อาหารอาจเคยถูกนิยามไว้ว่าเป็นเพียงปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต แต่ทุกวันนี้ อาหารไปไกลมากกว่านั้นเยอะ อาหารเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ เป็นเครื่องมือในการเข้าสังคม เป็นเครื่องมือในการแสดงตัวตน โดยผู้คนแทบจะหลงลืมไปเลยว่าอาหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจ สิ่งที่กินเข้าไปมันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตับไตไส้พุงและกลายเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ของเราเสมอในวันถัดมา และส่งผลต่อโลกในทางใดทางหนึ่งโดยไม่รู้ตัว

โครงการกินเปลี่ยนโลก (food for change) และรถชำเปลี่ยนโลกนั้นเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่รณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องอาหารกับผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภายใต้แผนงานขับเคลื่อนความมั่นคงทางด้านอาหารเพื่อสุขภาวะโดยการสนับสนุนของสสส. ที่อยากชวนให้ทุกคนกลับมาเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตั้งแต่มื้อเล็กๆ ของตัวเอง โดยเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เลือกสนับสนุนอาหารจากชุมชนที่ดี ซึ่งอาจหมายถึงการเริ่มทำอาหารง่ายๆ กินเอง เลือกวัตถุดิบที่ปลอดภัยมาทำอาหาร เลือกร้านอาหารที่ไว้ใจได้ (มีการคัดเลือกวัตถุดิบที่ใช้อย่างดี) และเลือกกินอย่างรู้เท่าทันมากขึ้นกว่าเดิม ที่ผ่านมามีการรณรงค์เรื่องการกินอาหารออร์แกนิกมากขึ้นแล้ว แต่สิ่งที่ยังต้องทำต่อไปคือการกระจายอาหารดีๆ ให้ไปถึงผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นด้วย

‘รถชำเปลี่ยนโลก’ จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือส่งต่อสินค้าดีๆ ให้กับผู้คน โดยตั้งใจออกแบบให้มีความเป็นรถชำพุ่มพวงแบบไทยๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้หลายระดับ ภายในรถชำเต็มไปด้วยเครื่องปรุงรส อาหาร และสมุนไพรต่างๆ มีครัวเคลื่อนที่ที่สามารถปรุงอาหาร และมีโต๊ะเวิร์กช็อปที่ทำให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น กิจกรรมชิมน้ำปลาที่ให้ผู้บริโภคมาลองชิมว่าชอบรสชาติน้ำปลารสชาติไหนมากกว่ากัน ก่อนเฉลยว่าน้ำปลาแต่ละชนิดนั้นมีส่วนผสมอะไรบ้าง บางคนถึงกับได้ตระหนักเป็นครั้งแรกว่า ชอบน้ำปลาที่ผสมผงชูรสมาตลอดชีวิต

ในกิจกรรม ‘ชวนทำลาบเมืองเครื่องเต็ม’ โดย เชฟแบล็ค Slow youth network จากร้าน Blackkitch ก็ทำให้คนได้รู้ว่าแค่ลาบหนึ่งจานต้องมีส่วนผสมมากมายหลายอย่าง สมุนไพรบางชนิดปลูกเองไม่ได้ ต้องมาจากป่าสมบูรณ์เท่านั้น เช่น มะแขว่น มะแหลบ ความอร่อยของอาหารหนึ่งจานจึงเชื่อมโยงกับผืนป่าทั้งหมด หรือกิจกรรม ‘พริกแกงพลิกแพลง’ ที่ชวนคนมาเรียนรู้เรื่องพริกแกงกับคุณกฤช เหลือลมัย ชวนกันทำเครื่องแกงแบบง่ายๆ ที่มีพริกแห้ง หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด พริกไทยยืนพื้น ที่เหลือก็ดัดแปลงพลิกแพลงใส่วัตถุดิบอื่นๆ เพิ่มเข้าไปก็กลายเป็นพริกแกงอื่นได้อีกเช่น พริก หอมแดง ใส่กะปิ ปลาแห้ง หรือกุ้งแห้ง ได้เป็นน้ำพริกแกงเลียง หรือน้ำแกงใส่ขิงซอย มะขามเปียกได้เป็นต้มส้ม หรือใส่พริกแห้ง หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด พริกไทยลงไป ก็ได้น้ำพริกแกงเผ็ด ชอบรสเด็ดแบบชาวใต้ให้เติมพริกสดกับขมิ้นลงไป กิจกรรมแบบนี้ทำให้การทำอาหารเป็นความสนุกที่ไม่ต้องเคร่งเครียด ดัดแปลงได้ และทำกินเองสดอร่อยไร้สารกันบูดกว่าซื้อเครื่องแกงจากร้านแน่นอน

