ในช่วงอากาศกำลังดีน่าเดินแบบนี้ Greenery. พาไปส่องดูเมือง ‘active’ ที่มีระบบรถไฟ รถรางไฟฟ้า ถนนหนทางในชุมชนเงียบสงบ มีทางปั่นจักรยานกับทางคนเดินเท้าที่อยู่หน้าบ้าน ชวนให้เราเดินออกไปโรงเรียน ไปทำงาน ไปช้อปปิ้ง โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวตลอดเวลา ผู้คนมีประสบการณ์ดีๆ จากอิสระในการเดินทางที่ไม่ติดขัด มีความปลอดภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้นจากการไม่ต้องมีรถยนต์เป็นภาระ เรามารู้จักระบบขนส่งที่แอคทีฟนี้กันเลย

มารู้จัก Active Transportation กันสักนิด

แอคทีฟ ทรานสปอร์ต หมายถึงการเดินทางไปไหนมาไหนโดยใช้แรงกายของตัวเองเป็นหลัก เช่น การเดิน การขี่จักรยาน การพายเรือสัญจรทางน้ำ ซึ่งในทฤษฎีแรกๆ นั้นจะหมายถึงแค่การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์มอเตอร์ แต่ในบทบาทของเมืองสมัยนี้ การวางแผนแอคทีฟ ทรานสปอร์ต จะหมายรวมถึงระบบการเดินทางขนส่งมวลชนที่สนับสนุนให้คนได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเดินหรือขี่จักรยานมาต่อรถประจำทาง รถไฟ รถราง เรือข้ามฟาก และอื่นๆ เพื่อเชื่อมต่อเมืองกับผู้คนให้มีการขับเคลื่อนไปอย่างมีสุขภาวะที่ดี ประชาชนได้ออกกำลังกายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่วนเมืองก็มีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น เพราะหากมีขนส่งขั้นพื้นฐานบวกกับระบบแอคทีฟ ทรานสปอร์ตที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน ความจำเป็นในการใช้รถยนต์ส่วนตัวก็จะลดลงไปด้วย

Active Transportation นั้นดีกับเมืองและผู้คนอย่างไร

องค์กรความร่วมมือเพื่อการเดินทางแบบใช้แรงกาย (The Partnership for Active Transportation) ในสหรัฐอเมริกา ได้อธิบายถึงประโยชน์แบบภาพใหญ่ของระบบแอคทีฟ ทรานสปอร์ต เพื่อให้แต่ละเมืองใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา เอาไว้ว่า

ผู้คนสุขภาพดี (Healthy People) เพราะมีหลายประเทศที่ผู้คนเป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ หากจัดการให้การเดินเท้าและการปั่นจักรยานนั้นปลอดภัยและสะดวกสบาย เมืองก็จะส่งเสริมให้ผู้คนมีวิถีชีวิตที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายแบบสอดคล้องกับชีวิตประจำวันของแต่ละคนมากขึ้น

สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพ (Healthy Environment) การทำให้ผู้คนสามารถเดินหรือขี่จักรยานเพื่อเดินทางในระยะสั้นๆ ได้นั้น ในระยะยาวก็ช่วยทำให้ชุมชนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงได้อย่างมหาศาล เริ่มจากลดมลพิษ ไปจนถึงลดสภาวะภูมิอากาศแปรปรวน

เศรษฐกิจเติบโต (Healthy Economy) ระบบการเดินทางแบบใช้แรงกายยังช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน โดยการช่วยเชื่อมต่อหลายๆ ย่านชุมชนการทำงาน ที่อยู่อาศัย เข้าด้วยกัน

แอคทีฟ ทรานสปอร์ต เป็นการช่วยเหลือการเข้าถึงธุรกิจขนาดเล็ก ดึงดูดคนวัยทำงาน ช่วยพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น

