เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อเป็นโดมิโน เอฟเฟ็กต์ กระทบไปถึงทุกๆ วงการ ทำให้ปี 2020 ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายได้มีโอกาสมาทบทวนว่า เราแต่ละคนจะทำให้ตัวเอง คนรอบข้าง สังคม และโลกของเรามีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายขึ้นได้ยังไงบ้าง ไม่เว้นแม้แต่วงการแฟชั่น ซึ่งในเดือนเมษายนของทุกปีจะเป็นเดือนแห่ง Fashion Revolution หรือการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยกันเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น โดยในปี 2021 สัปดาห์แห่ง Fashion Revolution Week จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19-25 เมษายน พร้อมกันทั่วโลก

เล่าย้อนกันสักนิดสำหรับคนที่อาจจะยังไม่คุ้นหูกับกิจกรรมนี้ ว่า Fashion Revolution Week ก็คือสัปดาห์ที่คนในวงการแฟชั่นจะมารวมตัวกันเพื่อนำเสนอสิ่งที่แต่ละคนได้ลงมือทำเพื่อปฏิวัติวงการแฟชั่น โดยเริ่มมีมาตั้งแต่เหตุการณ์โรงงาน Rana Plaza ในประเทศบังคลาเทศได้ถล่มลง เมื่อวันที่ 24 เมษายน ปี 2013 ซึ่งเป็นฐานแรงงานราคาถูกในการผลิตเสื้อผ้าป้อนให้บรรดา Fast Fashion แบรนด์ดังต่างๆ ที่ผู้บริโภคทั่วโลกรู้จักกันดี ทำให้มีผู้ที่ทำงานในโรงงานเสียชีวิตในครั้งนั้นถึง 1,138 คน และมีผู้ที่บาดเจ็บสาหัสอีกมากมาย การเคลื่อนไหวนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อผลักดันให้เราทุกคนตั้งคำถามเวลาจะซื้อเสื้อผ้าทุกครั้งว่า ใครเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าให้เรา เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ทำมาจากอะไรบ้าง เสื้อผ้าแต่ละชิ้นที่ได้มาส่งผลกระทบแค่ไหนระหว่างการผลิตและมาถึงมือเรา เพื่อให้แบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ไม่ละเลยถึงการรับผิดชอบรอบด้านในการผลิตคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าที่มาเร็วไปเร็วแต่ละครั้งของตน

และปี 2021 นี้ Fashion Revolution ก็ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 โดยเพียงแค่ช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายทั้งเรื่องของภัยธรรมชาติทั่วโลก เรื่องของโรคระบาด ไปจนถึงเรื่องความยุติธรรมทางสังคม

วงการแฟชั่นจึงหันมาให้ความหมายใหม่กับการทำเสื้อผ้าให้หลากหลายแต่เรียบง่าย ออกแบบเพื่อให้เข้าได้กับทุกคนแม้ว่าจะต่างรูปร่าง ต่างเพศสภาพ

รวมถึงใช้วัสดุหมุนเวียนในการผลิต และมีดีไซน์ที่สามารถนำมาสวมใส่ได้ตลอด

นอกจากนี้บรรดาดีไซเนอร์ยังคำนึงถึงสุขภาวะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คน มีการพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่ควรจะได้รับการปกป้องดูแล จากพลาสติกตกค้างในอุตสาหกรรมแฟชั่น หรือการเปลี่ยนแปลงระบบซื้อ-ขาย ขนส่ง ให้รักษ์โลกมากขึ้น และการใช้ความสร้างสรรค์ของคนในวงการ เพื่อให้เสื้อผ้าช่วยสื่อถึงความสัมพันธ์กันของผู้คนกับธรรมชาติ

