หากหมุนล้อเข้าหมู่บ้านเกษมสำราญ 2 ในซอยปรีดี 71 แล้ว การมองหาบ้านป้าป้อม-ศิริกุล ซื่อต่อชาติ นั้นไม่ยากเลย บ้านไหนที่มีกระถางผักเรียงเป็นชั้นเป็นแนวแน่นอยู่รอบรั้ว มั่นใจได้เลยว่า ที่นั่นแหละคือฐานที่มั่นของ ‘ป้าป้อมปลูกผัก’

‘เด็ดได้ไม่ต้องขอ ไม่พอก็ลองปลูกนะคะ’ คือคำที่ป้าป้อมเชิญชวนให้ผู้คนที่สัญจรผ่านหน้าบ้าน เด็ดผักปลอดสารพิษที่ปลูกกินเองด้วยสองมือนั้นกลับไปปรุงอาหารได้ หรือถ้าจะมากไปกว่านั้นคือเกิดแรงบันดาลใจไปปลูกบ้าง เพื่อจะได้มีผักดีๆ ไว้กินดีเหมือนการตั้งต้นของเธอ

ป้าป้อมปลูกผักมาได้สิบปีแล้ว นานเท่ากับที่เริ่มมีการรณรงค์ให้คนเมืองมาหันมาปลูกผักกินเอง เป็นการปลูกผักจากใจ ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกว่าอยากปลูก ไม่ได้ปลูกเพราะตัวเองหรือคนใกล้ตัวไม่สบายจึงมาสนใจผักปลอดสาร ซึ่งการเดินไปพบกับกิจกรรมสอนปลูกผักของสวนผักบ้านคุณตาครั้งแรกนั้น ชนเข้ากับความตั้งใจของตัวเองพอดี เพราะส่วนตัวนั้นป้าป้อมคือแม่บ้านที่ดูแลครอบครัวและทำกับข้าวให้ทุกคนในบ้านกินเองอยู่แล้ว และถ้าทุกคนในบ้านจะได้กินผักที่ปลูกเอง ทั้งสด สะอาด และปลอดสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องลงมือปลูกเอง โดยเริ่มต้นจากในห้องครัวของบ้าน

การเริ่มต้นจากศูนย์ ย่อมต้องเริ่มด้วยสิ่งที่ง่ายที่สุด ‘เพาะถั่วงอก’ จึงเป็นผักชนิดแรกที่ป้าป้อมลงมือ และผักบุ้งที่เพาะง่ายแค่หวานเมล็ด จากนั้นสวนผักของป้าป้อมก็เริ่มเพิ่มจำนวน ทั้งพริกขี้หนู กะเพรา โหระพา ที่ซื้อเป็นกระถางมาจากตลาดนัด แล้วมาเปลี่ยนดินที่ตัวเองได้เรียนรู้การปรุงมา ขอบระเบียงบนชั้นสองของบ้าน ค่อยๆ เต็มพื้นที่ไปด้วยพืชผักในกระถาง ค่อยๆ ต่อชั้นวางริมกำแพงรั้วขึ้นเป็นขั้น จนเดี๋ยวนี้รอบบ้านกลายเป็นกำแพงสวนผัก ที่ไม่ได้กินแค่บ้านป้าป้อมคนเดียว เพราะป้าป้อมเผื่อแผ่ด้วยการให้คนที่ผ่านไปมาได้เก็บไปกินด้วย กลายเป็นว่าพืชผักของป้าป้อมนอกจากจะเป็นอาหารกายแล้ว ยังเป็นอาหารใจได้อีก เพราะผักสดของป้าป้อมได้เข้าไปเชื่อมประสานหัวใจของเพื่อนบ้านอย่างไม่มีกำแพงอย่างเมื่อก่อน แถมริมกำแพงของเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้าม ก็ยังเผื่อแผ่กลายเป็นสวนกระถางให้ป้าป้อมเอาผักไปลงปลูกด้วย

ป้าป้อมเล่าว่า กิจกรรมใหม่ที่เริ่มทำเมื่อสิบปีก่อน เดี๋ยวนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตป้าไปแล้ว ไม่ใช่งานอดิเรก และไม่ใช่งานประจำ แต่มันหลอมรวมเป็นตัวเป็นตน เป็นชีวิตประจำวัน ที่ทุกวันของป้าป้อม คือการทำสวนอยู่นอกตัวบ้านและรอบรั้วบ้าน จากที่เคยใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมันกับคนในหมู่บ้าน เดี๋ยวนี้ป้าป้อมรู้จักกันไปทั้งซอยเพราะป้าป้อมต้องออกไปรดน้ำดูแลผักทุกวัน ใครผ่านไปมาก็ได้ทักทายแบ่งปันผักให้ และยิ่งได้ออกกำลังกายด้วยการวิ่งจากหน้าบ้านไปท้ายซอยแล้ว บ้านไหนที่เคยเห็นว่าไกลก็เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดไปหมด

