เป็นอีกครั้งที่ Greenery. จัดทริปชวนเพื่อนๆ ที่รักการกรีน ออกไปหาประสบการณ์นอกตำรา เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องราวของการกินดีอยู่ดีในวิถีที่ปลอดภัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปด้วย โดยครั้งนี้เรามีมิสชั่นสุดสนุกที่อัดแน่นด้วยความรู้ที่ไม่เป็นความลับ กับ ‘Greenery Trip 02 ตอน Hidden Urban Farms บุกฟาร์มลับกลางเมือง’

7 พฤศจิกายน 2563 ชีวิตของพวกเราเริ่มต้นกันแต่เช้าที่ ฮิพอินทรีย์ ฟาร์มวิลล์ ของคุณโอ๋ ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล ที่แปลงสนามฟุตบอลเก่าย่านลาดพร้าว มาเป็นพื้นที่เรียนรู้เกษตรผสมผสานแบบพอเพียง ซึ่งมีต้นไม้หลากหลายให้ได้เก็บกินตลอดปี ตั้งแต่หม่อน มะนาว มะพูด กล้วยน้ำหา กล้วยเทพพนม ไชยาหรือคะน้าเม็กซิกัน ฟ้าทลายโจร ละมุด มะรุม ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีเล้าเป็ดและเล้าไก่ที่เลี้ยงไว้เก็บไข่สดๆ กินอีกด้วย

คุณโอ๋เล่าว่าปีกแรกของฟาร์มนี้ เริ่มจากการแปลงดิน ขุดหลุม ปลูกกล้วย ปลูกผักไว้กินเอง จนกระทั่งได้ต้นโหระพาอิตาลี ที่กลายมาเป็นหัวใจและผลิตภัณฑ์หลักของที่นี่ โดยการนำไปแปรรูปเป็นซอสเพสโต้ เขาแชร์เคล็ดลับการปลูกให้พวกเราว่า สิ่งสำคัญคือว่าการปรุงดิน โดยใช้สูตรปุ๋ยหมักวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แล้วใช้เศษพืชสลับกับชั้นดินและขี้วัว ปล่อยให้จุลินทรีย์ช่วยย่อย และเพื่อให้ได้ความลึกของหลุมหมัก 1 เมตรแบบฉบับคนเมือง ฟาร์มนี้จึงใช้วิธีขุดหลุมลงไป 70 เซนติเมตร บวกกับกองหมักด้านบน 30 เซนติเมตร แล้วรองด้านล่างสุดด้วยเศษไม้

เขาพาเราไปดูแปลงทดลองสำหรับคนเมืองอีกแปลงหนึ่ง ที่ไม่มีพื้นที่มากพอจะขุดหลุมลึก เลยลองลดสัดส่วนเหลือ 50 เซนติเมตร โดยการก่ออิฐบนพื้น แล้วปูพื้นด้วยท่อนไม้และกิ่งไม้ สลับกับชั้นขี้วัว ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน ก็พบว่าท่อนไม้ใหญ่ๆ ช่วยให้มีจุลินทรีย์ช่วยย่อยไม้ได้ดี และเพิ่มพื้นที่ระบายอากาศ การขุดโพรงจึงเป็นอีกเคล็ดลับที่คุณโอ๋ได้จากประสบการณ์จริง และเขาก็ได้พบว่า จากต้นมะกรูดที่ไม่เคยแตกกิ่ง พอขุดหลุมให้มีอากาศเข้าได้ เพียง 3 สัปดาห์ก็เริ่มแตกกิ่งแล้ว อีกสิ่งคือขี้วัวนั้นนอกจากจะเป็นปุ๋ยแล้ว ยังมีจุลินทรีย์จากกระเพาะวัวที่ช่วยย่อย หากใครกลัววัชพืชที่มากับขี้วัว เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องแลก แต่จากลงมือทำ เขาก็พบว่าขี้วัวนมออร์แกนิกจะไม่ค่อยมีปัญหา และขี้วัวยังเหมาะกับคนเมืองอีกด้วย เพราะจะไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นตามมา

