เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมองไม่เห็นตอนจบ งาน TEDxBangkok ปี 2020 จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ให้เข้ากับยุคที่เรายังต้องรักษาระยะห่างกันไว้ก่อน ภายใต้แนวคิด Awake หรือ ‘การตื่นรู้’ หรือที่มีชื่อเต็มว่า TEDxBangkok 2020 ‘Awake’ Into the New Destination โดยพาร์ตหนึ่งของงานจัดขึ้นในแบบ Leisure Center หนึ่งในกิจกรรมหลักของงาน ที่เปิดกลุ่มย่อยขึ้นโดยทีมอาสาสมัคร ซึ่งจะพาชาว TED เดินทางออกไปสำรวจตัวตน ตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัว และลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอใคร

ในฐานะ community partner ชาว Greenery. จึงขออาสาชวนชาว TED มาสร้างประสบการณ์กรีนไปด้วยกัน ด้วยการเปิดหลักสูตรเร่งรัดสู่หนทาง มี (อาหารกรีน) กิน มี (ผ้าไขขี้ผึ้ง) ใช้ อย่างกรีนภายในแค่ครึ่งวัน กับกิจกรรม ‘G101 หลักสูตรกรีนให้ได้ กินให้ดี ฉบับมือใหม่หัดกรีน’ เมื่อ 23 สิงหาคม 2563 บริเวณโซน ECOTOPIA  ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่

เราเริ่มวงคุยกันด้วยบรรยากาศสบายๆ กับการแบ่งปันประสบการณ์ที่ทุกคนสามารถร่วมกรีนกันได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์พกพาติดตัวที่จะช่วยลดการสร้างขยะพลาสติกในชีวิตประจำวัน อย่างถุงผ้า กระบอกน้ำ กล่องข้าว หลอดพกพา ฯลฯ ที่ต่างคนต่างก็มีเรื่องเล่าและความรู้มาแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นกันเอง

จากนั้นเราชวนกันเข้าสู่คลาสกรีนให้ได้ กินให้ดี ที่เมื่อตั้งต้นด้วยการกินกันแล้ว อาหารตามสั่งยอดฮิตประเภทคิดอะไรไม่ออกให้บอก ‘ข้าวกะเพรา’ จึงได้รับเกียรติยกมาเข้าคลาสวันนี้ และไหนๆ ก็ได้ร่วมจัดกิจกรรมกับ TEDxBangkok 2020 ทั้งที เราเลยนึกสนุกจับกะเพราไก่ไข่ต้มมาเล่นซ่อนแอบกันซะหน่อย ในเมนูที่มีชื่อเต็มยศว่า ‘โอนิกิริอวบๆ ไส้กะเพราไก่ไข่ต้มห่มงาขี้ม้อน’

คอร์สหัดกรีนสนุกๆ ดำเนินไปด้วยวิทยากรความรู้แน่นๆ จากทีมงาน Greenery. ซึ่งใครที่เทกคอร์สนี้ไม่ทันก็อย่าเสียใจไป เพราะเราได้ทำสรุปเนื้อหาวิชาในวันนั้นไว้ ให้ทุกคนมาร่วมรับบทมือใหม่หัดกรีนเรียบร้อยแล้ว

แนะนำพระเอก นางเอก และนักแสดงร่วม

การเลือกวัตถุดิบในหลักสูตรกรีนนั้น คีย์เวิร์ดง่ายๆ ที่นักกินกรีนต้องขีดไฮไลท์ไว้ก็คือ เลือกใช้วัตถุดิบอินทรีย์ เพราะนอกจากเราจะได้กินของดีแล้ว การอุดหนุนและสนับสนุนเกษตรกรอินทรีย์ จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้ มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และโลกจะเปลี่ยนได้ด้วยการกินอย่างยั่งยืน

พระเอกของเมนูนี้คือข้าวกล้องบือซูของชาวปกาเกอะญอ ข้าวไร่ที่ปลูกในที่ราบสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ลักษณะจะอวบคล้ายข้าวญี่ปุ่น เราเอาข้าวกล้องบือซูมาหุงผสมกับข้าวเหนียวกล้องพันธุ์เวชวิสุทธิ์ จะได้ข้าวที่พอดิบพอดีต่อใจเหมาะกับการเอามาปั้นเป็นที่สุด

ส่วนบทนางเอกของเราจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากไข่ต้มที่เหมาะกับการซ่อนแอบเป็นไส้อยู่ในโอนิกิริ เราเลือกไข่จากฟาร์มไก่ที่เลี้ยงไก่แบบปล่อย ก็จะได้ไข่ต้มที่ปลอดภัยเป็นที่สุด ทางด้านนักแสดงร่วมที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือซูเปอร์ฟู้ดอย่างงาขี้ม้อน ที่ชาวปกาเกอะญอจะปลูกแซมไปกับข้าวในไร่ เมื่อตัวเอกทั้งหมดแสตนด์บายเตรียมเข้าฉาก ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของมือใหม่หัดกรีนแล้ว เตรียมรับบทแม่ครัวพ่อครัวในขั้นตอนต่อไปได้เลย

กำกับการแสดงอย่างกรีน

เริ่มต้นผัดกะเพราไก่โดยมีทริกต์เล็กๆ คือให้ผัดแบบแห้งเข้าไว้ เพราะเราจะซ่อนกะเพราเป็นไส้ ดังนั้นถ้าน้ำเยอะไปจะซึมออกมานอกโอนิกิริ และทำให้ปั้นเป็นก้อนยาก คลาสนี้เราโชคดีได้ทานกะเพราไก่รสกลมกล่อม และผักเคียงปลอดภัย ฝีมือ ป๋วย-อัจจิมา ศรีปรัชญาอนันต์ แห่งร้าน Little Sunshine Cafe ที่ผัดเสร็จมาให้แล้ว ชาวเราเลยมีกะเพราไก่ที่พร้อมจะมูฟออนไปรับบทกันต่อที่ขั้นตอนถัดไปได้เลย

แพนกล้องไปที่การผสมรสชาติข้าวให้พร้อมปั้น และขอสปอตไลท์ส่องไปที่วัตถุดิบรับเชิญสุดแสนจำเป็นอย่าง น้ำส้มสายชูข้าวหอมมะลิสูตรหมัก ดอกเกลือ (ที่ใช้ดอกเกลือเพราะรสชาติจะไม่เค็มปี๊ด แต่จะติดหวานนิดๆ แถมยังดึงรสชาติข้าวออกมาได้เป็นอย่างดี) และน้ำตาลอ้อย เมื่อวัตถุดิบรับเชิญมากันครบแล้ว ให้นำทั้งสามมาผสมกันจนได้รสชาติที่ชอบ ทีนี้ก็ค่อยๆ ผสมน้ำนี้ลงในข้าวที่หุงไว้แล้ว เคล็ดลับคือ ให้ใช้ข้าวอุ่นพอดี จะปั้นโอนิกิริได้ดี เมื่อชิมจนได้รสชาติถูกปาก ทีนี้เราก็มาประกอบร่างโอนิกิริกัน

วิธีทำ

1. ตักข้าวที่ผสมแล้วใส่ในพิมพ์โอนิกิริ อัดข้าวให้แน่นเกือบถึงครึ่งหนึ่งของพิมพ์ แล้วเอาช้อนทำหลุมตรงกลางไว้นิดหน่อยสำหรับใส่กะเพรา


2. ตักกะเพราใส่ตรงกลางให้เป็นไส้ จำไว้ว่าโอนิกิริเราจะเป็นข้าวปั้นสวยๆ นวลๆ รอบด้าน ดังนั้นต้องใส่ไส้ทั้งหมดเฉพาะด้านในตรงกลางเท่านั้น อย่าเลยไปถึงขอบเด็ดขาด

3. วางไข่ต้มฝานชิ้นเล็กลงบนกะเพราไก่อีกที
4. ตักข้าวใส่ให้แน่นพอดีพิมพ์ ทีนี้ก็เอาบล็อกอีกด้านของพิมพ์มากดให้เป็นทรงโอนิกิริ แล้วก็เอาโอนิกิริออกจากพิมพ์ได้เลย

5. โรยงาขี้ม้อนบนโอนิกิริ (แต่ถ้าใครอยากให้ด้านบนสวยขาวเนียนแบบไร้รอยไร้จุดดำ ก็ให้ใส่งาขี้ม้อนในไส้ไปเลย) ทีนี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยพร้อมงับแล้ว!


สวัสดิการน้ำดื่ม

กฎเหล็กอีกข้อของหลักสูตรกรีนคือกินอย่าให้เหลือ พยายาม zero waste ให้มากที่สุดในทุกขั้นตอน เพราะฉะนั้นเราจะมางับข้าวปั้นแกล้มด้วยเครื่องดื่มสูตรเด็ดซึ่งทำจากไซรัปก้านกะเพราอินทรีย์ ที่เหลือใช้จากการผัดกะเพรากัน เมนูที่ว่านั้นก็คือ น้ำเสาวรสโซดาไซรัปก้านกะเพราอินทรีย์

