ถ้าถามถึงขยะพลาสติกอันดับต้นๆ นอกจากขวดน้ำดื่มใช้ครั้งเดียวทิ้ง คงหนีไม่พ้น ‘แก้วพลาสติก’ สำหรับเครื่องดื่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลม ที่มาเป็นคอมโบ้เซ็ตพร้อมฝาครอบ หลอด บางร้านแถมมาด้วยถุงหิ้วและพลาสติกหุ้มหลอดอีกต่างหาก

ภารกิจ Greenery Challenge เดือนนี้ เราคงไม่ต้องพูดถึงเรื่องลดแก้วกันอีกแล้ว เพราะหลายเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของเพื่อนๆ มากมายที่จะช่วยกันลดขยะพลาสติกประเภทนี้ในฐานะผู้บริโภค ดังนั้น ในวาระของภารกิจใหม่ #ร้านนี้กรีนดี เราเลยอยากเล่าในมุมของผู้ประกอบการบ้าง

ไปดูกันว่า ผู้ประกอบการร้านคาเฟ่กรีนส่วนใหญ่คิดว่าอะไรเป็นปัญหาที่ทำให้คาเฟ่ต่างๆ ยังไม่ค่อยตื่นตัวหรือเดินหน้าแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างจริงจัง และคำแนะนำวิธีการเริ่มต้นง่ายๆ ที่ร้านไหนๆ ก็ทำได้

กรีนสุดๆ ไม่ได้ แต่เราลดได้

ก่อนอื่น เราต้องยอมรับก่อนว่าการไม่สร้างขยะแบบ 100% ในฐานะผู้ประกอบการอาจจะยากจนเข้าขั้น Mission Impossible เพราะแม้ว่ากาแฟหรืออาหารที่เสิร์ฟให้ลูกค้าจะไม่มีพลาสติกแล้ว แต่ก็ยังมีหีบห่อของวัตถุดิบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการต่างๆ แต่ถ้าตั้งใจจริง การลดการสร้างขยะก็ทำได้ในทุกขั้นตอนเช่นกัน

สิ่งที่เจ้าของคาเฟ่ทำได้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การเตรียมถุงผ้าไปจับจ่ายซื้อของ เลือกซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าอุปโภคแบบเติม หรือเริ่มจากการใช้แก้วและหลอดแบบใช้ซ้ำภายในร้าน เพราะนอกจากจะช่วยลดขยะแล้วยังคุ้มค่ากว่าในระยะยาวอีกด้วย ถ้ามีความสนใจอยู่แล้ว เราค่อยๆ ขยับมากขึ้นในจุดอื่นๆ ที่ทำได้

กรณีที่ลูกค้าซื้อกลับบ้าน ใช่ว่าจะไร้ทางเลือก เพราะเจ้าของร้านก็มี แก้วทางเลือกให้ใช้ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแก้วกระดาษ แก้วพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ หลอดทางเลือก ปัจจุบันก็มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นมาก เช่น หลอดข้าวฟ่าง หลอดกระดาษ หรือทางร้านจะนำหลอดทางเลือกวางไว้จำหน่ายแก่ลูกค้าก็ไม่เลว เพราะนอกจากจะเสริมรายได้แล้ว ยังสื่อสารเรื่องปัญหาขยะพลาสติกไปในตัวอีกด้วย

เลือกแก้วพลาสติกยังไงดี

ในกรณีที่ต้องใช้แก้วพลาสติกจริงๆ ลองมาดูกันว่ามีแก้วพลาสติกทางเลือกแบบไหนที่ดีต่อโลกได้บ้าง และแต่ละแบบต่างกันยังไง

แก้ว PP PS PET
● พลาสติกล้วน
● ราคาถูก
● รีไซเคิลได้แต่ต้องแยกประเภท
แก้ว Biobase Plastic
● พลาสติกจากพืชและสัตว์ เช่น อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง
● ใส ยืดหยุ่น ทนร้อน
● ราคาแพง
● การย่อยสลายต้องอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ทิ้งรวมกับขยะทั่วไปไม่ย่อย
แก้ว Biodegradable Plastic
● พลาสติกทั่วไปที่แตกตัวง่าย ย่อยได้ใน 3-5 ปี
● ราคาถูก รีไซเคิลได้
● ย่อยแล้วแต่ไม่หายไปไหน กลายเป็นไมโครพลาสติกปะปนในสิ่งแวดล้อม
● หลายประเทศห้ามใช้

ปลูกฝังวัฒนธรรมสีเขียวให้พนักงาน

อีกปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคือ คาเฟ่รักษ์โลกส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นได้เฉพาะในรายที่ผู้ประกอบการเป็นคนลงไปทำให้เกิดขึ้นด้วยตัวเอง เพราะการช่วยลดขยะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก การเลือกรับพนักงานและการสร้างวัฒนธรรมองค์กรจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ

นอกจากจะบอกพนักงานให้เข้าใจว่าต้องทำอะไร หรือบอกกับลูกค้ายังไงแล้ว ควรจะเน้นการให้ความรู้กับพนักงานด้วย เพราะกลุ่มคนที่ไม่ค่อยสนใจในเรื่องนี้อาจจะไม่ได้รับรู้ข่าวสารหรือคลิปวิดิโอต่างๆ เหมือนเรา พอเขาเข้าใจปัญหาแล้ว พนักงานแต่ละคนจะทำงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น และภูมิในที่สถานที่ทำงานของตัวเองมากขึ้นด้วย

สื่อสารกับลูกค้า

นอกจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแล้ว การสื่อสารกับลูกค้าก็เป็นสิ่งที่ต้องตั้งใจทำไม่น้อยไปกว่ากันเลย เพราะไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ควรทำคืออาจจะต้องถามซ้ำๆ ว่า “จะรับหลอดไหม” หรือบางครั้งอาจทำข้อมูลสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มาตั้งไว้ตามโต๊ะ หรือภายในบริเวณร้านเพื่อช่วยในการอธิบาย ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยอธิบายเรื่องนี้ได้ง่ายๆ และถ้าอยากชักจูงมากกว่านั้น ลองเพิ่มแรงจูงใจด้วยการลดราคาถ้าลูกค้าพกพาแก้วส่วนตัวมาเองก็สนุกดีเหมือนกัน

ช่วยกันชี้เป้า #ร้านนี้กรีนดี

สุดท้าย สิ่งที่อยากฝากถึงทุกคนคือ

“การดูแลโลกของเราไม่ใช่ภาระของผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน”

บางทีการรอให้องค์กรหรือห้างร้าน ปรับตัวในเรื่องนี้ฝ่ายเดียวคงไม่ง่ายนัก ถ้าเราไม่เริ่มต้นจากตัวเราเองก่อน ดังนั้น เรามาร่วมเป็นกำลังใจให้คาเฟ่กรีนทั่วไทย ด้วยการอุดหนุน แนะนำ และบอกต่อความพยายามของพวกเขา เพื่อให้เกิดการส่งเสริม แลกเปลี่ยนไอเดีย และพัฒนาสังคมปลอดขยะ

ร่วมสนุก #ร้านนี้กรีนดี ได้ที่ Greenery Challenge