กลับไปเยือนถิ่นแดนด้ามขวานอีกครั้ง ฝั่งอันดามันของไทย หมู่เกาะลิบงดินแดนแห่งพะยูน ดินแดนแห่งอาหารอร่อยเลิศรส การผสมผสานจากหลากหลายวัฒนธรรมพื้นถิ่นไทย จีน แขก ฝรั่งมังค่า บนเกาะนี้ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและทำประมงจากเรือเล็ก การเดินทางครั้งนี้มุ่งหวังเพื่อหาอาหารอร่อยมารับประทานกัน รื้อฟื้นอาหารดั้งเดิมเก่าแก่และความใหม่แปลกตาของความร่วมสมัยทั้งคนและอาหาร

กุ้ง หอย ปู ปลา กั้ง หมึก จากท้องทะเลถูกจัดการและจับหาจากวิธีการพื้นบ้าน ซึ่งเป็นการประมงเพื่อการยังชีพหรือการทำประมงขนาดเล็ก

ตอนช่วงเช้าเกือบจะสาย มีนัดกับชาวประมงสองพี่น้องเพื่อที่จะออกเรือไปตกหมึก ซึ่งทำให้รู้สึกประหลาดใจมากว่าเราออกเรือมาไม่ห่างจากฝั่งมากนัก มีเรือชาวประมงอยู่สามสี่ลำที่ตกหมึกอยู่ก่อนหน้านั้น ใช้มือกระตุกสายเบ็ดขึ้นลงอยู่กลางลำเรือ โดยไม่หวั่นคลื่นลมและแรงแดด

ชาวประมงที่ไปด้วยเริ่มต้นสอนการตกหมึกด้วยเหยื่อปลอมที่เป็นรูปกุ้งสีสันสวยสีบาดตา เหลืองส้มแสดเขียว ที่คล้องไว้กับสายเบ็ดยาว เขาบอกว่าสีสดจะชักชวนปลาหมึกให้มากินเหยื่อ เมื่อเหยื่อถูกโยนออกไปในน้ำสายเบ็ดจะถูกชักโยกขึ้นลงเพื่อแสร้งให้กุ้งปลอมดูเหมือนมีชีวิต หลอกล่อเหล่าหมึก การโยกขึ้นลงของสายเบ็ดด้วยประสบการณ์สัมผัสรู้ว่าเมื่อหมึกติดมาต้องดึงแรงค่อยขนาดไหนที่หมึกจะติดขึ้นมา หมึกสาย หมึกหอม หมึกกล้วย หมึกกระดอง โชคดีมากที่สามารถตกได้ทุกหมึกหลากชนิด สีสดสวยกระพริบพรายสีสันตัวหมึก เป็นความรู้ใหม่ว่าเราสามารถตกหมึกในเวลากลางวันได้ด้วย และเป็นวิธีวิเศษที่มั่นคงและยั่งยืนหาง่ายใช้นาน

บ่ายคล้อยน้ำทะเลลอยลงต่ำน้ำลง ชายหาดค่อยเผยความงามแห่งทรายและโคลนเลน ชาวประมงเริ่มเอาเรือเล็กที่นำอวนไว้บนลำเรือ ผูกปลายหนึ่งไว้บนชายฝั่ง แล้วเดินโรยอวนออกไปในพื้นน้ำทะเลที่ลดลงจนสามารถเดินได้ แล้วเดินโรยอ้อมเป็นครึ่งวงกลมระยะกว้างเท่าที่จะเดินได้เข้าหาชายฝั่งพร้อมกับเรือเล็ก เมื่อน้ำลดลงปลาที่ขนาดเล็กที่เข้ามาหากินตามชายฝั่งก็จะติดอยู่กับอวน ปลาทราย ปลากระบอก ปลาทู ปูดาว วิธีการนี้จะเรียกว่า ‘อวนเดิน’