วิธีทำ

1. ต้มน้ำให้เดือดแล้วใส่ก้านกะเพราอินทรีย์ที่ล้างแล้วลงไป สักพักให้ตักก้านออก ใส่น้ำตาลไม่ฟอกสีพอให้มีรสชาติหวานตามต้องการแล้วปิดเตา รอให้หายร้อนแล้วตักน้ำไซรัปใส่ในขวดแก้ว


2. แช่ก้านกะเพราลงในขวดไซรัป ใส่ตู้เย็นแช่ไว้ 1 คืนแล้วเอาก้านกะเพราออก ทีนี้ก็ได้ไซรัปพร้อมใช้แล้ว
3. ทำน้ำเสาวรสสดโดยใส่ดอกเกลือเข้าไปนิดหน่อย ตามด้วยไซรัปปริมาณตามชอบ แล้วเทโซดา ใส่น้ำแข็ง แค่นี้ก็ชื่นใจ

นอกจากน้ำสูตรเด็ดแล้ว เรายังชวนกัน zero waste อีกขั้น ด้วยน้ำเปล่าบรรจุกระป๋องอะลูมิเนียมที่รีไซเคิลได้ 100% นอกจากดีต่อโลกแล้วยังดื่มสดชื่นอีกด้วย

แผนกคอสตูมดีไซน์

มีกินเสร็จแล้ว เราก็ต้องมีใช้อย่างกรีนกันด้วย ของแถมสุดพิเศษของคลาสคือหลักสูตรการทำ Beeswax Wrap หรือผ้าไขขี้ผึ้งสารพัดประโยชน์ ที่เอามาห่อชามอาหารแช่ในตู้เย็น ห่อขนม หุ้มผลไม้ หรือเอามาห่อโอนิริกิที่ทำเสร็จเมื่อสักครู่นี้ก็ยังได้

คลาสนี้เราได้รับการสนับสนุนผ้าคอตตอน 100% จาก moreloop ธุรกิจแสนดีที่นำเอาผ้าเหลือใช้หรือ dead stock จากอุตสาหกรรมโรงงานมาต่อยอด จัดระบบเป็นธุรกิจให้กับลูกค้าที่มีความต้องการ ซึ่งนอกจากจะลดขยะผ้าได้แล้วยังลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้อีกมหาศาล

การทำผ้าไขขี้ผึ้งนั้นง่ายมาก แค่มีไขผึ้งธรรมชาติ ที่ขูดชีส ผ้าคอตตอน 100% (ผ้าคอตตอนจากธรรมชาติจะทำให้ไขผึ้งเข้าไปแทรกตัวได้เยอะและง่าย คุณสมบัติของไขผึ้งจะทำงานได้เต็มที่) กระดาษไข และเตารีด ก็พร้อมลงมือได้แล้ว

วิธีทำ

1. ใช้ที่ขูดชีสขูดไขผึ้งธรรมชาติให้เป็นฝอยเล็กๆ ให้ได้ปริมาณพอประมาณ
2. เอากระดาษไข (ขนาดใหญ่กว่าผ้าคอตตอน) รองด้านล่าง แล้ววางผ้าคอตตอนลงไป


3. โรยไขผึ้งฝอยลงไปให้ทั่วผ้า ไม่ต้องเยอะมาก ถ้าเยอะเกินจะทำให้ผ้าแข็งเกินไป จัดรูปทรงยาก
4. วางกระดาษไขทับลงบนผ้าที่โรยไขผึ้งแล้ว จากนั้นเปิดเตารีดที่ความร้อนปานกลาง


5. ค่อยๆ รีดจากกึ่งกลางโดยไม่ต้องกดแรงหนัก ค่อยๆ ลากเตารีดไปให้ไขผึ้งละลายทั่วผ้า
6. ถ้าส่วนไหนไม่มีไขผึ้ง ให้เปิดกระดาษไขแล้วเติมไขผึ้งเข้าไป จากนั้นก็รีดทับต่อได้เลย
7. พอรีดจนไขผึ้งละลายทั่วทั้งผืนผ้าแล้วก็ดึงผ้าออกจากกระดาษไข ถือผ้ากางตากลมสัก 10 วินาที แค่นี้ก็ได้ผ้าไขผึ้งสารพัดประโยชน์แล้ว

จบหลักสูตรเบื้องต้นของมือใหม่หัดกรีน เรายังได้แชร์ไอเดียกับเพื่อนร่วมคลาส ถึงกระบวนกรีนภาคปฏิบัติที่ง่ายแสนจะง่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้ทำตามและบอกต่อถึงทุกคนที่อยากเป็นเพื่อนร่วมกรีนไปด้วยกัน 🙂

ภาพถ่าย: เอกพล ภารุณ