ความตื่นตัวของอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์และผู้บริโภค เดี๋ยวนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การผลิตที่ได้จำนวน และได้คุณภาพตามความต้องการอีกต่อไปแล้ว เพราะเรื่อง ‘Animal Welfare’ หรือ ‘สวัสดิภาพสัตว์’ เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการเนื้อสัตว์และผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญ และเรื่องสวัสดิภาพสัตว์นี้ก็มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับเรื่องอาหารปลอดภัย เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและยั่งยืนทางอาหาร และยังจะมีผลต่อมาตรฐานการค้าในระดับสากลด้วย

จากรายงานการจัดอันดับของดัชนีการจัดอันดับการคุ้มครองสัตว์ หรือ API (Animal Protection Index) โดยองค์กรพิทักษ์โลก ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2020 ประเทศที่มีดัชนีการจัดอันดับการคุ้มครองสัตว์สูงสุด ยังคงเป็นประเทศแนวหน้าอย่างสวีเดน เดนมาร์ก อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้คะแนนระดับ A และได้ต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปี ตรงนี้ขออธิบายก่อนว่า ในการจัดอันดับนั้น จะแบ่งการให้คะแนนออกเป็น 7 ระดับ คือ A B C D E F และ G ตามรูปแบบของนโยบายเนื้อหาทางกฎหมายของประเทศนั้นๆ

น่ายินดีว่าประเทศไทยเองก็ได้รับการจัดอันดับในทางที่ดีขึ้น โดยขยับจากระดับ E ในปี 2018 มาเป็นระดับ D จากการจัดอันดับที่มีรายงานครั้งล่าสุด

สวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม ไม่ได้สำคัญแค่คำว่า ‘สวัสดิภาพ’

ถ้าคำว่า ‘สวัสดิภาพ’ มีความหมายถึง ‘ความปลอดภัย’ ตามที่ให้ความหมายไว้ในพจนานุกรม คำนี้อาจยังไม่ครอบคลุมพอเมื่อถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เพราะสวัสดิภาพสัตว์ที่สัตว์จะต้องได้รับ ไม่ได้มีเพียงแค่การเลี้ยงสัตว์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ปลอดภัยและมีความสุข  เพราะการจะมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับสัตว์ได้ ต้องอาศัยการดูแลอย่างมีขั้นตอน ไม่ทำอะไรที่เป็นการทรมานสัตว์ เพื่อให้มีสัตว์มีความสุขกายสบายใจ ในที่นี้ก็คือมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดี และเติบโตได้ดีตามศักยภาพและลักษณะพันธุกรรมของสัตว์ประเภทนั้นๆ ซึ่งการเติบโตได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีสุขภาพพื้นฐานที่ดี ไม่มีความเครียด จะช่วยลดอัตราการป่วยและเป็นโรคได้ เพราะความเครียดนั้นจะทำให้ภูมิต้านทานโรคของสัตว์ลดลง หากสัตว์สุขภาพดีจากการมีสวัสดิภาพที่ดี การใช้ยาหรือฮอร์โมนกับสัตว์ก็จะลดน้อยลงจนถึงไม่จำเป็นเลย

เมื่อสัตว์ได้รับการเลี้ยงอย่างปลอดยาหรือฮอร์โมนกระตุ้น ก็จะทำให้ผู้ผลิตได้เนื้อสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพ และปลอดภัยมากขึ้นกับผู้บริโภค

เรื่องสวัสดิภาพสัตว์นี้ เกิดจากการที่สหภาพยุโรป หรือ EU ได้ริเริ่มผลักดันมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้เป็นหลักเกณฑ์สากล เมื่อปี 2006 โดยเริ่มจากการประกาศแผนปฏิบัติการคุ้มครองสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์ระยะ 5 ปี คือปี 2006-2010 และให้มีผลบังคับใช้ในทุกสาขาการผลิตของประเทศในสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันก็มีแนวทางที่จะกระตุ้นและยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองและดูแลสวัสดิภาพสัตว์ของประชาคมโลกให้สูงขึ้นด้วย

