มีพี่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ย่านบางขุนเทียน ไม่เพียงยึดวิถีการเรียนรู้ที่น่าสนใจ แต่ยังมีการสอนและลงมือจัดการขยะอย่างจริงจัง ละเอียดถึงขั้นล้างถุงพลาสติกก่อนแยก และทำให้เด็กๆ กลับมาปฎิบัติที่บ้านกับคุณพ่อคุณแม่ด้วย ทำให้เราเกิดความสนใจ จึงเดินทางไปที่โรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อศึกษาระบบการจัดการและวิธีการสอนของโรงเรียนค่ะ

รุ่งอรุณเป็นโรงเรียนที่เน้นจัดการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Learning) บูรณาการการเรียนรู้สู่ชีวิต ด้วยกระบวนการเรียนรู้ไปบนกิจวัตรประจำวัน ฝึกให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ เข้าใจการเชื่อมโยงต่อตนเอง สังคม และโลก ตัวโรงเรียนเองก็ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่สีเขียวและธรรมชาติ เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรามีโอกาสได้คุยกับคุณครูปุ้ย คุณครูที่อยู่เบื้องหลังของศูนย์ทรัพยากรรีไซเคิล (โรงแยกขยะ) ที่โรงเรียนแห่งนี้ค่ะ

ถ้านึกถึงการแยกขยะเราคิดออกอย่างมากก็แค่ 7 ถัง เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก ขยะทั่วไป ขยะเปียก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพิษ แต่เมื่อมาถึงโรงแยกขยะของที่นี่ ภาพที่เราเห็นคือราวตากถุงพลาสติก ถัง 20 กว่าใบวางเรียงรอบห้อง ชั้นวางของเป็นระเบียบสะอาดตาเหมือนเดินเข้าร้านเครื่องเขียน ที่นี่นักเรียน คุณครู และเจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องแยกขยะในความรับผิดชอบของตัวเอง ล้างทำความสะอาด แล้วนำมาแยกประเภทให้เรียบร้อย จึงเป็นทั้งห้องเรียนและห้องสหกรณ์ให้เด็กๆ สามารถนำวัสดุอุปกรณ์ไปทำงานได้แบบฟรีๆ โดยมีกฎเพียงข้อเดียวคือ “นำไปอย่างไร ให้นำกลับมาคืนอย่างนั้น”

กรุงโรมไม่สามารถสร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด การแยกขยะก็ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยคนคนเดียวฉันนั้น

คุณครูเล่าให้เราฟังว่า ย้อนกลับไป 10 กว่าปีก่อน โรงเรียนประสบปัญหาขยะเน่าส่งกลิ่นเหม็น เนื่องจากทิ้งทุกอย่างรวมกัน บางทีมีไม้แหลมไปจิ้มถุงที่ใส่เศษอาหาร น้ำนอง เน่าเลอะเทอะ ขยะรีไซเคิลพวกกล่องนม ขวดเครื่องปรุงอาหาร เมื่อเก็บรวมกันก็เน่า เป็นที่มาของหนู แมลงสาบ และเชื้อโรค สร้างมลพิษและมลภาวะให้แก่โรงเรียน ทีมอาจารย์ในเวลานั้นจึงหาทางแก้ปัญหาโดยการเริ่มสร้างระบบแยกขยะ จนได้เริ่มสร้างโรงแยกขยะขึ้นอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2547

โดยระยะแรก เริ่มจากทำ Trash audit คือการที่แม่บ้านจะเขียนป้ายติดว่าถุงไหนมาจากตึกไหน วันที่เท่าไหร่ จากนั้นนำมาแจกแจงว่ามีขยะประเภทใดบ้าง และชั่งน้ำหนักเก็บสถิติของขยะแต่ละประเภทไว้ จากการเก็บสถิติพบว่า ในโรงเรียนมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 2,000 ถุงต่อวัน! และมีปริมาณขยะมากถึง 200 กิโลกรัมต่อวัน! จากนั้นสถิติทั้งหมดจะถูกแสดงขึ้นบอร์ดกลางของโรงเรียน แจกแจงของแต่ละตึกแต่ละชั้น โดยจะเก็บสถิติเดือนละหนึ่งครั้ง ครั้งละหนึ่งอาทิตย์ แล้วนำมาประเมิน และวิเคราะห์ปัญหาของแต่ละชั้น หลังจากนั้นก็นำมาแจกแจงว่า ว่าสามารถแบ่งประเภทอย่างไรได้บ้าง และแต่ละประเภทจะนำไปใช้ต่ออย่างไรได้บ้าง เช่น ขยะพลาสติก เศษอาหาร ขยะจากห้องน้ำ ขยะพิษจากห้องพยาบาล โดยในช่วงแรกจากการแยกพลาสติก เช่น ถุงใส่อาหาร ขวดน้ำมันน้ำปลา แต่พอเก็บรวมกันทำให้เน่าเสีย จึงเป็นที่มาของการล้างก่อนแยก

