ช่วงที่เราเรียนปริญญาโทอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากการเรียนในห้องเรียนและการทำงานกลุ่มแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ช่วยกระตุ้นความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คือโปรแกรมทัศนศึกษา ออกเดินทางไปดูงานตามเมืองต่างๆ และหนึ่งในเมืองที่ผู้คนให้ความสนใจด้าน กรีนดี อยู่ดี นั่นคือ รอตเทอร์ดาม เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุด และสำคัญในทวีปยุโรป

เนื่องจากเมืองรอตเทอร์ดามเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศเนเธอแลนด์ ทำให้เรามักจะเห็นภาพของโรงงานกลั่นน้ำมัน โรงงานเคมีภัณฑ์ และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วเมือง นอกจากภาพของตึกและอาคารที่ดูทันสมัยแปลกตาสำหรับนักท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ดังกล่าวทำให้ชาวดัชต์ไม่อยากจะพูดถึงและไม่ค่อยพอใจกับภาพลักษณ์แบบนี้มากนัก 

ด้วยเหตุนี้เอง ทางเทศบาลเมืองรอตเทอร์ดามจึงระดม ผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วน เพื่อวางแผนพัฒนาและปรับปรุงเมืองอุตสาหกรรมให้กลายเป็นเมืองที่ยั่งยืน โดยใช้หลักการการจัดการแบบ Blue Green City เพื่อวางแผนการจัดการเมืองทั้งเรื่องการจัดการน้ำ และเรื่องการจัดการพื้นที่สีเขียวไปพร้อมๆ กัน 

มาเริ่มกันที่ ‘Blue’ การจัดการน้ำของเมืองรอตเทอร์ดาม เนื่องจากเมืองตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 6 เมตร (กว่า 60% ของประเทศเนเธอแลนด์ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล) ประกอบกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงขึ้นทุกวัน เมืองรอตเทอร์ดามจึงมีนโยบายปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างเมืองหลายๆ จุด เพื่อป้องกันทั้งกันเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้ง โครงการแรกที่เราได้ไปเยี่ยมชมคือ Water Plazas (Water squares)  หรือ ลานสวนน้ำ ตอนแรกทั้งเราและเพื่อนๆ ที่มาทัศนศึกษาด้วยกัน ก็ยังมองไม่ออกว่า ทำไมถึงเรียกว่า ‘ลานสวนน้ำ’  เพราะหากมองพื้นที่ลานสวนน้ำนี้อย่างผิวเผิน จะดูคล้ายกับสนามบาส หรือ ลานกิจกรรมที่มีอัฒจันทร์ที่นั่งล้อมรอบ โดยสถาปนิกของโครงการเล่าว่า จริงๆ ออกแบบมาเพื่อให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่เก็บน้ำ

ในช่วงเวลาปกติ หรือฤดูร้อน พื้นที่บริเวณนี้จะเป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ เล่นกีฬา ปิกนิก เป็นต้น โดยลานสวนน้ำ ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ส่วนลานกว้าง และส่วนอัฒจันทร์ยกสูง ส่วนที่เป็นลานกว้างจะถูกออกแบบให้มีพื้นที่จมลงไป หรือต่ำลงไปจากพื้นดินปกติประมาณ 1 เมตร และล้อมรอบด้วยขั้นบันไดหรืออัฒจันทร์ ซึ่งการเล่นระดับสูงต่ำที่แตกต่างกันออกไป เพื่อความหลากหลายของกิจกรรมของประชาชน และยังล้อมรอบด้วยพื้นที่สีเขียว เช่น สนามหญ้าและต้นไม้ อีกด้วย  ในฤดูฝนหรือในช่วงที่มีฝนตกหนัก เมื่อน้ำฝนจะไหลลงผ่านขั้นบันไดหรืออัฒจันทร์ที่อธิบายไปข้างต้น ก็จะผ่านรางระบายน้ำฝนบนถนนโดยรอบ และถูกเก็บไว้ภายในพื้นที่ลานสวนน้ำ ซึ่งจะมีความสามารถในการเก็บน้ำฝนมากถึง 1,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเปลี่ยนลานกิจกรรมเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ ลานสวนน้ำแห่งแรกได้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2011 เพื่อทดลองใช้ระบบน้ำฝนและคาดว่า พื้นที่ Water plazas จะถูกสร้างกระจายไปทั่วเมืองรอตเทอร์ดามเพื่อช่วยจัดการน้ำภายในน้ำได้เป็นอย่างดี