เดินทัวร์ฟาร์มจนได้แรงบันดาลใจมาเต็มกระเป๋าเเล้ว ถึงเวลาลงมือปรุงดินเพาะต้นอ่อนทานตะวันกันคนละกระถาง รวมทั้งย้ายกล้าพันธุ์ผักสวนครัวจากกระถางเล็กลงกระถางใหญ่ ซึ่งมีทั้งจิงจูฉ่าย กะเพรา โหระพา สะระแหน่ ที่เมื่อได้ลงมือทำดูแล้วก็ไม่ได้ยาก แต่ส่วนที่ยากที่สุดคือการปรุงดินและการปลูกซึ่งก็มีขั้นตอนที่ต้องรู้ใจต้นไม้อยู่

ได้ทักษะปลูกผักแบบคนเมืองกันแล้ว เราไปต่อกันที่ทักษะการปรุง ที่คุณโอ๋ชวนมาซ้อมทำน้ำสลัดเตรียมไว้กินคู่กับผักสดที่เราปลูกกัน สูตรและขั้นตอนของคุณโอ๋นั้นก็มีอยู่ว่า ตวงสัดส่วนตามใจเชฟ เพื่อให้น้ำสลัดของเราได้รสชาติไม่ซ้ำใคร เรียกว่าใครชอบแบบไหน ก็ใส่ส่วนผสมตามชอบนั่นเอง อย่างสูตรนี้เชฟโอ๋ของเราเริ่มจากนำเมล็ดสนและเมล็ดมะม่วงคั่วในกระทะแล้วพักไว้ จากนั้นนำไข่ไก่ต้ม มายองเนส ซอสพริก น้ำส้มและพริกไทย ลงไปปั่นรวมกัน เติมน้ำมันมะกอกเพื่อเพิ่มความมัน และน้ำผึ้งเพื่อเพิ่มรสชาติตามชอบ ใส่เมล็ดสนและเมล็ดมะม่วงลงไปปั่นพอหยาบ หรือใครจะใส่ทีหลังเพื่อให้ได้สัมผัสกรุบกรอบก็ตามใจ แค่นี้ก็ได้น้ำสลัดโฮมเมดรสนวลลิ้นแล้ว

อาหารมื้อเที่ยงของเราพิเศษด้วยวัตถุดิบจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ทั้งผักสด เนื้อไก่ ไข่ และประมงพื้นบ้าน เป็นมื้อที่ไม่สร้างขยะเลยแม้แต่ชิ้นเดียว เพราะอาหารนั้นจัดเสิร์ฟมาในกล่องสเตนเลส ส่วนขนมไทยเสิร์ฟมาในกระทงใบตอง จึงเป็นมื้อที่ทั้งอร่อย ทั้งดีต่อสุขภาพ และรักษ์โลกอีกด้วย

พวกเราได้นั่งล้อมวงคุยกัน และฟังคุณโอ๋แชร์สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำฟาร์มซึ่งลองผิดลองถูกมาตลอด 9 ปีว่า “ตอนแรกเราคิดว่าเราจะปลูกผักที่กินเองได้ทั้งหมดในพื้นที่ 1 ไร่ สุดท้ายเราพบว่าเราก็ต้องไปซื้อบางอย่างมาเพิ่ม แต่อย่างน้อยเราก็รู้แล้วว่าเราต้องทำยังไง เลือกยังไง คือเราเลือกเป็น”

เพราะการทำฟาร์ม ทำให้คุณโอ๋ได้รู้จักกับเพื่อนๆ เเละเครือข่ายคนทำเกษตรอินทรีย์ที่แลกเปลี่ยนความรู้ และผลิตภัณฑ์กันอยู่ตลอด เขาบอกว่าการทำเกษตรอินทรีย์นั้นเป็นการยากที่ในหนึ่งฟาร์มจะทำให้ได้ดีทุกอย่าง การรวมตัวกันแล้วนำองค์ความรู้ที่แต่ละคนถนัดมาต่อยอดแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นอีกกลไกสำคัญในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน

“สำหรับเรา ใบรับรองไม่ได้สำคัญเท่าเรารู้จักคนทำ คนปลูก เพราะเราจะรู้ว่าเขาทำยังไง คนนี้ไม่ใส่สารเคมีแน่ๆ ต้องเจอให้ถูกกลุ่ม แล้วจะได้ของคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล”