ต่อยอดสร้างสรรค์ไอเดียกิจการ ธุรกิจใหม่ๆ และการท่องเที่ยวในย่านใหม่ๆ หรือย่านเก่ามุมมองใหม่ ส่วนในระดับครอบครัวก็ช่วยให้ผู้คนประหยัดค่าใช้จ่ายได้จากการลดการเติมน้ำมันรถยนต์

เมืองมีความคล่องตัวขึ้น (Mobility for All) การที่ต้องใช้รถยนต์แม้จะแค่เดินทางใกล้ๆ ทำให้ประชากรกลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่ไม่สามารถขับรถได้ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความพิการทางสายตา หรือผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้สะดวก พอมีแอคทีฟ ทรานสปอร์ตที่มีความสะดวกต่อการใช้งานและปลอดภัยเข้ามาเติมเต็ม ก็จะช่วยให้ผู้คนกลุ่มนี้หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้อยากจะมีรถยนต์ส่วนตัวได้รับประโยชน์และเข้าถึงบริการต่างๆ ของเมืองได้ง่ายขึ้น

การเดินทางแบบนี้ ประชาชนบอกว่า…

ในเมืองบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ประชาชนสามารถปรับตัวได้เร็วกับแนวคิดที่ว่าแอคทีฟ ทรานสปอร์ตมีส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองมีคุณภาพในระยะยาว ทำให้ชุมชนมีสุขภาวะที่ดี

แต่ละคนเห็นด้วยตัวเองว่าเมื่อพวกเขาได้เดินเท้า ได้ปั่นจักรยาน ชุมชนก็น่าอยู่ขึ้นเพราะรถติดน้อยลง ตรอกซอยต่างๆ ก็มีชีวิตชีวา และอากาศโดยรอบก็สะอาดขึ้น

โดยการสำรวจตัวเลือกการเดินทางของประชากรแสดงให้เห็นว่าคนส่วนมากเลือกที่จะเดินทางโดยแอคทีฟ ทรานสปอร์ต ถ้าเส้นทางและระบบที่จัดไว้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และให้ความรื่นรมย์ทั้งทางกายภาพและจิตใจระหว่างเดินทาง สามารถย่นเวลาและระยะการเดินทางทั่วไปในชีวิตประจำวันให้สั้นลง เช่น จากบ้านไปที่ทำงาน ไปโรงเรียน ไปตลาด เป็นต้น ส่วนสิ่งที่จะทำให้พวกเขาไม่เลือกเดินทางแบบแอคทีฟ ทรานสปอร์ตนั้น คือสภาพอากาศไม่เป็นใจ ความปลอดภัยของถนนหนทาง การไม่มีทางเดินเท้าข้างทางหรือทางเดินข้ามถนนที่ปลอดภัย การขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่ขี่จักรยาน เวลาในการเดินทางมากเกินไป และการหาที่จอดจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย ซึ่งรัฐบาลในท้องที่นั้นๆ สามารถสำรวจความเห็นของคนในพื้นที่และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อการออกแบบพื้นที่ทางกายภาพ ระบบ และกลยุทธ์สำหรับการแก้ปัญหาต่อไป

แล้วถ้าเมืองนั้นยังไม่ค่อยมี Active Transport ล่ะ?

จริงๆ แล้วเมืองหรือชุมชนย่านต่างๆ จะไม่ต้องมีแอคทีฟ ทรานสปอร์ตก็ได้ แต่มันจะทำให้เมืองนั้นๆ มีฟังก์ชั่นการเป็นเมืองที่ไม่ครบวงจร เป็นไปอย่างไม่ลื่นไหลเท่าไหร่ เพราะเรื่องของการขนส่งนั้นกระทบไปหมด เช่น ส่งผลให้ขาดแคลนพื้นที่ทำกิจกรรมสันทนาการ พื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ ของเมือง สวนสาธารณะ และอื่นๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่มีค่าใช้จ่าย และยังช่วยให้ผู้คนได้ออกกำลังกาย

พื้นที่และกิจกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเรามีพื้นที่ระหว่างกลางของแต่ละชุมชนที่เดินถึงกันได้ง่ายๆ