ดีไซน์มาเพื่อทุก Body fit

Diverse Design เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและน่าจับตามอง เมื่อเหล่าดีไซเนอร์น้องใหม่หลายแบรนด์ได้หันมาออกแบบเสื้อผ้าที่เข้าได้กับทุกๆ คน (For all kinds of humans fit) แทนที่จะออกแบบตามคำจำกัดความเดิมอย่าง ‘เสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงรูปร่างผอม (Women-Slim fit)’ หรือ ‘เสื้อผ้าสำหรับผู้ชายรูปร่างผอม (Men-Slim fit)’ รวมไปถึงการใส่รายละเอียดของวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้คนที่หลากหลายลงไป และเป็นดีไซน์ที่ไม่มีการระบุเพศ (Gender-free/Gender-neutral clothing) เพื่อสนองเทรนด์ความสนใจของผู้บริโภคในยุคนี้ และเพื่อลดความฟุ่มเฟือยของทรัพยากรด้วย

“ทำไมเราจะต้องมีเสื้อเชิ้ตแยกของผู้หญิงแบบหนึ่งและของผู้ชายอีกแบบด้วย ในเมื่อใครๆ ก็ใส่เสื้อเชิ้ตแบบนี้ได้”

ไอเดียนี้คือเบื้องหลังของคอนเซ็ปต์ Inclusive and Sustainable ของแบรนด์น้องใหม่จากฮ่องกงชื่อว่า AndAll ที่เปิดตัวเสื้อผ้าแบบ Gender-Free ที่ทุกๆ คนก็ใส่ได้ เขาเลือกใช้เส้นใยที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Biodegradable fabric) และวัสดุหมุนเวียนในอุตสาหกรรม (Circular materials) อย่างการปั่นเส้นใยที่ได้จากไม้ยูคาลิปตัสรีไซเคิลในโรงงานไม้ ที่ได้รับการรับรองแล้ว การลดปริมาณการใช้น้ำในการผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พริ้นติ้งในการพิมพ์ลายลงบนผ้า ออกแบบเป็นดีไซน์ที่ร่วมสมัย สามารถนำมาสวมใส่ได้เรื่อยๆ ทุกซีซั่น และเพราะผลิตจากวัสดุชนิดเดียว (Mono material) จึงทำให้เสื้อผ้าเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายโดยไม่มีเส้นใยพลาสติกตกค้างเมื่อหมดอายุการใช้งาน

“เราอยากให้คนในอุตสาหกรรมแฟชั่น หันมาตระหนักถึงการเชื่อมโยงกันของธรรมชาติกับเรื่องของความยั่งยืน รวมทั้งมาพูดคุยกันเรื่องทัศนคติทางเพศสภาพ (Gender stereotypes) เราเลยผลิตเสื้อเชิ้ตที่เน้นให้เหมาะกับรูปร่างที่หลากหลายของผู้คนที่สวมใส่ แทนที่จะเป็นการระบุเพศสภาพของผู้สวม” Christine Yu ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้า AndAll อธิบาย

เมื่อเป้าหมายคือการคิดใหม่เกี่ยวกับวิธีการผลิตและบริโภค AndAll จึงทำเสื้อเชิ้ตออกมาทั้งหมด 7 ขนาดในหลายๆ แพทเทิร์นเพื่อให้เข้าได้กับทุกๆ สรีระ

รวมถึงใช้แพ็กเกจจิ้งที่ทำจากถุงผ้าและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เพื่อไม่ให้มีพลาสติกหลงเหลือในทุกขั้นตอน ทั้งยังเปลี่ยนจากการลดราคาสินค้าในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งประจำปีที่บรรดาแบรนด์ต่างๆ ชอบทำ เป็นการร่วมมือกับองค์กร One Tree Planted เพื่อบริจาคเงินบางส่วนไปปลูกต้นไม้ เมื่อลูกค้าสมัครเป็นสมาชิกรับโปรชัวร์สินค้าออนไลน์ของทางแบรนด์ หรือช่วยแนะนำเพื่อนต่อๆ กันให้มาอุดหนุน

