สวยทั้งรูป กลิ่นก็หอม แถมยังนำไปปรุงอาหารได้อีก คุณสมบัติชวนฝันเช่นนี้คงยกให้ใครอื่นไม่ได้นอกจากดอกไม้กินได้ (Edible Flowers) ที่เบ่งบานบนจานอาหารและเครื่องดื่มของเชฟร่วมสมัยหลายสำนัก เมื่อการนำผลผลิตจากสวนไปเพิ่มบทบาทบนโต๊ะอาหารทวีความนิยมขึ้น โครงการหลวงจึงสนองความต้องการนี้ด้วยการริเริ่มโครงการดอกไม้กินได้หลากสีสันสำหรับส่งต่อให้โรงแรมและร้านอาหารทั่วประเทศขึ้นมา

คุณนาวิน สุขเลิศ ตัวแทนมูลนิธิโครงการหลวงเล่าว่า  โครงการวิจัยดอกไม้กินได้ เริ่มจากเชฟของโรงแรมแห่งหนึ่งติดต่อมายังโครงการหลวงว่าต้องการสีส้มสดใสของดอกเนสเตอร์เตียม (Nasturtium) ใบเนสเตอร์เตียม และดอกแพนซี (Pansy) ที่เหมือนผีเสื้อแสนสวย ไปตกแต่งจานอาหาร โครงการหลวงจึงเริ่มผลิตและส่งจำหน่ายให้โรงแรมดังกล่าวจนถึงทุกวันนี้ จากนั้นจึงทยอยศึกษา เพิ่มความหลากหลายของดอกไม้ในโครงการขึ้นมา จนทำให้ตอนนี้มีดอกไม้กินได้โครงการมากถึง 4 กลุ่มใหญ่ กลุ่มไม้ดอก กลุ่มดอกของผัก กลุ่มดอกของสมุนไพร และกลุ่มดอกของไม้ผล รวมเป็นจำนวนทั้งหมด 24 ชนิด คือ ดอกกุยช่ายแบบบาน ดอกกุหลาบ ดอกคาร์โมมายล์สด (Chamomile) ดอกไชฟว์แบบบาน (Chive) ดอกซุกินี (Zucchini) ดอกดาวกระจาย ดอกดาวเรือง ดอกดิล (Dill) ดอกแตงกวา ดอกเนสเตอร์เตียม ดอกบีโกเนีย (Begonia) ดอกเบซิล ดอกโบเรจ (Borage) ดอกผักกาด ดอกผักชี ดอกผักไผ่ ดอกผีเสื้อ ดอกแพนซี ดอกโรสแมรี ดอกลาเวนเดอร์ ดอกเวอร์บีนา (Verbena) ดอกไวล์ดซอเรล (Wild Sorrel) ใบเนสเตอร์เตียม และใบไวด์ซอเรล

บ้านเกิดของดอกไม้เหล่านี้ มีทั้งซื้อสายพันธุ์มาจากต่างประเทศและเป็นดอกไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่เดิมอยู่แล้ว ดอกไม้ที่นำเข้าเมล็ดพันธุ์มาจากอเมริกา ฮอลแลนด์ และอิตาลี ได้แก่ ดอกเนสเตอร์เตียม ดอกคาร์โมมายล์ ดอกโรสแมรี่ ดอกลาเวนเดอร์ และดอกแพนซี ส่วนดอกไม้ในพื้นที่อย่างดอกดาวกระจาย ดอกดิล ดอกผักชี และดอกไวด์ซอเรล เป็นพืชที่โครงการหลวงปลูกเพื่อประดับตกแต่งสวนหรือปลูกอยู่เดิมแล้ว

ขั้นตอนการผลิตดอกไม้กินได้มีความละเอียดอ่อนไม่แพ้พืชผักอื่นๆ ที่ต้องผลิตในระบบปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี และใช้วิธีการปลูกแบบ Chef’s garden ซึ่งหมายถึงสวนดอกไม้หรือแปลงปลูกที่ละลานตาด้วยดอกไม้นานาชนิด และเก็บไปประกอบอาหารรับประทานได้ด้วย ไม่ใช่การผลิตเพื่อนำดอกไปประดับตกแต่งเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ดอกไม้ในโครงการยังผสมผสานทั้งส่วนที่ออกดอกหมุนเวียนตามฤดูกาล อย่างดอกลาเวนเดอร์กับดอกโรสแมรี่ และส่วนที่ออกดอกตลอดปี เช่น ดอกกุหลาบ ดอกเนสเตอร์เตียม และดอกไวล์ดซอเรล เชฟจึงต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนเมนูในตามฤดูกาลของดอกไม้ที่มี เป็นผลพลอยได้ให้แก่คนรับประทานอย่างเราๆ ที่จะตื่นตาไปกับสีสันบนจานอาหารในแต่ละฤดูด้วย

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าดอกไม้ใดๆ ในโลกจะเข้าข่ายดอกไม้กินได้ทั้งหมด ดอกไม้ที่จะได้รับเลือกเข้าชมรม Edible Flowers จะต้องได้รับการทดสอบจากเชฟผู้เชี่ยวชาญ ผู้ให้คำแนะนำกับทีมงานโครงการหลวงได้ว่าดอกไม้ชนิดใดบ้างที่รับประทานได้ นั่นเพราะดอกไม้บางชนิดมีพิษ เช่น ดอกชวนชม ดอกรำเพย และดอกพญาสัตบรรณ ดอกไม้เหล่านี้มีพิษในกลุ่มคาร์ดิแอคกลัยโคไซด์ (Cardiac Glycoside) ซึ่งมีผลกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน อาเจียน ท้องเสีย และเมื่อพิษเข้าสู้เส้นเลือดอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

ตอนนี้ดอกไม้กินได้ของมูลนิธิโครงการหลวงมีจำหน่ายแล้ว หากแต่ยังเป็นไปในลักษณะของการรับออเดอร์ล่วงหน้าก่อน เนื่องจากยังมีการใช้งานเฉพาะกลุ่มแค่ในโรงแรมและร้านอาหารเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คุณนาวินเล่าว่า หากมีคนสนใจโครงการนี้มากขึ้น อาจจะขยับขยายกระจายงานไปสู่เกษตรกร เพราะบรรดาดอกไม้เหล่านี้อาจเป็นพืชชนิดใหม่ที่จะเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของมูลนิธิโครงการหลวงต่อไปในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น ความต้องการแก้ปัญหาเรื่องความบอบบางและบอบช้ำง่ายระหว่างขนส่งของดอกไม้ได้ยังต่อยอดไปยังการศึกษาเรื่องการนำดอกไม้กินได้ไปแปรรูปเป็นชาหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็น่าจะเพียงพอให้เราเอาใจช่วยลุ้นให้โครงการเหล่านี้เป็นสำเร็จผลโดยไวแล้ว

ภาพถ่าย: นาวิน สุขเลิศ