ในรถชำคันนี้มีสินค้าจำหน่ายหลายอย่างโดยแบ่งตามรสชาติ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม และเผ็ด อาทิ น้ำส้มสายชูหมักทำจากกล้วย น้ำส้มสายชูหมักทำจากข้าว น้ำตาลโตนด น้ำตาลอ้อย น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว เนยงาดำ น้ำปลาแท้ที่หมักด้วยกรรมวิธีโบราณ เต้าเจี้ยว ซีอิ๊วขาว ดอกเกลือ กะปิ  พริกไทยอินทรีย์ พริกกะเหรี่ยง น้ำพริกอาข่า ซึ่งสินค้าทั้งหมดได้รวบรวมจากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และประมงพื้นบ้าน นอกจากนี้ ยังมีเมล็ดพันธุ์พืชและดอกไม้จากเครือข่าย seed exchange มีข้าวสารอินทรีย์ ถั่วเขียวอินทรีย์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่กะเทาะเปลือกด้วยหินร้อนแทนการขัดสี มาตักแบ่งขายให้คนซื้อไปในขนาดย่อมๆ ได้ด้วย  มีน้ำยาอเนกประสงค์ชีวภาพ (ปราศจากสารเคมี) ใช้ล้างจาน ทำความสะอาดบ้านมาแบ่งขายให้คนซื้อโดยเอาภาชนะมาเอง

“ในอนาคตเราอยากขายของโดยไม่ต้องใส่บรรจุภัณฑ์อีก รีฟิลมากขึ้น เพราะเราอยากให้คนเตรียมภาชนะบรรจุมาจากบ้าน มาแบ่งซื้อเท่าที่ต้องการ จ่ายเงินตามน้ำหนัก ซึ่งในต่างประเทศบางแห่งทำอย่างนั้นแล้ว ซึ่งจะช่วยลดขยะได้อีกเยอะมาก รถของเราจึงไม่มีถุงพลาสติก มีถุงกระดาษให้สำหรับซื้อของที่ต้องตักชั่งกิโล แต่อยากให้คนซื้อหิ้วถุง หิ้วตะกร้ากันมาเอง การแบ่งขายทีละนิดช่วยให้คนได้เข้าถึงของดีๆ เยอะขึ้นด้วย เช่น เด็กอยู่หอเราแบ่งขายข้าวสารให้เขาเป็นกรัม เพราะซื้อเยอะก็กินไม่หมด หมดแล้วค่อยมาซื้อใหม่” คุณแอน-ศศิธร คำฤทธิ์ นักละครเพื่อการพัฒนาและ food activist ผู้รับผิดชอบโครงการรถชำเปลี่ยนโลกเล่าถึงสิ่งที่ทีมงานฝันอยากให้เป็น

“ในอนาคต เราอยากทำเป็นรถพุ่มพวงให้ได้จริงๆ เอาทุกอย่างมาแบ่งใส่ถุงเล็กๆ แค่พอใช้เป็นครั้งๆ แล้วขายในราคาไม่แพง ให้ชาวบ้านทั่วไปซื้อได้ด้วย ของดีมันต้องกระจายไปถึงคนทุกคน ทุกระดับชั้น เป็นฝันที่อยากจะทำให้ได้ในสักวัน”

ถ้าเรามองอาหารเป็นแค่อะไรสักอย่างที่กินเข้าไปให้อิ่มท้องเป็นมื้อๆ มันก็เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าเรามองว่ามันคือมันคือความเชื่อมโยงกับภูเขา ป่า ทะเล มันก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราจะเชื่อมั่นไหมว่า เราเปลี่ยนโลกได้…เริ่มต้นจากจานอาหารของเรานี่เอง

