เราพบกับป้ายมดน้อยหน่อย ที่ชวนให้เราเลือกระดับความหวานของเครื่องดื่มที่กำลังจะสั่งในร้านกาแฟแห่งหนึ่งที่จังหวัดกระบี่ ถามไถ่ดูเลยได้ความว่า ร้านกาแฟร้านนี้เป็น 1 ในจำนวน 12 ร้าน ที่เข้าร่วมโครงการของ ‘เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน’ โครงการที่ชวนให้เราลดความหวานในเครื่องดื่มลงสักหน่อย เพื่อให้ได้น้ำตาลในระดับที่ ‘พอดี’ กับที่ร่างกายเราต้องการ เพราะความหวานที่เราเผลอรับจนเกินพอดีอย่างไม่รู้ตัวหรือไม่เคยใส่ใจนั้น กำลังแอบซุ่มทำร้ายเราอยู่เงียบๆ

ทำไมเรื่องแสนหวานจึงพานขม?

ของหวานคือนิพพาน ใครหลายคนพยักหน้าหงึกหงักเห็นด้วยกับประโยคนี้ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกเหนื่อยหรือหิวกระหาย หรือวันใดที่ร่างกายหรือสมองเหนื่อยล้า เราจะโหยหาของว่างหรือเครื่องดื่มหวานๆ มากำนัลตัวเองให้สาใจ แล้วเราจะรู้สึกดี กระชุ่มกระชวยขึ้นมาเป็นปลิดทิ้ง

ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชคชัย ที่ปรึกษาเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ให้เหตุผลถึงเรื่องนี้กับเราว่า กลไกของรสหวานก็คือ เมื่อเรากินน้ำตาลอิสระเข้าไป กระเพาะจะดูดซึมน้ำตาลเข้าเส้นเลือดได้ทันทีโดยไม่ต้องย่อย จากนั้นเส้นเลือดก็จะทำหน้าที่ลำเลียงน้ำตาลเข้าไปสู่ทุกเซลล์ทุกอณูในทุกอวัยวะของร่างกายเรา พลังงานจากความหวานจะไปสะสมที่เซลล์และทำให้เรารู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นมาทันที

มิน่าเล่า! เราอุทานในใจเมื่อมองเห็นแผนภาพของกลไกนี้ แล้วคำอธิบายต่อมาก็พาเราชะงักกึก เมื่อหมอสุธาอธิบายต่ออีกว่า

พลังงานที่ได้รับจากน้ำตาลนั้น เป็นเพียง ‘พลังงานว่างเปล่า’ และไร้ประโยชน์

“ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Empty Calories ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะก่อผลเสียในระยะยาว เพราะการดูดซึมน้ำตาลต้องอาศัยอินซูลินซึ่งผลิตจากตับอ่อนมาจับน้ำตาลวิ่งเข้าไปที่เซลล์ ถ้าน้ำตาลเยอะขึ้นเรื่อยๆ อินซูลินจับมาได้ไม่หมด ร่างกายจะกระตุ้นให้ตับอ่อนสร้างอินซูลินเยอะขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตับอ่อนต้องทำงานเยอะขึ้นตับก็จะล้า แล้วผลิตอินซูลินที่ไม่แอ็กทีฟออกมา ทำให้จับน้ำตาลได้น้อย น้ำตาลจึงไปสะสมอยู่ในกระแสเลือดเยอะ ทำให้พอเราไปเจาะเลือดจึงพบค่าน้ำตาลสูง มีผลในระยะยาวคือคนนี้จะเป็นโรคเบาหวาน เพราะอินซูลินจับน้ำตาลได้ไม่เท่ากับที่เรากินเข้าไป”

เพื่อลดการเกิดโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จึงก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 ด้วยความตั้งใจว่าการรณรงค์ของเครือข่ายจะช่วยให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมมาบริโภคน้ำตาลในระดับที่เหมาะสม แล้วตอนนี้สถานการณ์การบริโภคน้ำตาลก็น่าเป็นห่วง เพราะมีการศึกษาพบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเกินกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกมากถึง 3 เท่า

