ตั้งแต่เด็กๆ เรารู้กันอยู่แล้วว่าผักนั้นดี มีประโยชน์ เป็น 1 ในหมู่ของอาหารที่เราควรจะกินให้ครบในทุกๆ วัน แต่ถึงอย่างนั้นการจะชวนให้เด็กๆ หันมากินผักให้เพียงพอในทุกๆ วันไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งปัญหาเด็กไม่กินผักนั้นถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่หลายๆ ฝ่ายพยายามช่วยกันแก้ไขไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง โรงเรียน รวมถึงภาครัฐ ที่สนับสนุนให้เกิดโครงการดีๆ อย่างโครงการโรงเรียนเด็กกินผัก เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของเด็กนักเรียนทั่วประเทศด้วยการกินผักและผลไม้ให้เพียงพอในแต่ละวัน

โครงการโรงเรียนเด็กกินผักเป็นการร่วมมือกันระหว่างสวนเงินมีมา กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ไม่เพียงต้องการส่งเสริมให้เด็กกินผักผลไม้ในแต่ละมื้อให้มากขึ้น แต่ยังต้องการให้เด็กๆ ได้กินผักที่ปลอดภัยไร้สารเคมีปนเปื้อน รวมถึงส่งเสริมให้การปลูกผักอินทรีย์เพื่อบริโภคกันเองในโรงเรียนอีกด้วย

ตลอดการดำเนินโครงการมานานกว่า 2 ปี มีโรงเรียนต้นแบบมากมายที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการกินผักให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ และเปลี่ยนเด็กๆ ในโรงเรียนให้เป็นเด็กกินผักได้อย่างแท้จริง 

โรงเรียนบ้านดงเกตุ : โรงเรียนอินทรีย์ กับงานลงแปลงเดินหน้ารับมาตรฐาน IFOAM

ใครจะไปคิดว่าโรงเรียนเล็กๆ ที่มีนักเรียนเพียง 200 คนในอำเภอสามพราน นครปฐม อย่างโรงเรียนบ้านดงเกตุแห่งนี้ จะสามารถทำเกษตรอินทรีย์ภายในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องจนสามารถขอตรารับรองมาตรฐานอินทรีย์จาก IFOAM ได้

ครูโอ๋-วชรณัช คงวงศ์วาน บอกกับเราว่าก่อนจะมาเข้าร่วมกับโครงการโรงเรียนเด็กกินผัก โรงเรียนบ้านดงเกตุนั้นได้ส่งเสริมให้เกิดการปลูกผักอินทรีย์มายาวนานต่อเนื่องกว่า 5 ปี 

“เราคิดว่าเด็กควรจะได้บริโภคผักที่ปลอดภัย ไม่มีสารเคมีตกค้าง ดีต่อสุขภาพเด็ก เพราะเมื่อสุขภาพเด็กดี สมองทำงานดี การคิด การทำงาน และการเรียนของเขาก็จะดีไปด้วย”

“เราจึงเริ่มมีนโยบายที่จะส่งเสริมในเด็กกินผักให้มากขึ้น ผ่านกิจกรรมการส่งเสริมให้เด็กได้ปลูกผักได้ลงแปลงเอง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ รักในผักที่เขาปลูก ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ เริ่มเปิดใจมากินผักมากขึ้น”

ไม่เพียงแค่ปลูกผักกางมุ้งเอง ภายในโรงเรียนยังมีการเลี้ยงไส้เดือน เพาะเห็ด ทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงไก่ ไปจนถึงเลี้ยงปลาดุก เพื่อให้นักเรียนได้มีองค์ความรู้เรื่องการทำเกษตรแบบผสมผสาน เข้าใจความสำคัญของอาหารปลอดภัย โดยจะมีนักเรียนแกนนำที่แบ่งหน้าที่รับผิดชอบดูแลในส่วนต่างๆ อย่างเป็นระบบและมีการส่งต่อความรู้ในการดูแลส่วนต่างๆ ให้กับนักเรียนแกนนำในรุ่นต่อไปด้วย 

