เรียกแกรบให้คุณแม่ไปหาหมอ ซื้ออาหารสุขภาพไปฝากคุณพ่อที่บ้าน คงเป็นวิธีดูแลกันและกันของลูกยุคใหม่หลายๆ คน ที่หน้าที่การงานไม่อนุญาตให้ดูแลผู้ใหญ่ในบ้านได้ใกล้ชิดนัก แต่สำหรับเนม-สิริลักษณ์ ตะเภาหิรัญ กราฟิกดีไซเนอร์สาวที่พบว่าคุณแม่ของเธอมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต นอกจากหันมาดูแลอาหารการกินให้คุณแม่อย่างเคร่งครัด ลดหวาน มัน เค็ม ตามคุณหมอสั่ง (ไปพร้อมๆ กับเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรมการกินไปด้วยกันกับคนเป็นแม่) เธอยังลุกขึ้นมาดองไข่เค็มออร์แกนิกให้แม่กินเอง และอร่อยดีจนขยายวงกว้างแบ่งขายให้คนอื่นๆ ผ่านแบรนด์ชื่อน่ารัก เด็กขี่เป็ด

จากเพจเฟซบุ๊กที่เปิดเล่นๆ จากแรงยุ ตลอดหนึ่งปีตั้งแต่เริ่มวาดเส้นผมเด็กลงบนโลโก้ ชีวิตของคุณแม่และเธอเริ่มเปลี่ยนไป และเห็นผลลัพธ์ที่ ‘สุขภาพดีกว่า’ อย่างจับต้องได้

“ถ้าเรายังกินแบบนี้อยู่ แม่น่าจะเป็นโรคไตแน่นอน ไม่ใช่แค่เสี่ยงแล้ว”

ครอบครัวเล็กๆ ของเนมมีสมาชิกเพียงสองคนคือเธอและแม่ บทบาทในบ้านเล็กๆ คือเนมเป็นพนักงานประจำออกมาทำงานนอกบ้าน ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้านที่อยู่บ้านเป็นหลัก ก่อนหน้า คุณแม่เป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงอย่างที่เนมบอกว่า ‘โรคที่คนแก่ทั่วไปเป็นกัน’ จนกระทั่งในการตรวจสุขภาพครั้งล่าสุด ผลออกมาว่าคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต เพราะพฤติกรรมการบริโภคที่ติดรสเค็มจัดจ้านจากไข่เค็มที่ซื้อมาตุนติดบ้านไว้เพราะเป็นทั้งของโปรดและยังเก็บไว้ได้นาน เดี๋ยวเอามากินกับข้าวต้ม เดี๋ยวเอามาใส่ส้มตำ กลายเป็นว่าคุณแม่กินไข่เค็มทุกวัน แถมยังกินหมดทั้งไข่แดงและไข่ขาว ที่เค็มจนเข้าขั้นปี๋

“ถ้าเรายังกินแบบนี้อยู่ แม่น่าจะเป็นโรคไตแน่นอน ไม่ใช่เสี่ยงแล้ว หนูก็เลยคิดว่าจะเริ่มดองไข่เป็ดกินเอง จะได้เค็มน้อยกว่า หาสูตรจากในอินเทอร์เน็ตนี่แหละค่ะ ดองในน้ำเกลือละกันเพราะมันง่ายสุด ก็เริ่มไปซื้อไข่ที่ตลาดนัดแถวบ้าน ทำตามสูตร แต่กลายเป็นว่ามันเน่าหมดเลย พี่ที่สนิทกันเขาแนะนำว่า ลองเปลี่ยนจากไข่ธรรมดาเป็นไข่ออร์แกนิกดูไหม เพราะมันสดกว่า เราก็ลองสั่งมาดองดู ปรากฏว่ามันเวิร์กมากค่ะ ไม่เสียเลย แล้วตัวเท็กซ์เจอร์ของไข่ก็ดีกว่า อร่อยกว่า”

นักดองไข่เค็มมือสมัครเล่นเริ่มสนุกกับการดองไข่เค็มกินเองในบ้าน และเป็นพยาบาลดูแลคุณแม่ไปด้วยในตัว สิ่งที่เห็นผลชัดเจนคือค่าความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตของคุณแม่ลดลงหลังจากการหันมาดูแลเรื่องอาหารอย่างจริงจังและลดรสเค็มจากมื้ออาหารอย่างเคร่งครัด ส่วนวัยรุ่นที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องอาหาร และเคยกินบุฟเฟ่ต์ทุกเย็นอย่างเธอ ก็ได้ผลพลอยได้ในการดูแลการกินไปด้วย

“ไข่เค็มที่ลดปริมาณเกลือ กินได้ทั้งฟอง”

