เคยสงสัยบ้างไหมว่า ถ้ากล้ามเนื้อของคนเราสามารถแข็งแกร่งได้ด้วยการยกเวท ปอดและหัวใจจะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณหันมาวิ่ง ว่าย ปั่น หรือทำกิจกรรมทางกายที่มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องนาน 25-30 นาที แต่เมื่อพูดถึงสมองหรืออวัยวะทรงอิทธิพลที่สุดในร่างกาย เราจะทำอย่างไรให้เจ้าสมองกลที่หนัก 1.4 กิโลกรัมและมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 80 เปอร์เซ็นต์ทำงานได้อย่างดีเยี่ยมและเสื่อมช้าลง เรื่องนี้นักประสาทวิทยา ไมเคิล เมอเซอนิช์ (Michael Merzenich) จาก University of California เจ้าของเว็บไซต์ brainhq.com กล่าวไว้ว่า “แม้สมองไม่ได้เป็นกล้ามเนื้อ แต่คุณสามารถฝึกฝนสมองให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เหมือนการที่คุณยกเวทบริหารกล้ามเนื้อต้นแขน” เพราะไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไรหรือต่อให้ฉลาดปราดเปรื่องขนาดไหน สมองของคนเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงได้ทุกเมื่อ

และข่าวดีก็คือ คุณสามารถเพิ่มพลังสมองของคุณได้ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อผลลัพท์ที่ดีมหาศาล สิ่งที่เราชอบคือวิธีเหล่านี้ทำได้จริงและเห็นผล แถมยังไม่มีข้อไหนบอกให้ต้องพึ่งพาอาหารเสริมราคาแพงเลยสักนิด

1. ใช้ไหมขัดฟันหลังอาหาร
ไม่น่าเชื่อว่าสุขภาพฟันกับสมองเกี่ยวพันกัน ประการแรกหากคุณอยากชะลออายุสมอง คุณต้องรักษาช่องปากให้สะอาดปราศจากเชื้อแบคทีเรีย เพราะโรคเหงือกอักเสบ (ปริทนต์อักเสบ) ทำให้ผนังหลอดเลือดอักเสบ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองน้อยลงจนเกิดโรคเกี่ยวกับสมองตามมาอีกเพียบ สอง หมั่นบริหารสมอง (Mental exercise) ด้วยการแปรงฟันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด วิธีนี้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นถึง 40%

2. จับปากกาแทนแป้นพิมพ์
เมื่อรูปแบบการสื่อสารแต่ละประเภทใช้งานสมองต่างกัน ยิ่งเขียนน้อยลงเท่าไร สมองส่วนนั่นของคุณจะยิ่งฝ่อลงเท่านั้น (ลองคิดถึงคอมพิวเตอร์เก่ากึกที่บูทเครื่องแต่ละทีใช้เวลานานโข) แนะนำว่าคุณควรสลับระหว่างการพิมพ์คีย์บอร์ดควบคู่กับการเขียน อาจจะเปลี่ยนมาเขียนโน้ตสั้นๆ บนโพสต์อิท จดบันทึกการประชุมลงสมุด หรือเขียนจดหมายแทนการส่งอีเมล

3. หมั่นเดินเร็ว
ประโยชน์ของการเดินเร็วไม่ได้มีแค่ให้คุณไปถึงเป้าหมายเร็วขึ้น แต่ยังกระตุ้นการทำงานของสมองให้ตื่นตัว ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อม ตามนำแนะนำของ New England Journal of Medicine พบว่าการเดินเร็วพัฒนาระบบไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดลำเลียงสารอาหารและอ็อกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น และขจัดสารพิษออกได้ดีกว่าบรรดามนุษย์เฉื่อย ส่งผลให้สมองแล่น คิดงานฉับไว ลองเริ่มด้วยการเดินไวไปกินข้าวเที่ยง ส่วนขากลับเดินเม้าท์มอยกับเพื่อนได้ตามปกติ

