ขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ คุณอาจกำลังนั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่ไหนสักแห่ง อาจจะเป็นในห้องนอน หน้าโต๊ะทำงาน ในรถยนต์โดยสาร หรือบนรถไฟฟ้า จำได้ไหมว่าคุณออกไปใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? สิ่งมีชีวิตล่าสุดที่คุณเห็นคือตัวอะไร? หรือความรู้สึกที่ได้ออกไปสัมผัสธรรมชาตินั้นดีแค่ไหน?

หากคำตอบที่ได้นั้นเนิ่นนานจนคุณแทบคิดไม่ออก ไม่แน่ว่าคุณกำลังเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายชนิดใหม่อยู่ก็ได้

โรคร้ายในห้องสี่เหลี่ยม

ในยุคที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกและเครือข่ายดิจิตอล ซึ่งคอยเสิร์ฟความบันเทิงให้เราอย่างไม่รู้จบ เรายิ่งค่อยๆ ตัดขาดจากธรรมชาติหรือโลกที่แท้จริงมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตในยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัว พวกเขาอาจนั่งดู youtube และใช้เวลาว่างกับเกมเพลย์สเตชั่นมากกว่าการออกไปเล่นกับเพื่อนเสียอีก เพราะพ่อแม่บางคนออกจะเป็นกังวลว่าธรรมชาตินอกบ้านเป็นสิ่งที่ดูสกปรกและอันตราย กลายเป็นว่าเด็กๆ ถูกตัดขาดจากธรรมชาติอย่างสิ้นเชิงและกลายเป็น ‘โรคขาดธรรมชาติ’ ในที่สุด

โรคขาดธรรมชาติ หรือ Nature Deficit Disorder (NDD) ไม่ได้เป็นโรคที่ถูกระบุทางการแพทย์จริงๆ แต่ที่เป็นคำที่ Richard Louv ผู้เขียนหนังสือ Last Child in the Woods กล่าวถึงอาการของเด็กที่เติบโตมาโดยขาดการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ มีการศึกษารองรับมากมายเกี่ยวกับภาวะของเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งมักจะมีแนวโน้มเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder: ADD) ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้นาน บางคนมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ และแน่นอนว่าพวกเขาอาจจะมีปัญหากับการเข้าสังคมในอนาคต

แม้โรคนี้จะยังไม่มีการศึกษาเพียงพอในกลุ่มผู้ใหญ่ เพราะมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวเนื่องมากมาย แต่ก็มีแนวโน้มว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่เจอก็มีผลกระทบไม่ต่างจากเด็กๆ เลย แม้กระทั่งตัวฉันเองก็ยอมรับว่าติดโซเชียลมีเดียไม่ต่างจากคนอื่น ไม่ว่าจะติดตามข่าวสารใหม่ๆ ตามดูยอดไลก์ หรือส่งข้อความหาเพื่อน นับวันก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีสมาธิจดจ่อสิ่งต่างๆ ได้น้อยลง ฟังบรรยายสักพักก็จะรู้สึกเบื่อ บางครั้งก็หงุดหงิดง่ายกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และเมื่อภาวะทางอารมณ์ตึงเครียดถึงจุดๆ หนึ่งก็อดไม่ได้ที่จะต้องหาเวลาออกไปสัมผัสธรรมชาติสักพัก คล้ายกับการไปตั้งหลักก่อนกลับมาต่อสู้กับเมืองที่วุ่นวายอีกครั้ง

Richard Louv ให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุ WYPR ว่า “ผมเองไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยี ผมก็รักไอแพดของผมไม่แพ้คนอื่นๆ แต่ผมว่าเราต้องการความสมดุล ยิ่งเราใช้เทคโนโลยีมากเท่าไหร่เราก็ต้องการกลับไปหาธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น”

เมื่อธรรมชาติและเทคโนโลยีมาบรรจบกัน

แน่นอนว่าเราไม่ได้บอกให้คุณเลิกใช้เทคโนโลยี แต่​การออกไปใช้เวลาอยู่นอกห้องสี่เหลี่ยมบ้างนั้นเป็นเรื่องที่เราไม่ควรมองข้าม แม้จะเป็นการออกไปแค่สวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียว ก็ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น มีสมาธิจดจ่อมากขึ้น ช่วยลดความเครียด และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราทำงานได้ดีขึ้น แถมอาจจะได้รับแบคทีเรียดีๆ เข้าไปในร่างกายอีกด้วย

วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environmental Day ประกาศขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งหัวข้อประจำปีนี้คือการกลับไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ‘Reconnecting you to nature’ ด้วยการเชิญชวนทุกคนทั่วโลกให้ออกไปสัมผัสธรรมชาติอีกครั้ง และเรายังมีส่วนร่วมเฉลิมฉลองได้ด้วยการสร้างอัลบั้มภาพสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพียงอัพโหลดภาพถ่ายบนโลกออนไลน์และติดแฮชแท็ก #WorldEnvironmentalDay หรือ #WithNature นอกจากนี้เรายังสามารถเข้าไปดูภาพถ่ายบันดาลใจจากคนทั่วทุกมุมโลกได้ที่ http://worldenvironmentday.global ซึ่งภาพถ่ายที่ได้รับการคัดเลือกจะถูกนำไปจัดแสดงที่สำนักงานใหญ่องค์กรสหประชาชาติอีกด้วย

เอาเป็นว่า อ่านบทความนี้จบแล้ว อย่าลืมหาเวลาออกจากห้องสี่เหลี่ยมไปตามหาความงามของธรรมชาติกันนะคะ เพราะความงามอาจจะเป็นการเชื่อมโยงที่ง่ายที่สุดที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถสัมผัสได้

“There is no wi-fi in the forest, but we promise you will find a better connection.”

ภาพประกอบ: นวพรรณ อัศวสันตกุล