ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ผู้คนรอบตัวหันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น สื่อต่างๆ ก็จับประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึงอยู่ทุกวันจนทำให้บางทีตัวพวกเราเองอาจจะเริ่มต้นไม่ถูกว่า เราควรจะเริ่มช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันของเราอย่างไรก่อนดี เพราะดูเหมือนว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ล้วนมีผลกระทบต่อโลกทั้งสิ้น แต่แล้วก็มีชายหนุ่มอเมริกันวัย 34 ปีคนหนึ่งผู้ซึ่งขนานนามตัวเองว่า ‘ชายผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง’ (Dude making a difference) ได้ออกมาเป็นกระบอกเสียงที่จุดประกายความตระหนักรู้ของผู้คนที่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการทำสิ่งเล็กๆ ทีละหนึ่งอย่างในรูปแบบที่ยิ่งใหญ่จนเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก ซึ่งชายผู้นั้นก็คือ ร็อบ กรีนฟีลด์

ร็อบเป็นนักผจญภัยและนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นรู้จักดีในหมู่คนรักสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เขาเริ่มต้นมีชื่อเสียงภายในช่วงระยะเวลาอันสั้นหลังจากที่เขาทำแคมเปญที่มีชื่อว่า Trash Me ซึ่งผลักดันเรื่องการใช้ชีวิตปลอดขยะเมื่อ 4 ปีก่อนโดยการทดลองสะสมขยะต่างๆ ในแต่ละวันของเขาแล้วเก็บลงในชุดขยะที่เขาสร้างขึ้นมา เขาสวมใส่ชุดขยะเดินทางไปทั่วมหานครนิวยอร์กเป็นเวลาหนึ่งเดือน จนกลายเป็นไวรัลบนโลกโซเชียลมีเดียเนื่องจากเขาชุดขยะของเขามีขนาดใหญ่มหึมาและหนักถึง 61 กิโลกรัม เขาตั้งใจทำสิ่งนี้เพื่อแสดงให้ชาวอเมริกันตระหนักถึงปัญหา และฉุกคิดถึงปริมาณขยะที่พวกเขาสร้างขึ้นโดยที่พวกเขาอาจไม่รู้ตัว เพราะโดยเฉลี่ยแล้วชาวอเมริกันสร้างขยะถึง 2 กิโลกรัมต่อวันต่อคนเลยทีเดียว

“เป้าหมายหลักของผมคือพยายามให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนลดการสร้างขยะให้น้อยลง คนบางกลุ่มอาจจะไม่ได้มีความคิดนี้อยู่เลยด้วยซ้ำ”

“สำหรับพวกเขาแล้วเมื่อพวกเขาโยนบางสิ่งบางอย่างทิ้งไป ก็เท่ากับว่าก็ขยะอยู่นอกสายตาไปแล้วโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องนึกถึงผลกระทบที่ตามมาอีก พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง”

ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้วก่อนที่ร็อบจะเป็นนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมที่บางคนอาจจะมองว่าสุดโต่งไปบ้าง เขาเคยเป็นวัยรุ่นที่มีความคิดเหมือนชายอเมริกันทั่วไป ที่ใฝ่ฝันไว้ว่าจะต้องเป็นมหาเศรษฐีตอนอายุ 30 ปีให้ได้ ชีวิตของเขาถูกขับเคลื่อนด้วยเงินและแนวคิดแห่งความสำเร็จ ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบของการดำเนินชีวิตของเขาที่มีต่อโลกใบนี้หรือผู้คนรอบข้างนอกจากตัวเองเลย

แต่แล้วร็อบก็ได้พลิกผันชีวิตของเขาครั้งใหญ่เมื่อตอนอายุ 24 ปี เขามีความคิดที่เปลี่ยนไป เขาเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมในปัจจุบันมากขึ้น ผ่านการอ่านหนังสือและดูสารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าตัวเขาเองมีส่วนสำคัญทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ในทุกๆ การกระทำในแต่ละวันมากเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่เขากินรถที่เขาขับรถ รวมไปถึงสิ่งของที่เขาซื้อและบริโภค เขาจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง และคอยสร้างแรงกระเพื่อมเพื่อชักชวนผู้คนให้มามีส่วนร่วมในการรักษาโลกนับแต่ตอนนั้น

ถึงแม้ว่าแคมเปญ Trash Me ของร็อบคือแคมเปญที่ดังที่สุดที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักเขาตามกระแส Zero Waste แต่ก่อนหน้านั้นเขาเคยทำแคมเปญที่ยิ่งใหญ่มาถึง 3 แคมเปญที่พูดถึงประเด็นสำคัญๆ  อย่างการปลุกให้ชาวอเมริกันตื่นตัวกับการใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยที่ตัวร็อบเองขี่จักรยานที่ทำจากไม้ไผ่ทั้งคันไปทั่วประเทศอเมริกาเป็นระยะทางกว่า 7,600 กิโลเมตรในเวลา 104 วัน (Off the grid across America) เพื่อสื่อสารกับคนหลายๆ พื้นที่ว่า “ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องลงมือทำกันอย่างจริงจัง” ร็อบแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าเขาสามารถขับจักรยานไปทุกที่ได้ด้วยแรงของเขาเองและตลอดการเดินทางนั้นเข้าสร้างขยะเพียง 900 กรัมเท่านั้น