4. เรียนรู้งานคราฟท์
ไม่ได้จำกัดแค่งานฝีมือเท่านั้น แต่เราอยากให้คุณลองสละเวลาวันละนิดมาเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อให้เซลล์สมองฟู เช่น เรียนภาษาต่างประเทศ หัดพับกระดาษ เรียนเต้นซุมบ้า เข้าคลาสตีกลอง ฯลฯ แต่หากไม่มีเวลาจริงๆ ลองหากิจกรรมที่คุณสามารถทำได้ผ่านคลิปใน Youtube หรือแอพฯ ในมือถือ เช่น เปิดคลิปสอนทำดอกไม้กระดาษ เพราะเพียงวันละ 10 นาทีก็เพียงพอแล้วเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดังกล่าว (ตามที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Neurology)

5. ดูซิตคอมเรื่องโปรด
บอกลาดราม่าแล้วมาหัวเราะไปกับมุกตลก เพราะนอกจากจะช่วยลดฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอลแล้ว เสียงหัวเราะยังเป็นเหมือนภูมิคุ้มกันให้สมองของคุณแข็งแรง ทำให้สมองปลอดโปร่งไม่ตีบตันเหมือนเวลาดูหนังที่เต็มไปด้วยความรุนแรงหรือมีเนื้อหาหนักอึ้ง แต่ควรจำกัดแค่ 30 นาทีเพราะมากกว่านั้นให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม

6. ออกกำลังกาย 3 วันต่อสัปดาห์
ไม่ใช่แค่รูปร่างที่ดีขึ้น การออกกำลังกายยังช่วยให้สมองของคุณมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นด้วย ตามผลการวิจัยของ Medicine & Science in Sport & Exercise ที่ระบุว่าการออกกำลังกายเป็นประจำส่งผลบวกต่อการทำงานของสมอง โดยไม่เกี่ยงว่าคุณจะเป็นสายเวทเทรนนิ่งหรือคาร์ดิโอ ตราบใดที่คุณออกแรงกายที่ระดับความเหนื่อยปานกลางค่อนไปทางหนัก เพียง 20 นาทีต่อวัน ใครไม่มีอุปกรณ์หรือไม่ได้เป็นสมาชิกฟิตเนส แนะนำให้เดินขึ้น-ลงบันไดแทนลิฟต์ ได้ทั้งเหงื่อและเสริมสร้างกล้ามเนื้อขา

7. กำหมัดแทนกัดเล็บ
นี่เป็นเทคนิคง่ายๆ ที่ได้มาจากนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน หลังพวกเขาพบว่าการกำมือซ้ายของคุณให้แน่นสุดพลังนาน 2 นาที ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองฝั่งขวาซึ่งเป็นด้านความคิดสร้างสรรค์และระลึกความจำ หลังให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบกำมือก่อนท่องคำศัพท์ ผลปรากฏว่าจำคำศัพท์ได้มากขึ้น เช่นเดียวกัน หากคุณอยากกระตุ้นสมองฝั่งซ้ายก็ให้กำมือขวาแทน

8. บอกลาขนมหวานล้างปาก
เมื่อการกินขนมหวานทำให้ความจำเสื่อม วารสาร Brain, Behavior and Immunity พบว่าน้ำตาลและไขมันทรานส์ทำให้ประสิทธิภาพความจำแย่ลง แถมในระยะยาวยังก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน (เนื่องจากอินซูลินที่ทำหน้าที่ปราบปรามน้ำตาลทำงานขึ้นๆ ลงๆ) เสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับสมองโดยตรงอย่างเบาหวานหรือความดันโลหิต ซึ่งล้วนทำลายสมองอย่างผ่อนส่ง อีกอย่างหลังกินน้ำตาลหรือขนมหวาน สมองจะวิ่งปรู๊ดปร๊าดแต่ก็เพียงชั่วครู่ สักพักหลังน้ำตาลหมดฤทธิ์ สมองจะเริ่มเข้าสู่ภาวะเซื่องซึม คิดงานอะไรไม่ออก ต้องคอยพึ่งน้ำตาลตลอด กลายเป็นวงจรทำลายสุขภาพไม่จบสิ้น