ดังนั้นเมืองที่มีระบบแอคทีฟ ทรานสปอร์ตดีๆ ส่งผลให้ทางเลือกในการเดินทางและกิจกรรมของผู้คนมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นและช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน ส่งผลต่อเนื่องถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรอย่างทั่วถึง ในอีกแง่ก็คือการจะพัฒนาเมืองให้ร่วมสมัยได้ การมีทางเดินเท้าและทางสำหรับจักรยานที่ปลอดภัยในชุมชนที่เชื่อมต่อกับขนส่งมวลชนอื่นๆ นั้นเป็นสิ่งที่เมืองควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ และย่านอยู่อาศัยที่มีระบบบริการขนส่งสาธารณะที่เพียบพร้อม สามารถเดินทางไปใช้บริการได้ง่ายๆ ย่อมจะเป็นที่ต้องการมากกว่าย่านที่ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ต้องใช้รถยนต์

อีกด้านของการใช้แต่รถยนต์

เพราะการเดินทางทั้งหมดทั้งมวลมีผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาเมืองและความเป็นอยู่ให้มีคุณภาพในระยะยาว เราต้องพิจารณาว่าเราจะลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรในการวางแผนระบบขนส่งของเมือง ข้อมูลศึกษาจากองค์การขนส่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ (Transport for NSW) ประเทศออสเตรเลีย เปิดเผยว่า 14 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรัฐมาจากภาคขนส่งเอง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ทำให้เกิดมลพิษในอากาศสูงเป็นอันดับที่สอง ทางเมืองจึงคิดพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอยู่เสมอ และส่งเสริมให้ประชาชนใช้แอคทีฟ ทรานสปอร์ตเป็นตัวเลือกอันดับแรกเวลาจะเดินทางใกล้ๆ หรือเดินทางภายในย่านที่อยู่อาศัยของตน

การเดินทางด้วยรถยนต์ นอกจากมลพิษทางอากาศแล้ว เราต้องไม่ลืมมลพิษทางเสียงที่รวมมาด้วย

โดยการมีถนนขนาดใหญ่ ทางด่วน ทางยกระดับ อุโมงค์ลอดต่างๆ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชุมชนข้างเคียงแต่ยังกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ ยังอาจทำให้เขตชุมชนเก่าแก่ที่มีโบราณสถาน มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมได้รับความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม

การพัฒนาระบบขนส่งก็มีสิ่งที่ต้องคำนึงด้วย

ระบบขนส่งที่ดีมีส่วนช่วยในการปรับโครงสร้างและฟื้นฟูเมือง เพราะช่วยเชื่อมต่อสถานที่และชุมชนย่านต่างๆ ให้เข้าถึงกัน ซึ่งควรพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและกลมกลืนกับธรรมชาติโดยรอบ มีการคำนึงถึงการผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรมและบริบททางสังคมของสถานที่นั้นเข้าไปด้วย ซึ่งเมืองต่างๆ ยังสามารถออกแบบวิธีการเดินทางให้เป็นประสบการณ์ที่ดีของผู้คน เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยระบบขนส่งที่สร้างขึ้นหรือปรับปรุงใหม่ต้องเป็นไปเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของระบบโครงสร้างเดิม เพื่อที่จะได้เพิ่มคุณภาพอากาศในเมือง ลดการซ่อมบำรุงให้น้อยที่สุด ลดมลพิษทางเสียง ช่วยให้ผู้คนประหยัดเวลาในการเดินทาง ลดเส้นทางที่ไม่ปลอดภัย และลดอุบัติเหตุ ซึ่งหากทำได้ทั้งหมดนี้ การพัฒนาระบบขนส่งก็จะเป็นประโยชน์กับเมืองและผู้คนที่อาศัยอยู่ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

