สมัยนี้ธุรกิจที่ประกอบการด้วยความใส่ใจสิ่งแวดล้อมนั้นได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้คนเริ่มรับรู้และเห็นแล้วว่าการบริโภคอย่างขาดการใส่ใจนั้นสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง ทำให้อยากปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตัวเองให้เป็นผู้บริโภคที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของธุรกิจ สินค้าและบริการต่างๆ ที่จะขยับเข้ามาตอบโจทย์นี้กัน เรามาดูกันว่าเทรนด์ของผู้บริโภคสายกรีนในเมืองไทยและเทรนด์ของกิจการสายกรีนนั้น เป็นไปในทิศทางไหนกัน

โดยทางวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคหลากหลายเจเนอเรชั่นในประเทศไทย ตั้งแต่ Baby Boomer จนถึง Generation Z พบว่าตอนนี้เรามีผู้บริโภคสายกรีนอยู่ 4 สายด้วยกัน

แล้วคุณล่ะ เป็นสายกรีนประเภทไหน?

สายกรีนตัวแม่ ซึ่งมีจำนวนเยอะที่สุดในบรรดาทั้งหมด โดยมีจำนวนถึงเกือบ 40% ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะตั้งใจทำทุกอย่างที่จะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดน้ำ ประหยัดไฟฟ้า ใช้ถุงผ้า ลดพลาสติก แยกขยะ รีไซเคิลวัสดุต่างๆ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และกำลังเริ่มให้ความสนใจด้านพลังงานสะอาดทางเลือก และยินดีจะจ่ายบางอย่างแพงขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

สายกรีนตามกระแส กลุ่มนี้คือ 20.8% ของกลุ่มสำรวจ มีพฤติกรรมการใช้สินค้าและบริโภคกรีนตามกระแส ใช้สินค้าแนว Eco บ้าง แต่ก็ยังขาดทัศนคติที่หนักแน่นในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในระยะยาว ยังคงเป็นผู้ตามอยู่ ประมาณว่า ถ้าคนอื่นๆ รอบตัวบอกว่าดี เราก็ว่าดีตาม

สายสะดวกกรีน คือผู้บริโภคจำนวน 15.7% ที่มีความเข้าใจถึงความจำเป็นในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ปกป้องธรรมชาติ แต่ก็ยังมีความเคยชินกับการบริโภคแบบเดิมๆ อยู่ โดยยังไม่มีความกระตือรือร้นในการปรับเปลี่ยนเท่าไหร่ อยากให้การแยกขยะทำง่ายขึ้น และการใช้ของแนวกรีนต้องมีความสะดวกในชีวิตประจำวัน

สายโนกรีน (ยังไม่กรีน) เป็นสายที่ยังเฉยๆ อยู่ ซึ่งมีประมาณ 26% จากกลุ่มสำรวจ แต่ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มนี้ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย แค่อาจจะยังไม่พร้อมใช้จ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่คิดว่าสินค้าแนวรักษ์โลกนั้นจะต่างจากสินค้าทั่วไป หรือยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพราะยังมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เช่น การเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติกไว้ใช้ซ้ำ การรับถุงพลาสติกจากร้านค้าเพราะลืมพกถุงผ้า เป็นต้น

เมื่อรู้จักผู้บริโภคสายกรีนทั้ง 4 นี้แล้ว จะเห็นได้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมาก มีกลุ่มที่มีความสนใจและมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ แต่อาจจะยังขาดความรู้ความเข้าใจในระดับลึก ไปจนถึงต้องการความหลากหลายของสินค้าและบริการด้านรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่สามารถตอบโจทย์ในชีวิตประจำวันของตัวเองได้

ซึ่งธุรกิจ สินค้า บริการ และกิจกรรมต่างๆ ก็สามารถนำความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่ตนมีมาตอบสนองสิ่งที่ผู้บริโภคสายกรีนต้องการกันขึ้นมา

ผลการวิจัยยังบอกอีกว่า ผู้บริโภคจำนวนมากรู้แล้วว่าสิ่งที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดคือพลาสติก เพราะเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ยาก และสิ่งต่อไปที่ผู้บริโภคนึกถึงคือมลพิษที่เพิ่มขึ้นในสภาพแวดล้อม โดยผู้บริโภคคิดว่าการคมนาคมและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นตัวการสำคัญ ดังนั้นการประกอบธุรกิจที่ดีโดยมีแนวคิดและการกระทำเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างตั้งใจจริง เป็นอีกส่วนสำคัญที่ผู้บริโภคจับตามอง

แล้วธุรกิจกรีนประเภทไหนกันนะ ที่กำลังมาแรงในยุคนี้?