นอกเหนือไปจากเรื่องการผลักดันให้แบรนด์เสื้อผ้าหันมาใส่ใจเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โอบล้อมเรื่องของความหลากหลายแล้ว ทางฝั่งอเมริกาก็มีแบรนด์เสื้อผ้าคนรุ่นใหม่อย่าง Reformation ที่ได้หันมานำร่องในการพูดถึงเรื่องการเหยียดชนชาติ (Racism) จากการเคลื่อนไหวของ Black Lives Movement และปรับปรุงเรื่องดีไซน์กับไซส์เสื้อผ้าให้ครอบคลุมรูปร่างของผู้คนแต่ละแบบ แทนที่จะแบ่งแยกเป็นกลุ่มๆ ตามเดิม

ผลิตน้อยลง แต่มีความหมายมากขึ้น

การอุดหนุนเสื้อผ้าที่ผลิตภายในประเทศ (Locally made) ก็เป็นอีกเทรนด์ที่จะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เพราะการใช้เสื้อผ้าที่ผลิตในท้องถิ่น จะทำให้คนซื้อมั่นใจได้ว่าแบรนด์นั้นแบรนด์นี้ประกอบกิจการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ง่าย หลีกเลี่ยงการสนับสนุนการใช้แรงงานราคาถูกเกินไปและไม่เป็นธรรม ดังเช่นเหตุการณ์โรงงานผลิตเสื้อผ้าถล่มที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และเพราะเรามีเสื้อผ้าล้นโลกมากเกินไปจากการผลิตที่มากเกินพอดี  มีเสื้อผ้าที่ไม่ได้รับการสวมใส่จำนวนมากที่ไปลงเอยในหลุมฝังกลบขยะ หลายๆ แบรนด์ทั่วโลกจึงเริ่มกลับมาคิดเรื่อง Slow fashion แทน Fast fashion ซึ่งหนึ่งในวิธีการ Slow Fashion ก็คือการทำเสื้อผ้าตามสั่ง (Made to order) หรือกำหนดตารางการผลิตเสื้อผ้าออกมาเป็นล็อตๆ เวลามีลูกค้าสั่งซื้อเข้ามานั่นเอง

สร้างสรรค์ในการใช้วัสดุไม่เหลือทิ้ง

และเพราะเรามีขยะจากอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ล้นเหลือในทุกวันนี้ แบรนด์แฟชั่นที่ตั้งใจว่าจะเป็นแบรนด์ที่ดีต่อโลกจึงหันมาจริงจังในการใช้วัสดุที่ผลิตมาจากการรีไซเคิลวัสดุก่อนหน้า ทั้งการรับซื้อหรือรับบริจาคเสื้อผ้าเก่าเพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการนำมาผลิตใหม่ หรือการเปิดแบรนด์ที่ขายเสื้อผ้ามือสองสภาพดี อาจจะฟังดูแปลกๆ แต่ไอเดียก็คือทางแบรนด์จะทำการสรรหาและคัดเลือกเสื้อผ้ามือสองที่ดูดี สภาพดี ทันสมัย และมีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ตอบโจทย์ทางแบรนด์ รวมไปถึงทำการซ่อมแซม หรือประยุกต์ใหม่ เพื่อนำมาจัดลุคเข้าร้านและจำหน่ายต่อในราคาถูก ซึ่งร้านเสื้อผ้ามือสองแนวนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่วัยรุ่นและวัยเริ่มทำงานในเอเชีย

เทรนด์ของวงการแฟชั่นตอนนี้จึงเป็นไปเพื่อสิ่งที่มีคุณค่ามากขึ้น มากไปกว่ายอดการผลิตและยอดขายแบบเกินความจำเป็น สู่อนาคตที่แคร์ถึงความเป็นอยู่ของผู้คนที่หลากหลาย และก้าวเข้ามารับผิดชอบต่อสังคมและโลกมากขึ้นกว่าเดิม

ที่มาข้อมูล
www.fashionrevolution.org
www.greenqueen.com.hk
www.thereformation.com

เครดิตภาพ: Fashion Revolution, AndAll, Green Queen, 123rf