ระหว่างนั้นชาวประมงผู้หญิงเดินเข้าไปในป่าตามชายหาด เดินไปขุดหัวพืชชนิดหนึ่งออกมาจากป่า ลูกกลมทรงออกรีสีน้ำตาลอ่อน หัวท้าวยายม่อม เอามาปอกเปลือกแช่น้ำล้างยางออกด้วยน้ำทะเล แล้วขูดกับตะแกรงที่ทำเตรียมมาอย่างพิเศษลงในอ่างน้ำทะเล หลังจากนั้นก็บีบคั้นเอาแต่น้ำแป้งผ่านผ้าขาวบาง รอจนแป้งตกตะกอน รินเอาน้ำออก เก็บเอาแป้งข้นเพื่อที่จะไปตากบนฝั่งต่อ เมื่อแป้งแข็งดีนำเอามาตำและร่อนเป็นแป้ง ซึ่งจะได้ ‘แป้งเท้ายายม่อมสด’

จวบจน ๕ โมงเย็น เห็นคนหลายคนเดินอยู่บนชายหาดชายเลนอยู่ลิบลิบ ก้มก้มเงยเงยเก็บหอยชักตีน หอยแครง หอยคลาง หอยตลับหวาน ซึ่งชาวประมงบอกว่าช่วงนี้หาได้น้อยลงเพราะเป็นที่นิยมคนหาเยอะ คนกินเยอะ จากนั้นเดินทางขึ้นฝั่ง เพื่อเตรียมฉมวกเพื่อเอาไปแท่งกุ้งและไฟฉายรัดหัว แล้วเดินออกไปชายฝั่งน้ำลดเหลือแค่เข่าถึงตาตุ่ม พอย่ำค่ำไร้แสงกุ้งเล็กก็ออกหากินเพราะน้ำเริ่มเย็นขึ้น ไฟถูกส่องลงเพื่อจะเห็นดวงตาเแดงใสของกุ้งเพื่อจะรู้ตำแหน่งในการแทง ค่ำคืนหนึ่งถ้าได้ ๔๐-๕๐ ตัวก็ยิ้มเพลินกลับบ้าน ครานี้แทงได้สิบกว่าตัวเพราะไม่ถนัดและมืด อีกส่วนความหิวในท้องเรียกร้องให้กลับไปหาของกินดีกว่า

ปลาหมึกด้วยความสดใสของมัน ปลาหมึกกล้วยเอามาล้างเอาทำความสะอาดล้างหมึกออกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ สดๆ ลงผสมกับกระเทียม หอมแดง พริกขี้หนูซอย บีบมะนาว เป็นยำอย่างสด หมึกกระดอง หมึกหอมแค่ย่างให้หอมเกรียมด้วยไฟแรง หั่นกินกับน้ำจิ้มพริกสด กระเทียม มะนาว เกลือ น้ำตาลตัดรสสักนิด โชคดีที่ได้ของทะเลจากระชังในเกาะ จึงได้ ปลาเผา กุ้งมังกรเผา กุ้งลวก หอยลวก ก็กินด้วยกันเพลินทั้งวันทั้งคืน

ย่ำรุ่งย่ำเช้าอีกวัน ออกขับมอเตอร์ไซค์รอบเกาะเพื่อหาอาหารทะเลสดหลังจากเหล่าชาวประมงกลับเข้าฝั่ง พบกับปูม้า ปูแดง ปูดาว ปลาหมึก ปลาอินทรีย์ ปลาโมง กั้งกระดาน หอยแครง หอยชักตีน แต่ซื้อมาได้บ้างอย่างเพื่อจะทำกินในที่พัก

เริ่มต้นจากแกงคั่วปูใส่กะทิ รสออกเผ็ดเค็มมัน ปลาหมึกผัดพริกไทยดำ เผ็ดร้อน ผัดผักคะน้า เอามาแนมแก้เผ็ด เจ้าของที่พักใจดีทำขนมจีนน้ำยามาเสนอความอร่อย ตามด้วยขนมที่ทำจากแป้งเท้ายายม่อมสด กะทิ น้ำตาลกวนจนเหนียวจับตัว โรยกะทิ ข้าวโพด เห็นความสุขทั่งคนทำคนกินต่างเชื้อชาติศาสนา อาหารทำให้เราเคารพกันและมีความสุขร่วมกัน

ลิบง เมื่อยังมีความมั่งคั่งและมั่นคงอยู่อย่างนี้ จะมีแรงต้านทานกระแสภิวัฒนาได้นานอีกนานไหม

ภาพถ่าย: ธัญญพร จารุกิตติคุณ