“ต้องบอกก่อนว่าไข่แดงของเราจะไม่แดงสดเพราะเราลดปริมาณเกลือ ที่เห็นตามตลาดที่แดง เพราะทั้งใส่เกลือเยอะ และใส่เหล้าขาวลงไปด้วยเพื่อให้ไข่มันแดงขึ้น แต่เราไม่ใส่เลยค่ะ เป็นไข่ที่สีไม่แดง ต้มแล้วซีดๆ หน่อย แต่รสชาตินวลๆ เหมือนไข่เค็มทั่วไป ส่วนไข่ขาวจะไม่แข็งมากแบบไข่เค็มทั่วไปที่ดองมาหลายเดือน ไข่ขาวเราจะนุ่ม กินได้ทั้งฟอง”

แต่กว่าจะได้ไข่เค็มที่เค็มกำลังดีและได้คุณภาพอย่างที่ชอบ สองแม่ลูกคู่นี้ก็ลองผิดลองถูกมาไม่น้อย ทั้งเรื่อค่าเกลือที่เค็มมากเค็มน้อยต่างกัน บางครั้งก็ได้รสเค็มมากไป บางทีก็จืดเป็นไข่ต้ม จากช่วงแรกที่คุณแม่เสนอภูมิปัญญาที่จำผู้เฒ่าผู้แก่ว่าให้เอาเกลือใส่ในน้ำแล้วให้เอาเหรียญบาทใส่ลงไปแล้วจำตำแหน่งที่เหรียญลอยขึ้นไว้ ครั้งต่อไปก็ให้ใช้ตำแหน่งเดิม แต่เนมคิดว่าเครื่องวัดความเค็มน่าจะมาตรฐานกว่า จึงเลือกมาใช้แทนการกะเกณฑ์เหมือนเคย

นอกจากจะได้ไข่เค็มเบาเกลือ อร่อยได้ที่ และดีต่อสุขภาพไว้ให้คุณแม่กิน เนมก็เริ่มบรรจุเป็นข้าวกล่องมื้อกลางวันไปที่ออฟฟิศ ความอร่อยกำลังดีทำให้เพื่อนและพี่ร่วมงานหลายๆ คนยุให้ลองทำขาย เนมบอกว่าทีแรกคิดว่าไม่เอาดีกว่า แต่อีกใจก็คิดว่าเปิดเพจในเฟซบุ๊กก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เลยลองทำดูเล่นๆ ไม่ได้หวังจะเป็นกิจการใหญ่โต

“พอเริ่มทำเพจ มีคนมาไลก์แค่สิบกว่าคนและก็มีแต่คนที่รู้จักค่ะ จนมีคนหนึ่งอินบ็อกซ์มา บอกว่าเขาเป็นผู้ป่วยโรคไต อยากสั่งไปลองแต่ก็ไม่มั่นใจเพราะว่าเราใหม่มาก ขอเอาไปทดลองก่อนได้ไหม หนูก็ส่งให้ไปโดยไม่เอาสตางค์ จนตอนนี้เขากลายเป็นลูกค้าประจำไปเลย ก็เป็นแรงให้เราตั้งใจทำมาตลอด” เนมบอกเล่า ว่าจากจุดเริ่มต้นของการทำไข่เค็มให้แม่ไม่ป่วย กำลังส่งต่อไปสู่คนป่วยที่อยากดูแลตัวเองมากขึ้นและมากขึ้น

“หนูชอบวาดรูป ตอนนั้นพี่ๆ ก็บอกว่าเราต้องมีโลโก้นะ เราเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ก็เบื่อกับพวกโลโก้ที่มันเรียบหรู เท่ๆ ก็เลยวาดเล่นๆ วาดเป็ดเพราะเป็นไข่เป็ด แล้วมันก็ฟุ้งไปเรื่อยกลายเป็นรูปเด็กผู้ชายขี่บนเป็ด เพราะเด็กผู้ชายวาดง่าย มีผมแค่สามเส้น พอคิดว่าจะต้องชื่ออะไร ก็เลยชื่อ ‘เด็กขี่เป็ด’ แล้วกัน ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนเลย” กราฟิกดีไซเนอร์สาวเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

“ดีใจที่ลูกค้าเลือกเราเพื่อไปดูแลสุขภาพ”

นอกจากสั่งออนไลน์ เด็กขี่เป็ดเริ่มขยับขยายไปออกตลาดฟาร์มเมอร์สมาร์เก็ตต่างๆ เพราะอยากลองดูสักตั้ง ซึ่งผลลัพธ์ก็ยิ่งทำให้เธอมั่นใจในสิ่งที่ทำมากขึ้น “พอได้ออกไปเจอคนจริงๆ ไม่ใช่แค่การคุยกันในอินบ็อกซ์มันก็แตกต่าง มีลูกค้ามาทัก คนเริ่มจำได้ หรือพยายามเดินหาว่าเราอยู่ไหน มีลูกค้าประจำมากขึ้น บางคนมาทุกครั้งที่เราไปออกบูท แล้วซื้อทีละเยอะมากๆ