การดำเนินการช่วงแรก เริ่มจากการมาเป็นจิตอาสา เหมือนเป็นตัวแทนมาเรียนแล้วนำกลับไปใช้ที่ฝ่ายตึกของตัวเอง ครูปุ้ยกล่าวว่า

“ถ้าเราทำแค่สามคน ด้วยกระบวนการจัดการของเราทุกอย่าง มันไปไม่รอดหรอก เพราะคนต้นทางไม่ได้เข้าใจ เพราะฉะนั้น คนทุกๆ คนควรจัดการขยะของตัวเอง”

คุณครูย้ำกับเราตลอดว่าการทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยคนเพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นการแก้ปัญหาร่วมกัน ให้นึกถึงสมัยก่อนจะมีโรงขยะที่ขยะเน่าเสีย เพื่อที่เราจะไม่กลับไปเป็นแบบนั้นอีก

เป้าหมายของโรงเรียนที่ทำโรงแยกขยะไม่ใช่เพื่อให้ได้เงิน แต่เราทำเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจ แล้วร่วมมือกัน เช่น ถ้าหลอดไฟเสีย เขามาซ่อมไฟให้แล้วทิ้งไฟทิ้งกล่องให้เรา แบบนี้ไม่ได้ เราก็จะบอกเขาว่าคุณจะต้องแยกให้เรานะ ถ้าไม่ทราบตรงไหนให้ถามเราจะอธิบายให้ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้แล้วนำไปทำ ไม่ใช่เราทำให้เขาหมด”

“หรืออย่างแม่ครัวก็ต้องรู้ว่าขวดน้ำปลาน้ำมันหอยต่างกันยังไง ถ้าน้ำมันหอยต้องล้างและใช้น้ำยา ขวดน้ำมันล้างน้ำอย่างเดียว ถุงใส่เศษอาหารต้องล้างน้ำยา ถุงวุ้นเส้นไม่เลอะอันนี้ไม่ต้องล้าง ค่อยๆ แนะนำกันไปเพื่อให้เขาได้เห็นภาพว่าการใช้สิ่งนี้มันทำให้ต้องเปลืองน้ำ เปลืองน้ำยา เปลืองหลายอย่างนะ แล้วเราจะช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรได้อย่างไร เช่น ถ้าไม่อยากล้างถุงพลาสติกเยอะ อาจจะหากล่องไปให้เขาใส่เนื้อหมูเนื้อแทนดีไหม คุณก็จะลดปริมาณของสิ่งที่ต้องล้าง เราจะแนะนำให้เขาเริ่มคิดและจัดการในฝ่ายของตัวเองให้ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง”

โรงแยกขยะจึงไม่ใช่แค่ที่ที่ให้ทุกคนเอาขยะมาแยก แต่ได้มาเรียนรู้การจัดการขยะและออกแบบวิธีแก้ปัญหาของตัวเอง เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้โรงเรียนไปพร้อมๆ กันแต่กว่าครูปุ้ยจะมาถึงจุดนี้ได้ ก็ต้องงัดมุกหลอกล่อเด็กๆ มาหลายกระบวนท่า และไปปฎิบัติธรรมมาอีกหลายคอร์ส

