ไม่นานมานี้ มีประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในวงการเกษตรอินทรีย์ นั่นคือเรื่องร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาชวนสงสัยในสวัสดิภาพของเกษตรกรไทยอยู่หลายข้อ หนึ่งในนั้นคือมาตราที่ว่าด้วยเรื่อง ‘สิทธิ’ ในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ของพืชที่ถูกปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นใหม่ว่าจะตกเป็นของผู้ปรับปรุงพันธุ์นานถึง 20-25 ปี

ความคิดเห็นต่อประเด็นนี้แตกออกเป็นหลายเสียง หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดช่องโหว่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ถือครองลิขสิทธิ์พืชพรรณนานับชนิด และทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่อาจเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ได้หรือเปล่า? หรือจะทำให้ให้พืชพันธุ์ท้องถิ่นลดลงอย่างมหาศาลหรือไม่?

เราตัดสินใจไม่เก็บคำถามมากมายไว้กับตัว จึงติดต่อไปคุยกับหนึ่งในผู้คลุกคลีกับประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดอย่าง ป๊อป-กิตติพงษ์ หาญเจริญ อดีตนักอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์การเรียนรู้พันพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ และผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เรื่องวิถีธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ (College of Love & Nature) กระทั่งได้คำตอบที่ช่วยคลายความคาใจของเรา ในฐานะคนกิน ดังต่อไปนี้

ใจความสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้คืออะไร

​เนื้อหาหลักของพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่ตรงการรักษาสิทธิและประโยชน์ของผู้คิดค้นปรับปรุงพันธุ์พืชขึ้นใหม่ คือคุ้มครองแค่พืชสายพันธุ์ใหม่เท่านั้น ไม่รวมพันธุ์ท้องถิ่นที่มีอยู่ก่อน เป้าหมายหลักคือเพื่อให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับนักปรับปรุงพันธุ์พืชทั้งฝั่งเกษตรกรและบริษัทเมล็ดพันธุ์ ช่วยกระตุ้นให้คนเข้ามาทำอาชีพนี้กันเยอะๆ และดึงนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงเงินวิจัยเรื่องการปรับปรุงพันธุ์พืชในไทย

ประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกัน คืออะไร

ต้องยอมรับว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีความคลุมเครือในด้านภาษา คือตีความได้หลายแง่ อาจทำให้มีช่องโหว่ในการนำไปใช้ตอนผ่านกฎหมาย เช่น เงื่อนไขสำคัญต่อท้ายของมาตรา 35 ที่บอกว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้” เลยทำให้ฝ่ายเกษตรกรหวั่นๆ ว่าจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ตัวเองปรับปรุงขึ้นมาไว้ใช้เพาะปลูกได้ต่อไป

อีกอย่างเราว่ามันเกิดจากการมองต่างมุมของแต่ละฝ่าย ฝ่ายรัฐผู้ร่างกฎหมายเขาก็มองเรื่องสิทธิและการคุ้มครองเป็นหลัก คือในโลกนี้มีอาชีพที่เรียกว่า ‘นักปรับปรุงพันธุ์พืช’ อยู่ เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะกว่าคุณจะปรับปรุงสายพันธุ์พืชชนิดหนึ่งขึ้นมาได้ มันกินเวลาหลายปี ถ้าเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นมากลางทางก็จบ หรือพัฒนาเสร็จก็ไม่รู้ว่าจะขายได้ไหม ได้ปีที่เท่าไหร่ ถ้าเขามีสิทธิ์ในเมล็ดพันธุ์ที่ปรับปรุงขึ้นมาแค่ไม่กี่ปี ก็คงไม่มีใครอยากทำงานด้านนี้

​ขณะที่ฝ่ายเกษตรกรและนักกิจกรรมด้านเกษตรอินทรีย์มองว่า เราไม่ควรมีสิทธิเหนือธรรมชาติ และกังวลว่ากฎหมายนี้จะเอื้อต่อนายทุนเป็นพิเศษหรือเปล่า และทำให้เมล็ดพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงด้วยบริษัทนายทุนขาดความหลากหลาย เพราะเน้นพัฒนาเฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่ทำกำไร ข้าว ถั่ว ข้าวโพด อะไรแบบนี้ แล้วเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเดิมก็ไม่ถูกพัฒนา สุดท้ายก็จะหายไป ซึ่งความเห็นที่ไม่ตรงกันเหล่านี้ ไม่ได้แปลว่ามีใครผิดหรือถูก เพราะมันเกิดจากการมองประเด็นด้วยฐานคิดคนละแบบ สิ่งสำคัญคือเราต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจความคิดแต่ละฝ่าย แล้วหาจุดสมดุลร่วมกัน

