กดไลค์ให้ตั้งแต่แรกที่เห็นชื่องาน ‘เมือง-ฟาร์ม-สัมพันธ์’ ของเทศกาลสวนผักคนเมืองแล้ว เพราะเป็นการตั้งชื่อที่เชื่อมให้เราเห็นภาพความเกี่ยวพันที่ไม่ควรถูกแยกออกจากกันของเมืองและฟาร์ม ว่าพื้นที่เกษตรในเมืองมีความสัมพันธ์กับคนเมืองทุกกลุ่ม
ยิ่งเมื่อได้มาเห็นบรรยากาศของงาน ที่มีส่วนผสมของคนร่วมงานทุกเพศหลายวัยและหลายที่มา โดยเฉพาะคนเมืองรุ่นใหม่ซึ่งหันมาสนใจการสร้างพื้นที่เกษตรและพื้นที่อาหารในเมืองมากขึ้น ก็เชื่อว่านี่ไม่ใช่แค่การตามเทรนด์ที่ป๊อปขึ้นมาแล้วจะซาไป เพราะคำสำคัญของความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ได้ถูกปลูกเอาไว้ในหลายๆ กิจกรรมและเสวนาของงานนี้
และเป็นไกด์ที่ทำให้คนเมืองมั่นใจขึ้นว่า การสร้างพื้นที่อาหารไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ทั้งยังได้เปลี่ยนมายด์เซต ทำความเข้าใจถึงความหลากหลายของเรื่องอาหาร ที่บางครั้งอาจงอกเงยอยู่ริมสวนริมทางก็ได้
เทศกาลสวนผักคนเมือง ครั้งที่ 7 ตอน เมือง-ฟาร์ม-สัมพันธ์ เกิดขึ้นด้วยแนวคิดที่ต้องการชูเกษตรในเมือง พื้นที่แห่งการเกื้อกูล ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2565 เพื่อเปิดพื้นที่สื่อสารถึง ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างพื้นที่เกษตรในเมืองกับคนเมืองทุกกลุ่มที่มีความหลากหลาย
ซึ่งการทำเกษตรในเมือง เป็นการส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร และสนับสนุนวิถีการผลิตเพื่อพึ่งพาตนเองด้านอาหาร ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน เพื่อสร้างพื้นที่อาหารของเมือง และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชีวิต ซึ่งการระบาดของโควิด-19 นั้นได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกละเลย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น
และการปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่ ด้วยการทำเกษตรในเมือง และสร้างพื้นที่อาหารของเมือง ก็เป็นหนึ่งในทางออก เพราะเมื่อคนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพื้นที่อาหารของเมือง และเปิดรับให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีชีวิต ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มไปด้วยกัน
สวนผักคนเมือง ครั้งที่ 7 ต้อนรับเราในด่านแรกด้วยกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์ ที่นำพืชผักและผลิตภัณฑ์ปลอดสาร อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน ไปจนถึงวัสดุปลูก ให้เราจับจ่ายกลับบ้าน อันเป็นธรรมเนียมที่แฟนคลับของเทศกาลสวนผักคนเมืองรู้กันดี ว่านี่คือเทศกาลตุนเสบียงที่เราจะไม่พลาด แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น เราขอเติมความรู้และประสบการณ์ใหม่ให้ตัวเอง ด้วยการฟังเสวนาและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เสียก่อน
เพื่อให้ทุกคนที่มาร่วมงานได้รับทั้งสาระความรู้ และเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมที่สอดแทรกเรื่องอาหารและการกินเข้าไว้อย่างละมุนละม่อม การออกแบบกิจกรรมของงานนี้จึงมีทั้งเวิร์กช็อปและเสวนาเพื่อการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องการพัฒนาระบบอาหารยั่งยืน และอาหารปลอดภัย อย่างวงเสวนา ‘เมือง ฟาร์ม สัมพันธ์’ ล้อมวงคุยเรื่อง ‘อาหารปลอดภัย…ไกลเกินจริง?’ มีคุณหมอนัท -ณัฐพล วาสิกดิลก เจ้าของหนังสือ ‘ใครไม่ป่วยยกมือขึ้น’ มาให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพแบบฉบับทางเลือกในภาวะลองโควิด และวงเสวนา ‘นักปลูกผักหน้าใหม่’ โดยเหล่านักปลูกผักตัวจริงมาแบ่งปันประสบการณ์