FYI ลองมาตรวจสอบกันดู ทุกวันนี้เรากินแบบไหนกันบ้าง

กินแบบทำลายตัวเอง เราฝากท้องกับอาหารนอกบ้านเกือบทุกมื้อโดยไม่เคยรู้เลยว่าอาหารเหล่านั้นปรุงอย่างไร ใส่วัสดุดัดแปลงกลิ่น รส สีแค่ไหน ใส่สารเคมีเท่าไร และสารเคมีเหล่านั้นย้อนกลับมาทำให้เราเจ็บป่วย

กินแบบชาวบ้านจนลงแต่คนรวยรวยขึ้น เรากินอาหารสำเร็จรูป แปรรูป ที่ผลิตโดยผู้ผลิตไม่กี่เจ้า ใช้วัตถุดิบไม่กี่ชนิด ทำให้เกษตรกรที่ผลิตพืชเกษตรหลากหลาย คนทำประมง เลี้ยงสัตว์แบบพื้นบ้าน ขาดทุน ล้มละลาย ในขณะที่เจ้าของบริษัทอุตสาหกรรมอาหารรวยขึ้นๆ ทุกวันเพราะได้ผูกขาดการผลิตอาหาร

กินแบบทำลายธรรมชาติ เราอาหารซ้ำๆ ทั้งปีโดยไม่สนใจว่าพืชชนิดนั้นออกฤดูกาลไหน กินตามความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง ทำให้อาหารต้องถูกผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรม และใช้สารเคมีเร่งโตในทุกอณูของการเติบโต เพื่อรองรับความต้องการได้ตลอดทั้งปี

ถ้าอยากกินเปลี่ยนโลกต้องทำอย่างไร?

1. ถามที่มาของอาหารทุกครั้ง ว่ามาจากไหน ผลิตยังไง เดินทางมาไกลหรือเปล่า
2. ฝึกลิ้นให้รู้รส เรียนรู้การใช้รสชาติจากวัตถุดิบที่หลากหลายกว่าเดิน
3. กินอาหารหลากหลาย อย่ากินเมนูซ้ำๆ เน้นของสด เลี่ยงอาหารสำเร็จรูป
4. กินตามฤดูกาล กินผักพื้นบ้านที่ออกเป็นฤดู ถามแม่ค้าแผงผักหรือค้นในอินเทอร์เน็ตก็ได้ว่าเอาไปปรุงเป็นอาหารแบบไหนถึงจะอร่อย
5. อุดหนุนพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ซื้อของที่ตลาดสดทำให้เงินไปถึงคนเล็กคนน้อยได้มากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตแน่นอน
6. ทำกินเอง เริ่มจากสัปดาห์ละครั้งแล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้การกินอาหารเป็นการทดลองความสนุกของชีวิตร่วมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ด้วยก็ได้

หมายเหตุ
โครงการรถชำเปลี่ยนโลกเป็นโครงการคู่ขนานกับเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลกและเชฟจิ๋วกินเปลี่ยนโลก ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการกินอาหารจากจุดเล็กๆ ในระดับครัวบ้าน ครัวโรงเรียน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องอาหารการกินกับทีมงาน ‘รถชำเปลี่ยนโลก’ ได้ที่ข่วงอินทรีย์ ถนนริมคลองชลประทาน (ทางไปพืชสวนโลก) จังหวัดเชียงใหม่ ทุกวันพฤหัสบดีที่ 1 ของเดือน และตลาดนัดเจเจมาร์เก็ต ทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน ด้านหนึ่งของตัวรถเป็นครัวขนาดย่อมซึ่งปรุงอาหารสดๆ จากวัตถุดิบตามฤดูกาล บริการจำหน่ายในราคาย่อมเยา รวมไปถึงกิจกรรม farm visit ด้วย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
FB: รถชำเปลี่ยนโลก และ www.food4change.in.th

ภาพถ่าย: วิรตี ทะพิงค์แก