การทำแบบนี้เหมือนเป็นการบังคับอย่างหนึ่ง แต่เราทำโดยการให้ทางเลือกกับเขา เช่น ถ้าเด็กจะต้องทิ้งขวด เรามีทางเลือกให้เขาสองทาง หนึ่งล้างแล้วแยก ก็นำกลับมาใช้ต่อได้ หรือจะแค่ทิ้งไปทำให้เกิดเป็นภูเขาขยะ ก็อธิบายให้นักเรียนฟัง แล้วให้เขาได้เลือกด้วยตัวเอง

“หัวใจคือให้เด็กได้ลองลงมือทำ เพื่อจะได้เข้าใจ เช่น กิจกรรมจัดบอร์ด ครูก็จะให้แยกลวดเย็บกระดาษ แยกพลาสติก แกะสก็อตเทป เด็กๆ ก็จะบ่นว่าครูใจร้าย แต่ในมุมของครู นี่คือการให้เขาได้เรียนรู้ว่าความยุ่งยากเหล่านี้นี่คือสิ่งที่เกิดจากการะกระทำของเขาเอง ครูอยากให้เขาได้เรียนวิเคราะห์และวางแผน ถ้านักเรียนไม่อยากมานั่งแกะยุ่งยากอีก คราวหน้าก็วางแผนก่อนว่าทำอย่างไรให้สามารถแยกได้ง่ายขึ้น แนะนำเขาว่าใช้กาวแทนแม็กดีไหม เราก็ค่อยๆ สอนเขาไปด้วย”

แล้วผลงานการแยกของเด็กๆ ก็กลายมาเป็นอุปกรณ์สำหรับการทำกิจกรรมในโรงเรียนของพวกเขาต่อไป

หัวใจของการรีไซเคิลคือการแยกให้วัสดุชนิดเดียวกันอยู่ด้วยกัน แต่ไม่ใช่ทุกวัสดุจะรีไซเคิลได้ เนื่องด้วยปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์และข้อจำกัดของเทคโนโลยีในแต่ละพื้นที่ อีกสิ่งสำคัญของโรงแยกขยะแห่งนี้ จึงเป็นการหาที่ไปของขยะแต่ละประเภท นอกจากเป็นห้องวัสดุของเด็กๆ แล้ว คุณครูยังทุ่มเทในการหาที่ไปให้แก่ขยะทุกชิ้น เช่น ขยะอลูมิเนียม จะบริจาคให้มูลนิธิสมเด็จย่า กระดาษที่ใช้แล้วทั้งสองหน้าและสภาพดี จะบริจาคให้โรงเรียนสอนคนตาบอด และขยะตัวเด็ดของเรา พลาสติกกรอบเด้งและวัสดุผสมที่ไม่สามารถขายหรือรีไซเคิลได้ ทางโรงเรียนร่วมมือกับบริษัท SCG โดยการบริหารจัดการของ SCGeco ทางบริษัทจะส่งรถมารับเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์

เพราะฉะนั้นขยะทุกชิ้นที่มาที่นี่สามารถนำกลับมาสร้างประโยชน์ได้ค่ะ ที่นี่จึงกลายเป็นต้นแบบและศูนย์กลางแยกขยะ นอกจากเด็กแล้ว ผู้ปกครองและชุมชนก็มามีส่วนร่วมอีกด้วย

“พอเราเริ่มทำที่โรงเรียน เด็กนำกลับไปเล่าให้ที่บ้านฟัง ไปทำที่บ้าน ผู้ปกครองก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วม มาถามว่าทำอย่างไร บางบ้านก็มาช่วยแยกที่นี่ บ้างบ้านก็แยกกันที่บ้านแล้วเอามาให้เรา อีกส่วนหนึ่งคือทำงานกับชุมชนด้วย ก็ค่อยๆ ขยายองค์ความรู้ออกไป”

การจัดการขยะ ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยคนคนเดียว หรือคนเพียงฝ่ายเดียว ความสำคัญอยู่ที่คนต้นทางที่จัดการขยะของตัวเอง เมื่อทำซ้ำๆ บ่อยๆ มันก็จะกลายเป็นนิสัย ที่นี้ก็อยู่ที่พวกเราแต่ละคนแล้วล่ะ ว่าอยากจะเป็นนักทิ้งซ้ำ นักใช้ซ้ำ นักแยกซ้ำ เราเลือกได้ค่ะ

ภาพถ่าย: Parppim Pim