ความยากของการเที่ยวเทศกาลสวนผักคนเมืองคราวนี้ มีเพียงยากเดียวคือความยากในการตัดสินใจ เพราะแต่ละกิจกรรมล้วนอยู่ในความน่าสนใจไปเสียทั้งหมด และมีเวลาที่ซ้อนกันอยู่ ทำให้ต้องเลือกว่าจะเอาตัวไปเข้าร่วมในกิจกรรมไหนดี
ไม่ว่าจะเป็น Urban Foraging ครั้งที่ 2 ตอน ตู้ยาริมทาง ที่พาคนเมืองออกเดินสำรวจพืชพันธุ์ที่เกิดและโตขึ้นเองตามธรรมชาติ และเป็นได้ทั้งอาหารและสมุนไพร เช่น กระสัง กระทกรก ลูกใต้ใบ จิงจ้อ หญ้าแห้วหมู ฯลฯ ที่บางอย่างเรารู้จักกันดี แต่บางชนิดก็เป็นชื่อที่ไม่คุ้นเคย แต่ประสบการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้เรารู้ว่าพืชที่คนส่วนใหญ่มองเป็นเพียงวัชพืช ที่จริงแล้วมีสรรพคุณทางยา ทั้งสามารถนำมาปรุงเป็นอาหาร และเปลี่ยนเป็นชาดื่มที่ให้ผลดีต่อสุขภาพต่างกันไป
หรือในเวิร์กช็อป ‘ซูชิโรลสายพันธุ์ไทย’ ที่ ‘ปูเป้ทำเอง’ มาเปิดคลาสสอนทำซูชิ โดยมีผักพื้นบ้านสารพัดชนิดเป็นวัตถุดิบ เช่น ถั่วพู ผักกูด กระเจี๊ยบ กระสัง พวงชมพู ฯลฯ มาสร้างสรรค์รสชาติใหม่ๆ ให้ซูชิได้มีทางเลือกในการทำมากขึ้น และให้ทุกคนที่ร่วมกิจกรรมทั้งที่มากันเป็นครอบครัวและกลุ่มเพื่อน สนุกสนานไปกับการปั้นข้าวและชิมฝีมือตัวเอง
ส่วนคนที่สนใจเรื่องการทำเบเกอรีจากแป้งข้าวพื้นบ้าน ญา-สาวนักทำขนมปังจากพัทลุงแห่ง PungCraft บ้านเรียนขนมปัง ยกคลาสเรียนมาไว้ในสวนผักคนเมือง ในเวิร์กช็อปอาหารจากแป้งข้าวพื้นบ้าน ตอน ‘ข้าวใหม่จากแดนใต้’ นำข้าวพันธุ์พื้นบ้านมาให้ผู้เข้าร่วมได้มีทางเลือกใหม่ในการทำแป้งเบเกอรี และสามารถนำไปทำกินเองหรือต่อยอดได้ นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปเกษตรในเมืองและการพึ่งตนเองในเมือง สำหรับคนที่สนใจเรื่องการปลูกผัก การเลี้ยงไก่ไข่ในเมือง และสวนผักบำบัด
แต่ที่ถูกใจน้องๆ วัยซน คืองานนี้มีลานกิจกรรมเด็ก ที่ครูโฉ-จิตรา หิรัญพฤกษ์ แห่งสวนผักหฤหรรษ์ปันยิ้ม ชวนเด็กๆ มาเรียนรู้เรื่อง ‘อาหารและหยูกหยาประสาเด็กๆ’ กันทั้งวัน ไม่ว่าจะลงมือเก็บฟืนก่อไฟนึ่งข้าวหลากสี เก็บไข่มาทำไข่เจียวครกสารพัดผัก และเก็บสมุนไพรมาทำยา โดยมีวัตถุดิบเป็นสมุนไพรใกล้ตัว และครกบดไซส์จิ๋วหรือขวดแก้วเท่านั้น ก็จะได้ยาทาแผลและทากันแมลงสูตรไร้เคมีไว้ใช้เอง การได้ลงมือทำเองแบบนี้ทำให้เด็กๆ สนุกกันไม่ใช่เล่น และได้ยืดอกภูมิใจกับฝีมือของตัวเองกันทุกคน
ทุกกิจกรรมการเรียนรู้และวงเสวนาที่เกิดขึ้นในเทศกาลสวนผักคนเมือง ครั้งที่ 7 นี้ ล้วนมีจุดเชื่อมโยงให้คนเมืองได้เห็นความสำคัญของการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร และการสร้างพื้นที่อาหาร ที่นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารให้กับตนเอง ยังสามารถส่งต่อเพื่อเกื้อกูลกัน หรือเตรียมตัวเองให้พร้อมหากวันใดวันหนึ่งต้องรับมือกับวิกฤติขาดแคลนอาหาร
ซึ่งพื้นที่สีเขียวที่กินได้เหล่านี้ จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ในการพัฒนาเมืองให้เดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนด้วย
ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)