ถ้าใครได้พูดคุยกับป้าป้อม จะสัมผัสได้ถึงความนิ่งเย็น และเผื่อแผ่ความสดชื่นมาทางน้ำเสียงและรอยยิ้มที่แต้มอยู่บนใบหน้าเสมอ แต่กว่าจะ ‘เย็น’ ได้อย่างนี้ ป้าป้อมก็เคยผ่านความ ‘ร้อนรน’ มาก่อน และธรรมชาติการเติบโตของผัก ก็สอนให้ป้าป้อมค่อยๆ คลายด้านลบของอารมณ์ ที่เกิดความคาดหวังในผลผลิตอย่างคนร้อนวิชา

“ห้าปีแรกเรามีความคาดหวังกับผลผลิตของตัวเอง พอไม่ได้แล้วเราเอาอารมณ์เข้าไปใส่ ต้องแสวงหาว่าทำยังไงให้มันได้ แต่ตอนหลังๆ มันไม่จำเป็นน่ะ” ป้าป้อมเล่าในวันที่ความคาดหวังลดลงเมื่อห้าปีแรกผ่านไป จากที่ร้อนรนใจก็เบา จากที่ผักเคยมีหนอนมาชอนใบ แทนที่จะหาอะไรมาฉีดไล่ก็แค่เด็ดทิ้ง ความคิดใหม่ที่เข้ามาแทนที่คือ การปลูกผักควรจะอยู่บนความผ่อนคลาย ความผ่อนคลายนี้ไม่ใช่ดูดายจนเฉื่อยชา แต่ทว่าเป็นการขวนขวายตามกำลัง เมื่อตายก็เพาะใหม่ เข้าใจธรรมชาติ ให้ใจยอมรับในสิ่งที่เกิด เพราะการปลูกผักควรจะเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขและจรรโลงใจมากกว่าทำให้กังวล

“ความอยากเมื่อห้าปีแรกนี่เกิดขึ้นกับเรามาก เป็นห้าปีที่เอาไม่อยู่ จะเอาที่ที่วัชรพลมาทำสวน จนแฟนทักถึงได้คิดได้ว่าระยะยาวเราจะเป็นยังไง เพราะเราเป็นคนชอบเที่ยวต่างจังหวัดครั้งละห้าวันสิบวัน ชีวิตเราคงจะยากขึ้น เราก็ใช้วิธีบุฟเฟ่ต์เอาละกัน อยากเสพเมื่อไรก็ไปหาที่ที่เขาทำสิ่งนี้ ไปเสพจากของคนอื่นเอา”

โชคดีที่ไม่ลงหลักปักสวนจริงจังในตอนนั้น เพราะสุดท้ายแล้วป้าป้อมก็ได้เสพจนอิ่มตัว ด้วยก่อนหน้านี้มีรีสอร์ตเล็กๆ ในปากช่องชวนป้าป้อมไปทำสวนในรีสอร์ต ได้ไปรดน้ำ ไปสอนคนทำปุ๋ย เลี้ยงไส้เดือน ปรุงดิน ได้ทำอะไรเต็มที่อย่างที่คิด สวนนี้พับโครงการไปเมื่อสองปีก่อนเมื่อเจ้าของรีสอร์ตปล่อยให้คนมาเช่าต่อ การทำสวนเดี๋ยวนี้ของป้าป้อม จึงเป็นการทำที่บ้านอย่างเต็มที่ ทั้งยังมีเวิร์กช็อปให้คนเข้ามาเรียนรู้กันอีก ซึ่งเป็นจังหวะชีวิตที่ลงตัวพอดี และไม่ใช่แค่เรื่องการปลูกผักเพื่อให้ตัวเองมีอาหารที่ดี เพราะการปลูกผักของป้าป้อมได้กลายมาเป็นสิ่งที่ทำให้คนในบ้านคุ้นเคยกับการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมไปด้วย จากการเก็บเศษอินทรียวัตถุเหลือใช้มาปรุงดิน การแยกขยะพลาสติกเพื่อส่งไปรีไซเคิลต่อ

สิ่งหนึ่งที่ป้าป้อมบอกกับคนที่มาเรียนรู้การปลูกผักกับเธออยู่เสมอคือ อย่าทำด้วยความรู้สึกอยาก แต่ให้ทำด้วยใจที่จะทำจริงๆ เพราะอารมณ์อยากจะไม่อยู่กับเรานาน ถึงวันหนึ่งความอยากจะหายไปได้ แต่หาตั้งใจจะทำ จะทำได้ต่อเนื่อง แล้วจะเห็นความสุขจากการปลูกผักได้จริงๆ อย่างที่ป้าป้อมเห็น

เรื่องเล่าโดย: ศิริกุล ซื่อต่อชาติ แห่ง ‘ป้าป้อมปลูกผัก’ แม่บ้านที่สร้างแหล่งอาหารของตัวเองโดยใช้พื้นที่ทั้งในบ้านและรอบกำแพงบ้าน เจ้าของผลงานหนังสือ ‘ปลูกผักกันเถอะ’ และ ‘My Organic Life’ และเปิดบ้านจัดเวิร์กช็อปให้คนเมืองที่อยากปลูกผักได้เข้ามาเรียนรู้อยู่เนืองๆ รวมถึงเวิร์กช็อปทำอาหารในนาม ‘ห้องครัวคนเมือง’ ในวาระต่างๆ

ภาพประกอบ: Paperis