“มือร้อนปลูกผักไม่ขึ้น” “ผักไม่งามเหมือนที่ตลาด” “ซื้อดินถุงมาปลูกผัก ทำไมไม่ขึ้น”  และอีกหลากหลายปัญหาที่มักจะได้ยินจากนักปลูกผักมือใหม่ หรือจากคนรอบข้างที่อยากจะเริ่มปลูกผักปลอดสารเคมีไว้บริโภคในครัวเรือน จริงๆ แล้วปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการที่เราไม่เข้าใจธรรมชาติของผัก หรือหลักการของการปลูกผัก ดังนั้นก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า

การปลูกผักมีความแตกต่างจากการปลูกพืชชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผักต้องการการดูแลเอาใจใส่ และต้องการเวลาจากนักปลูกผักพอสมควร

เนื่องจาก…

• ผักเป็นพืชล้มลุก มีอายุสั้น อายุประมาณ 30-45 วันเราต้องทำการเก็บเกี่ยวและปลูกใหม่ หากลองสังเกตเวลาเราปลูกต้นไม้ ถ้าลืมรดน้ำ ต้นไม้ยังเจริญเติบโตได้ ในทางกลับกัน หากเราลืมรดน้ำผัก หรือโดนแดดแรงๆ ผักไม่โต บางต้นแคระแกร็น ซ้ำร้ายผักตายไปต่อหน้าต่อตา

 ผักมีรากสั้น หาอาหารเองไม่เก่ง ผักมีระบบรากเป็นรากฝอย หยั่งรากตื้น โดยเฉพาะผักเมืองหนาว เช่น ผักสลัด คะน้า กวางต้ง ผักบุ้ง เป็นต้น เราจึงจำเป็นต้องเตรียมดินให้ดี อุดมสมบูรณ์ และหมั่นเติมธาตุอาหารให้แก่ผักด้วย

ดังนั้นใครอยากปลูกผัก ลองตัวเองก่อนว่า เราขี้เบื่อไหม อดทนพอไหม มีเวลาดูแลผักไหม จากนั้นขอแค่ทำความเข้าใจกับ 4 ปัจจัย คือ ดิน แดด น้ำ และเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำหรับการปลูกผักปลอดสารเคมี เพียงเท่านี้การปลูกผักจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ปัจจัยแรก ‘ดิน’ ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

แหล่งอาหารที่ผักใช้ในการเจริญเติบโตอยู่ในดิน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรุงดินให้มีสารอาหารที่เพียงพอแก่ผัก โดยทั่วไป ปัญหาส่วนใหญ่ของคนเมือง คือดินตามบ้านจัดสรรเป็นลักษณะดินจากสิ่งก่อสร้าง มีอิฐ หิน และเศษปูน อีกกรณีคือ คนเมืองที่อยู่ คอนโด หอพัก หรือตึกแถว ไม่มีพื้นที่ดินในการปลูกผักเลย ทำให้คนเมืองจำเป็นต้องซื้อดินปลูกตามร้านขายต้นไม้ เช่น ดินใบก้ามปู ดินขุยไผ่ หรือดินปลูกที่ผสมขุยมะพร้าวและมูลสัตว์มาใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งไม่เพียงพอต่อการปลูกผัก

เนื่องจากดินถุงแบบนี้มีปริมาณเนื้อดินน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ขุยมะพร้าวที่ยังย่อยสลายไม่ดี ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของผัก ดังนั้นเราจำเป็นต้องใส่อินทรีย์วัตถุอื่นๆให้แก่ผัก เช่น

• ปุ๋ยคอก หรือมูลสัตว์ ช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ผัก

• แกลบสด ระบายน้ำได้ดี มีความพรุน ทำให้อากาศผ่านได้ดี

• แกลบเผา หรือแกลบดำ ช่วยอุ้มน้ำได้ดี

• กาบมะพร้าว ช่วยอุ้มน้ำ รักษาความชุ่มชื้นให้ดิน

• ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยที่ผ่านกระบวนการหมักจากเศษผัก ผลไม้ เศษใบไม้ และเศษอาหารด้วยจุลินทรีย์ ช่วยเพิ่มธาตุอาหาร ช่วยการเจริญเติบโต

เริ่มเตรียมดินสำหรับเพาะกล้า ย้ายกล้า

ในขั้นตอนนี้ เราให้ความสำคัญกับการระบายน้ำและการเก็บความชื้นของดินเป็นหลัก สิ่งสำคัญคือการ ‘ร่อนดิน’

