พูดถึงป่าชุ่มน้ำภาพที่ผมนึกถึงคือป่าที่เปียกๆ ชื้นๆ คงเป็นสภาพป่าที่เฉยแฉะคล้ายกับป่าดิบชื้นเหมือนในหนัง จูราสสิก ปาร์ก แต่เมื่อได้ลองเข้าไปจริงๆ สิ่งที่เห็นค่อนข้างต่างออกไปมาก

ต้องเกริ่นย้อนกลับไปเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา ในช่วงที่ภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ประสบกับปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นจากไฟป่าอย่างหนักในรอบหลายปี กินเวลาเกือบ 2 เดือน ผมเองก็ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ปกติ ผมกับเพื่อนๆ จะเข้าป่าไปเยี่ยมเยียนพี่น้องชนเผ่าต่างๆ หรือชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ อาศัยอยู่กินกับป่าเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ปีนี้เนื่องด้วยผลกระทบที่ค่อนข้างจะสาหัส พวกเราเลยตั้งใจจัดตั้งโครงการระดมทุนที่จะช่วยเหลือพี่ๆ น้องๆ ที่มีผลกระทบจากไฟป่า ทั้งจากอุปกรณ์ที่ต้องใช้ช่วยกันดับไฟหรือแม้แต่เงินทุนไว้สำหรับเป็นค่าอาหารหรือยาที่เราจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้ 

ในช่วงนี้พวกผมจึงเริ่มออกเดินทางเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหมู่บ้านและชนเผ่าต่างๆ เพื่อดูว่าในแต่ละพื้นที่มีปัญหาหรือสาเหตุของไฟป่ามาจากอะไร ซึ่งเดือนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อไปดูป่าชุ่มน้ำด้วยตาตนเอง

สิ่งที่ผมได้เห็นที่กล่าวไปตอนต้นมันช่างต่างกับในความคิดแรกมากเพราะป่าชุ่มน้ำที่นี่เป็นป่าที่กลมกลืนไปกับชุมชน มีพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ครอบคลุม 5 หมู่บ้าน มีแม่น้ำอิง แม่น้ำโขง ไปจนถึงกว๊านพะเยาเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพป่าที่ชุ่มน้ำแบบนี้ ในคำจำกัดความของป่าชุ่มน้ำคือป่าที่มีน้ำขังหรือป่าที่มีแม่น้ำหรือบ่อน้ำแล้วแต่พื้นที่ แต่ที่บ้านบุญเรือง เชียงของ เป็นป่าชุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมขังประมาณสองเดือนต่อปีในฤดูน้ำหลาก คือช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี สิ่งที่เห็นตอนที่เดินเข้าไปสัมผัสบรรยากาศในป่า คือเราจะได้เห็นต้นไม้ใหญ่ที่อยู่รอดหลากหลายชนิด เช่นต้นข่อย ต้นทองกวาว ต้นถ่อน ต้นงิ้ว ต้นแซะ ฯลฯ แม้ต้นไม้เหล่านั้นจะต้องแช่อยู่ในน้ำ 2-3 เดือน แต่เมื่อน้ำแห้งก็ยังอยู่รอดได้ ส่วนไม้เล็กก็ผลัดกันล้มลุกตามธรรมชาติ ที่สำคัญป่าชุ่มน้ำของที่นี่เป็นแหล่งพักพิงของสัตว์น้ำนานาชนิดและฝูงนกอพยพทั้งเหยี่ยวและนกเป็ดน้ำที่หนีหนาวมาจากไซบีเรีย และยังมีสัตว์ป่าตามธรรมชาติอีกหลายชนิดเช่นเสือปลาหรือนาก 