หลังจากสนับสนุนให้เด็กๆ ได้ปลูกผักปลอดภัยภายในโรงเรียนตัวเองมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 6 ปี ในเวลานี้โรงเรียนบ้านดงเกตุก็พยายามผลักวิถีอินทรีย์ในโรงเรียนให้ไปไกลมากยิ่งขึ้น ด้วยการดำเนินการขอตรารับรองให้ได้มาตรฐาน IFOAM เป็นโรงเรียนแรกของประเทศไทย

“ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงการขอตรารับรอง ซึ่งต้องตรวจอีกประมาณ 1 ปี ว่าวิธีการปลูกผักของเราตรงตามมาตรฐานและไร้สารเคมีจริงๆ เพื่อให้ได้ตราอย่างสมบูรณ์”

“ทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับมาตรฐานอินทรีย์ เพราะไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กรู้จักกินผักอย่างเดียว แต่สอนให้เขารู้จักเลือกกินอย่างปลอดภัย รู้ว่าการปลูกผักสามารถสร้างรายได้ มีการปลูกผักอินทรีย์ส่งขายให้กับสหกรณ์ในโรงเรียนหรือผู้ปกครองที่สนใจ ทำให้เรามั่นใจในความปลอดภัยของอาหาร และเด็กๆ เขาก็ภูมิใจที่ได้กินอาหารที่เขาปลูกเอง”

โรงเรียนประถมนนทรี : โรงเรียนกลางเมืองที่เปลี่ยนเด็กๆ ที่ชอบกินฟาสต์ฟู้ด ให้ลงมือปลูกผักอินทรีย์และทำอาหารเองเป็น 

แม้จะตั้งอยู่ในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด แต่โรงเรียนประถมนนทรีก็เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่สามารถจัดสรรพื้นที่ สร้างแปลงผักเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมการกินอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการของเด็กๆ ในโรงเรียนเรียนได้

“เราสังเกตพฤติกรรมการกินของเด็กๆ ในโรงเรียน ก็เห็นว่านักเรียนที่มีลักษณะของการใช้ชีวิตเหมือนคนในเมือง อาหารการกินส่วนมากก็จะเป็นอาหารจานเดียว กินอาหารที่ปรุงเร็วๆ อย่างฟาสต์ฟู้ด”

“ซึ่งอาหารเหล่านี้นอกจากจะทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนแล้ว เด็กๆ ยังเริ่มไม่เห็นคุณค่าของอาหาร ไม่เห็นคุณค่าของวัตถุดิบต่างๆ สิ่งที่ตามมาคือวิถีการกินของเขาก็จะเปลี่ยน แล้วสุขภาพเขาก็จะเปลี่ยนด้วยเหมือนกัน”

ชาตรี นามคุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนประถมนนทรี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมการกินผักของเด็กๆ ในโรงเรียน

“พวกเราบุคลากรในโรงเรียนเริ่มคิดกันว่าถ้าไม่ส่งเสริมให้เด็กกินหรือได้รู้จักอาหารที่เป็นพืชผักสวนครัวในบ้านบ้าง เขาจะลืมอาหารพวกนี้ไป การเห็นความสำคัญในอาหารก็จะหมดไปเลย เราจึงเริ่มสร้างกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ ได้รู้จักอาหารมากขึ้น โดยเริ่มจากการทำอาหาร แล้วย้อนคิดไปว่าอาหารแต่ละอย่างมีวัตถุดิบอะไร ซึ่งก็จะไปสู่การปลูกผัก การเลี้ยงไก่ และเลี้ยงปลาในโรงเรียน”

ผอ.ชาตรี บอกว่าแม้ภายในพื้นที่อันจำกัด โรงเรียนก็สามารถจัดสรรพื้นที่ให้สามารถปลูกผัก การเลี้ยงไก่ไข่ การเพาะเห็ด การเลี้ยงปลา การทำปุ๋ยหมักชีวภาพได้ เพื่อให้เด็กๆ ทุกวัยสามารถศึกษาเรื่องวัตถุดิบต่างๆ ได้จากการลงมือจริง 