• ใช้ดิน 1 ส่วน แกลบเผา 1 ส่วน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ร่อนส่วนผสมต่างๆ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน

• นำดินที่ผสมแล้วใส่ลงในถาดตะกร้า นำไม้บรรทัดขีดเป็นแนวร่องตามความยาวของตะกร้า

• หยอดเมล็ดพันธุ์ลงในร่องแล้วกลบ

• นำกระดาษหนังสือพิมพ์ปิดทับ แล้วรดน้ำผ่านกระดาษหนังสือพิมพ์ให้ชุ่ม รดน้ำเช้า เย็นโดยสังเกตวันที่สอง ผักจะเริ่มงอกออกมาจากเมล็ด นำกระดาษหนังสือพิมพ์ออก รดน้ำต่อไปอีกประมาณ 2-3วัน สังเกตว่าต้นกล้าจะมีใบแทงออกมา จากนั้นจึงทำการย้ายลงถาดเพาะกล้า

• นำดินที่ร่อนและผสมแล้วใส่ลงไปในถาดหลุมสำหรับเพาะกล้า


• ย้ายต้นกล้าจากตะกร้ามาลงถาดหลุม โดยย้ายหนึ่งหลุมต่อหนึ่งต้นกล้า โดยวางต้นกล้าแนวนอนแล้วใช้ไม้เสียบลูกชิ้นกดที่โคนต้นกล้าเพื่อให้ต้นกล้าตั้งตรง ทำจนเต็มถาด

• รดน้ำเช้า-เย็น นำถาดไว้ในที่ที่มีแดดรำไร รดน้ำหมักชีวภาพทุกๆ 3 วัน ดูแลต้นกล้าแบบนี้จนต้นกล้ามีอายุครบ 20 วัน จึงทำการย้ายต้นกล้าลงกระถางหรือลงแปลงปลูกผัก

กล้าแข็งแรง ลงกระถางก็ได้ ลงแปลงก็ดี

เมื่อเราได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์แข็งแรง อายุประมาณ 20 วันแล้ว ทำการเตรียมดินสำหรับปลูก

สิ่งสำคัญคือ ธาตุอาหารที่พืชใช้ในการเจริญเติบโต

• ใช้ดินปลูก 1 ส่วน แกลบดิบ 1 ส่วน แกลบเผา 1 ส่วน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน (ไม่ต้องร่อนดิน)

• นำกาบมะพร้าว 1 มือ รองที่ก้นกระถาง นำดินลงกระถาง โดยเลือกกระถางให้เหมาะสมกับผักที่ปลูก เช่น ต้นหอม ผักชี สะระแหน่ ใช้กระถางขนาด 8 นิ้ว ปลูกผักคะน้า กวางตุ้ง ผักสลัด ใช้กระถางขนาด 10 นิ้ว ส่วนผักสวนครัว เช่น พริก กะเพรา โหระพา ใช้กระถางขนาด 12-15 นิ้ว เป็นต้น เราสามารถเลือกใช้ได้ทั้งกระถางดินเผาหรือกระถางพลาสติก โดยกระถางดินเผาซึ่งมีรูพรุนรอบๆ จะถ่ายเทความชื้นของดินได้ดี แต่เปราะบางแตกหักง่าย มีน้ำหนักมาก ส่วนกระถางพลาสติกจะช่วยรักษาความชื้นได้ดี มีน้ำหนักเบา แต่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ถ้ารดน้ำมากไปผักจะเน่าตายได้

• หากมีพื้นที่ นำต้นกล้าปลูกลงดิน กลบดิน และใช้ฟางคลุมดิน รดน้ำให้ชุ่ม

• เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 30-45 วัน ตัดผักไปรับประทานได้เลย โดยตัดใบผักไปรับประทาน ไม่จำเป็นต้องถอนรากออกมา

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ นักปลูกหลายคนอาจจะหมดกำลังใจเพราะรู้สึกขั้นตอนยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่ง่ายเลย แต่ถ้าเราให้ความสำคัญกับขั้นตอนการเตรียมดินอย่างดี และดูแลต้นกล้าให้แข็งแรงแล้ว รับรองได้เลยว่านักปลูกทุกท่าน เริ่มต้นมาถูกทาง และเชื่อว่าเหลือเกินว่า ผักจะเจริญเติบโต จนได้รับประทานอย่างแน่นอน

ภาพถ่าย: กรชชนก หุตะแพทย์