หลายๆ คนที่ปลูกผักกินเอง คงจะตั้งหน้าตั้งตารอวันที่จะได้ตัดผักฝีมือตัวเองไปทำกับข้าวแล้วรับประทานให้ชื่นใจ หรือเอาผลผลิตผักที่ลงแรงปลูกไปแบ่งปันให้กับคนรอบข้าง แต่เราคงจะหงุดหงิดไม่น้อยถ้าหากไปเจอหนอน เพลี้ย แมลง หรือศัตรูพืชต่างๆ กำลังกัดกินแย่งผักที่เราปลูกไปต่อหน้าต่อตา

บางคนใจร้อนอาจไปหาซื้อสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงแบบกำจัดครั้งเดียวตายเรียบ ซึ่งนั่นส่งผลเสียทั้งต่อผัก ต่อเรา และต่อระบบนิเวศในสวน เราไม่จำเป็นต้องใช้ทางลัดแบบนั้น เพราะยังสามารถหาวิธีกำจัดศัตรูพืชแบบธรรมชาติที่ปลอดภัยกว่า แถมยังเห็นผลได้ดีอีกด้วย

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า การที่ผักของเราเจอแมลง ศัตรูพืชทำลาย ไม่ว่าจะปลูกในกระถางหรือในแปลง สาเหตุหลักๆ มาจากปัญหาของดินซึ่งขาดความอุดมสมบูรณ์ ดินขาดธาตุอาหารหรือมีธาตุอาหารมากจนเกินไป อีกกรณีคือ ดินมีชื้นแฉะมากเกิน ก็ทำให้แมลงและโรคมากับความชื้น

ดังนั้นการป้องกันปัญหาเรื่องแมลงและศัตรูพืช จึงต้องเริ่มจากดินที่อุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุ โดยเราต้องทำการพรวนดินและคลุกเคล้าส่วนผสมของดินปลูกผัก ให้เข้ากันและสม่ำเสมอทั่วแปลงหรือภาชนะปลูก จากนั้นนำเศษหญ้าหรือฟางคลุมแปลง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการอยู่อาศัยของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ใต้ดิน เช่น ไส้เดือน เป็นต้น

การเตรียมแปลงที่ดี จึงเป็นพื้นฐานของการป้องกันแมลงรบกวนให้มีน้อยตั้งแต่เริ่มต้น

หากยังประสบปัญหาแมลงรบกวน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการปลูกผักนอกฤดูกาล หรือปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดแมลงศัตรูพืชรบกวนมากและบ่อยขึ้น

ควรแก้ยังไง เมื่อแมลงมากวนใจผัก

1. กำจัดแมลงหรือศัตรูพืชเจ้าปัญหาออกไป โดยการหยิบออก หรือตัดใบที่แมลงสร้างความเสียหายทิ้งไป

2. ปลูกพืชผักแบบผสมผสานหลากหลายชนิด เมื่อแมลงทำความเสียหายผักชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ก็ยังมีอีกหลากหลายชนิดไว้รับประทานให้ชื่นใจ เรียกอีกอย่างก็คือ แบ่งๆ กันทานผักกับแมลงบ้างนั่นเอง

3. ใช้สมุนไพรไล่และป้องกันแมลง การทำน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลงที่มารบกวนแต่จะไม่ถึงกับฆ่าแมลง เช่น ปัญหาแมลงและเพลี้ยที่หมักเจอกันบ่อยๆ จะนิยมใช้สมุนไพรที่มีกลิ่นฉุนๆ เช่น ใบสะเดา ข่าแก่ ตะไคร้หอม อย่างละ 1 กิโลกรัม ตำให้ละเอียด แช่ในน้ำ 20 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืน แล้วกรองออกมาใช้ โดยผสมน้ำ 1 ต่อ 20 และใส่น้ำสบู่ลงไป 10 ซีซี  นำไปฉีดพ่นทุกๆ 3 วัน เพื่อไล่แมลง

4. หากเป็นพวกหอยทาก หอยเจดีย์ ที่ชอบออกมากินใบอ่อน หรือกินรากผักตอนกลางคืน เราสามารถไล่หอยทากได้โดยวางเศษหรือเปลือกผลไม้สุกไว้ในภาชนะ ฝังลงไปในดิน หอยทากและหอยเจดีย์จะมากินผลไม้แทนไปกินผักที่เราปลูก อีกวิธีหนึ่งคือตำเปลือกไข่ให้ละเอียดแล้วโรยที่โคนต้นผัก เพียงเท่านี้พวกหอยก็จะไม่เดินเข้าไปกินผักของเราแล้ว

5. ปลูกพืชและดอกไม้ประเภทที่ช่วยไล่แมลงใกล้เคียงกับบริเวณที่เราปลูกผัก เช่น โหระพา ตะไคร้ ดอกดาวเรือง และดอกเบญจมาศ เป็นต้น

6. สุดท้ายคือการบำรุงดินให้ดี แล้วพืชจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาแข็งแรงได้

แต่เราคงต้องยอมรับกันว่า ผลตอบรับของการใช้สมุนไพรไล่แมลงนั้นอาจจะไม่ได้ผลเร็วทันใจ คงไม่ได้ผลสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ และสูตรเดียวคงใช้ไม่ได้กับแมลงและศัตรูพืชทุกชนิด ดังนั้นคนปลูกผักเองที่ต้องหมั่นสังเกตอาการของผัก และทดลองหาวิธีแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ และต้องคิดไว้เสมอว่า การปลูกผักแบบธรรมชาตินั้น เราเป็นเพียงคนจัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ผักเจริญเติบโต หากเรามั่นใจแล้วว่าเราได้ทำหน้าที่ให้ผักอย่างดีที่สุดแล้ว หลังจากนั้นปล่อยให้ผักได้เจริญเติบโตตามวิถีธรรมชาติต่อไป

ภาพถ่าย: กรชชนก หุตะแพทย์, Greenery.