ความสุขและความสำเร็จเป็นคำสำคัญที่เกือบทุกคนตามหาตลอดช่วงชีวิต ทว่าหลายครั้งหนทางเดินไปสู่สิ่งนั้นกลับย้อนแย้งกันเสียเอง คณาภรณ์ ธนูธรรมเจริญ ผู้ริเริ่มก่อร่าง อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์ บ้านพักในสวนป่าออร์แกนิก อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ เป็นคนหนุ่มที่เคยมุ่งหน้าเข้าเมืองแต่สุดท้ายเลือกกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในป่า เพราะพบว่าสุขภาพที่ดีมีค่ายิ่งกว่าสินทรัพย์ใดๆ จากบทบาทหน้าที่การทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่เคยคิด เคยตั้งคำถาม วางแผนเรื่องนโยบายต่างๆ ในระดับประเทศ ถึงเวลาต้องกลับมาตั้งคำถามสำคัญกับตัวเองบ้างแล้ว

“ผมไม่เคยเป็นโรคภูมิแพ้เลย แต่พอไปทำงานที่กรุงเทพฯ แล้ว ไอ จาม มีเสลด อาการหนักมาก กินยาก็หายช้า พอหายได้สักพักก็กลับใหม่ เลยตัดสินใจกลับบ้าน และตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคืออะไร เงินมีค่าแล้วอะไรมีค่ามากกว่าเงิน ความสุขจริงๆ มันคืออะไร แล้วช่วงหนึ่งแม่ให้กลับมาขายลิ้นจี่ที่สวน โอย..มาแล้วชอบ มันสงบ สะอาด ได้ยินเสียงไก่ขัน นกร้อง รู้สึกเลยว่าอยากจะมาสงบ สะอาด ปลอดภัย พึ่งพาตัวเองได้ที่นี่แหละ”

เมื่อตัดสินใจเลือกเดินบนหนทางการพึ่งตนเองแล้ว เขาเดินหน้าลงมือทำอย่างจริงจังจนเกิดผลที่น่าชื่นใจ “มาอยู่ที่นี่สี่เดือนเรามีรายจ่ายน้อยลง แต่เหมือนเรามีรายได้มากขึ้น แค่สี่เดือนก็เลี้ยงครอบครัวได้แล้ว ลองคิดถึงตอนทำงานสิ ไม่มีเงินส่งให้พ่อแม่เลย ทำให้เราเห็นวงจรชีวิตทั้งหมดเลยนะ ทำไมเราต้องเรียน ไปฝึกงาน ทำงาน ได้เงิน เอาเงินซื้อข้าว ทำไมชีวิตมันต้องยากขนาดนั้น เรามาอยู่ 4 เดือนนี่ใช้ทางตรงเลย อยากกินอะไรก็ปลูก ต้องกินข้าว กินผักก็ปลูก อยากกินกาแฟก็ปลูก อยากกินโกโก้ก็ปลูก เรียนรู้การใช้ชีวิตให้มันง่ายลง อยู่มา 3 ปีก็รู้แล้วว่าตัวเองอยู่ได้”

ปัจจุบันคำว่าเกษตรกรอาจฟังดูโรแมนติกในความคิดของชนชั้นกลางส่วนใหญ่ที่มักสวมแว่นตามองโลกด้วยสีชมพู แต่คณาภรณ์รู้ดีว่าโลกไม่ง่ายขนาดนั้น เขาต้องหาหลักยึดว่าจะดำรงชีพผ่านการงานนี้ได้อย่างไร เขาปรับปรุงบ้านพักเล็กๆ กลางป่าเขียวครึ้มขนาดย่อมที่พ่อปลูกไว้เมื่อเกือบสามสิบปีก่อน หวังใช้เป็นที่พำนักของตัวเอง แต่กลายเป็นที่รับแขกต่างชาติที่หลงทางผ่านมาโดยบังเอิญ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ทำที่พักในนาม อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์  มาจากคำว่า ‘เขียวอุ้มฮุ่ม’ ในภาษาเหนือที่หมายถึงเขียวครึ้มจนมืดทึบ

อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์เป็นบ้านพักที่อยู่ท่ามกลางป่าขนาดย่อมในสวนขนาดใหญ่ มองเห็นสีเขียวสุดตา ไม่ว่าจะนั่งอยู่จากส่วนใดของบ้าน มีหน้าต่างและระเบียงเปิดกว้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนเชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบตัวตลอดเวลา  มีผักสวนครัวอยู่รอบบ้าน พร้อมครัวเปิดโล่ง อุปกรณ์และเครื่องปรุงอาหารครบถ้วนทุกอย่างให้ผู้มาเยือนได้ ‘ใช้ชีวิตเรียบง่าย แช่มช้า และพึ่งพาตัวเองได้’ จริงๆ ตามแผนเดิม ฉันเตรียมทำหมูย่างแบบง่ายๆ สไตล์อาหารแคมปิ้งสำหรับค่ำคืนวันเข้าพัก แต่เมื่อฝนฟ้าไม่เป็นใจเทกระหน่ำลงมาในต้นฤดูหนาวแบบนี้  สวนครัวรอบบ้านของอุ้มฮุ่มทำให้เราผ่านมื้อค่ำคืนนั้นมาได้อย่างสนุกสนานน่าจดจำ (แม้ว่าไม่ได้เตรียมอะไรอย่างอื่นไว้เป็นแผนสองเลย)

เรากางร่มฝ่าฝนไปเด็ดผักบุ้งในแปลง ผักบุ้งอ่อนสูงแค่คืบแบบกินได้ทั้งต้น ตำใส่กระเทียมออร์แกนิก พริกกะเหรี่ยงที่ปลูกเอง ฉ่าไฟนิดหน่อย กินกับไข่เจียวจากไก่แบบเลี้ยงปล่อย แต่งกลิ่นด้วยใบโรสแมรี่สดๆ อีกนิด เด็ดกะเพราสดจากต้นผัดใส่หมูที่เตรียมมา และตำน้ำพริกใส่ผักกาดดองแห้ง เคียงข้าวกล้องออร์แกนิกนุ่มๆ ร้อนๆ จากนาที่ปลูกเอง แค่นี้ก็อร่อยล้ำในความฉ่ำชื้นแล้ว

“บางบ้านไม่เคยรู้เลยว่าลูกทำอาหารได้ แฟนทำขนมได้ พอมาอยู่ที่นี่ มีครัว มีวัตถุดิบพร้อมทุกอย่าง สมาชิกในครอบครัวมาทำให้อาหารให้กัน นั่งกินด้วยกัน ผมเห็นแล้วก็มีความสุขไปด้วย เพราะสุดท้ายการได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันกับคนที่เรารักนั่นแหละน่าจะเป็นสิ่งที่มีความสุขที่สุด” คณาภรณ์เล่ายิ้มๆ

ยามเช้า เจ้าของบ้านเตรียมข้าวต้มอุ่นๆ พร้อมไข่ลวกไว้ต้อนรับ เป็นข้าวต้มหมูทรงเครื่องที่เรียบง่ายแต่อร่อยล้ำ ทั้งข้าวกล้อง กระเทียม ผักจิงจูฉ่ายได้มาจากแปลงที่ปลูกเอง ไข่ไก่เลี้ยงเอง เมื่อได้เหยาะพริกไทยออร์แกนิก-อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของอุ้มฮุ่ม ก็ยิ่งชูรสชาติให้โดดเด่นขึ้นอีกมาก

พริกไทยของอุ้มฮุ้มอร่อยอย่างแตกต่าง เพราะเป็นพริกไทยพันธุ์ซาราวัคให้ความเผ็ดร้อนและหอมกว่าพริกไทยแบบซีลอนของภาคตะวันออก พูอาจสั้นกว่าเมื่อทำเป็นช่อพริกไทยสด แต่เมื่ออบแห้งทำพริกไทยป่นแล้วให้ความร้อนแรงถึงใจ พริกไทยเป็นหนึ่งในผลผลิตของสวนป่าแห่งนี้ที่ปลูกร่วมกับต้นไม้ใหญ่ อาศัยความร่มครึ้ม ความชื้นจาก (ลำ) ต้นไม้โดยแทบไม่ต้องดูแลจัดการอะไรเลย

“คนทำเกษตรรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงกายภาพอย่างเดียว เพราะเรามีความรู้ มีเทคโนโลยี เราต้องรู้จักเลือกพืชที่เหมาะและเข้ากับตัวเรา การทำ ‘เกษตรวิถีธรรมชาติ’ นี่ดีที่สุดแล้ว ผมไม่ได้ใช้คำว่าเกษตรอินทรีย์เพราะเราต้องไปให้สูงกว่านั้น เราพูดเรื่องคนรุ่นใหม่ เรื่องโอกาส เรื่องป่า ระบบนิเวศ พื้นที่สีเขียว ความสะอาดของสิ่งแวดล้อม ยั่งยืนคือหัวใจสำคัญ และมากกว่านั้นคือต้องไม่เป็นภาระตัวเองด้วย บางคนทำเกษตร ต้องทำปุ๋ยหมัก ต้องเลี้ยงไส้เดือน ต้องซื้อขี้วัว แต่ถ้าเราห่มดินให้ดินมีความชื้น ถ้าดินมันดีไส้เดือนมันมาเองแหละ มาพรวนดินให้เรา มาถ่ายเป็นปุ๋ยให้เรา  ดินเก็บความชื้นไว้ให้เรา เราก็รดน้ำน้อยลง พอหมักไปเรื่อยๆ จุลินทรีย์ก็เกิดขึ้นมาเอง เป็นจุลินทรีย์ในพื้นที่ที่เราไม่ต้องซื้อ ทำทุกอย่างให้มันง่ายเข้าไว้ เวลาจะทำเกษตร ให้มองไปที่แก่นของมัน คือ ‘ความเป็นปกติ’ ทำพื้นที่ให้เหมือนป่า ที่เหลือธรรมชาติก็จะดูแลตัวเอง”

บนสนทนาเนิ่นนานจนต้องร่ำลากันด้วยอาหารมื้อเที่ยงอีกรอบ ฉันประทับใจวอเตอร์เครสที่เด็ดใหม่ๆ จากต้น กินกับน้ำสลัดโฮมเมดที่เพื่อนฝูงเกษตรกรรุ่นใหม่แบ่งปัน สลัดกรอบกร้วมฉ่ำน้ำแบบที่หาไม่ได้จากที่ไหน ดื่มกาแฟดริปร้อนจากสวนที่เขาปลูกและคั่วเองด้วยมือ เติมน้ำผึ้งผลิตจากสวนป่าอีกนิด แกะเมล็ดโกโก้นิบส์มากินเคียงอีกหน่อย แค่นี้ก็เหมือนได้อยู่ในสรวงสวรรค์น้อยๆ แล้ว

“ผมอยากให้คนที่มาที่นี่แล้วได้เรียนรู้จากธรรมชาติ เพราะธรรมชาติให้วิธีคิดและให้ปัญญา นั่งเฉยๆ สังเกต ก็ได้ทั้งสติ ปัญญา ความสงบ นี่ คือ perfect living ที่เราอยากมอบให้”

เป็นความสุขเรียบง่ายที่เขาอยากส่งมอบให้ลูกค้าทุกคนผ่านบ้านพักในสวนป่าหลังนี้

หมายเหตุ : อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์เป็นที่พักส่วนตัวในสวนป่า ราคา 1,200 บาท ต่อคืน พักได้ไม่เกิน 6 คน ผู้เข้าพักสามารถเลือกเก็บวัตถุดิบรอบบ้านมาทำอาหารได้เองโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจากสวนอุ้มฮุ่มจำหน่ายตามฤดูกาล เช่น ข้าวกล้อง กาแฟ น้ำผึ้ง พริกไทยดำ พริกกะเหรี่ยง มะแขว่น สั่งซื้อสินค้าได้ทางออนไลน์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

FB: www.facebook.com/AumhumHomestayAndOrganicfarm

ภาพถ่าย: วิรตี ทะพิงค์แก