การศึกษาในอุดมคติของคุณเป็นแบบไหน?

มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีเนื้อหาที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง หรือมีพื้นที่ขนาดใหญ่พร้อมให้ทดลอง? ว่ากันตามตรง หลักสูตรทำนองนี้พบได้ทั่วไปในโรงเรียนทางเลือก (​Alternative School) ที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย

แต่ถ้าเราเพิ่มว่า เป็นหลักสูตรที่พานักเรียน ‘ออกเดินทางทั่วประเทศ’ เพื่อเรียนรู้ทักษะชีวิตด้านต่างๆ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในการใช้ชีวิตทางเลือก หลายคนก็อาจเกิดคำถามว่าการเรียนการสอนจะออกมาหน้าตาแบบไหน เกิดขึ้นได้จริงไหม แล้วเป้าหมายสุดท้ายของหลักสูตรนี้คืออะไร?

คำถามเหล่านี้เกิดกับเราเช่นกัน เมื่อ ป๊อป-กิตติพงษ์ หาญเจริญ อดีตเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์การเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ พันพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงโปรเจกต์ล่าสุดของเขาให้เราฟัง อาจเพราะโปรเจกต์ที่ว่ามีความเป็น ‘ครั้งแรก’ ในหลายแง่ ทั้งหลักสูตรที่ป๊อปพัฒนามาจากโปรแกรมของศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งพาตนเอง มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ (College of Love & Nature) ที่เขาตั้งขึ้นเมื่อหลายปีก่อน รวมถึง ‘การเดินทาง’ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหลักใหญ่ใจความของหลักสูตร และไม่ใช่แค่การเดินทางทัศนศึกษาหรือดูงานธรรมดา แต่เป็นการพานักเรียนออกเดินทางเหนือจรดใต้ตลอด 1 ปีเต็ม เพื่อเรียนรู้และทดลองกับวิทยากรสายเกษตรอินทรีย์และวิถีชีวิตทางเลือกชนิดลงลึก

เมื่อเร็วๆ นี้เราได้พบกับป๊อป เลยถือโอกาสชวนเขาคุยให้หายข้องใจว่าการศึกษาในอุดมคติของเขาเป็นแบบไหน โปรเจกต์นี้จะนำไปสู่อะไร แล้วนักเรียนแบบไหนที่เขากำลังมองหา

รู้อะไรไม่สู้รู้จักตัวเอง

“สำหรับเรา เราว่าการศึกษาควรจับต้องได้” ป๊อปเกริ่นเมื่อเราถามว่าการศึกษาที่ดีในแบบของเขาคืออะไร

​“หมายความว่า เราสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริงๆ เช่นสร้างปัจจัย 4 ให้ตัวเองได้ หรือง่ายกว่านั้น แค่นำความรู้ไปเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น เช่นการที่คุณรู้ว่าไฟฟ้าทำมาจากถ่านหิน ได้จากการทำเหมือง มีมลพิษเกิดขึ้นตามมามากมาย แล้วคุณใช้แก๊สอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น แบบนี้ก็ถือเป็นการศึกษาที่จับต้องได้”

​นั่นเป็นสิ่งที่เขาคิดและเชื่อมาตลอดหลายปี ตั้งแต่สมัยยังเป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์การเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ พันพรรณ จนออกมาตั้งศูนย์การเรียนรู้ของตัวเองที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เขาก็ยังคงสร้างโปรแกรมการเรียนรู้ที่ดูน่าสนุกออกมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งวันหนึ่งปัจจัยชีวิตทำให้เขาต้องขยับขยายที่ทางสำหรับสร้างการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ครอบคลุม ลงลึก และสร้างการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเดิม

​“ถ้ารู้จักตัวเอง เราจะรู้ว่าอยากจะเล่นบทบาทไหนในโลกนี้ เพราะรู้ว่าตัวเองมีศักยภาพอะไร และต้องการมอบอะไรให้กับโลก ซึ่งการจะรู้จักตัวเองมันไม่ง่าย อย่างน้อยคุณต้องมีเวลาอยู่กับตัวเอง ได้ทดลองทำบางอย่างแบบเต็มที่ เราเลยมองว่า Gap year เป็นเรื่องจำเป็น”

ป๊อปกำลังพูดถึงช่องว่างระหว่างปี ที่นักศึกษาฝั่งตะวันตกมักได้รับกันเป็นปกติหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา เป็นระยะเวลาหนึ่งปีสำหรับทำความรู้จักตัวเอง บ้างออกไปเป็นอาสาสมัครในประเทศด้อยพัฒนา ฝึกงานในสาขาวิชาที่คิดอยากจะเรียนต่อ หรือสร้างกิจการของตัวเองเพื่อลองล้มดูสักครั้งก่อนสมัครเรียนสาขาธุรกิจในระดับมหาวิทยาลัย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของไอเดีย มหาวิทยาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ Gap year Program ที่เขากำลังปลุกปั้นมันอย่างเอาจริงเอาจัง