จากเด็กสู่ผู้ใหญ่ ถึงจะวัยไหนก็ต้องลดหวานลงมาหน่อย

โครงการที่จะผลักดันให้ความหวานลดลงจากการกิน เริ่มต้นตั้งแต่การผลักดันให้เอาน้ำตาลออกจากนมผงเด็ก ซึ่งทำได้สำเร็จในนมผงสูตรต่อเนื่อง หรือ follow-on formula สำหรับเด็ก 6 เดือนไปจนถึงขวบครึ่ง ซึ่งการเข้าไปขับเคลื่อนที่อย. ส่งผลให้มีการบังคับใช้เป็นกฎหมายในเวลาต่อมา จากนั้นก็ขยับอายุจากเด็กทารกไปยังเด็กเล็ก เด็กอนุบาล เด็กวัยเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ติดเครื่องดื่มรสหวานเป็นจำนวนมาก โดยทำงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทั่วประเทศ จัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้เป็น โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ไปสู่โรงเรียนอ่อนหวาน โรงอาหารอ่อนหวาน ส่วนในภาคของผู้บริโภคทั่วไป ก็มีการผลักดันให้มีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาล และตามมาด้วยการรณรงค์ลดความหวานในร้านเครื่องดื่ม ในโครงการ ‘ร้านกาแฟอ่อนหวาน’ ที่เรากำลังตัดสินใจอยู่ในเวลานี้ว่า ดีกรีความหวานเท่าไรดี ที่เราจะยังกินหวานได้อร่อย และดีต่อร่างกายแบบไม่หวานเกินด้วย

ร้านกาแฟอ่อนหวาน ที่ชวนให้เราปรับลิ้นให้รับรสหวานแต่พอดี

75 เปอร์เซ็นต์ 50 เปอร์เซ็นต์ และ 25 เปอร์เซ็นต์ คือดีกรีความหวานที่ร้านกาแฟอ่อนหวานในโครงการนี้ เปิดทางเลือกให้คนซื้อสามารถเลือกความหวานน้อยที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นค่าความหวานที่ลดลงจากระดับปกติของร้าน คนที่เคยติดหวาน ต้องปรับตัวเองให้ยอมรับกับรสชาติที่ถูกใจน้อยลงในช่วงแรกเพื่อแลกกับสุขภาพที่ดีกว่าเดิมในระยะยาว แต่เชื่อเถอะว่าร่างกายของเรานั้นมหัศจรรย์นัก และพร้อมจะปรับตัวตามใจเราเสมอ ถ้าจิตใจเรามั่นคงพอ

“ความหวานเป็นเรื่องของความเคยชิน ถ้าเราลดความหวานลงไปเรื่อยๆ ลิ้นของเราก็จะปรับตัวในการลดโทนการรับความหวานลงไปเรื่อยๆ ได้ด้วยเหมือนกัน”

หมอสุธาบอกทริกต์ง่ายๆ สำหรับคนที่ยังทำใจตัดขาดจากความหวานไม่ได้

สูตรกาแฟอ่อนหวานของร้านกาแฟที่เข้าร่วมโครงการ จะมีการทำความตกลงถึงสูตรที่ต้องได้รับการปรับเปลี่ยนโดยความสมัครใจของเจ้าของร้าน ว่าความหวานระดับไหนที่รับได้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับยอดขายและกลุ่มลูกค้าของร้านด้วย แต่ก็จะมีเกณฑ์ความหวานที่ถูกกำหนด ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจค่าความหวานด้วยเครื่องวัดว่าควรจะอยู่ไม่เกินกี่บริกซ์ในแต่ละสูตร

