งานประจำปีของคนรักกาแฟ “Thailand Coffee Fest 2022 by The Cloud” ที่ผ่านมา เป็นการรวมเอากาแฟจากทั่วประเทศและอาเซียน พร้อมทั้งคัดสรรโกโก้ ชาเขียว เบเกอรี่ เจลาโต้ มาให้ได้ชิมกันอย่างละลานตา ที่หากใครได้เดินทั่วงานคงจะมีอาการคล้ายๆ กันว่า หนังท้องเริ่มตึงๆ (แต่หนังตาไม่หย่อนนะ เพราะคาเฟอีนมาเต็ม) กันไป รู้ตัวอีกทีก็เต็มไม้เต็มมือไปด้วยแก้วน้ำและซองขนม ซึ่งงานนี้เขาก็คิดมาให้ครบโดยโยนคำถามว่า “กินแล้ว (แก้ว) ไปไหน?” พร้อมรวบรวมคำตอบมาจัดไว้ในโซน Coffee Zero Waste เพื่อให้นักดริปและนักดื่มได้จัดการขยะให้เหลือน้อยที่สุด แถมได้กากกาแฟติดมือกลับไปเป็นปุ๋ย หรือกระเป๋าเท่ๆ จากซองกาแฟกลับไปเป็นที่ระลึกอีกด้วย

ในโซน Coffee Zero Waste มีทั้งโซนแยกขยะ ที่จัดโดยทีม The Geen และโชว์เคสโครงการที่ช่วยให้แก้วน้ำ หลอด กากกาแฟ ซองกาแฟ และบรรจุภัณฑ์ ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี หรือกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่แม้งานจะจบไปแล้ว คอกาแฟก็ยังสามารถส่งขยะที่เกิดขึ้นจากความชอบดื่มไปร่วมกับโครงการเหล่านี้ เพื่อให้ขยะได้กลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง

เราขอพาคุณย้อนกลับไปดูว่าโครงการดีๆ เหล่านี้มีอะไรบ้าง และจะต้องทำยังไงหากอยากจะกำจัดขยะจากการเสพกาแฟให้เหลือศูนย์

กินแล้ว “แก้ว” ไปไหนดี?
300 แก้วคืออัตราเฉลี่ยการดื่มกาแฟต่อคนต่อปี (ตามข้อมูลที่ จัสติน พาว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ให้บริการการจัดการแสดงทางธุรกิจและการแสดงสินค้า ได้เคยให้ข้อมูลไว้กับเว็บไซต์เส้นทางเศรษฐีออนไลน์) ซึ่งนั่นหมายถึงปริมาณแก้วพลาสติกนับล้านใบที่กลายเป็นภูเขาขยะ

ความซับซ้อนของการจัดการแก้วพลาสติกเหล่านี้ คือความแตกต่างของชนิดพลาสติกที่นำมาทำแก้วนั้นมีหลายชนิด แบ่งง่ายๆ ได้เป็นแก้วกระดาษ แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกปิโตรเลียม และแก้วพลาสติก ซึ่งแก้วพลาสติกก็แบ่งย่อยออกไปอีกตามประเภทของเชื้อพลาสติก โดยมีวิธีสังเกตด้วยหมายเลขในการรีไซเคิล หรือสังเกตด้วยตาเปล่า เช่น แก้วแบบบางใส (PS) แก้วแบบหนาสีขาวขุ่น (PP, เบอร์ 5) แก้วที่ทำจากไบโอพลาสติก (PLA, เบอร์ 7) ซึ่งแก้วแต่ละชนิดก็มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน

แต่ก็ใช่ว่าทุกแก้วจะมีสัญลักษณ์รีไซเคิลที่บอกชนิดวัสดุและวิธีการจัดการไว้ว่า “กินแล้ว ‘แก้ว’ ไปไหน?” จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ยากจะตอบ ต้องอาศัยความรับผิดชอบของผู้ผลิตต้นทาง ที่จะเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีฉลากบอกวัสดุที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำไปจัดการต่อได้อย่างเหมาะสมหลังใช้ และที่สำคัญต้องการการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยภาครัฐควรออกนโยบายเพื่อควบคุมและกำหนดมาตรฐานการผลิต และพัฒนาโครงสร้างระบบการจัดการขยะในประเทศไทย

แล้วผู้บริโภคอย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง?
เพื่อไม่ให้ความสงสัยของเราค้างคา ผู้จัดงาน Thailand Coffee Fest 2022 จึงได้รวบรวมโครงการและไอเดียเพื่อช่วยลดขยะแก้วน้ำมาไว้ในงาน ส่วนดื่มแล้วขยะแบบไหน ส่งต่อไปที่ไหนได้บ้าง เราขออาสาพาคุณมาดูเส้นทางที่ควรไปของขยะเหล่านี้

แก้วแบบ Bioplastic หรือ PLA (Polylactic acid) ที่ผลิตจากพืช มีข้อดีคือลดการใช้ปิโตรเลียม และสามารถย่อยสลายได้ แต่คุณสมบัติย่อยสลายได้นั้น แอบมีดอกจันตัวเล็กจิ๋วว่า ย่อยสลายได้*ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม*เท่านั้น ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมนั้นก็หมายถึงโรงงานย่อยขยะชีวภาพที่ใช้ความร้อนสูง ในขณะที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไบโอพลาสติกเบอร์ต้นของเอเชีย แต่กลับมีโรงงานสำหรับย่อยขยะประเภทนี้อยู่น้อยมาก

แม้จะถูกออกแบบมาให้ย่อยสลายได้ แต่เรากลับไม่มีพื้นที่สำหรับจัดการให้พลาสติกเหล่านี้ได้ย่อยสลาย แก้วส่วนใหญ่จึงไปจบที่การเผาหรือฝังกลบ กลายเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาขยะที่จะส่งต่อไปถึงรุ่นเหลนของเหลนของเหลนเรา PLA Plus มองเห็นถึงปัญหานี้ และอาสารับแก้วประเภทนี้ไปช่วยจัดการ โดยมีวิธีการจัดการสองรูปแบบคือ หนึ่ง-นำมาหลอมเป็นเส้นหรือเป็นเม็ดเพื่อนำมาขึ้นรูปใหม่ สอง-ใช้เครื่อง Biodigester ที่สามารถย่อยได้ทั้งขยะเศษอาหารและไบโอพลาสติก ได้ออกมาเป็นสารบำรุงดิน นำมาผสมกับปุ๋ยใช้ปลูกต้นไม้ต่อไป และที่น่ารักมากๆ คือ PLA Plus เปิดรับแก้วกาแฟทุกรูปแบบเพื่อเอาไปช่วยจัดการต่อ สนใจติดตามได้ที่ Facebook: Plaplus 

Less Plastic Thailand เครือข่ายสังคมลดขยะ ทีมนี้ขอชวนทุกคนมาร่วมขบวนการ ‘บินเรนเจอร์’ เพื่อสร้างสังคมลดขยะพลาสติก รับอาสาช่วยจัดการขยะผ่านโครงการขยะกำพร้าสัญจร (ขยะกำพร้า คือขยะที่มูลค่าการรีไซเคิลต่ำหรือไม่คุ้มค่าต่อการรีไซเคิล ไม่มีใครอยากรับไปจัดการ) เพื่อนำไปเผาเป็นพลังงาน แก้วกระดาษและแก้วกระดาษแบบเคลือบพลาสติกปิโตรเลียม ก็สามารถส่งมาร่วมเผาเพื่อเป็นพลังงานเชื้อเพลิงด้วยได้ ส่วนแก้วพลาสติกชนิดอื่นๆ จะถูกส่งไปยังเครือข่ายที่รับจัดการขยะพลาสติกชนิดนั้นๆ