​​ทำไมความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ถึงสำคัญต่อคนกินอย่างเรา

เราว่ามันเชื่อมโยงกับความมั่นคงทางอาหารนะ ถ้าเรามีผักหลากหลาย มีข้าวหลากหลาย เราก็มีทางเลือกในการกินเพิ่มมากขึ้น สิ่งแวดล้อมก็สมดุลเพราะไม่ต้องเร่งผลิตพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ความมั่นคงทางอาหารจะยั่งยืนได้จากการเอื้อเฝื้อกันของหลายๆ ฝ่าย

ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเป็นออกมาเป็นเกษตรกรปลูกผักกินเอง ถึงจะสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ แค่เราสนับสนุนระบบอาหารสะอาดในแบบของเรา

เช่น ช่วยซื้อสินค้าจากเกษตรกรอินทรีย์ตามกำลัง เกษตรกรก็ช่วยผลิตสินค้าดีๆ ราคายุติธรรมออกมาขาย เท่านี้ก็ช่วยให้เกิดความมั่นคงแล้ว เรามองว่าสังคมมันต้องเอื้อกัน เราไม่ได้อยู่กันได้เพราะเราเก่ง เราอยู่กันได้ว่าเราช่วยกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ถ้านำเมล็ดพันธุ์อุตสาหกรรมมาปลูกด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ถือว่าปลอดภัยไหม

ถ้าใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเราไม่นับเป็นอินทรีย์ แต่ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรม เราว่านับได้ อยู่ที่วิธีการปลูกมากกว่าว่าใช้เคมีหรือไม่ใช้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมล็ดพันธุ์จากระบบอุตสาหกรรมกับเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ยีนมันต่างกันจริงๆ เมล็ดพันธุ์ที่เพาะปลูกขึ้นตามธรรมชาติจะเเข็งแรง สู้โรคกว่า เพราะค่อยๆ เติบโตตามธรรมชาติ ไม่ถูกเร่งเร้าอะไรมาก และให้ผลผลิตคุณภาพดีกว่า ส่วนเมล็ดที่ได้จากระบบอุตสาหกรรมอาจต้องใช้ตัวเร่งผลผลิตมากหน่อย หรืออร่อยไม่สู้

แต่ถ้าถามต่อว่า เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโออันตรายจริงไหม ในแง่สุขภาพเราว่ายังไม่มีใครยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในแง่ระบบอาหาร อันนี้ชัดเจนเพราะเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอถูกพัฒนามาเพื่อการค้า เพื่อลิขสิทธิ์ทางพันธุกรรม คือเรามองว่าจีเอ็มโอมันเป็นเครื่องมือ เหมือนมีด เหมือนจอบ อยู่ที่ว่าคนจะเอาไปใช้ในแง่ไหนมากกว่า และส่วนใหญ่ก็ถูกเอาไปใช้กับระบบอุตสาหกรรมไง ซึ่งมันทำลายระบบอาหารโดยรวม

​สถานการณ์ปัจจุบันและทางออกของประเด็นนี้คืออะไร

ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาเนื้อหาในข้อกฎหมายใหม่ และเปิดรับฟังความคิดเห็นของหลายๆ ฝ่าย เราว่าทางรัฐเขาก็อยากให้ทุกฝ่ายโอเค คืออยากให้มันเอื้อประโยชน์กับทั้งเกษตรกรและบริษัทปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งก็คงต้องรอดูกันไปว่าสุดท้ายแล้วกฎหมายจะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน

วิธีอนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์พืชที่ดีที่สุดในความคิดคุณ คืออะไร

เราคิดถึงระบบ open source เหมือนที่ปู่ย่าตายายเราทำกันมา คือใครพัฒนาสายพันธุ์อะไรได้ก็นำมาไว้ส่วนกลาง แจกจ่ายกันในชุมชน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์อย่างเท่าเทียม หรือถ้ารัฐอยากสนับสนุนก็วางระบบการจดทะเบียนเมล็ดพันธุ์ขึ้นมา ให้ชาวบ้านจดได้ง่ายๆ แล้วให้เงินสนับสนุนการพัฒนาอะไรก็ว่ากันไป เพราะเกษตรกรที่เขารักในการพัฒนาสายพันธุ์พืชนั้นมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ที่เรามีอยู่มีกินจนทุกวันนี้ มีความหลากหลายทางอาหารมากมาย ก็เพราะคนพวกนี้แหละ ที่เขาอยากเก็บพันธุ์ที่ดีไว้ให้ลูกให้หลานกินกันต่อไป (ยิ้ม)

ภาพถ่าย: กิตติพงษ์ หาญเจริญ