ก๊าซชีวภาพ หรือ Biogas เป็นพลังงานสะอาดที่เกิดจากการที่เรานำของเสีย เช่น มูลสัตว์ น้ำเสียจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงขยะชุมชน เช่น ขยะเศษอาหาร ของเหลือจากการเกษตร ซากส่วนต่างๆ ของพืช มาผ่านกระบวนการหมัก เพื่อให้เกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่เหมาะสม แล้วเราก็จะได้ก๊าซชีวภาพที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าหรือความร้อนได้ ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตและใช้ก๊าซดังกล่าวอย่างแพร่หลาย ทั้งในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงาน อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ รวมถึงชุมชนทั่วไป

เรื่องดีๆ ของก๊าซชีวภาพ

ก๊าซชีวภาพเป็นก๊าซที่มีมีเทนเป็นส่วนประกอบหลัก (ร้อยละ 65) รองลงมาคือคาร์บอนไดออกไซด์ (ร้อยละ 30) และก๊าซอื่นๆ เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ไนโตรเจน ไฮโดรเจน ฯลฯ จึงมีคุณสมบัติที่ติดไฟได้ดี ทำให้ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนแก๊สหุงต้มหรือเป็นแหล่งพลังงานความร้อน และใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ และอย่างที่รู้กันว่าทั้งมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญ

การกักก๊าซเหล่านี้ไว้ในระบบหมักแล้วนำมาใช้งานจึงเหมาะสมอย่างยิ่งในยุคที่ปัญหาโลกร้อนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้อีกทางด้วย

นอกจากนี้ ก๊าซชีวภาพยังช่วยลดปัญหามลพิษทางน้ำ โดยสามารถบำบัดและลดสารปนเปื้อนของสารอินทรีย์ในน้ำเสียได้ตามที่กฎหมายกำหนด ลดปัญหากลิ่นเหม็นและแมลง รวมถึงเป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในการเพาะปลูกและปรับปรุงดิน ซึ่งพลังงานก๊าซชีวภาพ 1 ลูกบาศก์เมตร สามารถทดแทนพลังงานในรูปต่างๆ ได้ดังนี้ ก๊าซหุงต้ม (LPG) 0.46 กิโลกรัม น้ำมันเบนซิน 0.67 ลิตร น้ำมันเตา 0.55 ลิตร พลังงานไฟฟ้า 1.20 กิโลวัตต์ชั่วโมง

ทำได้ไหมหากคิดจะทำก๊าซชีวภาพใช้ในครัวเรือน

การผลิตก๊าซชีวภาพไว้ใช้ในครัวเรือน เป็นการกำจัดขยะอินทรีย์และได้ผลพลอยได้เป็นแก๊สสำหรับหุงต้ม ซึ่งเป็นคนละแบบกับก๊าซชีวภาพจากการทำปศุสัตว์ แต่ก็อาศัยหลักการเดียวกันเพียงแต่วัตถุดิบคนละประเภท การทำก๊าซชีวภาพเอาไว้ใช้เองในครัวเรือนก็มีหลากหลายรูปแบบ เช่น แบบฝาลอย แบบโอ่ง แบบถังโพลีเอธิลีน หรือแบบถุงหมักพลาสติก ซึ่งใครที่สนใจอยากทำเอง สามารถไปดูข้อมูลต่อได้ที่ ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพใช้ในครัวเรือน จะมีวิธีทำเป็นขั้นตอนให้ไว้อย่างละเอียดเลย

และปัจจุบันนี้ ในต่างประเทศนั้นมีการทำชุด Home Kit ซึ่งราคาตกอยู่ราวๆ 30,000-40,000 บาท อุปกรณ์นี้จะสามารถใส่เศษอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ได้วันละ 6 ลิตร แต่ถ้าเป็นพวกมูลสัตว์ก็จะใส่ได้ถึง 15 ลิตร เทียบกับชุดถังหมักของไทยที่ใส่ได้ปริมาณพอๆ กัน แต่ถ้าประกอบเองจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000-4,000 บาทเท่านั้นเอง

ข้อควรระวังในการใช้งานก๊าซชีวภาพ

ในการใช้งานก๊าซชีวภาพ ควรจะต้องคอยดูไม่ให้ระบบผลิตก๊าซชีวภาพชำรุด เสื่อมสภาพ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดก๊าซชีวภาพรั่วไหล เกิดการสะสมตัวในห้องเก็บอุปกรณ์และถังหมัก เมื่อมีการสะสมทำให้ก๊าซออกซิเจนไม่เพียงพอ กลายเป็นพื้นที่อับอากาศ เมื่อมีคนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ก็จะสูดก๊าซพิษเข้าไปเป็นอันตรายได้

อีกกรณีที่อาจจะเกิดขึ้นได้คือ ก๊าซชีวภาพถูกกักเก็บมากเกินไป ทำให้เกิดแรงดันที่สูงขึ้น ถ้าตัวถังหมักไม่แข็งแรง หรือผ้าคลุมบ่อมีการเสื่อมสภาพก็จะทำให้เกิดการฉีกขาดได้ ถ้ามีแหล่งประกายไฟอยู่ใกล้ๆ ก็อาจจะเกิดการระเบิดขึ้นได้

ดังนั้นเราจึงควรมีการดูแลบำรุงรักษาระบบด้วยดังต่อไปนี้

1. เมื่อใช้งานจนถึงช่วง 7 เดือน ถึง 1 ปี ให้ทำการปล่อยกากออกทางช่องระบาย ซึ่งสามารถสังเกตได้จากเมื่อเติมแล้วไม่ค่อยล้น แสดงว่ามีเศษไปตกตะกอนอุดตัน หรือดูได้จากอัตราการเกิดแก๊สน้อยลง แสดงว่ามีการอุดตันเช่นเดียวกัน

2. ไม่ควรใส่เศษอาหารเปรี้ยวในถัง เพราะจะทำให้แบคทีเรียไม่ทำงานเนื่องจากค่าความเป็นกรดด่างไม่เหมาะสม เมื่อมีค่ากรดในถังเกินไปจะสังเกตได้ว่าเกิดแก๊สน้อย

3. พยายามอย่าให้ถังกระทบกระเทือนมาก เพราะกาวจะกะเทาะออกได้จนเกิดการรั่วเมื่อเกิดแก๊ส ก็ตรวจสอบรอยรั่วแล้วก็สามารถใช้กาวทาซ่อมได้

โดยสรุปแล้วการทำก๊าซชีวภาพใช้เองนั้น เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดขยะในบ้านได้ดี แล้วยังเกิดประโยชน์ในการประหยัดค่าใช้จ่ายในบ้านได้อีกด้วย โดยคนไทยเราก็มีความรู้เรื่องด้านนี้อยู่มาก และมีหลายที่ที่เปิดให้เราสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ เช่น ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หรือศูนย์กสิกรรมธรรมชาติในหลากหลายที่ หรืออย่างปกาสัย รีสอร์ต ก็เป็นสมาชิกกลุ่มแนวหน้าของโครงการ Zero Carbon Resorts เป็นต้น

ภาพประกอบ: missingkk