นอกจากนี้ยังมีโครงการเปลี่ยนขยะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น ‘แยกขวดช่วยหมอ’ ที่แปลงร่างขวดพลาสติกเก่าให้กลายเป็น ชุด PPE เพื่อช่วยคุณหมอในช่วงโควิดระบาดทั่วประเทศกว่า 30,000 ชุด ‘โครงการตาวิเศษกรุงเทพ’ ที่ร่วมมือกับ กทม. ตั้งจุดรับขยะพลาสติกที่สำนักงานเขต และนำมาทำชุดเรืองแสงให้กับพนักงานกวาดและเก็บขยะ ‘โครงการถุงขยะสามัญประจำบ้าน’ รับอาสาช่วยจัดการถุงพลาสติกและทำถุงขยะรีไซเคิล ใครสนใจส่งต่อไปที่นี่ ก็สามารถติดตามโครงการอื่นๆ ได้ที่ Facebook: Lessplasticthailand 

CirPlas เป็นโครงการที่รับพลาสติก 6 ประเภท มาบด ล้าง หลอม ให้กลายเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อนำกลับคืนสู่ระบบ หรือบางชนิดก็ถูกนำไปเผาอย่างถูกวิธีเพื่อเป็นพลังงานเชื้อเพลิง โดยแก้วที่ Cirplas รับมีด้วยกัน 6 ชนิด คือ หมายเลข 1 PETE หมายเลข 2 HDPE หมายเลข 4 LDPE หมายเลข 5 PP หมายเลข 6 PS หมายเลข 7 other หรือจำง่ายๆ ได้ว่า รับทุกชนิดยกเว้นหมายเลข 3 หรือ PVC โดย Cirplas นั้นมีบริการเปิดจุดตั้งถังขยะ และไปรับขยะพลาสติกถึงหน้าร้านหรือองค์กร เพียงไปรับสติกเกอร์ Cirplas Zero Waste Hero แล้วกลับไปเก็บพลาสติกที่แห้งและสะอาดไว้ให้พร้อม จากนั้นก็เตรียมรอให้โครงการเข้ามารับขยะไปสัปดาห์ละครั้ง ใครสนใจติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: CirPlas

ถัดมาที่เสื้อสีเขียวนีออนแสนสะดุดตา ซึ่งการันตีว่าทอมาจากขยะขวดน้ำในประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์จาก Earthology Studio แบรนด์ที่นำขวดน้ำมาทอเป็นผ้า และยังมีผ้าทอที่เปลี่ยนขยะการเกษตรจากการช่วยสนับสนุนเกษตรกร เช่น ใยกัญชง ใยสับปะรด และคัตตอนออร์แกนิก 100% นำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋า หมวก เสื้อสวยๆ ให้ได้เลือกช้อปกัน สายแฟแฟ (กาแฟxแฟชั่น) ที่ชอบความ sustainable อย่างมีสไตล์ไม่ควรพลาด

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายทีมที่รับอาสานำขยะพลาสติกกำพร้ามาผสมความคิดสร้างสรรค์ ผลิตออกมาเป็นของสุดเก๋ อาทิ Chula Zero Waste, Poon Sook Craft, Yolo, Plastic Chameleon, Precious Plastic Bangkok

ชงแล้ว “ซอง” ไปไหนดี?
อีกสิ่งหนึ่งที่คอกาแฟหลายคนสะสม คือซองกาแฟ ที่แต่ละแบรนด์ต่างก็ตั้งใจออกแบบมาให้มีทั้งฟังก์ชั่นและความสวยงาม จะทิ้งก็เสียดาย แต่จะเก็บไว้ก็ชักเริ่มเยอะขึ้นทุกที Same Thang คืออีกหนึ่งในผู้ประสบปัญหานี้ และเกิดไอเดียหยิบเอาซองกาแฟมาทำเป็นกระเป๋าที่ทั้งเท่และช่วยลดขยะ ชวนให้คนเอาซองกาแฟมาแลกเป็นคะแนน แล้วนำคะแนนมาแลกเป็นกระเป๋ากลับไป

