หลังจากที่ได้มีโอกาสไปเจออาหารในหลายๆ พื้นที่ของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก ทำให้เราเรียนรู้ว่าชนเผ่าพื้นเมืองนั้นมีความหลากหลายทางองค์ความรู้ทางอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งเหนือกว่าความรู้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่พวกเขาอยู่กับทรัพยากรอาหารและธรรมชาติอย่างเข้าใจ โดยจะไม่บริโภคอย่างเดียวหรือไม่บริโภคมากเกินไป แต่จะเลือกกินตามฤดูกาลที่ธรรมชาติยื่นมาให้

คราวนี้ เราได้เดินทางมาที่ประเทศคีร์กีซสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตแทบไม่เจอ คีร์กีซสถานคือประเทศที่แยกตัวมาจากโซเวียต แม้ว่าพื้นที่ในประเทศมีขนาดใหญ่แต่กลับมีพืชไม่ค่อยหลากหลาย เพราะสภาพอากาศและพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย หัวใจของชนเผ่าพื้นเมืองที่นี่ คือการอาศัยอยู่ในพื้นที่ทุ่งหญ้ากว่าหมื่นๆ ไร่ โดยหมุนเวียนที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ทรัพยากรในพื้นที่ฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ พวกอยู่อาศัยอย่างหมุนเวียนมาร่วมหลายร้อยปี หลายชั่วอายุคน ไม่มีการอาศัยอยู่ที่ใดที่หนึ่งอย่างถาวร มิเช่นนั้นทรัพยากรในพื้นที่นั้นจะไม่เหลือเลย

ชนเผ่าที่มีวิถีแบบนี้ถูกเรียกว่ากลุ่มโนแมด (Nomad) พวกเขาอยู่อาศัยด้วยการหมุนเวียนพื้นที่เลี้ยงสัตว์ไปเรื่อยๆ บนพื้นที่หมื่นๆ กว่าไร่ที่มีครอบครัวกว่า 500 ครอบครัวอยู่บนพื้นที่เดียวกัน การอาศัยบนพื้นที่สูงขนาดใหญ่และอากาศหนาวตลอดทั้งปี ส่งผลให้อาชีพหลักของคนที่นี่คือการเลี้ยงสัตว์และล่าสัตว์ป่า เพื่อนำหนังสัตว์มาเป็นเครื่องนุ่งห่มและกระโจมเพื่อกันลมหนาว รวมถึงอาหารเพื่อให้เกิดความอบอุ่น แต่การล่าสัตว์ของพวกเขาไม่ใช่เพียงการล่า แต่เป็นการเข้าใจธรรมชาติ เพราะทุกครั้งที่ล่าสัตว์จะมีการทำพิธีขอขมา และมีกฎห้ามล่าสัตว์ในช่วงเวลาที่สัตว์ป่าแพร่พันธุ์ รวมถึงไม่ล่าลูกๆ ของมัน

สิ่งมีชีวิตที่ใกล้ชิดกับคนที่นี่มากที่สุดคือม้า คนที่นี่ใช้ชีวิตร่วมกับม้าในทุกช่วงอายุ ทั้งในการเดินทางและอาหาร พวกเขานำนมม้ามาแปรรูปทำเป็นเนยและชีส เพราะต้องกินอาหารเหล่านี้เพื่อร่างกายได้ผ่านสภาวะอากาศที่หนาวเหน็บได้

คนที่นี่ให้ความสำคัญเรื่องอาหารเป็นอย่างมาก แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่ความหลากหลายไม่มาก แต่กลับมีองค์ความรู้ในการแปรรูปและเก็บรักษาอาหารได้อย่างดี องค์ความรู้ในการทำอาหารของที่นี่นั้นเรียบง่ายและไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย เพราะสำหรับพวกเขา การทำอาหารคือศิลปะที่เรียบง่ายและทำให้เราอยู่รอด

ผมขอขนานนามครัวของคนที่นี่ว่า ‘ครัวที่สวยที่สุดในโลก’ เพราะเขาได้ทำอาหารอย่างเรียบง่ายท่ามกลางพื้นที่ทุ่งหญ้าหมื่นๆ กว่าไร่ที่ไกลสุดลูกหูลูกตา ผมอิจฉาในวิถีของคนที่นี่ วิถีที่ไม่ใช่แค่กินอาหาร แต่มีความเคารพต่ออาหาร ทรัพยากรอาหารของคนที่นี้ถูกดูแลโดยผู้ใช้อย่างยั่งยืน

สิ่งที่น่าสนใจคือปฎิสัมพันธ์ของแต่ละครอบครัว ในทุกๆ ปีจะมีการรวมตัวของครอบครัวต่างๆ จัดงานเทศกาลแลกเปลี่ยนอาหารและทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การแข่งยิงธนูบนหลังม้า การเล่นมวยปล้ำ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้โชว์ศักยภาพและพัฒนาร่างกายของตน ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็นำเอาองค์ความรู้ท้องถิ่นของแต่ละครอบครัวมารวมกัน ดังนั้น เทศกาลนี้จึงเปรียบเสมือนการสร้างพื้นที่เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ท้องถิ่นให้รุ่นใหม่ได้รับช่วงต่อ พูดคุย แลกเปลี่ยนได้อย่างดี และเป็นการยกระดับความรู้แก่คนทุกรุ่นอีกด้วย

กิจกรรมเหล่านี้ทำให้องค์ความรู้ถูกส่งต่ออย่างดีโดยไม่หายไป รวมถึงคนรุ่นใหม่จะมีไอเดียต่างๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมให้ชีวิตของตนดีขึ้นบนฐานวัฒนธรรมเดิม เราเรียกคนเหล่านี้ว่า ‘คนสองวัฒนธรรม’ (Bicutural Person) นี่อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นตัวอย่างให้ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกในการรักษาองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมของตัวเองไม่ให้หายไป พวกเขาจะภาคภูมิใจในความเป็นตัวเอง ทำให้เกิดความยั่งยืนในกระบวนการอย่างชัดเจน เปรียบเสมือนประโยคที่ว่า

“Youth is the future we want คนรุ่นใหม่คืออนาคตที่เราต้องการ”

ภาพถ่าย: ณัฐดนัย ตระการศุภกร