ปลายสัปดาห์ก่อน เรามีโอกาสตามกลุ่มคนทำงานด้านอาหารอินทรีย์อย่าง ‘สวนเงินมีมา’ ผู้รับหน้าที่พัฒนาและกระจายสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้คนเมืองได้จับจ่ายซื้อหากันมานานหลายปี เข้าไปเรียนรู้เรื่องราวของ ‘ผลไม้อินทรีย์’ จากกูรูเจ้าของสวนผลไม้ถึงถิ่นเมืองจันท์ โดยทริปนี้กินเวลา 2 วันเต็ม อันประกอบด้วยการเดินเข้าไปในสวนผลไม้อินทรีย์เชิงผสมผสาน (เน้นทุเรียน ลองกอง เงาะ และมังคุด) ได้แก่ สวนพ่อรวย และ สวนผลไม้นายรัฐไท (สวนของพี่ไท หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านปัถวี จังหวัดจันทบุรี) โดยทั้ง 2 สวนเป็นสมาชิกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อยู่เดิม และยึดวิถีการทำเกษตรแบบไร้สารเคมีกันมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี จึงมีความรู้เรื่องผลไม้อินทรีย์ดีจนน่าประทับใจ

ต่อไปนี้คือเรื่องราวที่ไม่เคยรู้ จากกูรูชาวสวนผลไม้ ที่เราอยากบอกต่อ

1. ทุเรียนสุกให้ดูที่สี ส่วนทุเรียน ‘ป้ายสี’ ต้องดูที่ขั้ว  

​ชาวสวนบอกกับเราตรงๆ ว่าทุเรียนเป็นผลไม้เอาแต่ใจ ดูออกยากว่าสุกหรือยัง แถมเนื้อแต่ละพูก็สุกไม่พร้อมกันอีกต่างหาก กว่าจะสุกหมดลูกบางพูก็อาจเนื้อเละจนไม่อร่อย แต่สามารถประเมินคร่าวๆ ได้จากสีของร่องหนามทุเรียน ที่ถ้าสุกแล้วสีจะออกเขียวหม่นไม่สดเหมือนตอนยังดิบ และสามารถสังเกตเห็นร่องพูบนเปลือกได้แบบชัดเจน นั่นทำให้พ่อค้าแม่ค้าบางคนนำสาร ‘เอทิลีน’ (Ethylene) สีเหลืองๆ ที่ช่วยเร่งให้ทุเรียนสุกมาป้ายตรงปลายขั้ว ดังนั้น ลองสังเกต ถ้าเห็นสีเหลืองบนลูกทุเรียนเมื่อไหร่จึงควรรีบถอยให้ไกล

2. ต้นทุเรียนมีอายุขัยเกิน 100 ปี และทุเรียนพันธุ์อร่อยของแต่ละปีก็ไม่เหมือนกัน

หลังจากปลูกต้นกล้าทุเรียนลงดิน ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด 3 ปีหลังจากนั้นทุเรียนจะออกดอก ติดผล และให้ผลผลิตเรื่อยไปอีกนับร้อยปี (แต่ส่วนมากมักตายก่อนวัยอันควรด้วยโรครากเน่า) แต่ความอร่อยของเนื้อทุเรียนจะแปรผันตรงกับอายุ เรียกว่าต้นยิ่งแก่เนื้อยิ่งหอมหวาน แต่รู้ไว้ว่าทุเรียนอร่อยของแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน เพราะทุเรียนแต่ละพันธุ์ชอบสภาพต่างกันไป ถ้าปีไหนแล้ง หมอนทองกับชะนีจะอร่อยมาก แต่อย่างปีนี้น้ำหลากพวงมณีก็จะอร่อยที่สุด

3. มังคุดเป็นผลไม้บอบบาง ห้ามบีบห้ามขว้างเด็ดขาด

​เห็นเปลือกหนาๆ แต่ที่จริงแล้วมังคุดเป็นผลไม้บอบบางมาก แค่หล่นลงพื้นก็อาจทำให้เนื้อของมันแข็งและมีไตสีเหลืองขึ้นจนหมดความอร่อย เจ้าของสวนมังคุดอินทรีย์จึงแก้ปัญหาด้วยการ ‘สอย’ มังคุดจากต้นทีละลูก ทีละลูก เพื่อถนอมเนื้อในให้ขาวใสจนถึงมือผู้บริโภค และสำคัญคือ ‘การบีบเท่ากับการหล่น’ จึงไม่ควรบีบเปลือกมังคุดเล่นจนกว่าจะแกะกิน

4. เงาะดีต้องลูกกลม 

วิธีเลือกเงาะอร่อยอย่างง่ายๆ คือให้เลือกเงาะที่ลูกกลม! เพราะเปอร์เซ็นต์ความหวานและเนื้อร่อนจากเมล็ดจะมีมากกว่าลูกเรียว อีกอย่างคือเงาะเป็นผลไม้ที่คายน้ำง่าย เหี่ยวเร็ว ยิ่งไม่ใช้สารเคมียิ่งเก็บได้เพียงระยะสั้นๆ ชาวสวนสายเขียวเลยแอบกระซิบว่า ให้ผสมน้ำหมักชีวภาพฉีดพ่นลงบนเปลือกเงาะสักวันละครั้งสองครั้ง เพราะทดลองกันมาแล้วว่าทำให้เงาะอินทรีย์สดนานขึ้นจริง