สำหรับการเพิ่มแอคทีฟ ทรานสปอร์ตในเมือง ก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย เช่น การย้ายตำแหน่ง ลด หรือเพิ่มป้ายหยุดรถประจำทางให้สอดคล้องกับเส้นทางการเดินและเส้นทางจักรยานในชุมชน ให้ระยะทางในการเดินทางมาถึงป้ายไม่ไกลเกินไป การปรับตารางเดินรถโดยสารประจำทางให้มีความตรงเวลา เพื่อให้การเดินทางต่อเนื่องกันกับแอคทีฟ ทรานสปอร์ต จะทำให้ผู้คนลดเวลาในการเดินทาง รวมถึงการปรับปรุงถนนหนทางและสัญญานไฟจราจรที่รถจักรยานและรถยนต์ต้องใช้ร่วมกัน เป็นต้น

ตัวอย่างเมืองที่มีการพัฒนาระบบ Active Transportation เพื่อลดการจราจรติดขัด

นอกจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เมืองต่างๆ เช่นเมืองอัมสเตอร์ดัม มีจุดเด่นในเรื่องการใช้แอคทีฟ ทรานสปอร์ต โดยใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักในการเดินทางในชีวิตประจำวันของผู้คน แน่นอนว่ายังไงๆ ผู้คนในหลายเมืองทั่วโลกก็ยังคงต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนตัว แต่ถ้าเมืองอยากจะส่งเสริมการขี่จักรยานให้มากขึ้นล่ะ เพราะแน่นอนว่ามันคือการทำให้ผู้คนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น อย่างที่มหานครนิวยอร์กที่เมื่อก่อนนั้นมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ ระหว่างรถยนต์กับจักรยาน เนื่องจากแรกๆ เลนจักรยานกับเลนรถวิ่ง และไฟสัญญาณจราจรยังมีความทับซ้อนกันอยู่ เวลาถึงแยกที่จะต้องเลี้ยว การไม่รู้จะระวังกันยังไงของทั้งสองฝ่ายจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุ และเพราะเลนการจราจรของรถยนต์มีถึง 4 เลน เทียบกับจักรยานที่มีเลนเล็กๆ เพียง 1 เลน จึงกลายเป็นว่ารถยนต์มีความสำคัญมากกว่าบนท้องถนน และผู้ที่ใช้จักรยานต้องคอยระวังรถแทน

พอทางเมืองได้เห็นถึงปัญหาตรงนี้ เลยแก้โดยการสร้างเลนจักรยานเพิ่มจากที่มีแค่เลนปั่นเล็กๆ 1 เลน เพิ่มเป็นเลนปั่น 2 เลนคนละฝากถนนสำหรับการเดินทางสองด้านทั้งไปและกลับ และยังขยายเลนจักรยานที่ว่านี้ให้มีความกว้างเป็นพิเศษ ขนาดเทียบกับว่าเลนปั่น 1 เลน ได้ความกว้างถึง 2 เลนเลยทีเดียว โดยได้ลดทางสำหรับรถยนต์วิ่งลงเหลือ 3 เลน บวกกับมีทางเดินของคนสัญจรแยกขนาบข้างต่างหาก มีการทำที่กั้นระหว่างพื้นที่ถนนสำหรับรถยนต์ จักรยาน และทางเดินเท้า ทำให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่ของตัวเองอย่างชัดเจน และยังมีการกำหนดจุดจอดจักรยานเพื่อรอสัญญาณไฟจราจรให้เลี้ยวโดยเฉพาะ ทำให้การจราจรทุกประเภทมีการเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ แบบไม่ติดขัดและไม่เกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้คนที่หันมาใช้จักรยานในการเดินทางเส้นนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งในระยะยาว การสนับสนุนแอคทีฟ ทรานสปอร์ตเช่นนี้จะทำให้ลดการจราจรติดขัดของทั้งเมือง ลดอุบัติเหตุ ลดความจำเป็นในการใช้รถยนต์ส่วนตัว และลดมลพิษได้ไม่น้อยเลย

ที่มาข้อมูล
www.cheddar.com
www.future.transport.nsw.gov.au
www.planh.ca
www.railstotrails.org
www.tcat.ca
www.youtube.com

เครดิตภาพ: Shutter Stock