สืบเนื่องมาจากมิชชั่นการหาอาหารกินให้หลากหลายของฉัน  ซึ่งทำให้ดอกไม้กลายเป็นผักอยู่ในมื้ออาหารอย่างที่ให้ฟังตอนก่อนหน้านี้  หลังจากเปิดหูเปิดตาเปิดใจ มองดูว่าอาหารของคนไทยตั้งแต่ดั้งเดิมนั้นเขากินอะไรบ้าง  ฉันก็เห็นว่าสำรับข้าวของคนไทยนั้นไม่น่าเบื่อเลย  และมันเป็นฤดูกาลไม่ต่างกับหนังญี่ปุ่นเรื่อง Little Forest ถ้าเราได้ทำความรู้จักกับอาหารที่เรากินกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ

ฉันพบว่าคนไทยเราเอร็ดอร่อยกับส่วนต่างๆ ของพืชผักได้มากมาย แต่ก่อนฉันคิดว่าทำไมของอร่อยถึงต้องมีฤดูด้วย มันน่าจะให้เราได้กินทั้งปี  แต่ตอนนี้ฉันกลับชอบที่จะมีความสุขไปกับการกินของที่ออกมาให้เราอร่อยกันสุดๆในช่วงหนึ่ง และหากินไม่ได้ในอีกช่วงหนึ่ง  มันทำให้เราเห็นคุณค่าของมันดีนะ  ไม่ทำให้โลภด้วย  ประมาณว่าพอใจในสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ได้ด้วยเหมือนกัน  เช่นช่วงเวลาที่เราจะได้ลิ้มรสความอร่อยของมะปรางกับมะยงชิดมันสั้นมาก  พอถึงฤดูเราต้องตามหาของดีมากินกันเลยทีเดียว  พืชผักอื่นๆ ก็เช่นกัน  ฉันชอบหน่อไม้มาก แต่ก่อนสั่ง (แบบอาหารตามสั่ง) กินตลอดปี  แต่ตอนนี้กินในช่วงหน้าฝนที่เขาออกเท่านั้น สดปลอดภัย และอร่อยเป็นที่สุด

และนอกจากพืชผักที่รู้จักมาก่อนแล้ว ฉันยังได้รู้จักผักใหม่ๆ เยอะแยะ  ตอนหน้าฝนที่ผักฝรั่งจำพวกผักสลัดจะมีน้อย  แต่เราจะได้กินยอดอ่อนของผักไทยเยอะมากๆ หน่อไม้กับเห็ดก็ออกช่วงนี้  สำหรับฉัน พอหน้าฝนหรือช่วงไหนที่ฝนตกเยอะๆ ก็แค่เดินส่องๆ ตามรั้วก็จะได้ยอดผักออกมาให้กินได้เป็นมื้อๆ ทั้งผักเลื้อยเกิดเองอย่างตำลึง หรือใบอ่อนของต้นไม้ใหญ่ต่างๆ ก็แตกออกมาให้เรากิน  ตอนนี้ฉันมีใบชงโคอ่อนเป็นผักอีกอย่างที่หาได้เสมอ  ขณะที่เขียนอยู่นี่เป็นหน้าร้อน แต่ฝนตกเยอะที่บ้าน  ใบชงโคอ่อนๆ ออกเต็มเลยค่ะ ว่าจะไปเด็ดมาลวกกิน  เพราะที่บ้านฉันมีชงโคหลายต้น ปลูกเอาไว้ดูดอก แต่เมื่อมีความรู้ใหม่ว่าใบอ่อนกินอร่อยก็ทำให้ได้ผักเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง

และเมื่อไปตลาด  ฉันก็มักสอดส่องมองหาผักพื้นถิ่นแปลกๆ มากิน พวกนี้มักไม่มีใครฉีดพ่นยาใส่ปุ๋ย  เพราะไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ และช่วงเวลาที่ออกมักจะสั้นมากๆ  ถ้าเจออะไรที่อร่อยก็ให้รีบซื้อหามากินอย่าได้ลังเล  ฉันเคยเจอผักสาบหรือผักอีนูน  ลักษณะเป็นลูกเล็กๆ สีเขียวๆ ขนาดลูกไม่เท่ากันมาเป็นเถาแบบไม้เลื้อยพร้อมใบนิดหน่อย  ป้าที่ตลาดจัดขายกำไม่ใหญ่ 30 บาท ถือว่าแพงพอควร เพราะคิดว่าต้องซื้อ 2 กำถึงจะพอ 1 อิ่ม  กลับมาบ้าน เอามาลวกกินกับน้ำพริกตามที่ป้าแกบอก  โอววว..มันอร่อยมาก  รสก็จืดๆ แบบผักแต่กรุบกรอบอร่อยไม่เหมือนใคร  ติดใจ คิดว่าถึงแพงก็ดีกว่าซื้อผักเมืองนอกมากินนะ  ไปตลาดครั้งต่อไปจะหามากินอีกก็หมดฤดูไปแล้ว

ความดีอีกอย่างของการตามหาพืชผักพื้นบ้านมากินคือความสนุกสนาน  เมื่อเราไปเที่ยวต่างจังหวัด และเราไปหาอาหารพื้นบ้านพื้นถิ่นกิน  เราจะพบความเอ็กโซติกแบบที่เราเป็นคนไทยก็ยังตื่นเต้นได้ในทุกที  คราวที่ฉันไปเที่ยวสมุยปีที่แล้ว ก็มีความสุขกับทุเรียนสมุยที่ลูกโตมากๆ และรสชาติเข้มข้นสุดๆ พอช่วงขับรถกลับมากทม. ระหว่างทางแวะร้านผลไม้แถวประจวบฯ ฉันเพิ่งได้กินมะมุด ซึ่งเป็นผลไม้คล้ายๆ มะม่วงแต่กลิ่นแรงมาก เทียบได้กับทุเรียน คือห้ามเอาเข้ารถโดยสารหรือห้องประชุมเหมือนกัน  กลิ่นแรงของมะมุดจะว่าเหม็นก็เหม็น แต่สำหรับฉันคิดว่ามันหอมแรง น่าจดจำ  เขียนไปนี่ฉันยังจำรสและกลิ่นของมะมุดได้อยู่เลย  ที่ซื้อมาเป็นลูกสุก พอกินฉันชอบมากด้วย  ถ้ามีโอกาสก็อยากได้มากินอีก

ส่วนอีกอย่างที่จำได้ว่าเจอแล้วตื่นเต้นและชอบรสชาติก็คือตอนไปกินลาบเหนือที่เชียงใหม่  ทริปนี้เราให้พี่คนขับรถซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นชี้เป้าให้ ขอให้เป็นร้านลาบฮาร์ดคอร์ที่คนท้องถิ่นกิน ไม่ใช่แบบนักท่องเที่ยว  พี่จัดให้สมใจเลยค่ะ  ลาบอร่อยและมีผักข้างคียงแบบไม่รู้จักเยอะมาก แบบผักสดมาเป็นตะกร้า แบบผักดองมาอีกหลายจานเล็กแบบกิมจิในอาหารเกาหลีเลย  มื้อนั้นฉันเน้นผักแกล้มแบบที่หากินที่อื่นไม่ค่อยได้ อย่างรากหอมชู ส่วนเครื่องดองที่ฉันและน้องๆไปพากันไปชอบมากคือ ลูกข่าดองน้ำปลา เทียบได้กับเคเปอร์ดองทีเดียว  คนละรสกันนะคะ แต่หน้าตาคล้ายคลึง ลูกข่าดองนี่ก็อร่อยติดใจ แกล้มลาบเหนือได้ลำแต๊ๆ เข้ากั๊นเข้ากันค่ะ  แต่บางที่ก็เป็นดอกข่านะคะ

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ อยากจะบอกว่าอย่าลืมมองหาผักพื้นบ้านตามฤดูกาลกินกันบ้างนะคะ นอกจากปลอดภัยและอร่อยแล้ว นี่คืออีกหนทางที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณของเมืองไทยเอาไว้ได้ด้วยค่ะ