ไม่พูดพร่ำทำเพลง ขอแนะนำหนังสือหมวดกินดีอยู่ดีที่เพิ่งออกมาใหม่ในงาน book fair ตุลาคม 2561 นี้ให้ตามไปช้อปก่อนจะจบงาน

โอชากาเล: หนังสือสะกิดคนกินว่ารสไทยแท้มีจริงหรือ?

รวมบทความจากเว็บไซต์ waymagazine.org ของนักเลงอาหารชื่อกฤช เหลือลมัย ผู้เป็นทั้งนักกิน นักปรุง นักตั้งคำถาม นักประวัติศาสตร์ และนักวาดที่เขียนรูปอาหารได้สนุกไม่แพ้ตัวหนังสือของเขา ในเล่มนี้ รวมบทความที่ชวนคนอ่านผู้เป็นคนกินตั้งคำถามว่าอะไรคือไทยแท้ ผ่านข้อมูล ข้อสันนิษฐาน และประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เราเคยเชื่อกันมา ไม่ว่าจะเป็น ผัดไทยไม่ใช่ของไทยที่​จอมพล ป. พิบูลสงครามคิดค้นและรณรงค์ให้คนไทยกินซะหน่อย ต้มยำกุ้งตำรับโบราณ ไม่ได้มันเยิ้มไปด้วยน้ำมันพริกเผาแบบจีนตามที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน กะเพราแดงไม่ได้เผ็ดร้อนกว่ากะเพราขาว และอันที่จริง ผัดกะเพราก็เป็นเมนูที่เพิ่งเกิดขึ้นสัก 50-60 ปีนี้เอง โดยคนจีนที่ดัดแปลงต่อมาจากอาหารไทย ฯลฯ

ทั้งหมดนี้และมากกว่านี้อัดแน่นอยู่ในหนังสือไม่หนา ไม่บาง อ่านสนุก (มีจุกบ้างในบางตอน) ที่กฤช เหลือลมัย พยายามบอกเราว่า อาหารคือบทสนทนาทางวัฒนธรรมที่ทั้งรสชาติ วัตถุดิบ หรือวิธีการ ล้วนเคลื่อนไหวถ่ายเทไปจากสภาพสังคมแต่ละยุค ซึ่งนั่นแปลว่า ไม่มีอะไร ‘ที่แท้’ พอให้ทึกทักว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เสมอไปนั่นเอง

โอชากาเล
ผู้เขียน: กฤช เหลือลมัย
สำนักพิมพ์: WAY of book
ราคา: 350 บาท

ผักยืนต้น กินผักอายุยืน โลกอายุยาว: แหงนมองต้นไม้ใหญ่แล้วกินให้อร่อย

อีกหนึ่งเล่มของนักเลงคนเดิมที่จัดอยู่ในหมวดความมั่นคงทางอาหาร และการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงเพื่อกินกับคนยุคใหม่ที่ถูกระบบอุตสาหกรรมเล่นงานจนเริ่มรู้จักอาหารไม่กี่อย่างและพืชผักอยู่ไม่กี่ชนิด นักกินช่างเขียนช่างวาดจึงรวบรวม 89 ชนิดผักยืนต้นที่เคยอยู่ในภูมิปัญญาเก็บกินจากธรรมชาติของคนโบราณ มาแนะนำให้เรารู้จักหน้าตา รู้จักเก็บ และรู้จักกินผ่านวิธีปรุงที่อ่านตามแล้วน้ำลายสอ จนต้องออกจากบ้านไปสำรวจไม้ยืนต้นรอบตัวว่ามีอะไรพอเข้าเค้าและเข้าหม้อได้บ้าง

แกงขั้วผลสมอไทย แกงเขียวหวานมะเดื่อฉิ่ง แกงจืดดอกทุเรียนยัดไส้ ปลาหาวมะนาวโห่ แสร้งว่าหนานใบกระโดน น้ำพริกโผะเผะ น้ำปลามะกอก ทอดมันฝักกระถินอ่อน ฯลฯ คือตัวอย่างพอเรียกน้ำย่อยให้นักกินที่อยากหลุดจากโคจรผักยอดฮิตในตลาดที่ต้องกังวลกับสารเคมีมากมาย ได้มีทางเลือกและทางรอดในการกินอร่อยและรักษาความมั่นคงทางอาหารไปพร้อมๆ กัน

ผักยืนต้น กินผักอายุยืน โลกอายุยาว
ผู้เขียน: กฤช เหลือลมัย
ผู้จัดพิมพ์: มูลนิธิชีววิถี
ราคา: 350 บาท

