดล้อมเชิงสร้างสรรค์ เช่น จัดกระบวนการเรียนการสอนแบบ Active Learning จัดสภาพแวดดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนของเด็ก ให้ได้ศึกษาสัมผัสทางสายตา ทางมือ ทางสมอง เช่น จัดตลาดนัดสีเขียว จัดเวทีอภิปรายเรื่องอาหารให้เด็ก การจำหน่ายอาหารโรงเรียนต้องไม่มีน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ และหมวดที่ห้าหมวดสุดท้าย เป็นการประเมินและติดตามภาวะโภชนาการของเด็กว่าเด็กดีขึ้นมั้ย ยังมีภาวะอ้วนเตี้ยผอมขาดสารอาหารอย่างไร ที่ตอนนี้จะให้มีการติดตามรายบุคคลและรายชั้นเรียน โดยครูประจำชั้น แม่ครัว และผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหากรณีมีปัญหาทุพโภชนาการ

“เราอยากสร้างมาตรฐานนี้ให้เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างในประเทศไทย และเป็นที่ดูงานของ WHO และ FAO”

“หากมาตรฐานทั้งห้าหมวดนี้จะมีปัญหาในเชิงกฎหมาย เช่น เราบอกว่าส่งเสริมให้โรงเรียนจัดซื้อผักผลไม้จากชุมชน แต่ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างมันไปไม่ได้ ก็ต้องไปแก้ หรือทุกวันนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ใช้วิธีแก้ปัญหาเรื่องการเงินคือจ้างเหมาบริการ เราจะรู้ได้ไงว่าครัวเขาสะอาดมั้ย ก็ต้องมีการไปตรวจประเมิน ผู้ประกอบการต้องมาขึ้นทะเบียนและมีการตรวจเหมือน GMP ตรวจเหมือนผู้ผลิตอาหารเลย ซึ่งเราต้องทำงานร่วมกับ อย. และกรมอนามัย คือ พ.ร.บ.สาธารณสุขและท้องถิ่น เพราะเรากระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแล จะเห็นว่ามีอีกหลายขั้นตอน

“พอเป็นมาตรฐานแล้วในอนาคตจะเป็นภาคบังคับ ไม่ทำไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของชีวิตเด็ก งานสุขภาพไม่ใช่งานของกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายเดียว แต่เป็นของทุกคน เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้ด้านวิชาการกับด้านการรักษา ส่วนโรงเรียนและทุกคนมีหน้าที่ป้องกันและสร้างรั้วมาป้องกันตัวคุณเองไม่ให้ตัวคุณป่วย งานอาหารและโภชนาการมันเหมือนการสร้างภูมิคุ้มกันทั้งในแง่ทัศนคติต่ออาหาร พฤติกรรม นิสัยการกินที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กๆ และการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เมื่อโตขึ้นเขาสามารถไปสอนลูกได้

“เราอยากผลักดันเรื่องอาหารและโภชนาการเด็กเป็นวาระแห่งชาติ”

เครดิตภาพ: โครงการเด็กไทยแก้มใส