5. การเปลี่ยนจากสวนเคมีเป็นอินทรีย์ใช้เวลานาน 4-5 ปี

​สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวสวนไม่เปลี่ยนใจมาทำเกษตรอินทรีย์ เพราะ ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ จากการใช้เคมีเข้าสู่ระบบอินทรีย์นั้นนานถึง 4-5 ปี เรียกว่าเป็นช่วงชำระล้างสารเคมีออกจากสวนก็ว่าได้ โดยหลังเลิกใช้เคมีต้นไม้จะต้องปรับสมดุลตัวเองอย่างหนัก และระบบนิเวศรอบๆ ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน (เช่น ต้องรอให้แมลงที่เคยหายไปกลับมา) ทำให้ผลผลิตระหว่างนี้กะพร่องกะแพร่งจนเกษตรกรหลายรายท้อ แต่ถ้าอดทนผ่านระยะนี้ได้ก็จะยิ้มออกกันทุกคน

6. ผลไม้อินทรีย์ส่วนใหญ่ที่ขายในประเทศไทย รับรองคุณภาพด้วยมาตรฐาน PGS

​PGS ย่อมาจาก Participatory Guarantee Systems หมายถึง การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ส่วนร่วมที่ว่านับตั้งแต่เกษตรกรด้วยกัน พ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อผลไม้ คนกิน หรือหน่วยงานต่างๆ มาประชุมและร่วมกันตั้งกฎในการทำเกษตรอินทรีย์ให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศของท้องถิ่นนั้นๆ จากนั้นจึงผลัดกันลงพื้นที่ประเมินผลไม้ตามสวนต่างๆ เป็นระยะ ว่ามีคุณภาพตรงใจหรือไม่ แต่! มาตรฐาน PGS ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง การส่งผลไม้อินทรีย์ของไทยไปขายต่างประเทศจึงยังต้องพึ่งพาตรารับรองสากล เช่น Organic Thailand หรือ มทก. ที่อยู่ในกำกับของสมาพันธุ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ

7. สวนผลไม้เกษตรอินทรีย์มักมี ‘ชันโรง’

​ชันโรงคือคือผึ้งตัวจิ๋วที่ไม่มีเหล็กใน หน้าที่สำคัญของมันในสวนผลไม้ คือ ผสมเกสรให้ผลไม้ออกตามฤดูกาลโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี แถมยังช่วยให้ผลไม้มีรสหวานหอมเป็นเอกลักษณ์ (จากการจับเกสรพันธุ์โน้นมาผสมกับพันธุ์นี้) และชันโรงเป็นผึ้งชนิดที่จะไม่บินไปไกลจากรัง มันจึงช่วยผสมเกสรอยู่ภายในละแวกสวนผลไม้ได้เต็มที่ ชาวสวนเมืองจันท์จึงนิยมทำกล่องรังผึ้งเพื่อเพาะเลี้ยงชันโรงกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

8. ถ้าอยากมั่นใจว่าผลไม้ที่กินไม่ใช่ GMOs ให้กิน ‘มังคุด’

​มังคุดเป็นผลไม้ที่ต่อกิ่งไม่ได้ ทาบกิ่งก็ไม่ติด สามารถขยายพันธุ์ด้วยการ ‘เพาะเมล็ด’ ได้อย่างเดียว ทำให้มังคุดมีเพียงสายพันธุ์เดียว (ซึ่งเรียกรวบว่ามังคุด) และไม่มีโอกาสกลายพันธุ์แม้นักวิจัยจะพยายามตัดแต่งพันธุกรรมมันเท่าไหร่ก็ตาม แต่รสชาติของมังคุดแต่ละลูกก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ตามสภาพดินฟ้าอากาศที่ต้นมังคุดเจริญเติบโต

9. ผลไม้ยิ่งเก็บนานยิ่งน้ำหนักยิ่งลดลง

​นับจากวินาทีแรกที่เก็บผลไม้จากต้น น้ำหนักของมันจะลดลงทีละนิดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเน่าและย่อยสลายไป เกษตรกรส่วนใหญ่เลยต้องรีบเก็บผลไม้ตั้งแต่ยังไม่สุกคาต้น เพื่อรักษาน้ำหนักและให้มันไม่หง่อมจนเกินไปเมื่อถึงมือคนกิน แต่เกษตรกรอินทรีย์ส่วนมากกลับนิยมสอยผลไม้ที่สุกคาต้น (สุกราว 90-95 เปอร์เซ็นต์) เนื่องจากมีรสชาติอร่อยที่สุด และนั่นก็เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมผลไม้อินทรีย์ถึงราคาแพงกว่าผลไม้อื่นในตลาด

10. เราสามารถซื้อผลไม้อินทรีย์ตรงจากสวนเองได้  

​เพราะตลาดสินค้าอินทรีย์ปัจจุบันยังไม่กว้างขวางสักเท่าไหร่ แถมการนำสินค้าฝากขายในห้างใหญ่ยังทำให้ราคาผลไม้แพงจนเกินเอื้อม ชาวสวนผลไม้อินทรีย์ในเมืองจันท์เลยนิยม ‘ขายตรง’ ผ่านเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊ก รับพรีออร์เดอร์ผลไม้ผ่านช่องทางออนไลน์ แพ็กอย่างดีและส่งให้ถึงบ้าน บางสวนมีผลไม้หายากอย่างทุเรียนก้านยาวหรือเงาะพันธุ์แปลก ถึงกับต้องเปิดประมูลกันแบบเรียลไทม์! ถ้าใครอยากสั่งผลไม้อินทรีย์จากเกษตรกรตัวจริงมาลองชิมดูบ้าง ก็ลองแวะไปที่ www.facebook.com/toongrack

www.facebook.com/FarmVisitProject