เมื่อหมอติด Cook: ติด Cook เพราะกิน Clean

หมอผิง ธิดากานต์ คือคุณหมอคนดังแห่งเวชศาสตร์ชะลอวัยที่ออกหนังสือน่าอ่านมาแล้วถึง 16 เล่มเพื่อชวนนักอ่านเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี และในเล่มนี้ คือหนังสือรวมสูตรอาหารคลีนที่รวบรวมมาจาก #pinkbreakfast ในอินสตาแกรม @thidakarn ที่คุณหมอขยันแชร์สูตรปรุงง่ายและดีต่อตับ ไต ไส้ พุง (รวมไปถึงตีนกา) ซึ่งเมนูส่วนใหญ่เน้นโปรตีนราคาเยากินได้ทุกวันอย่าง ‘ไข่’ เป็นพระเอกหลัก พร้อมเสบียงอาหารคลีนที่ควรมีติดบ้านแนะนำเอาไว้ให้ช้อปตามได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ เนยถั่ว โยเกิร์ต บะหมี่ผักโมโรเฮยะ ฯลฯ

40 เมนูคลีนในเล่มนี้ ประกอบไปด้วยอาหารเช้าเอาอิ่ม ขนมหวานที่ไม่ทำร้ายคนกิน และเครื่องดื่มสายคลีน ทั้งหมดทำง่าย มีวิธีทำไม่เกิน 3 ข้อ ใครไม่ถนัดเข้าครัวแต่อยากสุขภาพดีจากการเลือกเอง ปรุงเอง นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะ

เมื่อหมอติด Cook
ผู้เขียน: พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล
สำนักพิมพ์: Pleasehealth Solutions
ราคา: 340 บาท

Finding Sisu: วิถีเด็ดเดี่ยวแบบคนฟินน์ที่ทำให้ติดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก

พักหลังมานี้ เรามีหนังสือที่บอกเล่าถึงจิตวิญญาณของคนชาติต่างๆ ที่น่าเอาเยี่ยงอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Hygge ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก Lagom ความสุขในวิถีแบบสวีดิช Ikigai ความหมายของการมีชีวิตอยู่แบบคนญี่ปุ่น มาจนถึง Finding Sisu เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยวแบบฟินแลนด์ เจ้าของอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก

หนังสือเล่มนี้ว่าด้วย ‘ซิสุ’ จิตวิญญาณเด็ดเดี่ยวแข็งแกร่งของชาวฟินน์ที่พร้อมต่อสู้กับความหนาวเย็นยากลำบากแสนท้าทาย ซึ่งทั้งหมดถอดรหัสออกมาเป็นวิถีชีวิตที่น่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการชอบว่ายน้ำในอุณหภูมิเยือกแข็งกลางฤดูหนาว เสพติดการซาวน่าแสนอบอุ่นที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดความดัน กำจัดสารพิษตกค้าง และสอนพวกเขาเรื่องความเสมอภาคเพราะทุกคนเปลือยกายด้วยกันอย่างเท่าเทียม ไปจนถึงการใช้ชีวิตกลางแจ้ง ชอบอยู่กับธรรมชาติ ขี่จักรยานเป็นกิจวัตร เน้นลงมือทำมากกว่าการช้อปปิ้ง เลยรวมไปถึงการกินอย่างเรียบง่ายแต่อุดมไปด้วยคุณค่าจากธรรมชาติ แนวคิดที่น่าสนใจและคนเมืองร้อนอย่างเราน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง คือ ‘กินอย่างผ่อนคลาย’ ซึ่งหมายถึงการเพิ่มอาหารดีๆ แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาลดอาหารที่ไม่ดีนั่นเอง

แม้อ่านไปจะอิจฉาไปที่ประเทศของเขามีระบบที่เอื้อต่อวิถีชีวิตที่ดีอย่างถ้วนทั่ว ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา การพัฒนาเด็กและเยาวชน ทางจักรยานและระบบขนส่งสาธารณะ เลยรวมไปถึงการให้สิทธิ์หาของป่าอย่างเสรี รวมไปถึงสวนชุมชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นทางเลือกในการปลูกผักผลไม้สำหรับทุกคน ฯลฯ แต่ในฐานะคนหนึ่งคนที่อยากมีชีวิตที่ดี หนังสือเล่มนี้ก็มีแนวคิดและวิธีที่เรานำมาปรับใช้ได้ไม่น้อยทีเดียวล่ะ

Finding Sisu: เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว
ผู้เขียน: Katja Pantzar
ผู้แปล: กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์
สำนักพิมพ์: Openbooks
ราคา: 450 บาท