“หวานแค่ไหนที่ได้รับความนิยมที่สุดคะ” เราถามเจ้าของร้านถึงสูตรความหวานที่ขายดีที่สุด และได้คำตอบกลับมาว่า 50 เปอร์เซ็นต์กำลังดี เมื่อลองสั่งตามนั้น จึงพบว่ามันเป็นสูตรความหวานที่เรามักกำชับเสมอก่อนหน้านี้เวลาสั่งในร้านเครื่องดื่มว่า “ขอหวานน้อย” โล่งใจขึ้นมาหน่อยที่รู้ตัวเองว่าที่ผ่านมาก็ไม่ได้กินหวานเกินมาตรฐานที่ร่างกายต้องการ

จากข้อมูลของ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า เพื่อหลีกเลี่ยงโรคเบาหวานแล้ว เราควรบริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา แต่รู้ไหมว่า ในน้ำอัดลมขนาด 325 มิลลิลิตร ล้วนให้น้ำตาลเกินกว่าความเหมาะสมในการบริโภค ในน้ำอัดลมแบบน้ำดำ มีน้ำตาล 8.5 ช้อนชา ในน้ำสีมีน้ำตาล 10.25 ช้อนชา และแบบน้ำใสมีน้ำตาลมากถึง 11.5 ช้อนชา ซึ่งในปริมาณที่พบมากที่สุดนี้ เราต้องใช้เวลาในการวิ่งนาน 50 นาที หรือถูบ้าน 100 นาที เพื่อการเผาผลาญเลยทีเดียว ได้รู้อย่างนี้แล้ว เห็นทีว่างดจะดีกว่า หรือหากต้องการความหวานที่น้อยลง เราเลือกดื่มเครื่องดื่มที่เลือกความหวานได้เอง ก็เป็นเซฟโซน

ปัจจุบันนี้มีร้านกาแฟอ่อนหวานที่เข้าร่วมโครงการกับเครือข่ายอยู่จำนวน 126 ร้าน กระจายตัวอยู่ใน 17 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรปราการ ชัยนาท สิงห์บุรี นครปฐม สระบุรี กำแพงเพชร พะเยา ลำปาง สุรินทร์ ร้อยเอ็ด กระบี่ ตรัง สงขลา สุราษฎร์ธานี พัทลุง และภูเก็ต ซึ่งเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการนั้นจะเริ่มต้นจากความสมัครใจ เพราะจะต้องมีการปรับสูตรเครื่องดื่มให้อยู่ในมาตรฐานอ่อนหวาน

ในการเข้าโครงการร้านกาแฟอ่อนหวานนั้น มีข้อกำหนดอยู่ว่า ในร้านจะต้องมีเมนูเครื่องดื่มลดน้ำตาลให้เลือก มีแก้วขนาดเล็กเป็นทางเลือกเพื่อลดปริมาณน้ำตาลที่ผู้บริโภคได้รับ ใช้น้ำตาลซองขนาด 4 กรัม หรือให้ผู้ซื้อตักน้ำตาลเอง โดยวางเต็นท์การ์ด ‘หวานพอดีที่ 4 กรัม’ ที่ข้างจุดตักน้ำตาล มีการประชาสัมพันธ์ไปยังลูกค้าในเรื่อง ‘หวานน้อยสั่งได้’ ที่ผู้ขายจะต้องมีการเชิญชวนลูกค้าให้ฉุกคิดก่อนตัดสินใจสั่ง

ถึงแม้ตอนนี้เครื่องดื่มที่เราสั่งจะอยู่ในเกณฑ์หวานน้อยอย่างไม่ได้ตั้งใจ แต่ใช่ว่าเราจะเผอเรอไปกับการกินหวานได้ตามอำเภอใจ เพราะหากกินหลายเมนู ปริมาณความหวานที่เราได้รับก็จะทบเท่าเข้าร่างกายไปอีก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นผู้มีโรคเบาหวานประจำตัวในภายภาคหน้า เห็นทีว่าเรายังคงต้องปรับลิ้นให้ชินกับรสหวานที่น้อยลง เพื่อที่เราจะยังอร่อยกับความหวานได้ โดยที่เรื่องหวานๆ จะไม่หวนมาทำร้ายเราในอนาคต

ภาพประกอบ: Monsty Planet