โดยคะแนนจะแบ่งตามการใช้ประโยชน์ต่อได้ของซอง คือ 3 คะแนนสำหรับซองที่เอาไปใช้ต่อได้เกือบทั้งหมด เช่น ซองพลาสติกพิมพ์ลายทั้งใบเพราะใช้ได้ทั้งซอง 2 คะแนนสำหรับซองที่ยังเหลือเป็นขยะบ้าง เช่น ซองพลาสติกแบบเรียบแปะสติกเกอร์ และ 1 คะแนนสำหรับซองที่นำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย เช่น กระดาษแบบแปะสติกเกอร์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทุกซองจะถูกนำไปใช้เป็นองค์ประกอบให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เหลือเป็นขยะน้อยที่สุด

ดริปแล้ว “กาก” ไปไหนดี?
ในงานนี้มีกระบะแจกกากกาแฟฟรี ที่ให้ร้านที่มาออกบูธเอากากกาแฟมาทิ้งในกระบะนี้ แล้วผู้ร่วมงานสามารถตักกากกาแฟใส่ถุงกลับบ้านไปผสมดินทำปุ๋ย ทำสครับผิว ก็ได้ประโยชน์ไม่น้อย หรือใครจะหิ้วกลับไปพร้อมทั้งต้นไม้เลย งานนี้ก็มีเตรียมไว้ให้เช่นกัน

และอีกหนึ่งไฮไลท์ของโซนนี้ คือจุดแยกขยะที่จัดโดย The Geen ซึ่งเขาได้เตรียมถังแยกขยะไว้ให้ โดยแบ่งเป็นพลาสติก PET อะลูมิเนียม ขยะทั่วไป และถังเทน้ำแข็ง และมีสตาฟฟ์คอยให้คำแนะนำ อีกหนึ่งสิ่งที่ขอชื่นชมและอยากชวนให้คาเฟ่เอาอย่าง คือถาดเรียงแก้วกาแฟ ไอเดียง่ายๆ ที่ช่วยประหยัดพื้นที่ในการเก็บขยะและลดน้ำหนักในการขนส่งขยะไปได้มาก

หากถามว่า แล้ว “แก้ว (บรรจุภัณฑ์)” แบบไหนดีที่สุด? สำหรับธุรกิจคาเฟ่ ร้านอาหาร คำตอบของคำถามนี้คงไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว แต่การจะตอบคำถามนี้ให้ดีที่สุด ควรคำนึงถึงความจำเป็นและรูปแบบการจัดการที่เหมาะสม และสะดวกกับกิจการของตนเอง เช่น ลดการสร้างขยะตั้งแต่ต้นทาง คาเฟ่ใช้แก้วที่ใช้ซ้ำได้ให้ลูกค้าที่ดื่มในร้าน มีจุดรับพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล ลดการใช้พลาสติกแล้วเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ชนิดอื่นแทน เช่น อะลูมิเนียม ขวดแก้ว ก็เป็นอีกทางเลือกในการลดการใช้พลาสติกในร้านอาหารและงานอีเวนต์ หรือใครที่สะดวกพกภาชนะส่วนตัวมาเอง ก็จะช่วยลดขยะได้อีกหลายชิ้น

สุดท้ายแล้ว การจัดการขยะอาจจะไม่มีวิธีที่ดีที่สุด มีแต่วิธีที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของแต่ละคน และเราเชื่อว่าการจัดการขยะที่ดีที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้นั้น ต้องเริ่มจากการไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับผู้บริโภค ขอเพียงเข้าใจว่าปัญหาขยะไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องช่วยกัน

ภาพถ่าย: Parppim Pim