หลังจากจบแคมเปญการขี่จักรยาน ร็อบหันมาสื่อสารเรื่องทรัพยากรน้ำจืดที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยสัญญากับตัวเองไว้ว่าจะไม่อาบน้ำเป็นเวลาหนึ่งปี (A year without showering) ซึ่งเขาก็ทำให้ผู้คนเห็นว่าเขาทำได้จริงๆ แต่การที่คนคนหนึ่งจะไม่อาบน้ำเลยเป็นเวลาหนึ่งปีเต็มๆ คงจะเป็นเรื่องที่ฟังดูน่าขยะแขยงมากเกินไปสำหรับการโน้มน้าวให้คนใช้น้ำให้น้อยลง ในแคมเปญนี้ร็อบจึงหมายถึงการไม่ใช้น้ำจากระบบน้ำประปาเลยเพื่อการอาบน้ำ ดังนั้นสิ่งที่เขาทำคือการพาตัวเองไปอาบน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเท่านั้น เช่น น้ำฝน น้ำตก แม่น้ำ ลำธารต่างๆ ที่เขาผ่านตอนเดินทางผ่านไปผ่านมา

“เราต้องตระหนักถึงที่มาของสิ่งต่างๆ ที่เราบริโภคทุกวันเช่นน้ำ อาหาร และพลังงาน ในแคมเปญนี้ผมเพียงต้องการแสดงให้เห็นว่าน้ำมีคุณค่าเพียงใด และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนอนุรักษ์และปกป้องรักษามัน”

ความสนใจของร็อบไม่ได้หยุดเพียงแค่ปัญหาขยะ หรือการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถทดแทนได้อย่างแหล่งน้ำ แต่รวมไปถึงปัญหาที่มากับอาหาร เมื่อเขาตระหนักได้ว่าระบบอาหารและการบริโภคของมวลมนุษย์มีผลกระทบมากมายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร็อบจึงเป็นคนแรกๆ ที่พูดถึงเรื่องปัญหาขยะอาหารและปัญหาผู้ขาดแคลนอาหารทั่วโลก แคมเปญของเขาชิ้นต่อมาที่สร้างกระแสและความสนใจไม่น้อยเลยคือการที่เขาทดลองดำลงไปในถังขยะเพื่อกอบกู้อาหารดีๆ ที่ถูกทิ้งแล้วนำมารับประทานเองตลอดการเดินทาง (The food waste fiasco)

พอทำไปได้สักพักร็อบเห็นว่าจริงๆ แล้วมีอาหารที่ยังมีคุณภาพและปลอดภัยต่อการรับประทานเองจำนวนมากถูกทิ้งไป เขาจึงเริ่มรวบรวมอาหารที่เขากอบกู้ได้จากถังขยะมาวางเรียงตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เพื่อแสดงให้ผู้คนเห็นว่าในแต่ละวันมีอาหารเหลือทิ้งมากขนาดไหนในขณะที่ยังมีผู้คนมากมายยังไม่สามารถมีโอกาสเข้าถึงอาหารที่เพียงพอได้ หลังจากนั้นร็อบจึงเริ่มรณรงค์ให้ร้านอาหาร ร้านค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ตนำอาหารที่ยังดีอยู่แต่จำต้องทิ้งไปบริจาคให้กับคนที่ขาดแคลนอาหารแทน โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ทางผู้ประกอบการจะได้รับความคุ้มครองจากกฏหมายในการบริจาคอาหารเช่นนี้ นอกเหนือจากจะได้รับความร่วมมือจากกลุ่มธุรกิจอาหารแล้ว แคมเปญนี้ยังได้รับความสนใจจากคนทั่วไปเป็นจำนวนมากอีกด้วย

และในปีที่ผ่านมานี้เอง ร็อบก็ได้แสดงให้ผู้คนเห็นว่าตัวเขาเองไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาระบบอาหารแบบเดิมที่ก่อให้ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป โดยที่เขาไม่ซื้ออาหารเลย (Food freedom: a year without buying food) เขากินแต่พืชผักผลไม้กว่า 100 ชนิดที่เขาปลูกเองโดยใช้น้ำฝนภายในสวนของเขา และอาหารที่เขาหาได้จากป่ามากกว่า 200 ชนิดโดยใช้ทักษะที่ได้เรียนรู้จากครูในพื้นที่ และในเวลาเดียวกันนี้เองเขาก็อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ที่สร้างจากวัสดุรีไซเคิลและของมือสองทั้งหมด รวมไปถึงการใช้พลังงานจากแสงอาหาร ทำระบบน้ำหมุนเวียน และการหมักของเสียจากห้องน้ำที่บ้านมาทำเป็นปุ๋ยอีกด้วย

“ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแล้วคุณจะมีชีวิตที่อิสระ”

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ร็อบทำอาจดูเหมือนสุดโต่งและดูเป็นไปไม่ได้สำหรับทุกคน แต่แท้จริงแล้วภายในแคมเปญต่างๆ นั้น ร็อบได้แบ่งปันบทเรียนและเคล็ดลับง่ายๆ มากมายที่พวกเราทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ เพื่อที่พวกเราจะได้ดำเนินชีวิตในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อโลกชุมชนและตนเอง

ตลอดชีวิตของร็อบ เขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียบง่าย ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะเติบโตไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ภายในจิตใจพวกเขาและสังคมในที่สุด

ร็อบใช้ชีวิตโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่าความสุข  สุขภาพ และอิสรภาพที่แท้จริงไม่ได้มาจากการสะสมเงินและทรัพย์สิน แต่มาจากการเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวของเราไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ความสัมพันธ์ และความรักนั่นเอง

ที่มาข้อมูล:
www.robgreenfield.org
www.youtube.com
www.huffpost.com

ภาพประกอบ: Paperis