“เราให้นักเรียนแต่ละชั้นเรียนเป็นผู้ดูแลจัดการแปลงผักแต่ละชนิด เช่น เด็กอนุบาลเขาก็จะมีกิจกรรมปลูกผักสวนครัวง่ายๆ อย่างวอเตอร์เคสและใบเตย ป.1 จะรับผิดชอบเรื่องกะเพรา ป.4 เรียนรู้การเพาะเห็ด ป.5 การเลี้ยงไก่ แล้วนำจึงผักที่ปลูก ไข่จากไก่ที่เลี้ยงเองมาให้เด็กๆ ได้ปรุงอาหารหรือทำขนมกินกันเอง”

การให้เขาได้ลงมือปลูกเอง ถ้าเขาไปปลูกเอง นอกจากจะทำให้เด็กๆ ได้เห็นที่มาของอาหาร ยังเป็นวิธีการที่สร้างคุณค่าให้อาหารได้ เพราะเขาก็จะเห็นว่าอาหารแต่ละจานต้องใช้เวลานะ มันมีคุณค่านะกว่าจะงอกขึ้นมา กว่าพวกเราจะได้กินกันต้องใช้เวลา และเมื่อเขากินอาหารที่มีผัก มีวัตถุดิบที่ทำเองจะได้ไม่ต้องเขี่ยทิ้ง เพราะเขาเห็นคุณค่าของมัน”

นอกจากจะสนับสนุนให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าของอาหารแล้ว โรงเรียนประถมนนทรียังอยากสนับสนุนให้ผู้ปกครองได้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องผักอินทรีย์ผ่านการสนับสนุนผลผลิตของนักเรียนด้วย 

“โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมตลาดนัดที่ให้เด็กๆ นำผักมาขายหรือแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ และเปิดให้ผู้ปกครองสามารถมาซื้อได้ในโรงเรียน เพื่อให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมและเห็นถึงความสำคัญในการบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย”

“ล่าสุดช่วงที่มีการจัดการเรียนการสอนที่บ้านเราได้คุยกับอาจารย์กันเองว่าจะคงต้องสื่อสารกับผู้ปกครองถึงภาวะโภชนาการของเด็ก พ่อแม่ก็ต้องเอาใจใส่กับอาหารการกินในบ้านมากขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนเมนูผักไม่เห็นรูปร่าง นำไปปั่น ทำน้ำซุปบ้าง  พอหลังๆ ที่เขาเริ่มชินกับรสชาติผัก การกินผักเลยกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก เห็นรูปร่างก็ยังกินได้ เป็นการสร้างพฤติกรรมกินผักในระยะยาว”

โรงเรียนบ้านดงเกตุและโรงเรียนประถมนนทรี ถือว่าเป็นตัวอย่างดีๆ ที่ทำให้เราเห็นว่าทุกๆ โรงเรียนสามารถเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้เด็กๆ กินผักมากขึ้นได้ ผ่านกิจกรรมหลากหลาย ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับเด็กๆ ในแต่ละพื้นที่

นอกจาก 2 โรงเรียนต้นแบบนี้ ยังมีเรื่องราวน่าสนใจของโรงเรียนต้นแบบอื่นๆ อีกมากมายที่ทางโครงการได้ถอดบทเรียนออกมาให้ผู้คนที่สนใจนำไปปรับใช้กับโรงเรียนของตนเองได้ เช่น โรงเรียนบ้านโป่งหวานที่พัฒนาเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนไปพร้อมๆ กับพัฒนาชุมชนหรือบ้านเรียนแห่งรักและศานติที่ส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ ผ่านการสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กอนุบาล ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้แล้วที่ ‘หนังสือโรงเรียนผักสร้างสุข

โครงการโรงเรียนเด็กกินผัก
FB: โครงการโรงเรียนเด็กกินผัก