ซึ่งประเด็นหลักที่อียูได้วางแนวทางปฏิบัติเอาไว้ก็อย่างเช่น กำหนดให้มีการดูแลสวัสดิการสัตว์ในระดับที่สูงขึ้นและขยายการคุ้มครองพันธุ์สัตว์ กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์พร้อมทั้งรณรงค์ให้หลีกเลี่ยงการทดลองในสัตว์ ทำตัวชี้วัดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ รณรงค์ให้ผู้เลี้ยงสัตว์และคนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองและคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ และริเริ่มกฎระเบียบระหว่างประเทศเพื่อสร้างมติร่วมกัน โดยข้อนี้มีผลต่อเรื่องการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ระหว่างประเทศ ที่ทำให้ผู้ผลิตเองต้องหันมาปรับแนวทางการเลี้ยงให้เข้าเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน โดยยึดหลักอิสรภาพ 5 ประการ เป็นมาตรฐานการปฏิบัติต่อสัตว์ ซึ่งก็ประกอบไปด้วย

• อิสระจากความหิวกระหาย โดยสัตว์จะต้องได้รับน้ำและอาหารที่สะอาดและมีคุณภาพอย่างเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อที่จะได้มีสุขภาพกายที่แข็งแรง

• อิสระจากความไม่สบายกาย เพื่อให้สัตว์มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย เช่น มีพื้นที่เลี้ยงที่เพียงพอ ไม่หนาแน่น มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม มีร่มเงาให้พักผ่อน และสะอาด

• อิสระจากความเจ็บปวดและโรค โดยสัตว์จะต้องได้รับการป้องกัน หรือดูแลรักษาหากได้รับบาดเจ็บหรือเกิดโรค

• อิสระจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน ข้อนี้จะเป็นการจัดการที่หลีกเลี่ยงให้สัตว์เกิดความทรมานทางกายและใจ เช่น การขนส่ง กระทั่งการชำแหละ

• อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นการให้พื้นที่เลี้ยงดูที่เหมาะสมตามพฤติกรรมของสัตว์แต่ละสายพันธุ์ หรือการให้อยู่รวมฝูงอย่างอิสระ เป็นต้น

สวัสดิภาพสัตว์ในไทย เมื่ออะไรๆ ย่อมต้องเปลี่ยนแปลง

สำหรับประเทศไทยเอง ก็ได้นำมาตรฐานนี้มาปฏิบัติด้วยเช่นกัน โดยหากนับตั้งแต่ปี 2014 ที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เริ่มทำการสำรวจดัชนีการจัดอันดับคุ้มครองสัตว์ ก็พบว่าบ้านเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายประการ อย่างเช่น มีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ประเทศไทย เพื่อให้สัตว์ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม มีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ได้รับความทุกข์ทรมานตลอดระยะเวลาในการเลี้ยง

ซึ่งปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์หลายๆ เจ้า ก็ได้เดินตามแนวทางปฏิบัตินี้แล้ว ทั้งอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่จำหน่ายในไทยและต้องอาศัยตลาดส่งออก หรือในกลุ่มปศุสัตว์อินทรีย์เองก็มีหลักเกณฑ์เป็นมาตรฐานในการจัดการฟาร์มตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ อาทิ ความปลอดภัยของอาหารสัตว์ตั้งแต่ต้นทาง ห้ามบังคับให้สัตว์กินอาหารมากเกินไป มีโรงเรือนที่ไม่แออัด และปล่อยให้ออกแทะเล็มตามธรรมชาติเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันโรคตามธรรมชาติ การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน ฯลฯ

และการเลือกกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ได้รับการเลี้ยงดูตามหลักเกณฑ์เหล่านี้ ก็เป็นหนึ่งในการสนับสนุนแนวทางสวัสดิภาพ ที่เริ่มต้นได้จากมื้ออาหารที่ปรุงเองของเรา

ที่มาข้อมูล:
www.worldatlas.com
www.api.worldanimalprotection.org
www.lib.ku.ac.th
www.innoversity.masci.or.th
www.www.sustainablelife.co

เครดิตภาพ: 123rf