เรียนรู้และลงลึก​

“อธิบายง่ายๆ หลักสูตรนี้คือหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อการพึ่งพาตัวเอง โดยเราจะพานักเรียนจำนวนไม่เกิน 20 คนออกเดินทางไปพบวิทยากรตามศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้ลงมือทำจริง ได้รู้ปัญหา และรู้วิธีแก้ปัญหาจริงๆ”

การลงมือทำก็เช่นกัน นักเรียนจะได้เรียนรู้เรื่องสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านจาก ตุ๊หล่าง-แก่นคำหล้า พิลาน้อย ประธานศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน จังหวัดยโสธร จากนั้นนักเรียนสามารถเลือกสายพันธุ์ข้าวที่ชอบใจ (ผ่านการลองชิมข้าวนานับชนิด!)​ เพื่อนำมาหว่านลงนา ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๙ ดี จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอุทิศที่นาให้นักเรียนในโปรแกรมคนละ 2 งาน เรียกว่าสามารถไถ ดำ หว่าน กันได้เต็มที่ ก่อนจะวนมาเก็บเกี่ยวผลผลิตกันอีกครั้งตอนช่วงท้ายของโปรแกรม

“อย่างน้อยๆ จบโปรแกรมนี้คุณมีข้าวกินไปอีกหนึ่งปีแน่นอน” ป๊อปพูดทั้งรอยยิ้ม ก่อนขยายความว่าผลผลิตที่นักเรียนลงแรงในโปรแกรมนี้จะตกเป็นของเจ้าของแรงทั้งหมด สมกับนโยบายการศึกษาต้องจับต้องได้ของเขาแบบสุดๆ

“เราโชคดีที่ทำงานด้านนี้มานาน เลยมีคนพร้อมช่วยเรื่ององค์ความรู้เยอะ วิทยากรแต่ละคนที่เข้ามาร่วมสร้างหลักสูตรเป็นตัวจริงในด้านของตัวเอง เป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างนั้นจริงๆ ทำสิ่งนั้นจริงๆ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องลงพื้นที่ไปหาเขา (หัวเราะ)”

ตัวจริงที่เราคงรู้จักกันดีอยู่แล้วก็เช่น คุณโจน จันได แห่งศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ พันพรรณ เชียงใหม่ ผู้จะมาสอนเรื่องการใช้ชีวิตตามสมดุลธรรมชาติ, อ.จุลพร นันทพานิช อาจารย์และนักออกแบบจากป่าเหนือ สตูดิโอ ผู้จะพานักเรียนเดินเท้าเข้าป่าไปเรียนรู้เรื่องต้นไม้ การปลูกต้นไม้ และการรักษาต้นไม้อย่างถึงแก่น, คุณนิคม พุทธา ผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาว ที่จะพานักเรียนไปเรียนรู้เรื่อง ‘น้ำ’ กันถึงต้นน้ำ, แม่แป๊ว-ศศธร ไวไธสง ผู้ก่อตั้ง Sailon Organic Farm ที่จะมาสอนให้นักเรียนหาเก็บ หากิน เรียนรู้เรื่องอาหารธรรมชาติทั้งการปลูก การปรุง และการกิน ชนิดทำอาหารไม่เป็นไม่เลิก​

นี่แค่ตัวอย่างคร่าวๆ ของลิสต์วิทยากรที่ป๊อปภูมิใจนำเสนอ แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะเมื่อเรียนจบครบหลักสูตร นักเรียนยังได้โอกาสสร้างโปรเจกต์ส่วนตัวจากความรู้ที่ตกตะกอน โดยมีผู้รู้ในแขนงต่างๆ คอยเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด และสามารถนำเสนอโปรเจกต์เพื่อขอใบปริญญาจาก Bodhisastra University (มหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่อง A Co-Learning Space for Cultivating Spirituality) ได้ด้วย

เราโยนคำถามสุดท้ายว่าภาพระยะไกลที่เขาอยากเห็นเป็นแบบไหน ป๊อปนิ่งคิด ก่อนตอบกลับด้วยน้ำเสียงเต็มความหวัง

“เป้าหมายแรกคือเราอยากให้นักเรียนที่ผ่านโปรแกรมนี้รู้จักตัวเองมากขึ้น แต่เป้าหมายไกลๆ คือ เราอยากให้โปรแกรมนี้เป็นเมล็ดพันธุ์ให้เกิด Gap year program แขนงวิชาอื่นในไทย อาจเป็นโปรแกรมเรียนรู้เรื่องธุรกิจไปเลยก็ได้ แต่พอโปรแกรมแรกเราเรียนเรื่องความรักและธรรมชาติกัน เราก็เลยแอบหวังเล็กๆ ว่าเซนส์พวกนี้มันจะติดไปอยู่ในโปรแกรมอื่นด้วยเหมือนกัน (ยิ้ม)”

​ติดตามการความเคลื่อนไหวและการรับสมัครของมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ Gap year program ได้ทาง www.facebook.com/collegeofloveandnature