ได้สอบถามชาวบ้านว่าปีนี้ได้รับผลกระทบจากไฟป่าหรือไม่ คำตอบที่ได้คือได้รับผลกระทบหนักที่สุดในรอบหลายปี ทุกคนต่างรู้ว่าไม่ใช่เกิดจากธรรมชาติ แต่เป็นฝีมือของมนุษย์ เราอาจเคยได้ยินจากสื่อต่างๆ ว่าสาเหตุมาจากการหาเห็ดถอบบ้าง ผักหวานบ้าง ล่าสัตว์บ้าง นั่นก็คงเป็นหนึ่งในสาเหตุของไฟป่า แต่ก็คงไม่ใช่ทั้งหมดเมื่อเทียบกับการเผาเพื่อการเกษตรเชิงพาณิชย์ที่ต้องเผาไร่ในวงกว้าง ยิ่งในช่วง 2-3 ปีหลัง มีการทับถมของใบไม้แห้งที่เป็นเชื้อไฟค่อนข้างมาก เมื่อเกิดไฟป่าจึงทำให้ลุกลามและป้องกันได้ยาก เพราะทำได้แต่แนวกันไฟแต่ไม่ได้กำจัดเชื้อไฟจึงทำให้ปีนี้ไฟป่าลุกลามเป็นบริเวณกว้างเกือบ 1,000 ไร่ 

แต่สิ่งที่ดีคือในชุมชนเองมีการจัดการเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนและแหล่งน้ำค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ทำให้ป่าฟื้นสภาพเร็ว เพราะสิ่งที่ผมเห็นคือป่าที่เริ่มผลิใบและต้นไม้ใหม่ๆ ขึ้นมาหลากหลายมาก และเมื่อเดินไปกับปราชญ์ชุมชน ก็ยิ่งได้รู้ได้เข้าใจอะไรมากขึ้น

เดินไปตรงไหนก็มีแต่ของกิน เดินไปตรงไหนก็มีแต่สมุนไพร เป็นองค์ความรู้ที่น่าศึกษาและน่าบอกต่อกับเยาวชนและคนในเมืองมากๆ 

นอกเหนือจากไฟป่าที่ทางชุมชนได้รับผลกระทบแล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ยังเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เช่นพื้นที่ป่าหลายพันไร่จะถูกประกาศเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษให้สร้างโรงงานสำหรับเอกชนเพื่อรองรับ AEC ในชุมชนเองก็ต้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่มีป่าหลงเหลือและอาจจะมีผลกระทบในหน้าน้ำหลากอีกหลายประเด็น

นอกจากได้เข้าใจปัญหาและได้เห็นความพยายามแก้ไขของคนในชุมชน ในทริปนี้ ทุกๆ มื้อเราได้ทำอาหารกินกันเองร่วมกับคนในชุมชนโดยใช้ของที่ได้มาจากป่าและแม่น้ำที่เราไปเก็บขุดหรือไปงมกัน เช่นหน่อไม้ หน่อบุ่น ใบปู่ย่า ส้มป่อย ปลา หอยกาบแม่น้ำ ยอดเดา เรียกว่าได้กินทั้งแกงหน่อคั่ว แฮ่มก้อยปลา แอ็บปลาน้อย ตำยอดเดา กันอร่อยทุกมื้อ 

นั่นทำให้เราได้เห็นความเกื้อกูลกันของชุมชนกับป่า ทั้งอาหารยา ที่อยู่อาศัยที่ถูกจัดการอย่างดี พืชพรรณที่ไม่เคยเห็นและอาหารที่เกิดขึ้นจากวัตถุดิบในป่าและแม่น้ำแห่งนี้ วิถีที่ควรอนุรักษ์และเป็นแหล่งความรู้แหล่งอยู่กินให้กับคนรุ่นหลัง สิ่งเหล่านี้แหละที่คอยเติมเต็มจิตใจทุกครั้งที่ได้ก้าวออกจากครัวและมาสัมผัสเรียนรู้ด้วยตัวเอง และต้องขอบคุณทุกๆ คนที่คอยดูแลป่าแทนพวกเรา

ภาพถ่าย: เชฟแบล็ค