“ลูกค้าบอกว่าแม่เขาเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ต้องเลือกอาหารที่กินดีๆ แล้วก็บอกว่าพี่เลือกหนูเป็นส่วนหนึ่งที่พี่ให้แม่กินตอนเช้าทุกวันนะ จากที่คิดว่าทำมาระยะนึงแล้วเหนื่อย บอกแม่ว่าไม่ไปออกบูทแล้วดีไหม แม่ก็บอกไปเถอะ ถ้าเกิดเราไม่ไปลูกค้าที่รอจะทำยังไง”

และดูเหมือนคนเป็นแม่ที่เคยอยู่บ้านเหงาๆ ก็มีชีวิตชีวาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากช่วยกันล้างไข่ ดองไข่ แม่ยังทำน้ำพริกสูตรเด็ดมาขายเวลาออกร้าน “ช่วงที่เอาไข่ไปขายอย่างเดียว คนก็เริ่มถามว่าจะกินไข่คู่กับอะไรดี ไม่มีอย่างอื่นเหรอ แม่ก็เริ่มทำน้ำพริกไข่เค็ม เอาไข่เค็มของเรามาทำน้ำพริก แล้วก็ขายดีมาก แม่ก็สนุก กลัวคนเบื่อด้วยก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นเมนูพิเศษเวลาไปออกบูทให้คนติดตาม เวลาจะไปออกบูทแม่ก็จะตื่นเต้นมาก เตรียมตัวทำนั่นทำนี่ คราวก่อนทำน้ำพริกมะขาม ก็เก็บมะขามต้นที่บ้านมาทำ”

ขณะที่การออกตลาดก็ทำให้เด็กขี่เป็ดมีพันธมิตรมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่ใช้ไข่เป็ดจากฟาร์มเล็กๆ ของเพื่อนที่เน้นเลี้ยงกินเองเป็นหลัก การออกตลาดออร์แกนิกทำให้เนมได้รู้จักเกษตรกรที่เลี้ยงไข่เป็ดไล่ทุ่งแบบออร์แกนิกที่สุพรรณบุรี และตัดสินใจเป็นคู่ค้าซื้อขายไข่จำนวนมากต่อกันอย่างเพื่อนร่วมอุดมการณ์ “จากที่ดองเดือนนึง 1 แผงตอนนี้แทบจะดองทุกวัน คือตอนแรกก็รู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ไม่น่าจะบริโภคไข่เค็มมากหรอก แต่กลายเป็นว่ามันเป็นอาหารสุขภาพที่ราคาถูก เก็บได้นาน กินเมื่อไหร่ก็ได้ ก็เลยคิดว่ามันน่าจะต่อยอดได้ไม่ยาก”

“ที่มาของไข่หลายๆ แบบ หนูคิดว่าน่าจะมาจากความงก”

ความน่าสนใจของเด็กขี่เป็ดไม่ใช่แค่ไข่เค็มออร์แกนิกเค็มน้อยดีต่อสุขภาพ แต่ยังมีเมนูอื่นๆ ให้เลือกเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นไข่ดองซีอิ๊วญี่ปุ่นที่ขายดีแทบจะแซงหน้ารุ่นพี่ไข่เค็มต้นตำรับ และไข่แดงเปล่าๆ ที่แยกมาให้นำไปปรุงอาหารต่อง่ายๆ และเมื่อถามถึงที่มา เนมตอบหน้าซื่อว่ามันน่าจะมาจากความงก!

“เวลาเราทำไข่เค็ม เราต้องเอามาล้างขัดให้สะอาดก่อน แล้วเราก็จะเห็นว่ามันมีไข่ที่บุบระหว่างการขนส่งอยู่ ซึ่งเราจะเอาไปใช้ไม่ได้เพราะมันจะแตกเมื่อโดนน้ำเกลือ ทุกรอบการขนส่งจะมีไข่บุบเกือบ 20 ใบ จะทอดกินก็อยู่กันแค่สองคน ก็เลยลองเอาไปต้มให้เป็นยางมะตูม แล้วมาดองซีอิ๊วญี่ปุ่น ก็ได้มูลค่าเพิ่มและไม่ต้องทิ้งไข่ด้วย อันนี้ก็จะไม่ค่อยเค็ม แล้วก็หอมๆ หน่อย คนที่ไม่ชอบกินไข่เค็มหรือเบื่อไข่เค็ม อยากเอาไปกินกับก๋วยเตี๋ยว กินกับข้าว ก็จะชอบตัวนี้กัน แล้วหนูเป็นคนขี้งก หนูขายไข่ใบละ 10 บาทเอง คิดว่าถ้าไข่ราคา 15-20 บาท เพิ่มเงินอีกนิดนึงเราก็ซื้อข้าวได้แล้ว เพราะไข่คือส่วนประกอบเวลาไปกินกับข้าวหรืออะไร มันก็ไม่ควรแพงไปกว่าเมนูหลัก ก็เลยพยายามจะประหยัด อย่างส่งทางไปรษณีย์หนูก็เอาแผงกระดาษลังไข่มาตัด ลดต้นทุน ไม่ต้องใช้แผงไข่สวยๆ มีฝาปิดเปิดที่ต้องขายไข่แพงขึ้น”