อีกด้านหนึ่งที่เกริ่นนำไปคือด้าน Green หรือ พื้นที่สีเขียว เมืองรอตเทอร์ดามมีนโยบายสนับสนุนให้ติดตั้ง green roof หรือการปลูกพืชบนหลังคา ในหลายๆ รูปแบบ เนื่องจากการปลูกพืชบนหลังคาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการน้ำในเมืองได้ โดยช่วยชะลอความเร็วของฝนที่ตกและช่วยดูดซับปริมาณน้ำฝน ก่อนที่จะถูกระบายลงสู่ระบบระบายน้ำของเมือง การติดตั้งหลังคาเขียวจะเน้นบนอาคารสำนักงานพื้นฐานของเทศบาลอีกด้วย เช่น อาคารต่างๆ ของสถานที่ราชการ ห้องสมุดประชาชน มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วสำหรับอาคาร บ้านเรือน ของภาคเอกชน หรือ ประชาชนทั่วไปยังจะได้รับเงินสนับสนุน ประมาณ 1,200 บาท ต่อพื้นที่หลังคาเขียวอีกด้วย

เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม ที่ ‘Dakakker’  ซึ่งเป็นสวนเกษตรดาดฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ตั้งอยู่บนตึกอาคารสำนักงาน 7 ชั้น หรือ สูงประมาณ 23 เมตร อาคารนี้อยู่ใจกลางเมืองรอตเทอร์ดาม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เมืองแห่งนี้มีอัตราทั้งค่าครองชีพและค่าที่ดินที่สูงขึ้นทุกวัน แต่ด้วยความร่วมมือของหลายภาคส่วนทั้ง เทศบาล ภาคเอกชนและอาสาสมัครที่ต้องการสร้างพื้นที่สีเขียวที่สร้างอาหารให้แก่คนเมืองรอตเทอร์ดาม จึงสร้างสวนเกษตรดาดฟ้าแห่งนี้ขึ้น

สวนแห่งนี้มีขนาดพื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร มีความหลากหลายทั้งผัก สมุนไพร ผลไม้และดอกไม้ นอกจากนั้นยังมีการเลี้ยงผึ้ง เพื่อสร้างระบบนิเวศในเมืองอีกด้วย เราได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ดูแล สอบถามถึงเทคนิคในการปลูกพืชดาดฟ้าที่นี่ได้คำตอบว่า การทำสวนเกษตรที่นี่จะไม่ทำการก่อแปลงปลูกขึ้นมา อย่างที่เราเคยเห็นในประเทศไทย แต่เขาจะเทวัสดุปลูกและดินลงไปเต็มพื้นที่ของดาดฟ้าเลย ทั้งนี้เนื่องจากโครงสร้างของตึกไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการทำเกษตร ดังนั้นวัสดุปลูกที่นำมาใช้ส่วนใหญ่จึงต้องมีน้ำหนักเบา เช่น หินภูเขาไฟ หินลาวา และเศษอินทรียวัตถุ ดินจะถูกใช้เพียงส่วนเดียวคือชั้นล่างสุด เพื่อให้รากพืชชอนไชยึดเกาะเท่านั้น การดูแลพืชผักของที่นี้ เป็นระบบน้ำหยด โดยเดินสายระบบน้ำทั่วทั้งบริเวณพื้นที่ ดังนั้นจึงไม่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการดูแลต้นไม้  

สวนผักดาดฟ้าแห่งนี้เปิดให้เป็นแหล่งศึกษาดูงาน และเปิดรับอาสาสมัคร ทั้งในและต่างๆ ประเทศ เพื่อมาศึกษาเรื่องเกษตรเมือง นอกจากนั้นยังเปิดพื้นที่ให้เช่าจัดกิจกรรมต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เกษตรเมืองอีกด้วย ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในเมืองที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง แถมยังช่วยลดความร้อนให้อาคาร ช่วยให้อาคารประหยัดพลังงานได้อีกด้วย