ธุรกิจสินค้าวัตถุดิบย่อยสลายง่ายและนำกลับมาใช้ซ้ำ

เพราะผู้บริโภคกำลังพยายามลดปริมาณขยะ การใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ของสินค้าจึงเป็นที่สนใจ สินค้าย่อยสลายง่ายที่เริ่มนิยมใช้กันทั่วไปตอนนี้ เช่น กล่องข้าวชานอ้อยที่ร้านอาหารบางร้านใช้แทนกล่องโฟมหรือกล่องพลาสติก ถ้วย-ชามใยกล้วย หลอดดูดน้ำไม้ไผ่ หรือถุงพลาสติกที่ผลิตจากจากมันสำปะหลังซึ่งสามารถย่อยสลายได้ภายใน 180 วัน แทนถุงพลาสติกที่ใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี เป็นต้น

ตัวอย่างธุรกิจการนำกลับมาใช้ซ้ำ เช่น การนำผ้าคุณภาพดีที่เหลือจากโรงงานผ้าขนาดใหญ่มาขายให้ผู้ผลิตรายย่อย หรือนำเศษผ้าที่เหลือคละๆ กันมาผลิตเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ ธุรกิจผลิตถุงส่งของสำหรับร้านค้าออนไลน์ ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล 100% โดยออกแบบถุงให้มีลักษณะคล้ายกับผืนผ้าใบที่มีคุณสมบัติกันน้ำและทนต่อการฉีกขาด สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยร้านค้าได้ลดต้นทุนและลดทรัพยากรจากการไม่ต้องไปซื้อกล่องส่งของมาใหม่ หรือธุรกิจสั่งอาหารเดลิเวอรี่แบบไร้ขยะด้วยการใช้กล่องใส่อาหารอย่างดีให้ผู้บริโภคส่งคืนเมื่อสั่งอาหารครั้งต่อไป แล้วร้านอาหารก็สามารถนำกล่องกลับมาใช้ต่อได้

สินค้าหรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด

ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์-พลังงานลม ธุรกิจรับติดตั้งแผงโซลาเซลล์ โครงการกังหันพลังงานน้ำ การใช้พลังงานไฟฟ้าแทนการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันและก๊าซ ซึ่งรวมถึงกลุ่มสินค้าที่เกิดขึ้นเพื่อมารองรับพลังงานเหล่านี้ด้วย เช่น ธุรกิจศูนย์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพราะผู้บริโภครู้ว่าการใช้รถยนต์เป็นต้นเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศ แต่ผู้บริโภคในประเทศไทยก็ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดสามารถเป็นตัวเลือกตรงกลางได้

โดยตอนนี้เราก็เริ่มมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้งแบบชาร์จไฟเข้ารถโดยตรงกับชาร์จโดยแบตเตอรี่ โดยมีทั้งสถานีเติมไฟฟ้าของทั้งทางค่ายรถยนต์ต่างๆ กระจายอยู่ตามที่จอดรถในห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม และโรงแรม หรือจุดเติมพลังงานไฟฟ้าตามปั๊มน้ำมันต่างๆ ที่ทางปั๊มน้ำมันได้ทำการสร้างไว้รองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต และทางการไฟฟ้าทั้ง EGAT การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเองก็ได้มีการสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไว้ตามเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ เช่น พัทยา หัวหิน และตามจังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ ในประเทศแล้ว เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้นในอนาคตอันใกล้

ธุรกิจร้าน Refill Store เติมเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น