หากใครเป็นมือใหม่ที่อยากเข้าวงการออร์แกนิก ก็สามารถเริ่มจากมาเข้ากลุ่ม Greenery Challenge หรือมาเดินช้อปปิ้งที่ตลาดเขียว ทำความรู้จักกับกลุ่มเกษตรกรคนรุ่นใหม่กันได้เลย และหากใครสนใจผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจากฮิพอินทรีย์ ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่เพจปันอยู่ปันกิน หรือมาช้อปปิ้งในตลาดเขียวที่ฟาร์มจัดได้ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนเลย

จากช่วงเช้าที่ฮิพอินทรีย์ เราไปต่อช่วงบ่ายกันที่ ทีวีบูรพา ลิตเติ้ลฟาร์ม สวนเกษตรอินทรีย์ลับกลางเมือง ที่เปิดให้ชาวกรีนเนอรี่ได้เข้าชมเป็นทีมแรก โดยมีคุณเช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ รอต้อนรับพวกเราอยู่

ฟาร์มแห่งนี้ใช้พื้นที่หลังออฟฟิศทีวีบูรพา สร้างเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ โดยน้อมนำพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาบริหารจัดการสวนเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน ออกแบบพื้นที่และระบบจัดการน้ำ โดยมีทั้งโรงเรือนปลูกผักสลัด โรงเพาะพันธุ์ต้นฟิก แปลงผักสวนครัวนานาชนิด แปลงพันธุ์ไม้ที่รวบรวมพันธุ์ไม้จากทั่วประเทศและใช้องค์ความรู้การเกษตรจากปราชญ์ชาวบ้านมาปรุงดิน มีการทำปุ๋ยหมักใช้เอง และใช้ระบบโซลาร์เซลล์ทั้งสวน

และด้วยแต่เดิมที่นี่เป็นที่นา และเป็นดินทราย ขั้นแรกของการทำสวนจึงต้องเริ่มต้นด้วยการปรับสภาพดินให้เหมาะแก่การปลูกพืช ไฮไลท์ของที่นี่คือการใช้น้ำหมักจาวปลวกมาปรุงดิน หลักการก็คือในมูลปลวกจะมีจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายไม้ได้ดี จึงนำจุลินทรีย์จากจาวปลวกมาหมักกับข้าวสุกคลุกกับน้ำตาล ทิ้งไว้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นนำมาเป็นหัวเชื้อในการทำน้ำหมัก ใช้น้ำหมักมาทำปุ๋ย แล้วนำปุ๋ยที่ได้มาปรุงดิน โดยที่นี่ใช้กิ่งกระถินมาบด วางซ้อนเป็นชั้นสลับกับขี้วัวแล้วราดด้วยน้ำหมักจาวปลวก ทิ้งให้จุลินทรีย์ย่อยจนกลายเป็นปุ๋ย

คุณเช็คเล่าเสริมว่า “หลักการของเกษตรอินทรีย์ คือการทำให้ระบบนิเวศกลับคืนมา แล้วให้ระบบดูแลตัวเอง” ดังนั้นที่นี่จึงไม่ใช้สารเคมีเลย แต่ใช้วิธีให้ธรรมชาติดูแลกันเอง โดยใช้น้ำหมักเพื่อให้จุลินทรีย์ตัวร้ายและตัวดีถ่วงสมดุลกัน หรือกำจัดแมลงด้วยวิธีธรรมชาติ

นอกจากน้ำหมักจาวปลวกที่ช่วยย่อยมูลสัตว์ทำปุ๋ยแล้ว ที่นี่ยังใช้สูตรอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหมักปลา ช่วยให้ผลไม้มีรสหวาน น้ำหมักฮอร์โมนไข่หรือโยเกิร์ต ช่วยให้ออกดอกออกผลงาม ส่วนเทคนิคการกำจัดแมลงก็ใช้น้ำหมักสูตรธรรมชาติ เริ่มจากการไล่แมลงด้วยน้ำส้มควันไม้ น้ำหมักข่า หรือน้ำหมักเหล้า พริก สะเดา ยาสูบ ฉีดตอนหัวค่ำ หากเป็นชนิดที่ต้องฆ่า ก็จะใช้ไหลแดงซึ่งเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มาผสมกับสารจับใบ เช่น น้ำยาล้างจาน ฉีดพ่นตอนเช้า การที่ต้องใส่สารจับใบก็เพื่อให้ตัวน้ำหมักเกาะที่ใบพืช แมลงจะได้ไม่มาทำลายพืช โดยผสมเพียงเล็กน้อยให้พอมีฟอง แล้วฉีดพ่นให้ทั่ว