ส่วนไอเดียสนุกๆ ในการแปลงไข่เค็มเป็นเมนูต่างที่แชร์ในเพจ-ก็เกิดจากความงกเช่นเดียวกัน

“หนูดูพวกสูตรอาหารสุขภาพไว้ทำให้แม่กิน เห็นเขาทำมันบดที่ไม่ต้องใส่เนย ให้ใส่ไขมันจากพืชเพื่อสุขภาพ เราจะลองซื้อก็คิดว่ามันแพงไป ลองใส่ไข่แดงที่เราทำได้ไหม มันก็อร่อยดี หรือตัวดิปไข่เค็ม เราจะเห็นพวกร้านฟาสต์ฟู้ดชอบมีดิปชีส หนูก็เอาไข่เค็มมาแทนชีส เพราะว่าชีสมันแพงอีกแล้ว ก็เหมือนมาก มีความนวลๆ ส่วนแม่เขาก็จะมีเมนูที่เขาชอบทำ เมนูโปรดของหนูคือหัวไชโป้วผัดไข่เค็ม อร่อยมาก” เนมเล่าอย่างเรียบง่ายแต่ยืนยันชัดถึงความอร่อยของแต่ละเมนูจากแววตา

“ทุกวันนี้แม่ก็ทำกับข้าวไปให้กินที่ออฟฟิศนะคะ ไม่ได้อยากให้ลูกลดน้ำหนักหรืออะไรหรอก เพราะว่าข้าวที่ออฟฟิศแพง” เนมหัวเราะ

“บางทีเราก็ทำอาหารให้กัน ทำเผื่อให้กินด้วยกัน ก็จะไม่ปรุงเยอะ รู้ว่าเราใส่อะไรลงไปบ้าง สุขภาพก็ดีขึ้นทั้งคู่”

“งานของเราคือการทำแบรนด์ให้คนนู้นคนนี้ พอได้มีแบรนด์ของตัวเองมันก็ภูมิใจนะ”

จากจุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพให้คุณแม่และอยากประหยัดค่าใช้จ่ายในบ้าน บวกกับความตั้งใจและสนุกกับสิ่งที่ทำ ผลลัพธ์ของเด็กขี่เป็ด ณ วันนี้อยู่ในระดับน่าชื่นใจ นอกจากมียอดสั่งทุกวัน มีลูกค้าประจำหนาตา แถมยังมีความชื่นใจที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ในการดูแลสุขภาพของผู้คน เนมยังบอกว่าอีกสิ่งที่เธอเองก็แทบไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น คือการได้มีแบรนด์เป็นของตัวเอง

“การทำไข่เค็มเป็นเรื่องของช่วงเวลาในการรอคอย หนูชอบการลุ้นน่ะค่ะ ลุ้นว่าวันที่เราเอาไข่ออกมาจากโหล เอาไปต้มหรือทอดลงกระทะแล้วมันจะมีหน้าตาเป็นยังไง รสชาติเป็นยังไง ต้องเทสต์ตลอด ทำอยู่ทุกวันจนชิน

“พอมองย้อนกลับไป ก็ภูมิใจนะ ตั้งแต่หนูทำงานมา ก็ต้องทำแบรนด์ให้คนนู้นคนนี้ เพื่อนๆ ทำถุงผ้า ทำหนังสือขาย แต่เราทำไข่เค็ม มันฉีกแนวจากที่เรียนและที่เคยทำมา แต่ก็ภูมิใจที่มันเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงง่าย ไม่ใช่อะไรที่เท่ๆ ที่ใช้จริงลำบาก ที่สำคัญ มันได้ดูแลสุขภาพคนอื่นด้วย”

เนมยิ้มกว้างให้กับเด็กขี่เป็ดของเธอ

FB: www.facebook.com/BabyridesDuck

ภาพถ่าย: นัทธมน แก้วแป้นผา