กลุ่มสินค้าและบริการที่ลดการมีบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก โดยให้ลูกค้านำขวด กระป๋อง กล่อง ถุงต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมาเติมผลิตภัณฑ์จากทางร้านกลับไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของใช้ในครัวเรือนในชีวิตประจำวัน เช่น แชมพู น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน อาหารต่างๆ เช่น น้ำผึ้ง น้ำมันพืช ข้าวสาร ธัญพืช เป็นต้น คิดราคาโดยการชั่งน้ำหนัก ซึ่งพอไม่มีค่าแบรนด์สินค้าและค่าบรรจุภัณฑ์ก็จะทำให้เราได้ซื้อแต่ตัวสินค้าจริงๆ ตรงตามจุดประสงค์ ทำให้ได้สินค้าที่ราคาถูกลง และเป็นการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยตอนนี้เรามีร้าน Refill Store ประมาณ 10 กว่าแห่งทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งกระจายอยู่ตามคอมมูนิตี้มอลล์ ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟฟ้า BTS และในมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น บางแห่งก็มีไอเดียเจ๋งๆ ทำเป็นทั้งที่พัก คาเฟ่ มุมขายของอีโค่ มุมรีฟิลไว้ในพื้นที่เดียวกัน และเนื่องด้วยธุรกิจสายกรีนกำลังมาแรง เราคงจะมีร้านค้าและคาเฟ่รักษ์โลกแนวนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วประเทศแน่นอน

ธุรกิจสินค้า Eco ที่มีดีไซน์ตอบสนองคนรุ่นใหม่ และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้บริโภคสายกรีนตัวแม่และสายกรีนตามกระแส เป็นกลุ่มที่ได้ใช้สินค้าอีโค่หรือสินค้าออร์แกนิกอยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการก็สามารถดึงดูดผู้บริโภคอีกสองสาย คือสายสะดวกกรีนและสายโนกรีนให้หันมาเลือกซื้อสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ โดยดีไซน์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมของตนให้เข้าถึงผู้บริโภครุ่นใหม่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น กระเป๋าดีไซน์ถูกใจวัยรุ่นที่ทำจากผ้าใบอย่างหนาและมีสีโดดเด่นใช้คลุมรถบรรทุกขนของขนาดใหญ่ในยุโรป โดยทางแบรนด์ได้ทำการเลือกผ้าใบเหล่านี้มาชุบชีวิต โดยเหล่าดีไซเนอร์จะทำการเลือกตัดลายผ้าใบที่มีความเก๋จากสีและตัวอักษรออกมา เพื่อไปเย็บใหม่เป็นกระเป๋าผ้าใบหลายๆ แบบ ทั้งกระเป๋าใส่แล็ปท็อป กระเป๋าเป้เดินทาง กระเป๋าสะพายข้าง เรียกได้ว่าตอบโจทย์ทั้งในด้านการใช้งานและใช้ดีไซน์ช่วยนำพาให้ผู้บริโภคเข้าถึงแนวคิดการดูแลสิ่งแวดล้อมที่อยู่เบื้องหลังได้อย่างแนบเนียน หรือโฮสเทลแนวอีโค่ที่มีพื้นที่รับแสงและลมธรรมชาติ ช่วยประหยัดไฟฟ้า มีพื้นที่สีเขียวหรือแปลงผักดาดฟ้าให้ผู้เข้าพักเข้าถึงธรรมชาติได้ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ก็เป็นการปรับตัวเข้าหากันของทั้งผู้บริโภคสายกรีนแต่ละประเภท และผู้ประกอบการที่มีแนวคิดในการดูแลสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นเทรนด์ของการรักษ์โลกที่น่าลงมือทำ และน่าตามติดความสร้างสรรค์กับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คงจะมีออกมาให้เห็นเรื่อยๆ เพราะเทรนด์นี้ไม่มีเอาต์แน่ๆ

ที่มาข้อมูล

www.brandbuffet.in.th
www.marketingoops.com
www.masii.co.th
www.postconnex.in.th
www.mangozero.com

เครดิตภาพ: Shutter Stock, Greenery.