เคล็ดลับอีกอย่างของทีวีบูรพา ลิตเติ้ลฟาร์ม คือหลักการเลี้ยงดินตามเกษตรทฤษฎีใหม่ “เคล็ดลับอยู่ที่ดิน ดินดีอยู่ที่มูลสัตว์ แล้วมูลสัตว์ที่นำมาใช้ต้องไม่ใช่มูลสัตว์สด ต้องนำมาหมักกับน้ำหมักก่อน โดยเฉพาะการปลูกผักใบเขียว ใช้ดินมูลสัตว์ดีที่สุด”

เมื่อสังเกตดูในสวน จะเห็นเลยว่าดินบนทางเดินจะต่างจากดินในแปลงผักอย่างมาก ซึ่งกว่าจะกลายมาเป็นสวนเกษตรที่เขียวชอุ่ม ออกดอกออกผลอย่างที่เห็นวันนี้ ต้องผ่านการทดลอง ทุ่มเท เเละเฝ้ารออย่างอดทน เหมือนกับที่คุณเช็คตอบเมื่อเพื่อนร่วมทริปส่งคำถามไปยังเขาว่า การทำเกษตรกับทำรายการคนค้นคน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร “ต้องใช้ฉันทะเหมือนกัน” เขาตอบสั้นๆ แต่ใจความนั้นมากมายด้วยความหมาย

ทีวีบูรพา ลิตเติ้ลฟาร์ม นับเป็นสวนผักคนเมืองในสเกลที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่เราเคยเห็น ที่นี่ทำการปลูกพืชเชิงทดลอง ตั้งแต่โรงเพาะต้นฟิก การเพาะมันม่วงญี่ปุ่นในกระถาง โรงเพาะผักสลัด ซึ่งเลือกเพาะในโรงเรือนเพื่อกันนก และมีระบบรดน้ำอัตโนมัติทุกชั่วโมง ถัดมาเป็นแปลงผักที่มีตั้งแต่ดอกดาวเรือง ถั่วฝักยาว มะเขือม่วง แตงร้าน มะเขือเทศ ซึ่งทดลองปลูกแบบกลับหัว โดยใส่ต้นอ่อนไว้ที่ใต้กระถางแล้วให้ต้นโตเลื้อยลงพื้นดิน เพื่อให้ประหยัดพื้นที่และสามารถปลูกต้นอื่นในกระถางได้อีก เมื่อเดินอ้อมมาอีกด้านก็เจอแปลงผักที่เดินชิมได้ตลอดสองข้างทาง ตั้งแต่ใบชะมวง ต้นตะลิงปลิง ผักเม็กหรือเสม็ดแดงซึ่งใบมีรสชาติเหมือนชมพู่ม่าเหมี่ยว ส่วนต้นที่ใบฝอยคล้ายผักชีลาวนั้นเราเดาผิดเพราะความจริงแล้วคือหน่อไม้ฝรั่ง นี่ก็เป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

การมาทริปกับ Greenery. ครั้งนี้ นอกจากจะได้ความรู้เรื่องการทำสวนผักเบื้องต้นฉบับคนเมือง เทคนิคการเกษตรจากผู้ที่ลงมือทดลองทำจริง เรายังได้ทำความรู้จักกับผักอีกหลายชนิดที่ปกติจะได้เห็นแค่ในจาน แต่ไม่เคยรู้ว่ามีที่มาหรือหน้าตาของต้นเป็นยังไง

และที่อิ่มเอมใจที่สุดคงจะเป็นการได้เจอเพื่อนร่วมทริปหัวใจกรีน ที่มาเเลกเปลี่ยนประสบการณ์ปลูกผักริมระเบียงคอนโด การปลูกดีกินดี และเทคนิคในการใช้ชีวิตอย่างน่ารักกับโลก

ภาพถ่าย: ศวิตา แสงน้ำเพชร